ในอดีตการเติบโตในสายอาชีพหมายถึงการไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งผู้จัดการ แต่ปัจจุบันทัศนคติของคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Z และ Millennials ที่ให้ความสำคัญกับสมดุลชีวิตการทำงานมากกว่าเงินเดือนและอำนาจ ทำให้ตำแหน่งผู้จัดการไม่เป็นที่น่าสนใจอีกต่อไป
ผลสำรวจล่าสุดจาก CoderPad พบว่า 36% ของพนักงานด้านเทคโนโลยีไม่ต้องการรับตำแหน่งผู้จัดการ เนื่องจากมองว่าผลตอบแทนที่ได้รับไม่คุ้มค่ากับเวลา ความเครียด และความกดดันที่เพิ่มขึ้น
ช่วงการแพร่ระบาดของโควิดผู้จัดการต้องรับมือกับความท้าทายมากมาย ตั้งแต่การปรับตัวให้พนักงานทำงานจากที่บ้าน การสร้างนโยบายและขั้นตอนการทำงานทางไกล ไปจนถึงการจัดการตารางการทำงานแบบผสมผสาน และการดูแลเรื่องการฉีดวัคซีนให้กับพนักงาน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ยุคใหม่ใครว่าต้องโต? พนักงาน 51% พอใจตำแหน่งเดิม ไม่สนเลื่อนขั้น ขอ Work-Life Balance ดีกว่า
- ‘Work Hard to Survive’ สัญญาณเตือนภัยเศรษฐกิจไทย หรือมายด์เซ็ตใหม่ที่คนทำงานต้องปรับ?
- ‘Work-Life Balance’ กลับมาเป็นความต้องการหลักของมนุษย์เงินเดือนไทยในปี 2567
หลังจากนั้นผู้จัดการยังต้องเผชิญกับความผันผวนของตลาดแรงงาน ทั้งการแข่งขันในการสรรหาบุคลากรที่มีความสามารถ การลาออกครั้งใหญ่ (Great Resignation) และการปลดพนักงานจำนวนมากในหลายภาคส่วน
ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ตำแหน่งผู้จัดการระดับกลางมักเป็นเป้าหมายในการลดต้นทุน มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอของ Meta เคยกล่าวว่าปี 2023 เป็น ‘ปีแห่งประสิทธิภาพ’ โดยเน้นย้ำถึงความไม่มีประสิทธิภาพภายในองค์กรของเขา ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่อื่นๆ เช่นกัน
นอกจากนี้งานวิจัยจาก MIT Sloan Management Review ยังพบว่าการสนับสนุนที่องค์กรมีต่อผู้จัดการกำลังลดลง ขณะที่ผู้จัดการต้องแบกรับความกดดันและความคาดหวังที่สูงขึ้นจากทั้งผู้บริหารระดับสูงและพนักงาน
ความเหนื่อยล้าและความโดดเดี่ยวก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตำแหน่งผู้จัดการไม่น่าดึงดูด ผลสำรวจจาก Future Forum ในปี 2022 เผยให้เห็นว่าผู้จัดการระดับกลางเป็นกลุ่มพนักงานที่เหนื่อยล้ามากที่สุด โดย 45% รู้สึกหมดไฟ นอกจากนี้ผู้จัดการยังต้องเผชิญกับความรู้สึกโดดเดี่ยว เนื่องจากไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมอีกต่อไป
อาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงของโลกการทำงานและความต้องการของคนรุ่นใหม่กำลังท้าทายความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับความสำเร็จในหน้าที่การงาน ตำแหน่งผู้จัดการที่เคยเป็นเป้าหมายของใครหลายคนอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับทุกคนอีกต่อไป
สำหรับบริษัทต่างๆ การสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่เอื้อต่อการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัว การสนับสนุนและพัฒนาผู้จัดการอย่างเหมาะสม และการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ให้ความสำคัญกับความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานทุกระดับจะเป็นกุญแจสำคัญในการดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีความสามารถไว้กับองค์กร
อ้างอิง: