ถึงแม้การแข่งขันของรายการ มาสเตอร์เชฟ ประเทศไทย ซีซัน 2 จะสิ้นสุดลงไปแล้วเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ถึงกระนั้นบทสรุปดังกล่าวกลับไม่ได้ทำให้ผู้เข้าแข่งขันขวัญใจผู้ชมทั้งหลายหายหน้าหายตาเข้ากลีบเมฆไปด้วย THE STANDARD จึงไม่พลาดที่จะนัดพวกเขามานั่งพูดคุยกันเสียหน่อย
ถือเป็นโอกาสพิเศษที่สองหนุ่ม สองวัย สองคาแรกเตอร์ทั้ง กอล์ฟ-สัญญา ธาดาธนวงศ์ และ หมอตั้ม-ดิษกุล ประสิทธิ์เรืองสุข จะถอดผ้ากันเปื้อนมาร่วมแชร์ประสบการณ์ของทั้งคู่ด้วยการสนทนาเรื่องเดียวกันในคนละมุมมอง ได้เวลาแอบเข้าหลังครัวของพวกเขา สืบเสาะวัตถุดิบและสูตรเด็ดที่ทำให้รสชาติชีวิตของพวกเขาอร่อยถูกใจทั้งผู้ชมและตัวพวกเขาเอง
กอล์ฟ สัญญา และหมอตั้ม ดิษกุล
ช่วงชีวิตใดที่พวกคุณรู้ตัวเองว่าเป็นคนชอบทำอาหาร
หมอตั้ม: เล่าให้ฟังก่อนว่าผมเป็นครอบครัวคนจีน จีนจ๋าเลย เพราะฉะนั้นมื้อที่สำคัญที่สุดของบ้านจะเป็นมื้อเย็น ทุกคนต้องกลับมากินข้าวพร้อมกัน ด้วยความที่บ้านผมเป็นทาวน์เฮาส์ มันก็ไม่ได้มีบริเวณสำหรับเด็กเล่นมาก แถวบ้านก็ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรให้ทำนอกจากดูทีวีแล้วก็เล่นเกม ซึ่งส่วนใหญ่ผมก็จะไปช่วยในครัวเวลาทำกับข้าว เราก็ค่อยๆ เก็บความชอบนั้น เก็บเล็กเก็บน้อยมาเรื่อยๆ จนกระทั่งขึ้นมัธยมปลาย เราเริ่มไปสังสรรค์กับเพื่อนนอกบ้านบ้าง พอออกนอกบ้าน เราก็มีโอกาสได้กินร้านอาหารอื่นๆ ได้เจอรสชาติอื่นๆ เราก็เริ่มติดใจ รู้สึกว่าอะไรมันก็อร่อยไปหมด (หัวเราะ) และด้วยความที่พ่อแม่ค่อนข้างเข้มงวดพอสมควรเรื่องการกำหนดเงินค่าขนม เราก็เลยไปกินได้ไม่บ่อย จึงต้องเริ่มมาหาวิธีว่าจะทำยังไงให้ตัวเองได้กินอาหารอร่อยๆ ทุกวัน เราก็พยายามเก็บ พยายามจำ เวลาไปเจออะไรอร่อยๆ นอกบ้าน พอถึงเวลาไปซูเปอร์มาร์เก็ตวันอาทิตย์กับพ่อแม่ก็จะไปแอบหยิบวัตถุดิบใส่ตะกร้าแล้วมาแอบทำ เพื่อที่จะได้กินอาหารอันนั้นได้บ่อยๆ ครับ
กอล์ฟ: ของหมอตั้มดูยากนะ ดูซับซ้อน (หัวเราะ) ส่วนผมเป็นเด็กที่ชอบไปเดินตลาด สมัยก่อนตลาดสดมันยังมีการเชือดไก่เป็นๆ ในตลาด ก็เลยชอบตามคุณย่าไปตลาด ไปดูไก่ ปลา เป็ดเป็นๆ เท่านั้นเอง ขากลับบ้านก็จะแวะซื้อขนม พอเรากลับมาถึงบ้านก็ชอบดูคุณย่าทำปลา ขอดเกล็ด หั่น ชำแหละ
หมอตั้ม: เหมือนพี่ชอบดูกายวิภาคของสัตว์หรือเปล่า (หัวเราะ)
กอล์ฟ: ใช่เลย การชอบทำอาหารของเรามันเริ่มจากตรงนั้นแหละ เริ่มซึมซับ เช้ามาอยากไปตลาดกับคุณย่าเพราะเหตุผลแค่นั้นเลย ย่าทำอะไรเราก็อยากที่จะทำเป็น แต่เสียดายที่คุณย่าผมเสียเร็วไปหน่อย เพราะมีอีกหลายเมนูที่ผมไม่มีโอกาสได้กินอีกแล้ว และเราทำไม่เป็น พอคุณย่าเสียไปก็กลายมาเป็นผมที่เป็นคนทำอาหารในเทศกาล ทั้งตรุษจีน สารทจีน เช็งเม้ง ไหว้เจ้า ผมเป็นคนทำมาตลอด เราเองก็เริ่มชอบ ก็สะสมมาเรื่อยๆ
อาหารจานแรกในความทรงจำที่คุณลงมือทำแล้วรู้สึกว่าอร่อยคืออะไร
หมอตั้ม: เมนูแรกของผมคือน้ำพริกกะปิครับ ตอน ม.2 ตอนนั้นทำเลี้ยงคุณพ่อ คุณแม่ พี่ชาย แล้วทุกคนกินรสชาติไม่เหมือนกันเลย อย่างผมจะชอบเปรี้ยวเค็ม พี่ชายก็จะกินเผ็ด เราเองก็ต้องตามใจหลายคน ในมุมมองผมมันก็ไม่ได้ยากสำหรับเด็กคนหนึ่งนะตอนนั้น
กอล์ฟ: จริงๆ น้ำพริกกะปิทำให้อร่อยยากนะ ยากกว่าของผม ซึ่งจะเป็นเมนูที่ไม่ยากมากอย่างหมูสับนึ่งปลาเค็ม มันเป็นอาหารจีนแคะ คุณย่าผมเป็นคนสอน ซึ่งก็จะค่อนข้างง่าย แค่สับหมู ปรุงรส แผ่เนื้อหมูใส่จาน แล้วก็ไปนึ่ง จากนั้นเอาปลาเค็มทอดวางข้างบน เป็นเมนูง่ายๆ ที่ทุกคนในครอบครัวชอบ
นิยามคำว่า ‘อร่อย’ ในมุมมองของแต่ละคนเป็นอย่างไร
กอล์ฟ: ความอร่อยมันเป็นรสนิยมของแต่ละบุคคลนะครับ แต่ตัวเราจะชินกับรสมือแม่ กับสิ่งที่เราโตมามากกว่า ซึ่งหากอาหารนั้นๆ มีรสที่ใกล้เคียงกับรสมือแม่ มันก็จะเป็นรสที่อร่อยสำหรับเรา แต่ความอร่อยมันก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล มันไม่มีคำจำกัดความตายตัวว่าอาหารแบบนี้อร่อย ร้านนี้อร่อยเท่านั้น เพราะผมเชื่อว่าอาหารทุกร้านไม่มีใครเดินเข้าไปร้อยคนแล้วเดินกลับออกมาบอกว่าอร่อยทุกคน สักร้านเดียวก็ไม่มี
หมอตั้ม: ผมว่ามันเป็นความรู้สึกนะ อธิบายยากเหมือนกัน ทุกคนคงให้นิยามคำว่าอร่อยไม่เหมือนกัน แต่คำว่าอร่อยของผมมันเกิดจากประสบการณ์หลายๆ อย่างเกี่ยวกับการกิน มันไม่ใช่แค่เค็ม หวาน เปรี้ยว แต่คือความทรงจำว่าเรากินอาหารแบบนี้แล้วอร่อย หรือการกินอาหารแบบนั้นแล้วทำให้เราคิดถึงบรรยากาศหรือเหตุการณ์บางอย่าง ความอร่อยทำให้เราเติมเต็มสิ่งนั้นมากขึ้น
อาหารจานโปรดของคุณทั้งคู่คืออะไร และทำไมถึงชอบอาหารประเภทนั้น
หมอตั้ม: ผมชอบกินเนื้อสเต๊ก แต่ถ้าให้บอกเป็นประเภท ผมชอบอาหารเยอรมัน
กอล์ฟ: เหรอ แปลกว่ะ ไม่ค่อยได้ยินคนบอกว่าชอบอาหารเยอรมัน
หมอตั้ม: เวลาพูดถึงอาหารเยอรมัน คนก็จะรู้สึกว่ามันจะมีแค่ขาหมูทอด ไส้กรอก แต่ตัวผมเคยไปแลกเปลี่ยนที่ประเทศเยอรมนีครั้งหนึ่ง แล้วก็ได้มีโอกาสไปเบียร์เฮาส์ใหญ่ๆ ที่นั่นก็จะมีเมนูอื่นๆ ที่เราไม่เคยกิน อาหารเยอรมันจะรสหนักหน่อย มีรสชาติจัดๆ เกรวี่เข้มข้น
กอล์ฟ: ส่วนตัวผมชอบกินอาหารไทยมากที่สุดแล้ว นึกอะไรไม่ออกก็ส้มตำ เข้าร้านส้มตำ สั่งเนื้อย่าง เสือร้องไห้ ปลาเผา ต้มแซ่บ คือเมนูที่ต้องมีสัปดาห์
คุณคิดเห็นอย่างไรกับการรับประทานอาหารรูปแบบ Chef’s Table ที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายมากมายในปัจจุบัน
หมอตั้ม: ส่วนใหญ่ผมชอบกินนะ รู้สึกเอ็กซ์คลูซีฟ มันพิเศษมาก เหมือนเราได้เข้าไปสัมผัสตัวตนที่แท้จริงของเชฟคนนั้นเลย เพราะปกติเวลาไปร้านอาหารมันคือตัวตนของเรา เราสั่งอาหาร แต่ถ้าเกิดเราไปกินอะไรที่มันเป็นเซตเมนูหรือโอมากาเสะ มันคือตัวตนที่เชฟเขาคิดขึ้นมา ผมเลยชอบที่ หนึ่ง เราไม่ต้องคิด สอง เราได้เข้าใจตัวตนที่แท้จริงของเชฟคนนั้น
กอล์ฟ: ผมว่าข้อดีของ Chef’s Table คือการเปิดโอกาสให้มือสมัครเล่นได้แสดงฝีมือของตัวเอง เพราะเอาเข้าจริงคนที่มาทำอาหารให้เรากินทุกวันนี้ บางคนเขาก็ไม่ได้เรียนทำอาหารมาโดยตรงกันหมด เพราะฉะนั้นเราไม่จำเป็นต้องไปจำกัดความของคำว่า Chef’s Table แล้วต้องเป็นเชฟ เราเพียงแค่อยากจะไปลองกินอาหารของคนคนหนึ่ง อยากไปกินสิ่งที่หล่อหลอมตัวตนของเขา
สิ่งที่กอล์ฟและหมอตั้มอยากส่งต่อแรงบันดาลใจให้กับคนอื่นๆ ที่มีใจรักในการทำอาหารหรือทำอาหารเองอยู่ที่บ้าน
หมอตั้ม: ถ้าในมุมมองของผมก็จะเป็นแนวสุขภาพมากกว่า พอเราได้ทำอาหารเอง สิ่งที่คุณจะได้แน่นอนคือการได้ควบคุมอะไรหลายๆ อย่างด้วยตัวเอง ในแง่ของโภชนาการ พอเราทำอาหารเองมันก็สามารถหลีกเลี่ยงอาหารบางอย่างได้ สมมติคุณชอบกินของทอด มันก็มีวิธีทอดแบบใหม่ เราก็ลดไขมันได้เยอะมาก อยากคุมน้ำหนักก็ไม่ต้องกังวลว่าร้านข้างนอกจะใช้น้ำมันดีหรือไม่ดี มันสามารถควบคุมอะไรได้เยอะครับ
กอล์ฟ: สำหรับเด็กรุ่นใหม่ที่ยังค้นหาตัวเองไม่เจอ หากการได้ดูรายการ มาสเตอร์เชฟ แล้วมันจะสามารถสร้างแรงบันดาลใจให้พวกคุณได้ ผมอยากให้คุณลงมือทำเลย บางทีเราอาจจะกลัวในการทำหรือการเริ่มต้นทำอะไร ก็เพียงแค่กล้าเลย ลองทำดู เราก็จะสามารถทำในสิ่งที่เรารักจนประสบความสำเร็จได้
- เมนูที่หมอตั้มเลือกสั่งเสมอเวลาไปร้านขายข้าวแกงหรือร้านขายอาหารตามสั่งคือ กะเพราหมูกรอบ, หมูกรอบกระเทียมพริกไทย หรืออะไรก็ได้ที่ใช้ ‘หมูกรอบ’ เป็นส่วนประกอบ
- ส่วนทางด้านกอล์ฟมักจะเลือกไข่พะโล้ เพราะคือเมนูที่มีส่วนประกอบของสิ่งที่เขาชอบทั้งนั้น ทั้งไข่ เต้าหู้ และเนื้อหมู
- หมอตั้มมักชอบวัตถุดิบที่มีกลิ่นเฉพาะตัว โดยเฉพาะทรัฟเฟิลที่เขาชื่นชอบเป็นพิเศษทั้งแบบสดหรือแบบน้ำมัน ส่วนวัตถุดิบไทยที่หมอตั้มชอบที่สุดคือพริกชี้ฟ้า เพราะความเผ็ดและรสชาติเมื่อนำมาปรุงอาหารแล้วไม่กลบวัตถุดิบอื่นจนเกินไป
- การได้กินเนื้อเปื่อยๆ เอ็นนิ่มๆ ที่อยู่บริเวณซี่โครงหมู คือความรู้สึกที่กอล์ฟชื่นชอบมากที่สุด
- ติดตามความเคลื่อนไหวของกอล์ฟได้ทางอินสตาแกรมของพวกเขา @sanyagolf ส่วนหมอตั้มนั้นกำลังเริ่มต้นเพจของเขาที่ชื่อว่า EAT Matters : by หมอตั้ม โดยเป็นเพจที่ว่าด้วยเรื่องอาหารการกินที่สำคัญและดีต่อสุขภาพ ตามไปให้กำลังใจหมอตั้มได้ที่ www.facebook.com/eatmatter