×

A Brief History of ‘Ultras’: เปิดตำนานแฟนบอลอุลตรา ข้าจะบ้าใครจะทำไม

12.01.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

5 MIN READ
  • ตามพงศาวดารลูกหนังแล้ว เราไม่ทราบแน่ชัดว่าแฟนอัลตรากลุ่มแรกนั้นมาจากไหน เพราะมีหลายทฤษฎีมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นกำเนิดของแฟนบอลกลุ่มที่เรียกว่า ตอร์ซิดา ออร์กานิซาดา (Torcida Organizada) ในประเทศบราซิลที่เริ่มมีการบันทึกว่าเกิดขึ้นในปี 1939 ซึ่งมีรูปแบบที่คล้ายกับอัลตราอย่างมาก
  • ปัญหาคือแฟนอัลตราตั้งแต่อดีตมักจะมีพฤติกรรมนอกลู่นอกทางเสมอ การปลุกเร้ากันเองภายในกลุ่ม การรวมตัวของคนหมู่มากทำให้บ่อยครั้งขาดสติ และมีการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ
  • คำถาม​สำคัญถึงเหล่าอัลตรา รวมถึงกลุ่ม Ultras ในประเทศไทยด้วยว่า ตกลงแล้วการจะเป็นอัลตราหรืออุลตร้ามันจำเป็นต้องบ้าดีเดือดหรือสร้างความวุ่นวายตลอดเวลาไหม?

ในช่วงเวลาที่ดีสำหรับแฟนฟุตบอลทีมชาติไทยที่เพิ่งจะกลับมา หลังฟอร์มการเล่นอันโดดเด่นในเกมถล่มมาเลเซียขาดลอย 3-0 ในศึกฟุตบอลชิงแชมป์อาเซียน กลับเกิดเรื่องราวที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น

 

เมื่อแฟนฟุตบอลกลุ่มหนึ่งได้จุดพลุแฟลร์ก่อนปาลงมาในสนาม ซึ่งถือเป็นการกระทำผิดเพราะผิดต่อกฎของสหพันธ์ฟุตบอลแห่งเอเชีย หรือเอเอฟซี บัญญัติไว้ และยังเป็นการกระทำผิด ‘ซ้ำซาก’ สำหรับแฟนฟุตบอลทีมชาติไทยที่เคยกระทำการแบบเดียวกันนี้มาหลายครั้ง ตั้งแต่ในปี 2557, 2560 และล่าสุดในรายการเดียวกันนัดที่เอาชนะฟิลิปปินส์ได้ 4-0 ก็มีการจุดพลุแฟลร์อีก

 

ยิ่งไปกว่านั้นยังปรากฏภาพของแฟนฟุตบอลกลุ่มหนึ่งที่ก่อเหตุทำลายรั้ว ฝ่าการตรวจตรารักษาความปลอดภัย ก่อนบุกเข้าไปในสนามโดยไม่สนใจสายตาของแฟนฟุตบอลคนอื่นที่ยืนต่อคิวรอการตรวจตราก่อนเข้าสนาม อันเป็นสิ่งที่พึงกระทำสำหรับแฟนฟุตบอลดีๆ คนหนึ่ง

 

ผู้ที่เห็นเหตุการณ์และแฟนฟุตบอลไทยที่ได้รับทราบเรื่องราวบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า แฟนฟุตบอลกลุ่มที่ก่อการในเหตุการณ์ทั้ง 2 นั้นคือกลุ่มเดียวกัน เป็นกลุ่มที่เรียกกันว่า ‘อัลตรา’ (Ultras) หรือเรียกกันแบบไทยๆ ว่า อุลตร้า ซึ่งมีการจัดตั้งกลุ่มที่เรียกว่า Ultras Thailand

 

ขณะที่ทางกลุ่ม Ultras Thailand ได้ชี้แจงผ่านเพจของกลุ่มตัวเองว่า

 

  1. เหตุการณ์ปาแฟลร์ลงสนามไม่ใช่จะดี บอลมันปิดเกมไปแล้ว ไม่จำเป็น และเราก็ไม่รู้ว่าใคร

 

  1. เหตุการณ์เปิดทางเข้าสนามก็ไม่ใช่ว่าดีเช่นกัน เพราะเราก็มีตั๋วที่ซื้อกันหมดแล้ว การพังเข้าก็ไม่จำเป็น 

 

  1. เราพยายามดูแลกันเองจากบุคคลที่ 3 เท่าที่ทำได้ตามกฎหมาย แต่ไม่ใช่หน้าที่เราในการตรวจค้นหรือทำหน้าที่แทนเจ้าหน้าที่

 

เรื่องนี้จริงหรือเท็จนั้น นอกจากเวลาจะช่วยหาคำตอบแล้ว ใครทำอะไรรู้อยู่แก่ใจ

 

แต่วันนี้ก็ไม่ได้มีเจตนาที่จะมาร้องทุกข์กล่าวโทษอะไรมากมาย แค่อยากจะมาเล่าให้ฟังถึงความเป็นมาของแฟนฟุตบอลที่เรียกตัวเองว่าอัลตรา

 

ที่มาที่ไปของแฟนฟุตบอลเหล่านี้เป็นมาอย่างไรกันแน่ ทำไมต้องมีพลุแฟลร์ ทำไมต้องดุดันไม่เกรงใจใครขนาดนี้

 

ตอร์ซิดา ออร์กานิซาดา ในบราซิลถือกำเนิดเมื่อเกือบ 100 ปีก่อน

 

ที่มาและความหมายของ Ultras 

 

หากจะให้เล่าความเป็นมาประวัติของแฟนฟุตบอลอัลตราหรืออุลตราในภาษาอิตาลีแล้ว สามารถย้อนเวลากลับไปได้ร่วมร้อยปีเลยทีเดียว

 

ตามพงศาวดารลูกหนังแล้วเราไม่ทราบแน่ชัดว่าแฟนอัลตรากลุ่มแรกนั้นมาจากไหนเพราะมีหลายทฤษฎีมาก ไม่ว่าจะเป็นต้นกำเนิดของแฟนบอลกลุ่มที่เรียกว่า ตอร์ซิดา ออร์กานิซาดา (Torcida Organizada) ในประเทศบราซิลที่เริ่มมีการบันทึกว่าเกิดขึ้นในปี 1939 ซึ่งมีรูปแบบที่คล้ายกับอัลตราอย่างมาก ขณะที่ในอาร์เจนตินาจะมีกลุ่มที่เรียกว่า บาร์ราส บราวาส (Barras Bravas)

 

แต่หากจะยึดตามที่มีการยอมรับในวงกว้าง อัลตราแรกๆ เริ่มในประเทศอิตาลีโดยมีหลายกลุ่มด้วยกัน รวมถึงกลุ่มแฟนฟุตบอลทีมโตริโนแห่งเมืองตูริน ที่มีชื่อว่า ‘เฟเดลิสซิมิ กรานาตา’ ​(Fedelissimi Granata) ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มที่เก่าแก่ที่สุดที่เริ่มก่อตั้งในปี 1951

 

หลังจากนั้นวัฒนธรรมการเชียร์ของแฟนบอลแบบอัลตราก็ได้แพร่กระจายไปทั่วอิตาลี แต่กว่าที่จะมีแฟนบอลกลุ่มที่ใช้คำว่า Ultras จริงๆ ในชื่อกลุ่มเลยก็ต้องรอจนถึงปี 1969 ในกลุ่มแฟนฟุตบอลทีมซามพ์โดเรียที่ใช้ชื่อกลุ่มว่า ‘อุลตรา ติโต คุชเคียโรนี’ (Ultras Tito Cucchiaroni)

 

โดยพวกเขาบอกว่าคำว่า ‘อุลตรา’ (Ultras) ซึ่งในภาษาอิตาลีมีความหมายว่า ‘ไปได้ไกลกว่า’ หรือ ‘สุดโต่ง’ นั้นมาจาก

 

Uniti

Legneremo

Tutti i

Rossoblu

A

Sangue

 

หรือแปลได้ว่า “พวกเราจะรวมพลังกันซัดพวกรอสโซบลูให้เลือดอาบ” โดยคำว่ารอสโซบลูนั้นหมายถึงชื่อเล่นของทีมโบโลญญา สโมสรฟุตบอลที่เป็นคู่ปรับกันนั่นเอง

 

วัฒนธรรมการเชียร์แบบอัลตราจึงเริ่มเป็นที่นิยมในช่วงเวลานั้น กลุ่มแฟนโตริโนก็มีการเปลี่ยนชื่อมาเป็น ‘อุลตรา กรานาตา’ (Ultras Granata) ในช่วงปีทศวรรษที่ 70 เช่นเดียวกัน และสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน โดยแต่ละสโมสรสามารถมีกลุ่มอัลตราได้หลายกลุ่ม

 

และวัฒนธรรมนี้ก็ได้เผยแพร่ไปสู่ทั่วทุกมุมโลกจากโรมถึงเดลี มิชิแกน มลายา และสยามประเทศ

 

พลุไฟ แสง สี ควัน คือภาพจำของเหล่า Ultras

 

เชียร์ฟุตบอลแบบ Ultras

 

สิ่งที่ทำให้แฟน Ultras แตกต่างจากแฟนฟุตบอลแบบอื่น คือเรื่องของการแสดงออกถึงความรักทีมผ่านรูปแบบต่างๆ

 

ป้ายผ้าขนาดใหญ่ (ซึ่งสืบทอดมาจากวัฒนธรรมของตอร์ซิดา ออร์กานิซาดา ของบราซิล ที่จะเน้นป้ายผ้าแสดงข้อความให้กำลังใจ) เสียงกลองรัวกระหน่ำ เพลงเชียร์ที่ดังราวกับไม่มีวันหยุด และพลุไฟหรือแฟลร์ที่กลายเป็นเอกลักษณ์

 

รวมถึงหนึ่งในสุดยอดการแสดงทางการเชียร์อย่าง ‘ติโฟ’ (Tifo) ที่เป็นการรวมใจกันแปรอักษรเป็นภาพขนาดใหญ่ที่ต้องใช้คนร่วมแรงร่วมใจกันเป็นจำนวนมาก


สำหรับอัลตรา พวกเขาเชื่อว่านี่คือการแสดงออกถึงความรักอันร้อนแรงที่มีให้แก่ทีม เพื่อส่งพลังถึงบรรดานักเตะในสนามให้ลงไปทำหน้าที่อย่างเต็มที่ ให้รู้ว่าพวกเขาพร้อมที่จะหนุนหลังเสมอ

 

ฟังแบบนี้ก็ดูน่าจะดี แต่ปัญหาคือแฟนอัลตราตั้งแต่อดีตมักจะมีพฤติกรรมนอกลู่นอกทางเสมอ การปลุกเร้ากันเองภายในกลุ่ม การรวมตัวของคนหมู่มากทำให้บ่อยครั้งขาดสติ และมีการใช้ความรุนแรงในรูปแบบต่างๆ

 

ส่วนหนึ่งเป็นเพราะเมื่อครั้งที่วัฒนธรรมอัลตราในอิตาลีเริ่มต้นนั้น มีเรื่องของการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย โดยในช่วงปีทศวรรษที่ 1970 เป็นต้นมา อัลตราหลายกลุ่มนั้นหยิบยืมเอาภาพหรือสโลแกนจากฝั่งซ้าย หรือชื่อของพวกกองทหารต่างๆ จากสงครามโลกครั้งที่ 2 มาตั้งชื่อด้วย


ตรงนี้เองที่อัลตราแตกต่างจากแฟนบอลที่เรียกว่า ‘ฮูลิแกน’ ซึ่งเป็นแฟนบอลอันธพาลอันฉาวโฉ่จากอังกฤษที่เป็นแค่กองเชียร์ขี้เมาที่หัวร้อนอยากปะทะธรรมดา ในขณะที่อัลตรามีการจัดตั้งเป็นอย่างดี มีกฎ มีระเบียบ มีผู้นำ ยกตัวอย่างในอิตาลีจะเรียกว่า ‘คาโป’ (Capo) หรือท่านประธาน โดยแต่ละสัปดาห์จะมีการเรียกทีมงานเข้าประชุมด้วยว่าในแต่ละเกมจะคิดสโลแกน แต่งเพลง ออกแถลงการณ์ หรือทำอะไรบ้าง รวมถึงมีการวางแผนจัดทำสินค้าเพื่อระดมทุนด้วย

 

พวกเขามักจะประจำการอยู่ฝั่งใดฝั่งหนึ่งของสนามเสมอ ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นฝั่งหลังประตู (หรือ Curva ในประเทศอิตาลี) ซึ่งจะมีการประสานงานกับสโมสรอย่างชัดเจน โดยอาจจะได้รับความช่วยเหลือในการจัดที่ทางให้ จัดหาตั๋วในราคาถูกเป็นพิเศษให้ ไปจนถึงการจัดเตรียมอุปกรณ์การเชียร์ มีห้องเก็บของให้ ส่วนหนึ่งเพราะแฟนบอลกลุ่มเหล่านี้เป็นสีสันของทีม และอีกส่วนหนึ่งนั้นไม่มีใครอยากมีเรื่องกับอัลตรา

 

อัลตรายังมีการแต่งกายแบบไม่เป็นทางการคือการใส่ชุดสีดำเหมือนกัน ไม่ใส่เสื้อทีมสโมสรหรือทีมชาติใดๆ ทั้งนั้น ส่วนมากจะมีเครื่องแต่งกายที่สามารถช่วยในการพรางตัวได้ด้วย เช่น เสื้อฮู้ดดี้, ผ้าโพกหัว, แว่นตา ซึ่งจะเป็นประโยชน์หากเกิดเหตุวุ่นวายขึ้น


ที่แย่คือหลังๆ อัลตรากลายเป็น ‘ฉากหน้า’ ของกลุ่มอันธพาลในคราบกองเชียร์ที่ต้องการก่อเรื่อง เอาคืนคู่อริ ไปจนถึงสร้างความวุ่นวายโดยไม่ได้สนใจเลยด้วยซ้ำว่าเกมในสนามจะเป็นอย่างไร หรือตอนนี้นักฟุตบอลคนไหนย้ายทีมมาใหม่

 

ภาพความรุนแรงกับอัลตราจึงเป็นของคู่กันมาโดยตลอด และก่อให้เกิดเหตุการณ์วุ่นวายไปจนถึงเรื่องราวน่าสลดใจหลายครั้ง

 

ทั้งๆ ที่ไม่มีความจำเป็นจะต้องทำแบบนั้นเลย

 

‘กำแพงสีเหลือง’ อันลือลั่นของโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์

 

ตกลง Ultras จำเป็นต้องบ้าดีเดือดเสมอไป?

 

ทีนี้ก็มาถึงคำถาม​สำคัญถึงเหล่าอัลตรา รวมถึงกลุ่ม Ultras ในประเทศไทยด้วยว่า ตกลงแล้วการจะเป็นอัลตราหรืออุลตร้ามันจำเป็นต้องบ้าดีเดือดหรือสร้างความวุ่นวายตลอดเวลาไหม?

 

คำตอบคือไม่จำเป็น เพราะมันไม่ได้มีกฎบัญญัติหรือจารีตอะไรแบบนั้นสักหน่อย

 

ในความเป็นจริงแล้วกลุ่มอัลตราดีๆ ในโลกก็มีมากมายที่โฟกัสกับเรื่องของการเชียร์อันทรงพลัง เป็นกองเชียร์ที่มาเพื่อเชียร์ฟุตบอลจริงๆ

 

อย่างในบราซิลบรรดาตอร์ซิดาส (Torcidas) จะร้องเพลงไม่หยุด พร้อมกับควงผ้าพันคอ (คำว่า Torcidas มีที่มาจากภาษาโปรตุเกสคคำว่า Torcer ที่แปลว่าบิด)​ เพราะเชื่อว่าการเชียร์สำคัญต่อกำลังใจของทีมไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในสนามก็ตาม ต่อให้ทีมเพิ่งจะโดนยิงก็จะร้องเพลงไม่หยุด 

 

แต่เมื่อถึงช่วงพักครึ่งจะมีการแสดงความรู้สึกให้เห็นบ้าง ด้วยการประท้วงพุ่งเป้าไปที่ผู้จัดการทีมหรือประธานสโมสร หากมีการบริหารจัดการทีมที่ไม่เข้าท่า แต่จะไม่แตะต้องนักเตะเด็ดขาด ต่อให้จะรู้สึกว่าไม่ได้ทุ่มเทเต็มร้อยก็ตาม

 

ขณะที่ในเยอรมนีมีตัวอย่างดีๆ อย่าง ‘Südtribüne’ ของทีมโบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ หรือกองเชียร์ทางอัฒจันทร์ฝั่งใต้ หรือที่เรียกกันว่า ‘Die Gelbe Wand’ หรือ ‘กำแพงสีเหลือง’ ซึ่งจะประจำการอยู่บนอัฒจันทร์ที่ยาว 328 ฟุต และสูง 131 ฟุต 

 

พวกเขาจะแสดง Tifo สุดอลังการให้เห็นเสมอ โดยที่ เจอร์เกน คล็อปป์ ที่เคยคุมทีมอยู่เคยบอกว่า เวลาเดินลอดอุโมงค์สนามที่มืดมิด เมื่อถึงในสนามจะรู้สึกเหมือนเกิดใหม่ทุกครั้งที่ได้เห็นภาพของกำแพงสีเหลือง

 

กองเชียร์กลุ่มนี้เชียร์ฟุตบอลจริงจัง ไม่เน้นเรื่องของการวิวาท ซ้ำยังเป็นแบบอย่างที่ดีด้วย เช่น ในช่วงโควิด ทางกลุ่มได้ขออาสาสมัครเพื่อช่วยเหลือคนที่ได้รับความเดือดร้อนหรือต้องการความช่วยเหลือในระหว่างการล็อกดาวน์

 

เรียกได้ว่าสามารถนำพลังความรักที่มีต่อทีมมาเป็นต้นธารในการสร้างสิ่งที่ดีต่อไปได้ 

 

Ultras จึงไม่จำเป็นที่จะต้องบ้าดีเดือด โชว์ความดุดันตลอดเวลา ไม่จำเป็นต้องเกิดมาเพื่อวอร์กับคนอื่น ไม่ต้องหาแต่เรื่องเดือดร้อน (ที่คนอื่นต้องรับเคราะห์ไปด้วย) หากแต่สามารถเป็นกองเชียร์แบบอย่างที่ดี สุภาพกับคนอื่น เป็นผู้ช่วยยุติปัญหามากกว่าจะสร้างปัญหา ช่วยดูแลรักษาความปลอดภัยให้แก่แฟนบอลด้วยกันเอง ร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ ปฏิบัติตามกฎอย่างเคร่งครัด ไม่ฝ่าฝืนหรือทำอะไรนอกรีตนอกรอย

 

ถ้าทำได้แบบนั้น รับประกันว่า Ultras จะกลายเป็นกลุ่มที่แฟนฟุตบอลปรบมือให้และชื่นชมจากใจจริง

 

เลือกได้นะอยากเป็นแบบไหน 🙂

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising