“ผมเอาชีวิตไปหั่นไว้ในเหมืองแร่ถึง 4 ปีเต็ม เป็น 4 ปีที่คนธรรมดาจะเรียนจบมหาวิทยาลัยได้สบายๆ แต่ที่เหมืองแร่สำหรับผมแล้ว มันไม่มีใบคู่มือรับรองใดๆ เลย นอกจากแผลคู่มือ ที่คนอื่นไม่มีทางรู้เลยว่ามันเกิดจากอะไร”
ย้อนกลับไปในวันที่ 26 พฤษภาคม 2548 หรือวันนี้เมื่อ 14 ปีที่แล้ว คือวันที่ภาพยนตร์มหา’ลัย เหมืองแร่ (The Tin mine) ภาพยนตร์แนวดราม่ากรุ่นกลิ่น ‘คัมมิง ออฟ เอจ’ ผ่านฝีมือการกำกับและเขียนบทโดย เก้ง-จิระ มะลิกุล เข้าฉายเป็นวันแรก
มหา’ลัย เหมืองแร่ ดัดแปลงมาจากหนังสือรวมเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ชื่อ ตะลุยเหมืองแร่ ของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ ซึ่งถูกยกย่องให้เป็นหนึ่งในหนังสือ 100 เล่มที่คนไทยควรอ่าน
เนื้อหาว่าด้วยช่วงชีวิตสุดพลิกผันของ อาจินต์ ปัญจพรรค์ หลังถูกรีไทร์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ ปี 2 จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อนั้นเองที่อาจินต์ต้องนำพาชีวิตเดินทางไกลจากเมืองหลวง แล้วไปสิ้นสุดลงที่ ‘เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง’ อำเภอตะกั่วทุ่ง ตำบลกระโสม จังหวัดพังงา เหมืองแร่ดีบุกในยุคที่กิจการเหมืองแร่ในไทยยังเฟื่องฟู เพื่อเริ่มต้นลงทะเบียนเรียนรู้ ณ สถานศึกษาแห่งใหม่ มหาวิทยาลัยแห่งชีวิตที่อาจินต์ต้องเรียนรู้ด้วยตัวเองผ่านการทำงาน
ทุกวัน ทุกเดือน ทุกปีที่ข้ามผ่าน คือวิชาที่ไม่เคยมีตำราเล่มไหนบอกสอน แบบฝึกหัดที่ต้องใช้แรงกาย ลมหายใจ และหัวใจเข้าแลก สำคัญที่สุดคือการได้เรียนรู้คุณค่าของชีวิตและมิตรภาพจากเจ้านายและเพื่อนร่วมงาน ‘เหมืองกระโสม ทิน เดรดยิง’ ไม่มีใบปริญญามอบให้ มีเพียงเกียรติยศและความภาคภูมิใจส่วนตัว มอบไว้ให้เมื่อหันหลังจากมา…
ปี 2496 อาจินต์เดินทางกลับกรุงเทพฯ หลังจากใช้ชีวิตอยู่ที่เหมืองกระโสมนาน 3 ปี 11 เดือน ต่อมาในปี 2497 เขากลั่นประสบการณ์เกือบ 4 ปี ถ่ายทอดเป็นตัวหนังสือผ่านเรื่องสั้นชุด ‘เหมืองแร่’ พิมพ์ในนิตยสาร ‘ชาวกรุง’ ตลอด 30 ปี อาจินต์เขียนเรื่องสั้นเหมืองแร่อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสิ้น 142 ตอน ก่อนที่ในเวลาต่อมา เก้ง-จิระ มะลิกุล ซึ่งเป็นแฟนหนังสือ จะนำเรื่องราวชีวิตของอาจินต์มาถ่ายทอดอีกครั้งในรูปแบบภาพยนตร์
ในปีที่หนังเข้าฉาย อาจินต์ ปัญจพรรค์ ในวัย 77 ปี บอกเล่าเหตุผลที่เขายอมให้งานเขียนสุดรักซึ่งกลั่นออกมาจากความทรงจำวัยหนุ่ม ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ไว้อย่างน่าสนใจว่า
: อาจินต์ ปัญจพรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี 2534 ผู้เขียนเรื่องสั้นชุด เหมืองแร่ ชื่อ ตะลุยเหมืองแร่ ถ่ายรูปคู่กับ พิชญะ วัชจิตพันธ์ นักแสดงหน้าใหม่ผู้เข้ามารับบทบาทเป็นตัวเขาเองในภาพยนตร์
‘เหมืองแร่’ เป็นหนังสืออีโมชัน มันเกิดจากมันสมอง และความโฮมซิกของผม ไม่มีแอ็กชันทางการแสดง แต่นายเก้งเขาบอกว่ามี ผมถามเขาว่าแอ็กชันคืออะไร เขาบอกผมว่า ฝนตกเจ็ดวันเจ็ดคืน แอ็กชันของมันคือถนนขาด สะพานพังต้องทำใหม่ และเรือขุดจมนั่นคือสุดยอดแอ็กชัน ทันทีที่ผมได้ฟังก็รู้สึกว่าเขาเล็งลึก ไอ้ผมมันเล็งแต่ตัวหนังสือ เขาเล็งการกระทำ เขามองอย่างนัยน์ตานักสร้างหนัง”
“ผมเชื่อมือเขา และตั้งแต่เขาเริ่มทำงานผมไม่ไปเกี่ยวข้องกับเขา เพราะตัวหนังสือของผมเดินด้วย ก.ไก่ ข.ไข่ แต่นายเก้ง งานเขาเดินด้วยฟิล์ม มันคนละอาชีพ ผมจะไม่พูดถึงงานของเขา ผมจะคอยดูในจอเท่านั้น หน้าที่ของผมหมดแล้วตั้งแต่ตกลงขาย (ลิขสิทธิ์บทประพันธ์) ทีนี้ดีหรือไม่ดี ตัวใครตัวมัน”
หลังจากถ่ายทำนานกว่า 3 เดือน โดยใช้งบประมาณการสร้างสูงถึง 70 ล้านบาท ในที่สุดภาพยนตร์ มหา’ลัย เหมืองแร่ ก็เสร็จสมบูรณ์และออกฉายในเดือนพฤษภาคม 2548
ผลงานที่ปรากฏบนจอภาพยนตร์ คืองานโปรดักชันที่ละเอียด ละเมียด สมจริง ผ่านทีมนักแสดงที่ถูกคัดเลือกมาอย่างดี โดยได้ พิชญะ วัชจิตพันธ์ นักแสดงหน้าใหม่เข้ามาสวมบทบาท อาจินต์ ปัญจพรรค์ และได้นักแสดงสมทบชั้นดีอย่าง สนธยา ชิตมณี, ดลยา หมัดชา, แอนโทนี โฮวาร์ด กูลด์, นิรันต์ ซัตตาร์ ฯลฯ
ในแง่ผลตอบรับด้านรายได้ แม้ว่า มหา’ลัย เหมืองแร่ จะเป็นหนังที่ล้มเหลว โดยเมื่อจบโปรแกรมฉาย หนังทำรายได้เพียง 30 ล้านบาท แต่ถึงอย่างนั้น หนังกลับได้รับเสียงวิจารณ์ที่ดีเยี่ยม ในปีนั้น มหา’ลัย เหมืองแร่ กวาดรางวัลภาพยนตร์แห่งชาติ สุพรรณหงส์ ครั้งที่ 15 ไปได้ถึง 6 รางวัล โดยเฉพาะสาขาหลักอย่าง ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม มากไปกว่านั้นแม้เวลาจะผ่านมาถึง 14 ปี แต่หนังยังคงถูกจดจำและยกย่องในฐานะภาพยนตร์ไทยชั้นดีที่หยิบขึ้นมาดูกี่ครั้งก็ยังลึกซึ้งกินใจอยู่เสมอ