‘The Goodcery’ ร้านโชห่วยที่ตั้งอยู่บริเวณถนนราชวงศ์ ไม่ไกลจากกาดหลวง โดยเป็นสถานที่หย่อนใจให้กับผู้คนได้ในเวลานานๆ ไปพร้อมกับสร้างการรับรู้ผ่านความเชื่อเรื่องวัฒนธรรม ความเป็นมนุษย์ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ แลกเปลี่ยนความคิดอย่างสุนทรีย์ ผ่านกาแฟ ขนม อาหาร และการบริโภค ที่เปลี่ยนสังคมตั้งแต่คำแรกที่คุณรับประทาน ผ่านความตั้งใจของหุ้นส่วนร้านทั้ง 5 คน ที่อยู่ในวงการ Food & Beverage ในจังหวัดเชียงใหม่
จุดเริ่มต้นของร้านมาจากความต้องการช่วยเหลือผู้ผลิตตัวเล็กตัวน้อย
ตอย-ชลทิศ เขื่อนแก้ว และ ตาล-ภัทรานิษฐ์ ศรีจันทร์ดร หุ้นส่วนร้าน The Goodcery กล่าวถึงมุมมองที่ยังไม่ถูกเปิดเผยในสื่อที่อื่นๆ เพราะส่วนใหญ่สื่อต่างๆ มักจะนำเสนอมุมมองในประเด็นของสังคม ผู้บริโภค และผู้ผลิต ซึ่งประเด็นแรกที่อยากจะเล่าถึงที่มาของร้านก็คือ ‘ประเด็นในด้านชุมชน’ โดยมีที่มาจากเพื่อนๆ รวม 5 คน ซึ่งทุกคนเคยอยู่ใน SMEs ด้าน Food & Beverage ส่วนตัวตาลนั้นเคยทำงานการเมือง นักขับเคลื่อน และผู้จัดจำหน่าย (Distributor) ไวน์
ขณะที่หุ้นส่วนมีความเห็นตรงกันว่า ต้องมีพื้นที่ผลักดันผู้ผลิต ‘ตัวเล็กตัวน้อย’ ที่ไม่มีช่องทางการจัดจำหน่าย (Distributor Channel) ที่กระจายได้อย่างรวดเร็ว โดยพวกเขาเหล่านี้อาจเป็นผู้ผลิตรายย่อย เกษตรกร โรงงานคั่ว (กาแฟ) เล็กๆ หรือผู้ผลิตที่ผลิตได้ไม่เยอะ แต่เราต้องการทำให้พวกเขาเป็นที่รู้จักและต้องการให้บริษัทมีคุณค่ามากขึ้น The Goodcery จึงเลือกที่จะเป็น Outlet ของสินค้าในระดับชุมชนทั้งมาจากเชียงใหม่และทั่วประเทศ หรือแม้แต่จากประเทศเพื่อนบ้าน การทำร้านจึงไม่ได้แค่เพียงส่งเสริมผู้ผลิตเท่านั้น หากแต่ยังช่วยให้องค์ความรู้ทางการตลาดแก่ชุมชน
ตาลเล่าอีกว่า เมื่อมาเยือนที่ร้านจะพบว่ามีพื้นที่ค่อนข้างกว้างเพื่อต้องการเน้นให้เกิดกิจกรรมของชุมชนหรือเป็นแพลตฟอร์ม และเมื่อดูในเพจของร้านจะเห็นว่า ร้านจัดกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับวิธีคิดการขับเคลื่อนชุมชน ปรัชญา หรือการสร้างความตระหนักรู้ (Awareness) ให้กับชุมชนอีกด้วย ถัดมาพื้นที่ของร้านยังเป็นพื้นที่พักผ่อนหรือนั่งดื่ม นั่งกิน นอกจากนี้ พื้นที่ของร้านสามารถเป็นพื้นที่ให้คนในสังคมหรือคนในชุมชนได้จัดและเปิดพื้นที่เพื่อกระจายสินค้า
ความแตกต่างจากร้านโชห่วยแบบเดิม
ร้านโชห่วยแบบเดิมคือร้านที่ผู้ซื้อมาซื้อของแล้วเดินออกไป แต่ The Goodcery ถูกทำให้เป็นคาเฟ่ เพราะต้องการให้เป็นพื้นที่ที่คนมาใช้เวลาชิมและสัมผัสกับรสอาหารหรือขนม ซึ่งพอมองภาพรวมๆ ก็มีลักษณะคล้ายกับตลาด
ตอยยังเล่าถึงความแตกต่างของ The Goodcery ที่ไม่เหมือนร้านโชห่วยทั่วๆ ไปว่า ที่นี่มีที่นั่งเยอะ และมีพื้นที่เอาต์ดอร์ที่สามารถต้อนรับทุกคนได้ตั้งแต่ตื่นจนถึงก่อนนอน หมายถึงมีทั้งอาหารเช้า เครื่องดื่ม กาแฟ และไวน์
อีกทั้งในอนาคตร้านจะมีพื้นที่แกลเลอรีสำหรับงานศิลปะ และเป็นพื้นที่ที่เป็น Active Space สำหรับคนที่ทำงานศิลปะ
บรรยากาศภายในร้านถูกสร้างให้เป็นพื้นที่สำหรับการใช้เวลายามว่างที่ไม่ใช่แค่การไปห้างสรรพสินค้า
ขณะเดียวกัน ตอยยังมองว่าประเทศไทยไม่มีพื้นที่สาธารณะมากพอ ร้านจึงเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกสำหรับคนที่ต้องการใช้เวลาทำงานนานๆ พูดคุยหรือทำกิจกรรมตั้งแต่เช้าจรดเย็น โดยกิจกรรมที่เกิดขึ้นจะมีลักษณะหมุนเวียนและผลัดเปลี่ยนเพื่อให้คนสามารถเข้ามาที่ร้านได้อย่างต่อเนื่อง
ตอยบอกว่า ความแตกต่างถัดมาคือ การที่ร้านเป็นพื้นที่สำหรับชุมชนมาพูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ในขณะเดียวกันร้านก็ขายของให้ชุมชน และยังมีของจากแหล่งอื่นๆ จากต่างถิ่น หรือแม้แต่ต่างประเทศมาวางขายด้วยเช่นกัน
ในมุมมองของตาล โมเดลของร้านมาจากพื้นที่ที่สังคมไม่มี ร้านยังมองถึงสเต็ปต่อไปว่าต้องมีการต่อยอดในอนาคต ซึ่งไม่ได้มีคำตอบที่ตายตัวว่าควรไปในทิศทางใด แต่ร้านควรเป็นฐานรากกับสิ่งต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สำหรับในทุกตัวตน และทุกสไตล์ของสังคม
ตอยมองว่า ความฝันของร้านคือการเป็นที่ที่ทุกคนจะได้มีความสุข เมื่อได้มานั่งพูดคุยถึงความคิดดีๆ อาหารดีๆ รวมถึงการให้ผู้บริโภคได้เลือกบริโภคสินค้าที่ไม่ได้มาจากแค่ซูเปอร์มาร์เก็ต อีกทั้งได้มีโอกาสเลือกดื่มไวน์จากผู้ผลิตอื่นหรือกาแฟจากโรงคั่วอื่นๆ รวมถึงได้รู้จักขั้นตอนการผลิตเป็นอย่างดี
เลือกผลิตภัณฑ์วิสาหกิจชุมชน-คนตัวเล็กต่างถิ่น ที่ไม่ใช่แค่เฉพาะในเชียงใหม่
The Goodcery เลือกผลิตภัณฑ์จากวิสาหกิจชุมชนต่างถิ่น หรือผลิตภัณฑ์จากคนตัวเล็กในที่ต่างๆ มาวางขาย เพราะต้องการสร้างทางเลือกให้คนเยอะขึ้น
ตาลเล่าว่า ร้านไม่ได้หวังไกล เราหวังแค่เพียงต้องการให้คนเชียงใหม่เจออะไรใหม่ๆ ที่สามารถนำไปใช้กับครัวที่บ้านได้ เรามองแค่นั้นจริงๆ ซึ่งถ้าเรามองแค่ตลาดในเชียงใหม่ก็จะขายได้แค่นักท่องเที่ยวที่มาซื้อของในเชียงใหม่ ซึ่งในความเป็นจริงคนเชียงใหม่ต้องการสินค้าจากที่อื่นบ้าง เช่น กะปิจากทางภาคใต้ ลูกชิ้นปลาจากเยาวราช ร้านจึงเลือกบริการสิ่งเหล่านี้ให้คนในเชียงใหม่ ก่อนให้เข้าถึงวัตถุดิบที่มีคุณค่า ซึ่งจะผูกโยงไปกับการเล่าเรื่องของร้านที่อยากชวนให้ผู้คนมองว่า การขีดเส้นเขตแดนเป็นเรื่องวิทยาศาสตร์ มานุษยวิทยา การอพยพ หรือประวัติศาสตร์ สิ่งเหล่านั้นทั้งหมดสามารถเล่าเรื่องผ่าน ‘ตัววัตถุดิบ’ ที่กลายเป็นแหล่งการเรียนรู้เล็กๆ เพื่อให้เกิดการเคารพซึ่งกันและกันโดยใช้ ‘วัตถุดิบเป็นเครื่องนำพา’
ตอยได้ตอบคำถามที่ว่า ‘ทำไมถึงไม่ขายแต่ของภาคเหนือ’ ว่า เพราะคนเชียงใหม่ไม่ได้ต้องการกินแต่ของภาคเหนือ คนเชียงใหม่กินทุกอย่าง ทั้งอาหารใต้และอาหารต่างชาติ อีกทั้งองค์ประกอบของอาหารในภาคเหนืออย่างเช่น กะปิ ต้องพึ่งพาภูมิภาคอื่นเพราะเชียงใหม่ไม่ได้ติดกับทะเล
ตาลเสริมต่อว่า การได้กินของจากแหล่งต้นทางจะทำให้ส่วนต่างๆ หรือองคาพยพของสิ่งแวดล้อมดีขึ้น เพราะเป็นการใช้วัตถุดิบโดยตรงที่ผ่านกระบวนการอุตสาหกรรมน้อยมาก มูลค่าการสร้างความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมก็เกิดขึ้นน้อยและไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ ซึ่งนอกจากจะกระจายรายได้แล้ว ภาพรวมของร้านเราคือ งาน (Task) ที่เชื่อมต่อผู้บริโภคและผู้ผลิตให้มีความใกล้เคียงกันมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ได้ผลประโยชน์ดีๆ ตามมา
แนวทาง Slow Food Community เพื่อ ‘ความเท่าเทียมในจานข้าว’
ตอยเล่าว่า การทำอาหารให้เข้าถึงผู้คนให้มากที่สุด แล้วค่อยๆ ให้อะไรที่มากกว่าความอร่อย นั่นคือการให้ความรู้ การให้กิจกรรม หรือแม้แต่ความสุนทรีย์ต่างๆ ของอาหารที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เป็นสิ่งที่แตกต่างจาก ‘Fast Food’ ซึ่งทางร้านต้องการให้บริการอาหารที่สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของร้าน จึงเลือกให้บริการอาหารในรูปแบบ ‘Slow Food’ เพื่อใช้ผลักดันให้เกิด ‘ความเท่าเทียมในจานข้าว’ ดังนั้น The Goodcery จึงกลายเป็นหนึ่งในเครือข่ายของ ‘Slow Food Community’
อาหารที่ The Goodcery เชื่อ
อาหารที่ The Goodcery เชื่อ คืออาหารที่ตอบสนองความเป็นมนุษย์ที่เข้าใจในวิวัฒนาการของตัวตน หรืออาหารที่ทำให้เข้าใจภูมิศาสตร์ของชุมชนหรือท้องถิ่นได้
รวมถึงรสสัมผัสโดยที่ไม่ถูกเจือปน มีความดั้งเดิม (Original) เพราะที่ตั้งและประวัติศาสตร์จะทำให้เราเข้าใจอาหารมากยิ่งขึ้น
สำหรับ Slow Food นั้นต้องดูตั้งแต่อาหารที่ใช้ในการเลี้ยงสัตว์ สัตว์เหล่านั้นใช้ชีวิตอย่างไร ทัศนคติของเจ้าของฟาร์มเป็นอย่างไร มีความเท่าเทียมหรือให้สิทธิของสัตว์หรือไม่ การเบียดเบียนทรัพยากรทางธรรมชาติมาก-น้อยเพียงใด ดังนั้น ความเป็นธรรมต้องเริ่มตั้งแต่เจ้าของฟาร์มและส่งผ่านถึงสัตว์จากการเลี้ยงดู
สำหรับการเคารพความเท่าเทียมของสิทธิของมนุษย์และสัตว์ คือการเคารพซึ่งกันและกัน การไม่เอาเปรียบกัน เพราะอาหารแต่ละคำที่เรากินเข้าไป เราไม่มีวันรู้ได้เลยว่าใครถูกเอาเปรียบบ้าง
ดังนั้น เมื่อถึงวันหนึ่งที่เราเลือกกินให้ช้าลงได้ หรือการกินแบบ Slow Food จะทำให้เราเข้าใจในผู้ผลิต ห่วงโซ่การผลิต (Supply Chain) หรือเข้าใจวัตถุดิบในอาหารที่ไม่ได้เอาเปรียบใคร อีกทั้ง Slow Food ช่วยแก้ไขปัญหาบางอย่างได้ อาทิ ช่วยแก้ปัญหา PM2.5 แม้อาจจะไม่ได้ช่วยในเร็ววัน แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ดี
ตอยบอกว่า แม้ร้าน The Goodcery จะไม่ใช่ร้านที่ใหญ่ แต่ก็ได้สร้างการตระหนักรู้ รวมถึงการต่อยอด และถ้าผู้บริโภคตอบรับว่าการกระทำของร้านเราเป็นสิ่งที่ดี นั่นคือเสียงสะท้อนที่ทำให้รู้ว่าประเทศไทยยังมีความหวัง เพื่อเริ่มเข้าใจในอาหารและวัตถุดิบที่ดีมากขึ้น
ตอยยังเล่าอีกว่า การผลิตแบบอุตสาหกรรมไม่ได้มีความผิด หากแต่ในบางครั้งโรงงานอุตสาหกรรมสร้างผลกระทบ และเอาเปรียบคนตลอดกระบวนการผลิตทั้งตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทางร้านจึงเสนอวิธีที่แตกต่างออกไป และเมื่อระบบเศรษฐกิจ ‘Slow’ ไปพร้อมกัน เข้าใจพร้อมกัน และแก้ไขปัญหาไปพร้อมกัน เงินที่หมุนเวียนอยู่ในระบบเพิ่มมากขึ้น จะทำให้สินค้าต่างๆ ถูกลง
อีกทั้งหากทำให้ระบบเศรษฐกิจเป็นแบบ Slow จะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นและเข้ากับธรรมชาติ แต่ Fast หรือ Slow ยังไม่สำคัญเท่ากับว่าคุณภาพสินค้ามีมากหรือน้อย การถูกเอาเปรียบในระบบมากหรือน้อย ซึ่งวิธีการจัดการแบบนี้ไม่มีร้านใดกล้าเริ่ม ร้าน The Goodcery จึงขอเริ่มก่อน
การเปิดพื้นที่ของร้านสำหรับทุกคน
The Goodcery มองว่าการขับเคลื่อนประเด็นต่างๆ ทั้ง PM2.5 อาหาร และอื่นๆ โดยใช้ศิลปะเป็นส่วนหนึ่งในการสื่อสารที่สามารถพูดคุยกับผู้รับสารได้โดยตรง การมีพื้นที่ร้านที่กว้างก็ทำให้การจัดศิลปะเป็นเรื่องที่ง่ายและสะดวก
ตาลเล่าว่า การใช้พื้นที่ของร้านมีไว้เพื่อคนที่อยู่ในเชียงใหม่ และเรายังมองว่าต้องมีปัจจัยหลายๆ อย่างในการส่งเสริมคุณภาพชีวิต ซึ่งศิลปะและความสุนทรีย์ก็เป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนา และทางร้านก็สามารถตอบโจทย์ตรงนี้ได้ การตีความคำว่าสุนทรีย์มีได้หลายอย่าง และศิลปะสามารถเป็นช่องทางการสื่อสารที่ทำให้ร้านกลายเป็นที่พักและได้ใช้เวลากับสิ่งอื่นไปพร้อมกัน โดยมีศิลปินที่มาใช้พื้นที่ร้าน เช่น ดีเจทั้งวัยรุ่นและรุ่นเก่าในท้องถิ่น
สำหรับกรณีศิลปะและสุนทรียศาสตร์เชิงคลาสสิก ร้านไม่ได้ต้องการทำให้ความคลาสสิกเป็นเรื่องที่คนเข้าไม่ถึง หรือเป็นเรื่องเฉพาะชนชั้นนำทางสังคม (Elite) หรือเป็นเรื่องของชนชั้น หากแต่ต้องการให้เป็นเรื่องที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
PM2.5 ผลกระทบที่ผู้ประกอบการต้องรับมือ
ตอยบอกว่า ปัญหา PM2.5 มีมานานกว่า 30 ปีแล้ว แต่เศรษฐกิจเชียงใหม่ก็ขับเคลื่อนและโตต่อไปได้ อีกทั้งผู้ผลิตที่ส่งสินค้าให้ร้านไม่ได้ผลิตมาก ในมุมของคนเชียงใหม่จะเห็นได้ว่าการทำกิจกรรมต่างๆ น้อยลง เพราะแต่ก่อนมีกิจกรรมภายในเมืองมาก อาทิ การเล่นสเกตบอร์ดของเด็กๆ ซึ่งตอนนี้เด็กไม่ออกมาเล่น
ผลกระทบที่เกิดขึ้นกับร้านเราคือคนไม่ค่อยออกมาใช้ชีวิต อีกทั้งเมืองเชียงใหม่คือเมืองที่ตอบสนองต่อการท่องเที่ยว เมื่อเกิดผลกระทบที่เหมือนกันก็พลอยได้รับผลกระทบตามกันไปทั้งหมด ซึ่งในกรณีที่มีฝุ่นหรือควันมากจะเป็นช่วงโลว์ซีซันของเชียงใหม่
แม้จะมีการใช้จ่ายแต่ก็มีในระดับที่ไม่มาก ในปัจจุบัน PM2.5 เลื่อนมาเกิดในช่วงต้นเดือนมกราคม ซึ่งอยู่ในช่วงไฮซีซัน ทำให้ผู้คนทำได้เพียงออกมาซื้อหน้ากากอนามัยและเครื่องฟอกอากาศ จึงไม่เกิดกิจกรรมอื่น ซึ่งทำให้เศรษฐกิจอยู่ยากและคล้ายกับช่วงโควิด
นโยบายการรับมือ PM2.5 ที่อยากบอกพรรคการเมือง
ในมุมของตอยมองว่า ปัญหา PM2.5 ไม่ได้เกิดจากควันเสียจากรถยนต์ แต่เกิดจากปัญหาการเผา เห็นได้ชัดจากเกษตรกรรมเชิงพืชใบเลี้ยงเดี่ยวที่เมื่อปลูกแล้วต้องตาย เช่น อ้อยหรือข้าวโพด
เมื่อมีแรงงานไม่พอ ไร้เครื่องมือ เกษตรกรไม่สามารถตัดได้ทีละต้นจึงเลือกที่จะเผา อีกทั้งคนในพื้นที่ยังมีการรับรู้ที่ว่า ‘การเผาป่าผิด แต่การเผาไร่ไม่เป็นไร’ คนจึงยังเผาต่อไป ดังนั้นต้องมีมาตรการควบคุมดูแล และการจัดการต้องดูแลเรื่องการพูดคุยกับต่างประเทศ หรือการให้หลักการ GAP การไม่รับสินค้าที่เกิดจากการเผา การเพิ่มภาษีให้กับสินค้าเหล่านั้น ที่สำคัญคือต้องไม่เกรงใจนายทุน อีกทั้งนายทุนต้องมีความรับผิดชอบในการก่อมลพิษ ในแง่ผลกระทบเชิงสุขภาพควรเอาจริงเอาจังกับปัญหาโดยไม่มองว่า PM2.5 คือเรื่องเล็ก
ขณะที่ตาลยังฝากด้วยว่า ควรมองว่าปัญหา PM2.5 มาจากปัญหาใด อาทิ การเผาเห็ดเผาะนั้นมีมานาน แต่สิ่งที่ควรตั้งคำถามคือมีผลิตภัณฑ์ใดที่สามารถสร้างมูลค่าได้เท่ากับการหาเห็ดเผาะ ปัญหาที่ตามมาอีกอย่างคือการกระจายรายได้ การมีทุนผูกขาด การไม่ให้โอกาสทางการศึกษา หรือการไม่ให้ความรู้แก่คนในสังคม
ดังนั้นรัฐรวมศูนย์ไม่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ การแก้ไขควรอยู่ที่การกระจายอำนาจ การแจกจ่ายงบประมาณ หัวใจสำคัญคือถ้าเมื่อใดที่รัฐสามารถส่งเสริมท้องถิ่นได้ เมื่อนั้นการแก้ปัญหาต่างๆ จะตามมา โดยให้คนในพื้นที่เป็นคนจัดการ ถัดมาคือนักการเมือง (บางคน) ไม่ควรถืออำนาจ หากแต่ต้องกระจายอำนาจให้ผู้อื่นบ้าง ซึ่งจะกลายเป็นประตูบานแรกในการแก้ไขปัญหา นักการเมืองต้องเข้าใจถึงการใช้อำนาจที่ทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้
ตอยยังบอกอีกว่า เห็นด้วยกับพรรคที่กระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น เพราะในเชียงใหม่มีหลายอำเภอ วิธีการแก้ไขมีความแตกต่างกันออกไป ภูมิศาสตร์ต่างกัน วัฒนธรรมหรือความเชื่อต่างกัน การดูแลป่าต่างกัน และคนในท้องถิ่นใช้พื้นที่ป่าไม่เหมือนกัน ดังนั้นรัฐบาลควรให้ท้องถิ่นดูแล
The Goodcery = แพลตฟอร์มของชุมชน
สิ่งที่ The Goodcery อยากเป็นคือแพลตฟอร์มกลางของชุมชน และการเป็นร้านแบบ Slow Food เป็นสถานที่แลกเปลี่ยนความคิดที่ดี รวมถึงแลกเปลี่ยนอาหาร แลกเปลี่ยนงานศิลปะ โดยร้านพร้อมจะให้ความร่วมมือกับคนหรือกลุ่มต่างๆ มากขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งร้านยังอยากเป็นพื้นที่สำหรับการทดลองสิ่งใหม่ๆ ที่สร้างความเข้าใจในเรื่องราวและที่มาของอาหารและงานศิลปะมากยิ่งขึ้น
The Goodcery อยากเป็น ‘พื้นที่ร่วม’ ทางจิตวิญญาณ ทั้งในเรื่องของอาหาร งานศิลปะ และความกระตือรือร้นทางการเมือง เป็นพื้นที่ที่เพิ่มคุณค่าให้กับคนในชุมชนทั้งเยาวชนและผู้สูงอายุ
เพราะเราเชื่อว่าการกินอาหารที่ดี ควรรู้ว่าเราควรกินอะไรที่สร้างสุขภาพที่ดีและสร้างมลพิษน้อยที่สุด นี่คือสิ่งที่ร้านต้องการจะสื่อสารและกำลังเริ่มต้นลงมือทำ
“อาหารไม่ได้อยู่ที่ความอร่อย หากแต่อาหารอยู่ที่การสร้างเรื่องราวและความเป็นมนุษย์ด้วย”