Gallup เปิดเผยรายงานผลการศึกษาล่าสุดในหัวข้อ State of the Global Workplace ซึ่งสำรวจประชากรวัยผู้ใหญ่กว่า 160 ประเทศทั่วโลก โดยข้อมูลสำหรับรายงานนี้รวบรวมในปี 2023 จากการตอบแบบสอบถามของผู้เข้าร่วมมากกว่า 128,000 คน ด้วยการให้ผู้ใหญ่วัยทำงานพิจารณาว่าตนเองยืนอยู่จุดใดในปัจจุบันและในอนาคต
การศึกษาในครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อประเมินสุขภาพจิตและความเป็นอยู่ที่ดีของคนวัยทำงาน และวัดการมีส่วนร่วมผ่านประสบการณ์เชิงบวก เช่น ความเจริญรุ่งเรืองและความเพลิดเพลิน รวมถึงประสบการณ์เชิงลบ เช่น ความเครียด ความโกรธ ความกังวล ความเศร้า และความเหงา
ทั้งนี้ผลการสำรวจพบว่า ชีวิตในที่ทำงานมีผลกระทบอย่างมากต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีของประชากรวัยผู้ใหญ่ ซึ่งแม้งานหลายงานจะเพิ่มความเครียด ความเศร้า และความโกรธ ให้กับชีวิตคนทำงาน แต่บางคนก็พบว่า การทำงานแบบมีเป้าหมายและสามารถบรรลุเป้าหมาย ก็ทำให้มีความสุขอย่างมากเช่นกัน
ผลการศึกษาพบว่า 34% ของผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกกล่าวว่า หน้าที่การงานของตนเอง ‘เจริญรุ่งเรือง’ ในขณะที่ 58% บอกว่า พวกตน ‘กำลังดิ้นรน’ อย่างหนักในการทำงาน โดยผู้ตอบแบบสำรวจทั่วโลกประมาณ 8% ยอมรับว่าตนเองมี ‘มีความทุกข์’ ในที่ทำงาน
ขณะเดียวกันรายงานยังพบด้วยว่า ผู้ที่หน้าที่การงานรุ่งโรจน์เผชิญกับ “ปัญหาสุขภาพที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด และทำให้อารมณ์ทางลบ เช่น ความกังวล ความเครียด ความเศร้า ความเหงา ความหดหู่ และความโกรธ น้อยลง ขณะที่อารมณ์ทางบวก เช่น ความหวัง ความสุข พลังงาน ความสนใจ และความเคารพ ปรับตัวมากขึ้น”
ในส่วนของภาพรวม ผลการศึกษาพบว่า ฟินแลนด์ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งของโลกที่ผู้ตอบแบบสอบถามถึง 83% ระบุชัดว่า ตนเองมีชีวิตการทำงานที่แฮปปี้ ตามมาด้วยเดนมาร์กและไอซ์แลนด์
ทั้งนี้ 10 ประเทศที่มีสัดส่วนคนทำงานระบุว่า ตนเองมีความสุขและมีหน้าที่การงานที่เติบโตเจริญรุ่งเรืองมากที่สุด ได้แก่
- ฟินแลนด์ 83%
- เดนมาร์ก 77%
- ไอซ์แลนด์ 76%
- เนเธอร์แลนด์ 71%
- สวีเดน 70%
- อิสราเอล 69%
- นอร์เวย์ 67%
- คอสตาริกา 62%
- เบลเยียม 60%
- ออสเตรเลีย 60%
ทั้งนี้ รายงานยังตั้งข้อสังเกตอีกว่า 7 ใน 10 ประเทศที่คนทำงานมีความสุขดีก็คือประเทศในยุโรป แถมภูมิภาคดังกล่าวยังมีสัดส่วนที่คนทำงานมองหางานใหม่ต่ำที่สุด รวมถึงเปอร์เซ็นต์ต่ำที่สุดเป็นอันดับสองที่พนักงานที่ ‘ประสบกับความโศกเศร้าในแต่ละวัน’ ซึ่งสอดคล้องกับความเป็นจริงของภูมิภาคที่ได้ขึ้นชื่อว่ามีระเบียบมาตรการในการคุ้มครองแรงงานอย่างแข็งแกร่ง
ขณะที่สหรัฐอเมริกา มหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก อยู่ในอันดับที่ต่ำกว่ายุโรปในด้านการคุ้มครองแรงงาน แต่การมีส่วนร่วมของพนักงานกลับสูงกว่า
รายงานระบุว่า ผู้คนมักจะเปรียบเทียบวัฒนธรรม ‘การทำงานเพื่อการใช้ชีวิต’ หรือ Work to Live ของยุโรปตะวันตก กับแนวคิด ‘การใช้ชีวิตเพื่อทำงาน’ หรือ Live to Work ของสหรัฐอเมริกา’ ซึ่งในท้ายที่สุดแล้ว “พนักงานที่มีส่วนร่วมในประเทศที่มีกฎหมายสิทธิแรงงานจำนวนมาก มีสุขภาพทางอารมณ์ที่แข็งแกร่งที่สุด”
นอกเหนือจากประเทศในยุโรป ออสเตรเลียเป็น 1 ใน 10 อันดับแรก โดย 60% ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า ชีวิตการทำงานของตนเอง ‘เจริญรุ่งเรือง’ และ 21% กล่าวว่า ตนเองมีส่วนร่วมในที่ทำงาน ขณะที่อิสราเอลถือเป็นหนึ่งเดียวจากภูมิภาคตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ติดอันดับท็อป 10 ประเทศที่ชีวิตทำงานแฮปปี้ ท่ามกลางภาพรวมของภูมิภาคที่ได้ชื่อว่าเป็นภูมิภาคที่คนทำงานต้องเผชิญกับความเครียดในแต่ละวันสูงที่สุดในโลกคือ 52% โดยอิสราเอลอยู่ที่ 39%
ในส่วนของภูมิภาคเอเชียไม่ได้ติดอยู่ใน 10 อันดับแต่อย่างใด สะท้อนได้ว่า ชีวิตการทำงานของภูมิภาคแห่งนี้ค่อนข้างเคร่งเครียดกว่าภูมิภาคอื่นๆ กระนั้นเมื่อจัดอันดับกันเองภายในภูมิภาค 10 อันดับประเทศในเอเชียที่ชีวิตคนวัยทำงานค่อนข้างมีความสุข ประกอบด้วย
- เวียดนาม 51%
- ไต้หวัน 41%
- สิงคโปร์ 39%
- ไทย 37%
- ฟิลิปปินส์ 36%
- จีน 36%
- เกาหลีใต้ 34%
- มาเลเซีย 31%
- ญี่ปุ่น 29%
- มองโกเลีย 29%
รายงานระบุว่า เมื่อพนักงานพบว่างานและความสัมพันธ์ในการทำงานของตนมีความหมาย การจ้างงานจะสัมพันธ์กับความเพลิดเพลินในแต่ละวันในระดับสูงและอารมณ์เชิงลบในแต่ละวันในระดับต่ำ โดยยิ่งพนักงานสามารถมีส่วนร่วมกับงานที่ทำ ก็จะยิ่งประสบความสำเร็จและมีความสุขกับชีวิตโดยรวม
นอกจากนี้ผลการศึกษายังระบุอีกด้วยว่า “เมื่อผู้จัดการมีส่วนร่วม พนักงานก็มีแนวโน้มที่จะมีส่วนร่วมมากขึ้น” ขณะเดียวกันความรับผิดชอบไม่ได้ขึ้นอยู่กับพนักงานเท่านั้น แต่ยังขึ้นอยู่กับองค์กรด้วย เมื่อบริษัทจัดมาตรการการคุ้มครองแรงงานที่จำเป็นและจ้างผู้จัดการที่แข็งแกร่ง มีส่วนร่วม และผ่านการฝึกอบรมมาอย่างดี พนักงานก็จะสามารถมีส่วนร่วมประสบความสำเร็จทั้งในที่ทำงานและในชีวิต
อ้างอิง: