อะไรคือเคล็ดลับความสำเร็จของ JSL ผู้ผลิตรายการทีวีที่ทำมาแล้วไม่ต่ำกว่า 100 รายการ ไม่ว่าจะเป็นเกมโชว์ ทอล์กโชว์ วาไรตี้โชว์ สารคดี และอีกหลายรูปแบบ
ถ้าใครเกิดทันคงน่าจะรู้จักกันตั้งแต่รายการ พลิกล็อก, ยุทธการขยับเหงือก ไปจนถึง เจาะใจ และปัจจุบันยังมีรายการที่ได้รับความนิยมอย่าง กิ๊กดู๋ สงครามเพลงเงาเสียง, กิ๊กดู๋ ซุปตาร์เงินล้าน และ Perspective
ในช่วงพีกสุดเคยมีรายการออกอากาศถึง 20 รายการต่อสัปดาห์ มาถึงตอนนี้พวกเขายืนระยะมาแล้วถึง 37 ปี และในยุคที่คนดูทีวีน้อยลง พวกเขาเปลี่ยนวิธีคิดในการทำคอนเทนต์มากน้อยแค่ไหน ปรับโมเดลธุรกิจอย่างไร และทำไมถึงเลือกคอร์สออนไลน์มาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจ
เคน นครินทร์ คุยกับ คุณอั๋น-วัชระ แวววุฒินันท์ กรรมการบริหารและประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการบริษัท เจ เอส แอล โกลบอล มีเดีย จำกัด
จุดเริ่มต้น
ยุคแรกเราวางตัวเป็นองค์กรที่ผลิตรายการทีวี มีคุณต้น-ลาวัลย์ กันชาติ และคุณหน่อย-จำนรรค์ ศิริตัน เป็นผู้ก่อตั้ง ทั้งสองท่านมีวิสัยทัศน์กว้างไกลและทันสมัยมาก ยุคนั้นท่านดึงเอาเด็กสถาปัตย์ จุฬาฯ มาร่วมงานทั้งที่ยังเรียนไม่จบ ผมเองก็เป็นหนึ่งในนั้น เพราะท่านมองเห็นความสามารถของคนรุ่นใหม่ อยากให้พวกเราได้สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้กับวงการบันเทิง
พวกเราให้ความสำคัญกับการทำคอนเทนต์มาตั้งแต่ยุคนั้นแล้ว สมัยก่อนรายการทีวีบ้านเรายังไม่หวือหวามาก จนกระทั่งมี JSL เข้ามาทำรายการเกมโชว์ บางรายการก็สร้างสรรค์ขึ้นมาเอง บางรายการก็ไปเห็นต้นแบบมาจากเมืองนอก (ในยุคนั้นยังไม่มีการซื้อขายลิขสิทธิ์จากเมืองนอกอย่างจริงจัง) ประกอบกับงานเรื่องโปรดักชัน แสง สี เสียง ที่มีความสดใหม่ เราเลยได้เสียงตอบรับและคำชื่นชมจากคนดูอย่างล้นหลาม
แหล่งบ่มเพาะคนคุณภาพประดับวงการทีวี
JSL สร้างคนคุณภาพมานับไม่ถ้วน ที่รู้จักกันดีคือ คุณต๋อย ไตรภพ คุณตา ปัญญา รวมถึงสมาชิกกลุ่มเสนาทั้งหลาย คุณโน้ส คุณหอย คุณเปิ้ล หรือกลุ่มพิธีกรรุ่นหลังๆ อย่างคุณซี ศิวัฒน์ คุณป๋อ ณัฐวุฒิ รวมถึงกลุ่มคนที่ทำงานเบื้องหลังอย่าง คุณจิก ประภาส คุณดี้ นิติพงษ์ ทั้งหมดเคยเป็นลูกหม้อของ JSL ทั้งสิ้น
ผู้อยู่เบื้องหลังคือคุณหน่อย จำนรรค์ ที่เรียนจบการละคร จากอักษรศาสตร์ จุฬาฯ ท่านเอาสิ่งที่ได้เล่าเรียนมาปรับกับทักษะการเป็นพิธีกร และมีความสุขกับการได้สอนได้สร้างคนใหม่ๆ มาประดับวงการ
งานแรกของพี่อั๋น วัชระ
ผมเข้ามาทำงานด้วยตำแหน่งแรกคือครีเอทีฟฟรีแลนซ์ ทำรายการเกมโชว์ชื่อ พลิกล็อก รายการเกี่ยวกับตัวเลข ที่ให้ทาย ‘มากกว่า’ หรือ ‘น้อยกว่า’ และก่อนจะถึงรอบโบนัส จะมีโชว์สั้นๆ จากเด็กสถาปัตย์ จุฬาฯ ใครคิดโชว์อะไรได้ก็ลงมือทำเลย เช่น ละครสั้น การแสดงล้อเลียนโฆษณา เพลงดัดแปลง ซึ่งปกติพวกเราทำกันเองขำๆ อยู่ในวงเหล้า หรือละครเวทีประจำคณะอยู่แล้ว พอได้มาทำบนทีวีที่เป็นสื่อใหญ่มากในสมัยนั้น มันถือว่ายิ่งใหญ่มากสำหรับนักศึกษาอย่างพวกเรา
วิธีสร้างสรรค์รายการใหม่
รายการที่ผมเป็นคนคิดและสร้างความฮือฮาคือ ยุทธการขยับเหงือก ในยุคนั้นคนดูให้นิยามว่ามันคือรายการตลกปัญญาชน พวกเสนาที่เป็นตัวดำเนินรายการก็โด่งดังกันถ้วนหน้า
ต่อมามี คอนเสิร์ต คอนเทสต์ รายการแข่งร้องเพลงที่ออกอากาศทุกสัปดาห์รายการแรกของเมืองไทย เพราะปกติรายการประเภทนี้ส่วนใหญ่จะทำเป็นอีเวนต์ รูปแบบรายการคือให้คนที่ไม่มีชื่อเสียงมาแข่งประกวดร้องเพลงกึ่งจัดคอนเสิร์ตของตัวเอง ต้องมีเต้นมีโชว์ใส่เข้าไปด้วย
ทุกรายการเกิดจากประสบการณ์ที่ผมสะสมมาเรื่อยๆ ผมเป็นคนชอบอ่าน เลยได้รู้อะไรเยอะ ผมเป็นคนชอบดู เลยได้เปิดโลกใหม่อยู่ตลอดเวลา และสุดท้ายผมเอาสิ่งที่เคยเห็น เคยอ่าน เคยดู มาทดลองสร้างโชว์ตั้งแต่สมัยเรียนสถาปัตย์แล้ว เทสต์ดูว่าทำแบบนี้แล้วคนดูชอบไหม จังหวะไหนทำแล้วคนเซอร์ไพรส์ ทุกอย่างผมเก็บเป็นข้อมูลไว้ พอถึงเวลาทำงานจริง ผมก็ลองหยิบมาใช้ปรุงเป็นรสชาติใหม่ให้เป็นรายการทีวีที่คนชอบ
จุดร่วมสำคัญของการทำเกมโชว์ให้คนดูรัก คือการแข่งขันมีกฎกติกาเข้าใจง่าย ไม่ซับซ้อน มีจุดไคลแมกซ์ ทำให้คนดูร่วมลุ้นและเล่นสนุกตามได้
จุดเปลี่ยน
หลังจากหมดยุคเกมโชว์ พวกเราก็โตขึ้นตามวัย หันมาสนใจพวกรายการวาไรตี้และทอล์กโชว์ที่มีความเข้มข้นขึ้น เจาะใจ เลยถือกำเนิดขึ้น ไอเดียคือรายการทอล์กโชว์ที่สร้างแรงบันดาลใจให้ผู้ชมและสร้างประโยชน์เพื่อสังคม เพราะพวกเราเชื่อว่าสื่อมีอิทธิพลในการเปลี่ยนแปลงโลก ดังนั้นถ้าจะสร้างคอนเทนต์อะไรอย่างน้อยต้องไม่ทำร้ายคนดู และจะดียิ่งขึ้นอีกถ้ามันให้สาระความรู้ด้วย
เปลี่ยนวิธีคิดเพื่อความอยู่รอด
ในยุควิกฤตต้มยำกุ้ง ถึงเราจะไม่ใช่บริษัทที่ลงทุนทางการเงิน แต่พอหน่วยธุรกิจอื่นๆ ได้รับผลกระทบ แบรนด์สินค้าต่างๆ ที่เคยเป็นสปอนเซอร์ก็ระวังเรื่องใช้เงินโฆษณาไปด้วย จุดนั้นเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ทีมงานเปลี่ยนวิธีคิดจากการเอาโปรดักชันนำ มาเป็นใช้มาร์เก็ตติ้งนำ คิดถึงลูกค้าที่เป็นแบรนด์ก่อน บางรายการต้องทำขึ้นเพื่อสินค้าบางอย่างเลยก็มี แต่ภายใต้เงื่อนไขว่าเราต้องทำรายการให้สนุกเหมือนเดิม
คิดอย่างไรในช่วงที่คนบอกว่าสื่อทีวีกำลังจะตาย
แต่ก่อน JSL บอกว่าตัวเองทำรายการทีวี ตอนนี้เราเปลี่ยนเป็นคนทำคอนเทนต์แล้ว เราสร้างเนื้อหาที่ดีเพื่ออยู่ในทุกแพลตฟอร์ม อย่าง เจาะใจ ออนไลน์ เนื้อหาจะแตกต่างจากในทีวี มีอิสระมากขึ้น พูดถึงแง่มุมหลากหลาย เพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่อาจไม่เคยรู้จัก เจาะใจ ได้ลองดูคอนเทนต์ของเรา
ผมเชื่อว่ายังไงทีวีก็ไม่ตาย เพียงแค่มันอาจไม่ใช่สื่อหลักเหมือนเดิม กลายเป็นสื่อเสริมประกอบกับออนไลน์ หรือแพลตฟอร์มอื่นๆ สำคัญที่ว่าคนทำจะปรับตัวอย่างไร
ผมเคยคุยกับเพื่อนเล่นๆ ว่า ทำไมเราต้องเหนื่อยเรียนรู้อะไรใหม่ๆ ตลอดเวลาขนาดนี้ อายุก็จะ 60 ปีแล้ว แต่พฤติกรรมคนดูเปลี่ยนเแปลงเร็วมาก แต่ก่อนทำรายการทีวีปรับเปลี่ยนปีละครั้ง ต่อมาต้องปรับทุก 6 เดือน ตอนนี้อย่าว่าแต่รายเดือนเลย เราเปลี่ยนกันทุกรายสัปดาห์แล้ว อะไรมันจะเร็วขนาดนั้น ต้องคอยหาลูกสะดุ้งใหม่ๆ มาเซอร์ไพรส์คนดูตลอด
สัดส่วนรายได้
เดี๋ยวนี้เป้าหมายรายได้จากทีวีถูกปรับสัดส่วนจาก 100% เหลือแค่ 50% นอกนั้นมาจากงานอื่นๆ เช่น สายงานอีเวนต์มาแรง เราทำครีเอทีฟอยู่แล้ว จากการคิดรายการทีวีให้ลูกค้า ก็เปลี่ยนไปทำอีเวนต์ให้เขาแทน ทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน แต่ยังไงรายการทีวีของเราก็เป็นตัวสำคัญที่จะสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ให้คนจดจำและต่อยอดไปสู่สื่ออื่นอยู่ดี
ธุรกิจเชิงการศึกษาที่มาในรูปแบบออนไลน์
แต่ก่อนคนเราต้องเข้าไปเรียนมหาวิทยาลัยเพื่อเอาความรู้มาประกอบวิชาชีพ แต่หลายครั้งการเรียนรู้และการทำงานก็ไม่ได้สัมพันธ์กันจริงๆ อย่างผมเรียนจบสถาปัตย์มาทำงานในวงการบันเทิง ผมเลยมีความคิดว่าทุกคนควรได้แสวงหาความรู้ที่เหมาะกับตัวเองและเอาไปใช้งานจริงได้ บวกกับสมัยนี้คนดูสื่อออนไลน์เยอะ เราเลยต่อยอดทำคอร์สออนไลน์ เสนอองค์ความรู้ให้คนได้สมัครเข้ามาเรียนและพัฒนาตัวเอง ชื่อว่า My One Class
My One Class
คอร์สออนไลน์ไม่ใช่ของใหม่ แต่เมื่อ JSL จะสร้างคอร์สของตัวเองขึ้นมา เราถนัดงานด้านสื่อสารมวลชน แต่ละคลาสที่เปิดมาจึงสอนเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้ อย่างคลาสสอนการพูด โดยคุณตุ้ม-ผุสชา โทณะวณิก ตัวจริงที่สอนพิธีกรหลายคนหลายรุ่น หรือคอร์สเขียนเพลงกับคุณดี้-นิติพงษ์ ห่อนาค คอร์สสอนการแสดงกับคุณหนิง-พันพัสสา ธูปเทียน และอีกมาก
วิธีการสมัครเรียนง่ายมาก ถ้าสนใจคอร์สไหน เพียงแค่โอนเงินสมัครเข้ามา ทางทีมงานจะส่งรหัสกลับไปให้ และสามารถเอาไปใช้ดูซ้ำกี่รอบก็ได้ผ่านช่องทางออนไลน์ของ My One Class
วิธีคิดในการบริหารองค์กร
ผมเชื่อว่า ผู้นำต้องทำให้ทุกคนเป็นทีมเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน และทุ่มสุดกำลังเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น และคำว่าทีมในความหมายของผม รวมไปถึงพาร์ตเนอร์นอกบริษัทด้วย เราต้องจับมือกับกลุ่มคนหรือองค์กรที่ความเชี่ยวชาญด้านต่างๆ เพื่อช่วยกันผลักดันให้งานแต่ละโปรเจกต์สำเร็จ
เป้าหมายในอนาคตของ JSL
ในยุคที่สอง JSL เปลี่ยนชื่อเป็น JSL Global Media เพื่อเป้าหมายที่ว่า วันหนึ่งเราอาจส่งออกคอนเทนต์ที่มีอยู่ไปต่างประเทศได้ เพราะออนไลน์กลายเป็นช่องทางที่เชื่อมโลกไปแล้ว
ฟังรายการ The Secret Sauce พอดแคสต์ โดยแอปฯ Podcasts (สำหรับผู้ใช้ iOS), Podbean และแอปฯ ประเภท Podcast Player ยี่ห้อใดก็ได้ (สำหรับผู้ใช้ Android) หรือฟังทาง SoundCloud และ YouTube ก็ได้เช่นกัน
Credits
The Host นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
The Guest วัชระ แวววุฒินันท์
Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์
Episode Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Episode Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Sound Designer & Engineer ศุภณัฐ เดชะอำไพ
Coordinator & Admin อภิสิทธิ์ หรรษาภิรมย์โชค
Art Director อนงค์นาฎ วิวัฒนานนท์
Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า
Webmaster จินตนา ประชุมพันธ์
Music Westonemusic