ได้ยินคำว่า ‘มาราธอน’ (Marathon) กิจกรรมที่คนส่วนใหญ่นึกถึงเป็นอันดับแรกน่าจะเป็นการวิ่ง ซึ่งพจนานุกรมภาษาอังกฤษฉบับออกซ์ฟอร์ดได้ให้นิยามมาราธอนว่าหมายถึงการวิ่งแข่งเส้นทางระยะยาว 42.195 กิโลเมตรอย่างแน่วแน่และเคร่งครัด
คำว่า ‘แน่วแน่’ และ ‘เคร่งครัด’ นี่เองที่ทำให้วัฒนธรรมมาราธอนในช่วงที่ผ่านมาดิ้นได้และเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทแวดล้อมต่างๆ ตามยุคสมัย มาราธอนในปัจจุบันไม่ได้ถูกใช้กับแค่การวิ่งเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป แต่ยังใช้ร่วมกับกิจกรรมอื่นๆ ได้ด้วย ดังที่ออกซ์ฟอร์ดให้อีกคำจำกัดความของมาราธอนว่าเป็น ‘การทำกิจกรรมใดๆ อย่างต่อเนื่องและทรหด’
ก่อนจะลงลึกไปมากกว่านี้ เคยสงสัยไหมว่ามาราธอนเกิดขึ้นได้อย่างไร ใครเป็นผู้ริเริ่มวัฒนธรรมเสริมสร้างความอึดรูปแบบนี้กันแน่
Photo: Wikimedia Commons
490 ปีก่อนคริสต์ศักราชสู่โอลิมปิก 1896 จุดเริ่มต้นของคำว่า ‘มาราธอน’
จากข้อมูลส่วนใหญ่ที่ค้นพบ จุดกำเนิดของตำนานมาราธอนน่าจะมาจากช่วงเกือบ 490 ปีก่อนคริสต์ศักราช ณ อารยธรรมกรีกโบราณ ซึ่งแต่เดิม ‘มาราธอน’ หรือมาราธอส เป็นที่รู้จักในฐานะเมืองหนึ่งของกรีก (ปัจจุบันคือประเทศกรีซ) และเป็นสังเวียนรบระหว่างชาวกรีกและชาวเปอร์เซียน
ครั้งหนึ่งเมื่อเปอร์เซียนพ่ายแพ้ หนึ่งในทหารกรีกและพลส่งสารนาม ‘ไฟดิปพิดีส’ (Pheidippides) ผู้มีความไวเป็นกรด ถูกสั่งให้วิ่งกลับจากมาราธอนมายังกรุงเอเธนส์รวมเป็นระยะทางกว่า 42 กิโลเมตรแบบไม่หยุดพัก เพื่อแจ้งข่าวดีให้ชาวเอเธนส์ได้ทราบทั่วกันว่ากรีกเป็นฝ่ายกำชัยในสงครามครั้งนี้
เมื่อสิ้นเสียงสุดท้ายการประกาศคว้าชัยของไฟดิปพิดีส ลมหายใจของเขาก็ขาดวิ่นในเสี้ยววินาทีเดียวกัน และเรื่องราวของเขาก็กลายมาเป็นแรงบันดาลใจสำคัญของการก่อเกิดวัฒนธรรมการวิ่งแบบไม่หยุดพัก หรือ ‘มาราธอน’ นั่นเอง
Photo: Wikimedia Commons
ในปี 1896 มหกรรมกีฬาโอลิมปิกครั้งแรกของโลก (อย่างเป็นทางการ) ถูกจัดขึ้นโดยมีกรีซรับหน้าที่เป็นชาติเจ้าภาพ และนับเป็นครั้งแรกของการแข่งขันกรีฑาชนิดมาราธอน ซึ่งผู้พิชิตเหรียญทองมาห้อยคอได้สำเร็จเป็นคนแรกของโลกคือ สปิริดอน หลุยส์ อดีตเด็กขนน้ำที่กลายมาเป็นนักกรีฑาชาวกรีซ หลังทำสถิติวิ่งเข้าเส้นชัยระยะทาง 40 กิโลเมตรด้วยเวลาเพียง 2 ชั่วโมง 58 นาที 50 วินาที
สปิริดอน หลุยส์
Photo: Wikimedia Commons
อาจเรียกได้ว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คนทั่วไปรู้สึกใกล้ชิดกับคำว่ามาราธอนมากยิ่งขึ้น
เมื่อความเป็นมาราธอนไม่เคยหยุดนิ่งและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา
ยุคสมัยเปลี่ยนผ่าน คำจำกัดความของมาราธอนถูกผลักให้ก้าวผ่านเส้นแบ่งของความเป็นเกมกีฬา กลายเป็นกิจกรรมหลากรูปแบบที่มีความน่าสนใจและความสร้างสรรค์ที่แตกต่างกันออกไป
อย่างเคสของ ตูน-อาทิวราห์ คงมาลัย คือตัวอย่างการประยุกต์มาราธอนให้กลายมาเป็นเครื่องมือช่วยเหลือสังคมที่น่าชื่นชมเป็นอย่างมาก หลังศิลปินหนุ่มวัย 39 ปีผู้นี้เริ่มออกวิ่งจากใต้สุดของแดนสยาม อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ขึ้นไปยังเส้นชัยที่เหนือสุดของประเทศไทย ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย รวมเป็นระยะทาง 2,215.40 กิโลเมตรในกว่า 55 วัน เพื่อรวบรวมเงินบริจาคมากกว่า 1,193 ล้านบาท สมทบทุนช่วยเหลือโรงพยาบาลที่ขาดแคลนอุปกรณ์และเครื่องมือทางการแพทย์กว่า 11 แห่งทั่วประเทศไทยในโครงการ ‘ก้าวคนละก้าว’
Photo: thestandard.co
เมล็ดพันธ์ุชั้นเยี่ยมที่อาทิวราห์ได้หว่านทิ้งไว้ระหว่างก้าวเท้าวิ่งจากเบตงไปแม่สาย คือการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนทุกเพศทุกวัยเริ่มหันมาดูแลรักษาสุขภาพมากขึ้นผ่านการออกกำลังกายและการวิ่งนั่นเอง
นอกเหนือจากโครงการวิ่งมาราธอนเพื่อช่วยเหลือสังคม เรายังได้เห็นมาราธอนรูปแบบแปลกๆ ทั่วโลกอีกเป็นจำนวนมาก เช่น Movie Marathon กิจกรรมดูหนังต่อเนื่องให้นานที่สุดเพื่อชิงรางวัล ใครหลับจะถูกปรับแพ้และคัดออก ซึ่งปัจจุบันเจ้าของสถิติสูงสุดคือ สุเรช โจอาคิม จากศรีลังกา ที่สามารถดูหนังมาราธอนได้นานที่สุดถึง 121 ชั่วโมง 18 นาที หรือประมาณ 5 วันเท่านั้นเอง! (สถิติบันทึกเมื่อ 13 ธันวาคม 2015)
ขณะที่ในสหรัฐอเมริกา ช่วงยุค 20s และ 30s การจัดประกวดแข่งขันเต้นมาราธอน หรือ Dance Marathon โยกย้ายร่างกายเคลื่อนไหวตามเสียงเพลงแบบนอนสตอปก็ได้รับความนิยมแบบสุดๆ เช่นกัน เพราะนอกจากผู้เข้าแข่งขันจะได้ร่วมลุ้นชิงของรางวัลแล้วก็ยังได้ออกกำลังกายขยับแข้งขยับขาไปพร้อมๆ กัน
นอกจากการวิ่งมาราธอน ดูหนังมาราธอน หรือเต้นมาราธอนแล้ว อีกสองกิจกรรมมาราธอนที่น่าจะเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทยเป็นอย่างมากคือการ ‘จูบมาราธอน’ ที่เรามักจะพบเห็นได้บ่อยๆ ตามช่วงเทศกาลวันวาเลนไทน์ในแต่ละปี ซึ่งเมื่อปี 2013 ที่ผ่านมา คนไทยยังกลายเป็นเจ้าของสถิติจูบมาราธอนที่นานที่สุดในโลกด้วยระยะเวลา 58 ชั่วโมง 35 นาที 58 วินาที
มาราธอนสุดท้ายที่จะลืมพูดถึงไม่ได้เป็นอันขาดคือการ ‘กินมาราธอน’ มาราธอนแบบนี้เชื่อว่าถูกใจใครหลายๆ คนที่เป็นนักกินหรือชื่นชอบการกินเป็นชีวิตจิตใจ ยิ่งถ้ามีการจัดกิจกรรมหรือโปรโมชันพิเศษที่ให้กินแบบมาราธอน กินได้ไม่อั้น กินได้เรื่อยๆ ยิ่งเป็นที่โปรดปรานและได้รับความสนใจเป็นอย่างยิ่ง
และถ้าจะให้พูดต่อถึงกิจกรรมหรือโปรโมชันของการกินมาราธอนในช่วงนี้ก็ต้องนึกถึง ‘Refill Marathon’ ที่เหล่าสาวกบาร์บีกอนของร้านบาร์บีคิวพลาซ่าตั้งตารอ เพราะหนึ่งปีจะจัดแค่เพียงครั้งเดียวเท่านั้น โดยเฉพาะในปีนี้มาในคอนเซปต์ ‘กินมาราธอน’ ที่ทำให้ภาพของการกินอึด กินเรื่อยๆ แบบมาราธอนชัดเจนมากยิ่งขึ้น แถมยังมีกิมมิกสนุกๆ อย่างการสะสมเหรียญโทเคนผ่านแอปพลิเคชัน BAR B GON CLUB เพื่อรับส่วนลดมื้ออาหารครั้งถัดไปที่จะเพิ่มขึ้นตามจำนวนโทเคน พร้อมรับเหรียญ ‘รีฟิล มาราธอน’ เหรียญที่ระลึกสุดพิเศษจากบาร์บีคิวพลาซ่า เมื่อพิชิตครบ 42 โทเคน สอดรับคอนเซปต์มาราธอนของสายกินที่แท้จริง
ดูเหมือนว่าเทรนด์มาราธอนจะยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง และเชื่อว่าในอนาคตนับจากนี้คำว่า ‘มาราธอน’ จะถูกนำไปใช้ในการสร้างสรรค์กิจกรรมต่างๆ ที่แปลกใหม่ น่าติดตาม สร้างความตื่นเต้นและสนุกสนานให้ผู้คนได้เรื่อยๆ อย่างแน่นอน
อ้างอิง:
- en.oxforddictionaries.com/definition/marathon
- www.perseus.tufts.edu/hopper/text?doc=Perseus:text:1999.04.0057:entry=*maraqw/n
- time.com/4295749/boston-marathon-history-evolution/
- www.historyextra.com/period/ancient-greece/the-greek-legend-behind-the-marathon/
- languageinstinct.blogspot.com/2010/03/story-of-marathon.html
- en.wikipedia.org/wiki/Boston_Marathon
- www.reuters.com/article/uk-thailand-kiss/couples-lock-lips-for-record-in-thai-kiss-marathon-idUSLNE71D04C20110214
- thestandard.co/kaokonlakao-starting/
- thestandard.co/kaokonlakao-from-start-to-finish/
- www.recordholders.org/en/records/kiss.html
- www.guinnessworldrecords.com/world-records/longest-marathon-watching-films/
- เล่ากันว่าเบื้องหลังจริงๆ ของกีฬามาราธอนในโอลิมปิกมาจาก มิเชล เบรียล นักภาษาศาสตร์ชาวฝรั่งเศสที่ได้แนะนำให้เพื่อนของเขา ปิแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง ผู้ก่อตั้งคณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ IOC (International Olympic Committee) ลองนำมาราธอนเข้ามาบรรจุเป็นหนึ่งรูปแบบการแข่งขันกีฬา เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนก็จะได้เห็นคำว่ามาราธอนเต็มไปหมด ตั้งแต่วงการสถาปัตยกรรม ดนตรี กวี ศิลป์ แต่กลับไม่พบคำนี้ในวงการกีฬาเลย
- ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมของกิจกรรม ‘Refill Marathon’ จากบาร์บีคิวพลาซ่าได้ที่ www.facebook.com/BarBQPlazaThailand