มีความจริงชนิดหนึ่งที่ซุกซ่อนอยู่ท่ามกลางซากปรักหักพังของสงคราม คือจิตใจอันแหลกสลายยิ่งกว่าของประชาชนบริสุทธิ์ที่ต่างก็ต้องเผชิญชะตากรรมที่ตัวเองมิได้ก่ออย่างไม่มีสิทธิ์เลือก
เช่นเดียวกับขณะที่นั่งดูภาพยนตร์แอนิเมชัน สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Fireflies) ทุกนาทีที่ผ่าน มันเหมือนว่าชีวิตที่เคยถูกใช้ไปอย่างราบเรียบกำลังถูกกะเทาะเปลือกอย่างช้าๆ ผ่านชะตากรรมอันโหดร้ายของสองพี่น้อง ‘เซตะ’ วัย 14 ปี และ ‘เซ็ตซึโกะ’ วัย 4 ปี ที่จะต้องเผชิญกับด้านมืดของสงครามอย่างเดียงสาจวบจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต
ความน่าเศร้ายิ่งกว่าคือแม้หนังจะผ่านวันเวลาไป 30 ปี แต่สงครามไม่เคยจบสิ้น จนถึงทุกวันนี้ยังคงมีเด็กๆ อีกมากมายที่อาจจะกำลังเผชิญกับชะตากรรมร่วมเช่นเดียวกับ Grave of the Fireflies อยู่ ณ มุมไหนสักแห่งบนโลก
1.
อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ผู้กำกับภาพยนตร์แอนิเมชัน สุสานหิ่งห้อย (Grave of the Fireflies) และผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิ เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อวันที่ 6 เมษายน 2018 ด้วยวัย 82 ปี ซึ่งนั่นเท่ากับว่าเขาเสียชีวิตก่อนหน้าที่ Grave of the Fireflies งานภาพยนตร์แอนิเมชันระดับมาสเตอร์พีซกรุ่นกลิ่นควันสงครามของเขาจะมีอายุครบรอบ 30 ปีไปเพียง 10 วัน (แอนิเมชันเข้าฉายในประเทศญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อวันที่ 16 เมษายน 1988)
ตลอดชีวิตการเป็นแอนิเมเตอร์ ทาคาฮาตะสร้างผลงานที่เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจไว้มากมายกว่า 20 เรื่อง โดยเฉพาะผลงานโดดเด่นในช่วงหลังจากก่อตั้งสตูดิโอจิบลิอย่าง Grave of the Fireflies (1988), Only Yesterday (1991), Pom Poko (1994), My Neighbors the Yamadas (1999) และผลงานสุดท้าย The Tale of the Princess Kaguya (2013)
เอกลักษณ์ในแอนิเมชันของทาคาฮาตะนั้นมักจะบอกเล่าเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์หรือมนุษย์กับธรรมชาติได้อย่างลึกซึ้ง เต็มไปด้วยชีวิตชีวา บางเรื่องแสนอิ่มเอม ขณะที่บางเรื่องก็สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นจริงของโลกได้อย่างลึกซึ้ง สะเทือนใจ
โดยเฉพาะกับงานที่ผู้คนจดจำอย่าง Grave of the Fireflies ที่บอกเล่าถึงด้านมืดของสงครามผ่านชะตากรรมอันเลวร้ายของสองพี่น้อง ‘เซตะ’ น้องสาว ‘เซ็ตซึโกะ’ ที่ต้องเผชิญชีวิตและจบชีวิตเพราะผลกระทบจากสงครามอย่างโดดเดี่ยว อีกทั้งยังเผยแง่มุมมืดหม่นของมนุษย์ที่ต้องเอาตัวรอดในช่วงเวลาหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต
Grave of the Fireflies ดัดแปลงมาจากนวนิยายกึ่งชีวประวัติของ โนซากะ อากิยูกิ นักประพันธ์ชาวญี่ปุ่นเรื่อง Hotaru no Haka ที่เคยสูญเสียน้องสาวไปในช่วงสงครามด้วยโรคขาดสารอาหาร และเมื่อคิดจะหยิบนวนิยายชิ้นนี้ขึ้นมาสร้าง ทาคาฮาตะก็สร้างมันอย่างเคารพต้นฉบับ โดยเปลี่ยนแปลงเฉพาะเรื่องราวในฉากเปิดเรื่อง
ทาคาฮาตะเคยให้สัมภาษณ์ถึงฉากเปิดเรื่องของ Grave of the Fireflies เมื่อเซตะกำลังจะตาย และวิญญาณของเขากำลังได้พบกับเซ็ตสึโกะ น้องสาวที่ตายไปแล้วก่อนหน้า
“ถ้าผู้ชมรู้ตั้งแต่ตอนเริ่มเรื่องว่าสุดท้ายแล้วทั้งสองคนจะต้องตาย พวกเขาจะพร้อมสำหรับการดูหนังมากกว่า ผมจึงพยายามลดความเจ็บปวดของผู้ชมโดยการเปิดเผยทุกอย่างตั้งแต่ต้นเรื่อง” นอกจากนั้นเขายังเปิดเผยอีกว่า
“หนังเรื่องนี้ให้โอกาสผมได้ไปเรียนรู้ความรู้สึกในแบบใหม่ๆ ของแอนิเมชันโดยการบันทึกภาพของโลกใบนี้ผ่านเด็กสองคนที่อาศัยอยู่บนโลก และผมอยากจะถ่ายทอดให้ผู้ชมได้เห็นสิ่งที่มนุษย์นั้นทำเมื่อพวกเขาถูกต้อนจนจนมุม”
สาเหตุที่ทำให้ทาคาฮาตะตั้งใจทำภาพยนตร์แอนิเมชันเรื่องนี้ อีกทั้งยังถ่ายทอดมันออกมาได้ดีนั้น น่าจะเป็นเพราะในวัยเด็ก เขาเองนั้นมีประสบการณ์ร่วมในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยเช่นกัน
ในวัยเพียง 9 ขวบ ทาคาฮาตะยังจำภาพบ้านเรือนที่มอดไหม้เป็นถ่าน ศพที่นอนระเกะระกะอยู่ตามท้องถนนในระหว่างที่ตัวเขากับพี่สาวกำลังวิ่งเท้าเปล่ากลับบ้าน ภายหลังการโจมตีทางอากาศของเครื่องบินสหรัฐฯ แน่นอน เขารู้สึกว่าตัวเองโชคดีมากที่มีชีวิตรอดมาได้จากเหตุการณ์ในช่วงนั้น
ภายหลังเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ Grave of the Fireflies ได้รับเสียงชื่นชมว่าสามารถถ่ายทอดความโหดร้ายของสงครามได้อย่างลึกซึ้งและสมจริงสมจังที่สุดเรื่องหนึ่งในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์แอนิเมชัน
โรเจอร์ อีเบิร์ต นักวิจารณ์ภาพยนตร์คนสำคัญของโลก เคยเขียนชมงานของทาคาฮาตะไว้ว่า “ฮอลลีวูดพยายามที่จะสร้างแอนิเมชันแบบสมจริงขึ้นมาหลายทศวรรษ แต่ตัวละครนั้นดูไม่เหมือนคนทั่วไป พวกเขามีสไตล์กว่า มีเอกลักษณ์กว่า ท่าทางและอารมณ์ผ่านภาษากายก็ดูเกินจริง แต่ Grave of the Fireflies ไม่ได้มีภาพสมจริงอย่าง The Lion King หรือ Princess Mononoke แต่มันกลับดูเป็นแอนิเมชันที่สมจริงที่สุดเท่าที่เคยดูมา”
2.
แต่ความน่าสะเทือนใจยิ่งกว่าในฐานะมนุษย์คือแม้ว่ากาลเวลาจะดำเนินผ่านมาถึง 30 ปี นับตั้งแต่งานระดับตำนานของเขาเข้าฉายครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น แต่ดูเหมือนว่ามนุษย์จะไม่ได้เรียนรู้อะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์แห่งสงคราม ที่ลงท้ายแล้ว จนถึงปัจจุบันนี้สงครามก็ยังคงเกิดขึ้น
ภาพที่ชัดสุดในเวลานี้คือสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียที่เริ่มปะทุขึ้นตั้งแต่ปรากฏการณ์อาหรับสปริงในช่วงเดือนมีนาคม ปี 2011 ที่ล่าสุดหลังจากผ่านมา 7 ปี คาดว่าตัวเลขผู้เสียชีวิตจริงๆ อาจมากถึง 430,000 คนแล้วในปัจจุบัน
ย้อนกลับไปเมื่อเดือนมีนาคม 2017 กองทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือยูนิเซฟ (UNICEF) ออกแถลงการณ์แสดงความเป็นห่วงชะตากรรมของเด็กในประเทศซีเรียที่ต้องเสียชีวิตไปมากกว่า 652 รายในเวลาเพียง 1 ปี มากไปกว่านั้น ในจำนวน 255 ราย เด็กเหล่านี้ต้องเสียชีวิตภายในโรงเรียนหรือสถานที่ใกล้โรงเรียน
ล่าสุดในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา หลังกองกำลังรัฐบาลโจมตีทางอากาศถล่มพื้นที่ยึดครองของฝ่ายต่อต้านตลอดช่วง 5 วัน มีการสรุปยอดผู้เสียชีวิตว่ามีจำนวนมากกว่า 400 ศพ ซึ่งในจำนวนนี้เป็นเด็ก 150 ราย และมีผู้บาดเจ็บมากกว่า 1,850 ราย
ตัวเลขเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า ทุกวันนี้ประชาชนบริสุทธิ์ โดยเฉพาะเด็ก ยังคงเป็นเหยื่อของสงครามไม่ได้ต่างจากวันคืนก่อนเก่า และนั่นทำให้ Grave of the Fireflies ยังคงเป็นตัวแทนบอกเล่าถึงผลกระทบของสงครามที่มีต่อเด็กได้เป็นอย่างดี แม้ผลงานจากวันแรกที่เข้าฉายจะผ่านมาแล้วถึง 30 ปีก็ตาม
ขณะเดียวกัน สำหรับผู้สร้างผลงานระดับตำนานอย่าง อิซาโอะ ทาคาฮาตะ ประสบการณ์เลวร้ายจากสงครามโลกครั้งที่ 2 ส่งให้ช่วงปีท้ายๆ ของชีวิต (2013) เขาได้เข้าร่วมเป็นหนึ่งในสมาชิกของ Eigajin Kyujo no Kai หรือกลุ่มนักสร้างภาพยนตร์เพื่อต่อต้านกฎหมายความมั่นคงของรัฐบาลที่ต้องการจะเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ มาตรา 9 ที่ระบุให้คนญี่ปุ่นละทิ้งสงครามตลอดกาล โดยจะยังคงเหลือกำลังทหารไว้เพื่อป้องกันตัวเองเท่านั้น
รัฐธรรมนูญ มาตรา 9 นี้เป็นข้อตกลงร่วมที่อยู่คู่กับประเทศญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่ญี่ปุ่นพ่ายแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลที่จัดตั้งขึ้นใหม่ของนายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะ ได้ยืนยันว่าจะปฏิรูปกฎหมายนี้ขึ้นใหม่
ทาคาฮาตะเคยให้สัมภาษณ์ยืนยันทัศนคติที่เขามีต่อสงครามได้อย่างดีว่า “ญี่ปุ่นสูญเสียจากสงครามมามาก เราไม่ควรลืมมัน เหมือนกับที่เราไม่ควรลืมว่าเราก็ได้สร้างความสูญเสียให้กับประเทศอื่นๆ เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ไม่มีใครรู้ว่าสงครามที่เกิดขึ้นนั้นน่ากลัวขนาดไหน ณ ตอนเริ่มต้นของการทำสงคราม Grave of the Fireflies ไม่ใช่หนังต่อต้านสงครามโดยทั่วไป เพราะมันไม่สามารถยับยั้งสงครามอื่นไม่ให้เกิดขึ้นได้…”
อ้างอิง:
- en.wikipedia.org/wiki/Grave_of_the_Fireflies
- www.nausicaa.net/miyazaki/interviews/m_speech.html
- www.japantimes.co.jp/culture/2015/09/12/films/isao-takahatas-stark-world-reality/#.WtW-m4iuyiN
- www.rogerebert.com/reviews/great-movie-grave-of-the-fireflies-1988
- Grave of the Fireflies คว้า 2 รางวัลจากงานมหกรรมภาพยนตร์นานาชาติสำหรับเด็กที่ชิคาโก ในปี 1994
- ความสัมพันธ์ระหว่าง อิซาโอะ ทาคาฮาตะ และฮายาโอะ มิยาซากิ แอนิเมเตอร์ชื่อดังก้องโลก เจ้าของผลงานอย่าง My Neighbor Totoro (1988), Kiki’s Delivery Service (1989), Porco Rosso (1992), Princess Mononoke (1997) และ Spirited Away (2001) ฯลฯ นั้นลึกซึ้งทั้งในแง่ความเป็นเพื่อนรัก เพื่อนร่วมงาน คู่แข่งขันในการสร้างผลงานแอนิเมชันที่ยอดเยี่ยม และสำคัญที่สุดคือเป็นผู้ร่วมก่อตั้งสตูดิโอจิบลิที่สร้างผลงานภาพยนตร์แอนิเมชันอันเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนทั่วโลก
- ทั้งคู่เจอกันและร่วมงานกันครั้งแรกที่ Toei Animation ในปี 1963 ก่อนที่ต่อมาจะจับมือกันก่อตั้งสตูดิโอจิบลิขึ้นในปี 1985
- มากยิ่งไปกว่านั้น ความจริงแล้ว Grave of the Fireflies นั้นเข้าฉายที่ญี่ปุ่นครั้งแรกในวันที่ 16 เมษายน 1988 ซึ่งเป็นวันเดียวกันกับการเข้าฉายภาพยนตร์แอนิเมชัน My Neighbor Totoro ซึ่งถือเป็นผลงานการเขียนบทและกำกับเรื่องที่ 2 ของมิยาซากิกับสตูดิโอจิบลิ
- ผลงานของทั้งคู่นั้นมีแนวทางการสร้างงานที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน Grave of the Fireflies นั้นเป็นภาพยนตร์การ์ตูนที่มีเนื้อหาจริงจัง เผยถึงความชั่วร้ายของสงครามได้อย่างโศกสลด ขณะที่ My Neighbor Totoro ของมิยาซากินั้นอบอวลไปด้วยความอบอุ่น สดใส เต็มไปด้วยจินตนาการ หากแต่สิ่งที่ ‘เพื่อน’ ผู้สร้างสรรค์ผลงานมีคือบาดแผลความทรงจำวัยเด็กเกี่ยวกับสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ติดตัวมาเหมือนๆ กัน