พูดไปใครจะเชื่อว่า จินแอนด์โทนิก เครื่องดื่มแก้วโปรดของ เอฟ. สกอตต์ ฟิตซ์เจอรัลด์ (F.Scott Fitzgerald) นักเขียนชื่อดังเคยถูกใช้เป็นยารักษาไข้มาก่อน และไม่ใช่แค่แอลกอฮอล์ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักอย่างจินเท่านั้น แต่มิกเซอร์ที่เข้าคู่กันอย่างโทนิก ครั้งหนึ่งก็เคยรับใช้ทหารในช่วงสงครามแก่งแย่งแผ่นดินมาแล้ว
เครื่องดื่มผสมสมุนไพรเปลี่ยนโลก
“จินแอนด์โทนิกช่วยชีวิตและรักษาสภาพจิตใจของคนอังกฤษได้มากกว่าหมอทั่วราชอาณาจักรเสียอีก” กล่าวโดย เซอร์ วินสตัน เชอร์ชิลล์ (Sir Winston Churchill) ซึ่งถ้าไล่อ่านที่มาของเหล้าชนิดนี้ก็ไม่แปลกใจ เพราะจินหรือเจนีเวอร์ (Genever) เดิมทีเป็นยาสมุนไพรที่หมอฟรานซิสคัส ซิลเวียส (Franciscus Sylvius) คิดค้นขึ้นเพื่อรักษาโรคไต โรคกระเพาะอาหาร เกาต์ และนิ่วในถุงน้ำดี โดยมีส่วนผสมหลักได้แก่แอลกอฮอล์และจูนิเปอร์เบอร์รีส์ (Juniper Berries) ก่อนถูกแจกจ่ายให้ทหารฮอลแลนด์ดื่มยามออกรบ
แต่เหล้าจินมาโด่งดังเป็นพลุแตกและกลายมาเป็นเหล้าสุดคลาสสิกเอาก็ตอนทหารอังกฤษขนจินกลับประเทศ ด้วยราคาที่ไม่แพง รสชาติดี และหาซื้อง่ายเมื่อเทียบกับเหล้าชนิดอื่นๆ ทำให้คนอังกฤษเห่อจินถึงขั้นเกิด ‘วิกฤตเมาจินทั่วกรุง’ ร้อนถึงนักปกครองสมัยนั้นที่ต้องออกมาควบคุมการผลิตและการขายให้เข้าที่เข้าทาง หลังจากนั้นอังกฤษจึงตั้งโรงกลั่นจินของตัวเองจนเป็นที่มาของคำว่า London Dry Gin นับแต่นั้นมาสถานะของจินก็เปลี่ยนจากยาดีรักษาโรค กลายมาเป็นเหล้ากลั่นที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นสูง
สุดท้ายแล้ว จินก็ไม่ต่างจากแอลกอฮอล์ตัวอื่นๆ ที่รอการค้นพบส่วนผสมที่เกิดมาคู่กัน และพวกเขาก็หากันเจอจนได้ เพราะน้ำเมาไร้สี ไร้กลิ่น ไม่มีรสชาติโดดเด่น เข้ากันได้ดีกับรสขมติดหวานของน้ำที่มีส่วนผสมของเปลือกไม้และน้ำตาลในชื่อ โทนิก
จากยากลายมาเป็นมิกเซอร์
เมื่อส่วนผสมที่อยู่ในโทนิกอย่างควินิน (Quinine) เป็นสารที่สกัดจากเปลือกไม้ของต้นซิงโคนา (Cinchona) ที่นำมาบดละเอียดก่อนผสมน้ำดื่มเพื่อรักษาอาการไข้จับสั่นหรือไข้มาลาเรีย สูตรยาที่ว่านี้สามารถรักษาชีวิตของเชื้อพระวงศ์ในยุโรปได้จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 แห่งอังกฤษ หรือบุตรของหลุยส์ที่ 14 ของฝรั่งเศส แต่ข้อเสียของควินินคือมีรสขมร้ายกาจ จวบจนต้นทศวรรษที่ 19 ชาวอังกฤษที่ทำงานในบริษัทอีสต์อินเดียซึ่งประจำอยู่ที่อินเดีย มีความจำเป็นต้องดื่มควินินเป็นประจำทุกวัน จึงเกิดไอเดียนำผงควินินมาผสมน้ำเปล่า น้ำตาล และมะนาว จากรสชาติขมขื่นคอจึงดื่มง่ายขึ้นมาทันที
และก็เป็นนักธุรกิจชาวอังกฤษอย่างอีรามัส บอนด์ (Erasmus Bond) นี่เองที่หัวใสผลิตโทนิกบรรจุขวดออกวางจำหน่ายปี 1858 ในรูปแบบเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แต่กลับกลายเป็นว่าโทนิกไปได้ดีกว่าในฐานะมิกเซอร์ที่ผสมกับเครื่องดื่มได้อย่างสุดแสนเพอร์เฟกต์ โดยเฉพาะกับเหล้าจิน บวกกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ที่ทำให้เราสามารถสังเคราะห์ควินินได้แล้ว การดื่มโทนิกเพื่อรักษาโรคจึงค่อยๆ เหือดหายไปตามกาลเวลา
ปัจจุบันหากใครถามถึงสรรพคุณของโทนิกคงไม่มีใครกล่าวถึงมันในฐานะยารักษาโรค เพราะคุณต้องดื่มโทนิกที่ผสมควินินธรรมชาติ (โทนิกหลายยี่ห้อไม่พบว่ามีควินินผสมอยู่) มากถึงสองลิตรต่อวัน หรือดื่ม G&T วันละสิบแก้ว ซึ่งไม่รู้ว่าสิ่งไหนจะหมดก่อนกันระหว่างอาการป่วยไข้กับเงินในกระเป๋า
ภาพประกอบ: Karin Foxx
อ้างอิง:
- หนังสือ The Complete Guide Gin & Tonic For The Perfect Mix แต่งโดย Frederic Du Bois & Isabel Boons
- activehistory.ca/2012/08/gin-and-tonic-a-short-history-of-a-stiff-drink
- www.india.com/lifestyle/gin-and-tonic-the-fascinating-story-behind-the-invention-of-the-classic-english-cocktail-1934782