เศรษฐกิจทรุด! กำลังซื้อเปราะบาง ฉุดดัชนีเชื่อมั่นอุตสาหกรรมเดือนพฤษภาคมต่ำสุดในรอบ 7 เดือน เอกชนกุมขมับ 23 อุตสาหกรรมอ่อนแรง ดัชนีปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบทั้งยอดขายโดยรวมและยอดคำสั่งซื้อ
นาวา จันทนสุรคน รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนพฤษภาคม 2567 อยู่ที่ระดับ 88.5 ปรับตัวลดลงจาก 90.3 ในเดือนเมษายน 2567 เมื่อพิจารณาองค์ประกอบของดัชนีพบว่า ปรับตัวลดลงทุกองค์ประกอบ ทั้งยอดขายโดยรวม ยอดคำสั่งซื้อโดยรวม ปริมาณการผลิต ต้นทุน ประกอบการและผลประกอบการ ถือเป็นดัชนีต่ำสุดในรอบ 7 เดือนหรือในรอบปี
โดยปัจจัยหลักๆ เป็นผลมาจากกำลังซื้อในประเทศที่ยังเปราะบาง เศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอน รวมถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูงและสัดส่วนหนี้เสีย (NPLs) ที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้การบริโภคสินค้าชะลอลง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ชวนวิเคราะห์ เหตุใดสินค้าจีนทะลัก ส่งออกเริ่มหมดแรง แบกเศรษฐกิจไทยไม่ไหว…
- ข่าวโรงงานทยอยปิดตัวไปทีละราย ปีนี้คนไทยตกงานแล้วกว่า 40,000 คน สัญญาณอันตรายกำลังบอกอะไร
- เกิดอะไรขึ้นกับโครงสร้างประชากรไทย เมื่อคุณภาพชีวิตหาย ผู้สูงวัยล้น มีรายได้แค่ 6,975 บาท/เดือน…
น้ำมันแพง สินค้าราคาถูกทะลักไทยและอาเซียน
ขณะที่ราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิต รวมถึงอัตราค่าระวางเรือที่เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากปัญหาการขาดแคลนเรือขนส่งสินค้าและตู้คอนเทนเนอร์ที่หมุนเวียนไม่ทัน เนื่องจากระยะเวลาขนส่งที่นานขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากปัญหาทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics)
ตลอดจนผู้ประกอบการยังได้รับผลกระทบจากสินค้าราคาถูกจากต่างประเทศที่เข้ามาแข่งขันในไทยและอาเซียนมากขึ้น ทำให้สินค้าไทยแข่งขันได้ยาก รวมถึงสภาพอากาศที่แปรปรวนจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ส่งผลกระทบต่อสินค้าเกษตร
23 อุตสาหกรรมอ่อนแรง
หากดูในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ดัชนีลดลงจะพบว่ามี 23 อุตสาหกรรม ได้แก่ อัญมณีและเครื่องประดับ, ปูนซีเมนต์, หลังคาและอุปกรณ์, แกรนิตและหินอ่อน, แก้วและกระจก, เซรามิก, โรงเลื่อยและโรงอบไม้, ไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น, เฟอร์นิเจอร์, ต่อเรือ ซ่อมเรือ และก่อสร้างงานเหล็ก, หล่อโลหะ, น้ำตาล, สมุนไพร, น้ำมันปาล์ม, ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร, การสำรวจและผลิตปิโตรเลียม, ปิโตรเคมี, เคมี, ผลิตภัณฑ์ยาง, พลาสติก, หัตถกรรมสร้างสรรค์, การจัดการเพื่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีชีวภาพ
อย่างไรก็ตาม ดัชนีคาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า คาดว่าจะยังอยู่ที่ระดับ 95.7 ยังคงปรับตัวลดลงจาก 98.3 ในเดือนเมษายน 2567
“ด้วยปัจจัยเสี่ยงจากปัญหา Geopolitics ในตะวันออกกลาง ส่งผลให้เกิดความผันผวนของราคาน้ำมันในตลาดโลก และเกิดความล่าช้าในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตลอดจนสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน รอบใหม่ที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น และผู้ประกอบการ SMEs มีความกังวลต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศ”
ลุ้นมาตรการภาษีปั๊มเม็ดเงินท่องเที่ยวเมืองรอง อานิสงส์เงินบาทอ่อนค่า
อย่างไรก็ตาม ในเดือนพฤษภาคมยังมีปัจจัยสนับสนุนจากความต้องการสินค้าในช่วงเปิดภาคเรียนปีการศึกษา 2567 เช่น เครื่องนุ่งห่ม รองเท้าหนังและผลิตภัณฑ์หนัง รวมทั้งการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ ขณะเดียวกันวิกฤตความมั่นคงทางด้านอาหารในหลายประเทศส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอาหารของไทย นอกจากนี้ผู้ประกอบการส่งออกยังได้รับอานิสงส์จากเงินบาทอ่อนค่า ซึ่งเคลื่อนไหวอยู่ที่ 36-37 บาทต่อดอลลาร์
นอกจากนี้ภายหลังจาก พ.ร.บ.งบประมาณ ประกาศใช้ คาดว่าจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี รวมถึงมาตรการยกเว้นวีซ่าให้กับนักท่องเที่ยวในหลายประเทศและมาตรการภาษีกระตุ้นการท่องเที่ยวเมืองรอง ตลอดจนการสนับสนุนให้อบรมสัมมนาจังหวัดเมืองรอง เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงโลว์ซีซัน
ทั้งนี้ ส.อ.ท. มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันและก๊าซ เสนอให้ภาครัฐออกมาตรการส่งเสริมการซื้อสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับซอฟต์พาวเวอร์ของไทย โดยเฉพาะอาหารไทย เครื่องนุ่งห่ม และสินค้ากีฬา รวมทั้งส่งเสริมให้ผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วย