จากประเด็นการขอเลื่อนชำระคืนหุ้นกู้ของบริษัทอย่าง บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) ทำให้หน่วยงานภาครัฐ ทั้งกระทรวงการคลัง และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เตรียมออกมาตรการควบคุมดูแลเกี่ยวกับหุ้นกู้เพิ่มเติม รวมถึงการที่นายกรัฐมนตรีและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เตรียมหารือเพื่อจัดตั้งกองทุนช่วยเหลือ
สรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยว่า ในปีนี้จะมีหุ้นกู้ครบกำหนดชำระประมาณ 1 ล้านล้านบาท โดย 85% เป็นหุ้นกู้ในระดับ Investment Grade ส่วนที่เหลือเป็น Non-investment Grade
“หุ้นกู้ Investment Grade ไม่น่ากังวลมากนัก เพราะส่วนมากเป็นบริษัทขนาดใหญ่ และมีผู้ถือหุ้นในตระกูลใหญ่ถืออยู่พอสมควร แม้บางบริษัทอาจขายหุ้นกู้ได้ไม่หมด แต่ยังมีช่องทางอื่นในการระดมทุนเพิ่มเติม”
อย่างไรก็ตาม การครบกำหนดชำระคืนหนี้หุ้นกู้ในปีนี้ไม่ใช่แค่ในไทยที่ต้องจับตามอง เพราะหลายประเทศก็มีหุ้นกู้จะครบกำหนดชำระค่อนข้างมาก เช่น ในสหรัฐฯ ถือเป็นหนึ่งในปัจจัยเสี่ยงของปีนี้
สรพลกล่าวต่อว่า หุ้นกู้ของไทยที่จะครบกำหนดปีนี้ ประมาณ 60% เป็นบริษัทไฟแนนซ์และอสังหาริมทรัพย์ แต่โดยส่วนตัวแล้วยังไม่ได้มองว่าเป็นปัจจัยที่น่ากังวลมากนัก เนื่องจาก
- การระดมทุนเพิ่มเติมผ่านทางธนาคารพาณิชย์ยังทำได้
- หลายบริษัทยังสามารถเพิ่มผลตอบแทนประมาณ 0.1% ให้กับนักลงทุน
- มาตรการช่วยเหลือจากธนาคารแห่งประเทศไทย
“บางบริษัทที่หุ้นกู้ขายไม่หมด แต่ถ้าขายได้ 70-80% ถือว่าไม่น่ากังวลนัก โดยเฉพาะหากหุ้นกู้ระยะสั้น 1-2 ปีสามารถขายได้หมด”
ส่วนกรณีของ ITD ค่อนข้างน่ากังวล เพราะหากพิจารณาจากผลประกอบการของบริษัท และอัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (D/E) ในระยะหลัง จะเห็นว่า ITD มีกระแสเงินสดและกำไรจากการดำเนินงานไม่สม่ำเสมอ อุตสาหกรรมก่อสร้างในระยะหลังแข่งขันกันสูงมาก จนทำให้อัตรากำไรของหลายโครงการค่อนข้างต่ำ
สำหรับกลุ่มอสังหา ยังไม่เห็นปัญหาเรื่องสภาพคล่อง แต่บางบริษัทมี D/E ค่อนข้างสูง และปีนี้ความต้องการซื้อบ้านน่าจะชะลอลง จากการที่แบงก์ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น และช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ความต้องการซื้อบ้านเพิ่มขึ้นสูงมาก