จากอดีตถึงปัจจุบัน วิวัฒนาการการอาบน้ำของมนุษยชาติถูกยกระดับขึ้นเรื่อยๆ ตามภูมิปัญญาที่สั่งสม โดยแรกเริ่มอาจมีจุดประสงค์เพียงเป็นการทำความสะอาดชำระล้างร่างกายจากคราบเหงื่อ ไคล และความสกปรกจากการทำกิจกรรมอื่นๆ ซึ่งความถี่ของการอาบน้ำจะแปรผันตามสภาพภูมิอากาศและทรัพยากรที่รายรอบ แต่ก็เป็นธรรมดาที่เมื่อเวลาผ่านไปกิจวัตรของมนุษย์มักถูกปรับให้เข้ากับความเชื่อ ความนิยม ฐานันดรศักดิ์ หรือกระทั่งศาสนา จนทำให้การอาบน้ำไม่ได้เป็นเพียงแค่การอาบน้ำอีกต่อไป
THE STANDARD พาทุกคนไปย้อนรอยวิวัฒนาการการอาบน้ำของคนไทย จากหัวไพลสู่สบู่ก้อน สำรวจเรื่องจริงที่อิงกับวรรณคดีไทย จักน่าตื่นตาตื่นใจเมื่อได้เรียนรู้อดีตของบรรพบุรุษเราจากอดีตถึงปัจจุบัน
ย้อนรอยการอาบน้ำไทย จากบันทึกของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์
เนื่องจากความรุ่มรวยทางทรัพยากรน้ำที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ ไทยเราจึงเป็นชนชาติที่มีการอาบน้ำเป็นกิจวัตรประจำ มากน้อยต่างกันตามวาระ จากจดหมายเหตุพงศาวดารของ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) ที่บันทึกกล่าวถึงราชอาณาจักรสยามในปลายรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พ.ศ. 2230 ได้บันทึกเกี่ยวกับการอาบน้ำของคนไทยยุคนั้นเป็นเรื่องๆ ไว้ว่า
“ชาวสยามนุ่งห่มน้อย และอบรำ่ร่างกายด้วยสุคนธรส หรือเครื่องหอม ริมฝีปากก็สีขี้ผึ้งหอม อาบน้ำวันละ 3 ถึง 4 ครั้ง ถือเป็นความสุภาพเรียบร้อยว่า จะไปเยี่ยมผู้ใดในรายที่สำคัญ ต้องอาบน้ำเสียก่อน และจะประแป้งให้ขาวพร้อมที่ยอดอก แสดงว่าได้อาบน้ำมาแล้ว”
“วิธีอาบน้ำสองอย่าง วิธีหนึ่งลงไปแช่น้ำ อีกวิธีหนึ่งใช้ขันตักน้ำรดร่างกาย”
“การรักษาความสะอาดฟันและผม ชาวสยามเอาใจใส่รักษาฟันมาก แม้จะย้อมดำแล้วก็ตาม เขาสระผมด้วยน้ำ และใส่น้ำมันจันทน์ ทำนองเดียวกับชาวสเปน แล้วไม่ผัดแป้งเลย ชาวสยามหวีผม หวีมาจากประเทศจีน ชาวสยามถอนเคราซึ่งมีอยู่หรอมแหรม แต่ไม่ทำเล็บเลย เพียงแต่รักษาให้สะอาด”
คนไทย อาบน้ำอาบท่า มาแต่ไหนแต่ไร
ในอดีต ชาวบ้านทั่วไปอาบน้ำเพื่อคลายความร้อนและชำระล้างเนื้อตัวให้สะอาด โดยจะลงอาบน้ำในลำคลอง แหล่งน้ำใกล้บ้าน หรือท่าน้ำทั้งที่เป็นแบบท่าน้ำส่วนตัวของบ้านและท่าน้ำสาธารณะ เป็นที่มาของคำไทยที่ว่า “อาบน้ำอาบท่า” นั่นเอง ทั้งยังปรากฏอยู่ในบทร้องการละเล่นพื้นบ้านที่ว่า
“จ้ำจี้มะเขือเปราะ กะเทาะหน้าแว่น พายเรืออ้อนแอ้น กระแท่นต้นกุ่ม สาวๆ หนุ่มๆ อาบน้ำท่าไหน อาบน้ำท่าวัด เอาแป้งที่ไหนผัด เอากระจกที่ไหนส่อง เยี่ยมๆ มองๆ นกขุนทองร้องกรู๊”
โดยอุปกรณ์ที่ใช้ในการอาบน้ำก็มักจะเป็นสมุนไพรพื้นบ้านหรือของพื้นบ้านที่มีฤทธิ์ช่วยในการทำความสะอาด เช่น ดินสอพอง ใยบวบ ไพล มะกรูด ลูกประคำดีควาย
Take a Shower ตั้งแต่บรรพกาล
ด้านเจ้านาย คหบดี ผู้มียศถาบรรดาศักดิ์ สูงขึ้นไปถึงเชื้อพระวงศ์ จะมีบ่าวไพร่ดูแลตักน้ำตักท่ามาให้อาบถึงเรือนชานหรือห้องสรงสนาน (ห้องอาบน้ำ) ตามอำนาจและบารมีที่หล่อหลอม บ้างใส่ตุ่มดินเผาจากจีน บ้างใส่โอ่งลายมังกรอ่อนช้อย คนไทยรู้จักใช้ฝักบัว (หรือที่เรียกว่า ‘สุหร่าย’) มาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา ตามที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน ตอน พลายแก้วชวนนางพิมอาบน้ำ
“พลายแก้วลุกแล้วชวนน้องรัก ร้อนนักไปอาบน้ำบ้างเถิดหนอ
นางพิมฟังว่าไม่รารอ จูงข้อมือเจ้าพลายนั้นเดินมา
ย่องเหยียบดังเกรียบกรอบลั่น ศรีประจันทักไปนั่นใครหวา
เจ้าพลายสะกิดพิมให้เจรจา ฉันเองคะออกมาจะอาบน้ำ
ครั้งถึงอ่างวางอยู่ที่นอกชาน สองสำราญขึ้นนั่งบนเตียงต่ำ
จึงไขน้ำจากบังตะกั่วทำ น้ำก็พร่ำพรายพรูดูกระเด็น”
นอกจากวรรณคดีเรื่อง ขุนช้าง ขุนแผน แล้ว ในวรรณคดีเรื่องอื่นๆ ยังกล่าวถึงเรื่องการอาบน้ำฝักบัวไว้มากมาย แสดงให้เห็นว่าคนชั้นสูงในสมัยก่อน มีวิธีการอาบน้ำด้วยฝักบัวกันมานมนาน
การขัดสีฉวีวรรณ = การเสริมบารมี
ถัดจากการเน้นในการทำความสะอาดร่างกาย ก็เป็นการเสริมความงาม และเสริมบารมีของแต่ละคน โดยมักใช้มะขามเปียกในการขัดผิวให้เนียนลออตา ก่อนจะลงขมิ้นชันให้ผิวดูมีสีเหลืองเป็นสง่า ซึ่งการขัดสีฉวีวรรณนี้มักจะเกิดขึ้นในวาระสำคัญของชีวิต ไม่ได้กระทำกันทุกวัน หากไม่ใช่ผู้ที่มีบ่าวไพร่รายล้อมที่พร้อมจะรับใช้ในการอาบน้ำของผู้เป็นนายอยู่เสมอ อันวาระสำคัญของคนในยุคนั้นก็ได้แก่ การไปวัดทำบุญใหญ่ การเข้าพบเจ้านายชั้นสูง การแต่งงาน การบวช การเข้ารับการเลื่อนยศตำแหน่ง เป็นต้น
กระแจะเจิมเพิ่มน้ำปรุง
เมื่อกาลเปลี่ยน สรรพวิทยาพอกพูน และการรับอิทธิพลพร้อมทั้งภูมิความรู้จากชาติ
ที่เจริญกว่า ก็ทำให้การอาบน้ำยกระดับจากการทำความสะอาด ไปเป็นการประกาศศักดาบารมี อุปกรณ์ในการอาบน้ำจึงไม่ใช่แค่มีฤทธิ์ในการทำความสะอาดเท่านั้น แต่ยังช่วยในเรื่องของการทำให้ผิวสวยงามตา กลิ่นหอมฟุ้งน่าชื่นชม ไปจนถึงบ่งบอกถึงความร่ำรวยของแต่ละบ้านอีกด้วย โดยในยุคที่ไทยมีการติดต่อค้าขายกับชาวตะวันตก เกิดความนิยมการอาบน้ำลอยกลิ่นกุหลาบ การทาแป้งกระแจะอบร่ำกลิ่นหอม และการประพรมน้ำปรุงหรือน้ำหอมเทศราคาแพงหลังจากที่อาบน้ำเสร็จ
จากบทนิพนธ์ของเจ้าฟ้ากุ้ง หรือเจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร กวีสมัยอยุธยา แสดงให้เห็นว่า
คนไทยรู้จักใช้น้ำดอกไม้เทศ (น้ำดอกไม้เทศ คือน้ำดอกกุหลาบ ซึ่งคำว่า ‘กุหลาบ’ มาจากภาษาเปอร์เซีย คือ กุล (gul) แปลว่า ดอกไม้ หรือ ดอกกุหลาบ) มาตั้งแต่สมัยอยุธยาแล้ว และใช้เป็นเครื่องหอมชนิดหนึ่ง การใช้น้ำดอกไม้เทศของคนไทยได้รับความนิยมเรื่อยมาในสมัยรัตนโกสินทร์ ดังคำประพันธ์ที่กล่าวถึงการใช้น้ำดอกไม้เทศไว้ในบทละครเรื่อง คาวี พระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ดังคำกลอน
“คิดแล้วสรงน้ำชำระกาย ขมิ้นผงละลายเป็นค่อนขัน
ลูบไล้ขัดสีฉวีวรรณ ทรงกระแจะจวงจันทน์กลิ่นเกลา
น้ำดอกไม้เทศทากว่าจะทั่ว ชโลมทั้งเนื้อตัวเหมือนปล่อยเต่า
กระจกตั้งนั่งส่องมองดูเงา จับเขม่ากันไรไปล่ปลิว”
วิวัฒนการจากหัวไพลสู่สบู่ก้อน
ดำเนินมาถึงปี พ.ศ. 2470 สบู่ก้อนก็เข้ามาในไทย จากน้ำมือของญี่ปุ่นที่รับมาจากทางฝั่งยุโรปอีกที โดยสบู่ก้อนที่เข้ามานั้นเป็นสบู่อเนกประสงค์ที่ใช้อาบน้ำก็ได้ สระผมก็ได้ ซักผ้าก็ได้ ล้างจานก็ได้ ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของชาวไทยครั้งยิ่งใหญ่ โดยคำว่า ‘สบู่’ เป็นคำที่คนไทยใช้เพี้ยนมาจากคำว่า ‘soap’ เนื่องจากชาวญี่ปุ่นออกเสียงคำนี้ว่า ‘โซปปุ’ เมื่อพูดเร็วๆ ฟังเร็วๆ คนไทยก็เรียก ‘soap’ ว่า ‘สบู่’ ไปในที่สุดนั่นเอง
สบู่เหลวจนถึงวิปโฟม
แล้วความนิยมในสบู่เหลวก็เป็นสิ่งใหม่ที่เกิดขึ้นตามมา ในความรู้สึกของผู้ใช้งานอาจมองว่าสบู่เหลวนั้นเป็นสิ่งที่หรูหรากว่าสบู่ก้อน ก่อนที่เทคโนโลยีจะพัฒนาให้สบู่สำหรับการอาบน้ำมีความหลากหลายขึ้นอย่างน่าตื่นตาตื่นใจ ทั้งความหอมที่ยาวนานขึ้น ความชุ่มชื้นที่ช่วยในการบำรุงผิว การใส่ส่วนผสมแปลกใหม่ที่ไม่เคยฝันถึง วิวัฒนาการเหล่านี้พัฒนามาจนถึงการสร้างฟองโฟมเนียนละมุนเพื่อสร้างประสบการณ์อันรื่นรมย์ในการอาบน้ำแบบใหม่ๆ ที่ได้รับความนิยมในคนไทยสมัยปัจจุบัน
จะเห็นว่าการได้เรียนรู้เรื่องธรรมดาๆ เช่นการอาบน้ำจากคนในอดีต ดำเนินวิถีชีวิตจากรุ่นสู่รุ่นมาจนถึงยุคของเรา ทำให้รู้ว่าโลกนี้ไม่มีวันหยุดนิ่ง และการอาบน้ำก็เป็นหนึ่งในหลักฐานสำคัญว่าเราก้าวผ่านวิวัฒนาการการอาบน้ำดั้งเดิมไปสู่วิวัฒนาการการอาบน้ำสมัยใหม่โดยไม่ทันรู้ตัว อีก 10 หรือ 20 ปี ข้างหน้า ก็ไม่แน่ว่าการอาบน้ำของคนไทยอาจเปลี่ยนไปมากกว่านี้อีก ในแบบที่เราคาดไม่ถึงก็เป็นได้ ใครจะรู้?
อ้างอิง:
- Sanctuary Spa
- www.facebook.com/Signnagas/posts/731437163639848:0
- www.silpathai.net/%E0%B8%AD%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%9A%E0%B8%99%E0%B9%89%E0%B8%B3%E0%B9%83%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B8%84%E0%B8%94%E0%B8%B5
- www.facebook.com/amazingknowledges/posts/696796733784622