×

เงินบาทอาจไม่มีทางแตะ 30 บาทต่อดอลลาร์ได้อีก และกำลังเข้าระดับสมดุลใหม่อย่างถาวร หากไทยไม่แก้ปัญหาเชิงโครงสร้างอย่าง ‘เป็นรูปธรรม’

05.06.2024
  • LOADING...

ในช่วงราว 6 ปีที่ผ่านมา บาทไทยอ่อนค่าราว 12.3% เป็นอันดับต้นๆ เมื่อเทียบกับประเทศที่มีพื้นฐานเศรษฐกิจใกล้เคียงกันในภูมิภาค ขณะที่ริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าไปถึง 15.3% ด้าน KKP Research เตือนว่า ไทยกำลังเผชิญปัญหาเชิงโครงสร้างหลายอย่างที่คล้ายคลึงกับมาเลเซีย ซึ่งอาจทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าเหมือนกับที่เคยเกิดขึ้นกับริงกิตได้ หากไม่ได้รับการแก้ไข และค่าเงินบาทอาจไม่สามารถกลับไปที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเหมือนช่วงก่อนโควิดได้อีก แต่กำลังจะเข้าสู่ระดับสมดุลใหม่ที่อ่อนค่าลงอย่างถาวร

 

วันนี้ (5 มิถุนายน) KKP Research โดยเกียรตินาคินภัทร เผยแพร่บทวิเคราะห์เรื่อง ‘ค่าเงินบาทจะตามรอยริงกิตหรือไม่’ โดยชี้ให้เห็นว่า ในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ระหว่างเดือนสิงหาคม 2018 ถึงพฤษภาคม 2024 ริงกิตมาเลเซียอ่อนค่าถึง 15.3% หนักสุดเมื่อเทียบกับหลายสกุลในภูมิภาค ได้แก่ บาทไทย รูเปียห์อินโดนีเซีย เปโซฟิลิปปินส์ หยวนจีน และสิงคโปร์ดอลลาร์ โดยในช่วงเวลาเดียวกัน เงินบาทก็อ่อนค่าราว 12.3% 

 

ทำไมค่าเงินริงกิตจึงร่วงหนัก?

 

KKP Research มองว่าดุลบัญชีเดินสะพัดที่ลดลงอย่างถาวร เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ค่าเงินริงกิตอ่อนค่าต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2013 และไม่กลับไปที่ระดับเดิมอีกเลย เนื่องจากมาเลเซียสูญเสียความสามารถของการแข่งขันในภาคส่งออกและต้องพึ่งพาการนำเข้าพลังงานเพิ่มขึ้น ขณะที่การอ่อนค่าในปี 2022 มาจากอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของมาเลเซียที่อยู่ต่ำกว่าประเทศอื่นในภูมิภาค

 

“หากเราดูมูลค่าของริงกิตเทียบกับสกุลเงินภูมิภาคจะพบว่าค่าเงินริงกิตมีทิศทางอ่อนค่า แม้เทียบกับเงินสกุลภูมิภาคด้วยกันเอง เช่น สกุลเงินเปโซฟิลิปปินส์ สกุลเงินบาท สกุลเงินหยวนของจีน หรือสกุลเงินรูเปียห์อินโดนีเซีย มาตั้งแต่ปี 2018 แล้ว ซึ่งเป็นผลจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริง (Real Interest Rate) ของมาเลเซียที่อยู่ในระดับต่ำสุดเมื่อเทียบกับประเทศภูมิภาคอื่นๆ จากที่เคยอยู่สูงสุดในภูมิภาคในช่วงกลางปี 2018 ก็ลดต่ำลงมากในช่วงปลายปี 2022 จากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งสูงขึ้น 

 

“และถึงแม้ธนาคารกลางมาเลเซียจะพยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่ช่วงกลางปี 2022 ถึงปี 2023 เพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อลงและช่วยพยุงค่าเงินริงกิต แต่ด้วยเศรษฐกิจมาเลเซียที่ยังอ่อนแอตามอุปสงค์โลก เนื่องจากเป็นประเทศที่พึ่งพาการค้าขายระหว่างประเทศในระดับสูง (สัดส่วนการค้าขายระหว่างประเทศต่อ GDP ของมาเลเซียสูงถึง 147% ของ GDP ซึ่งสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาค เป็นรองเวียดนามเท่านั้น) ทำให้ธนาคารกลางสามารถปรับขึ้นดอกเบี้ยได้แค่ 1.25% เท่านั้น ซึ่งน้อยมากหากเทียบกับการปรับขึ้นดอกเบี้ยของประเทศอื่นในภูมิภาค (ไม่รวมจีนที่เผชิญปัญหาวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ ทำให้ธนาคารกลางจีนปรับลดดอกเบี้ยแทน)” บทความระบุ

 

จับตามาเลเซียกำลังเปลี่ยนผ่านสู่อุตสาหกรรมมูลค่าเพิ่มสูง

 

อย่างไรก็ดี รัฐบาลมาเลเซียได้วางรากฐานและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่กิจกรรมที่ซับซ้อนและสร้างมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้นให้กับเศรษฐกิจ ภายหลังที่มาเลเซียเริ่มสูญเสียความสามารถในการแข่งขันด้านค่าจ้างแรงงานจนทำให้หลายบริษัทย้ายฐานการผลิตออก

 

โดยจะเห็นว่าในช่วงหลังนี้ มาเลเซียถูกกล่าวถึงบ่อยครั้งในฐานะประเทศที่อาจกลายเป็นฐานการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างสหรัฐฯ และจีน เนื่องจากมาเลเซียมีความพร้อมทั้งประสบการณ์กว่า 50 ปีในการประกอบ ทดสอบ และบรรจุชิปมาก่อน รวมถึงแรงงานที่มีทักษะและการสนับสนุนจากภาครัฐ

 

โดยจะเห็นว่ามาเลเซียเตรียมพร้อมและวางรากฐานดังกล่าวนี้มาตั้งแต่ทศวรรษที่ 1970 แล้ว และทำให้มาเลเซียพร้อมยกระดับบทบาทในห่วงโซ่อุปทานนี้

 

ดังนั้น หากทำสำเร็จก็จะเป็นปัจจัยที่มาช่วยหนุนดุลบัญชีเดินสะพัดและค่าเงินริงกิตในระยะข้างหน้าได้

 

ค่าเงินบาทจะเดินรอยตามค่าเงินริงกิตหรือไม่?

 

ตั้งแต่การแพร่ระบาดของโควิด เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถึงแม้ปัจจัยหลักจะมาจากการขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงของธนาคารกลางสหรัฐฯ จนทำให้สกุลเงินดอลลาร์แข็งค่ามาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าประเทศไทยกำลังเผชิญสถานการณ์หลายอย่างที่คล้ายคลึงกับมาเลเซีย จนชวนให้สงสัยว่าค่าเงินบาทอาจไม่สามารถกลับไปที่ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเหมือนช่วงก่อนโควิดได้อีก แต่กำลังจะเข้าสู่ระดับสมดุลใหม่ที่อ่อนค่าลงอย่างถาวรเหมือนค่าเงินริงกิตหรือไม่ 

 

โดยเฉพาะดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยที่มีแนวโน้มจะปรับลดลงถาวรตามความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออกที่แย่ลงของไทย ปัญหาด้านความมั่นคงทางพลังงานที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้ามากขึ้นในอนาคตเมื่อแหล่งก๊าซธรรมชาติในประเทศกำลังจะหมดลง หรือแม้กระทั่งดอกเบี้ยนโยบายของไทยที่หลังพ้นช่วงโควิดมาก็ปรับขึ้นได้ไม่มาก เนื่องจากเศรษฐกิจฟื้นตัวช้าจากผลกระทบของปัจจัยเชิงโครงสร้างหลายประการ รวมทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

 

ปัญหาเชิงโครงสร้างทั้งหลายเหล่านี้จะเป็นปัจจัยกดดันค่าเงินบาทให้อ่อนค่าในระยะยาว หากไทยยังไม่มีแผนที่เป็นรูปธรรมมาดำเนินการ ซึ่งในกรณีของมาเลเซียก็แสดงให้เห็นแล้วว่า การจะแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องง่ายและอาจต้องอาศัยระยะเวลายาวนาน

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X