×

The Boy and the Heron การปล่อยวางที่ไม่อาจปล่อยใจของแอนิเมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล

19.01.2024
  • LOADING...
The Boy and the Heron

**บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาสำคัญของ The Boy and the Heron**

 

ถึงแม้รองประธานของ Studio Ghibli อย่าง จุนอิจิ นิชิโอกะ จะบอกว่า The Boy and the Heron ไม่ใช่หนังเรื่องสุดท้ายของ ฮายาโอะ มิยาซากิ แต่หากมองจากอายุอานามของเขาในวัย 83 ปี ก็คงจะบอกได้ว่า บั้นปลายชีวิตของแอนิเมเตอร์ผู้นี้ก็น่าจะใกล้มาถึงจุดสิ้นสุดแล้วเหมือนกัน 

 

และต่อให้ The Boy and the Heron จะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายหรือไม่ก็ตาม แต่ผลงานของมิยาซากิก็ยังเป็นสิ่งที่งดงามและมีความหมายทั้งทางตรงและทางอ้อม ที่สำคัญตลอดเส้นทางอาชีพที่ผ่านมากว่าครึ่งศตวรรษ ไม่มีครั้งไหนเลยที่หนังของเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับ ‘มนุษย์’ คนหนึ่งที่อาศัยอยู่ในโลกของศิลปะมาทั้งชีวิต 

 

แต่การอำลาย่อมเป็นสิ่งที่ต้องมาถึงในสักวัน และมิยาซากิเองก็ตระหนักดีว่า เวลาที่เหลืออยู่ของเขาอาจไม่ได้มีมากมายอีกต่อไป ทั้งสังขารที่แก่ตัวลง สายตาที่เริ่มฝ้าฟาง ความเหนื่อยล้าที่ทำให้ไม่สามารถทำงานหนักได้เหมือนแต่ก่อน ทั้งหมดทั้งมวลล้วนเป็นปัจจัยที่กำลังกินชีวิตของแอนิเมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาลคนนี้ 

 

 

ถึงแม้ในปี 2013 มิยาซากิจะเกษียณตัวเองหลังจากที่ทำ The Wind Rises (2013) เสร็จ แต่ 10 ปีต่อมานับจากวันนั้น เขาก็กลับมาอีกครั้งพร้อมกับผลงานเรื่องใหม่อย่าง The Boy and the Heron โดยมิยาซากิก็ได้ให้เหตุผลว่า เขาแค่อยากทำมันเท่านั้นเอง 

 

หนังเรื่องนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากหนังสือเด็กที่มีชื่อว่า How Do You Live? ของ เก็นซาบุโร โยชิโนะ ว่าด้วยเรื่องของเด็กหนุ่มอายุ 15 ปีที่อาศัยอยู่ในโตเกียวและต้องสูญเสียพ่อไป แต่กระนั้น ความเชื่อมโยงของเนื้อหาในหนังสือกับหนังก็ไม่ได้มีความคล้ายคลึงกัน ซึ่งมิยาซากิก็ได้พูดถึงหนังสือที่เป็นไอเดียตั้งต้นให้แก่เขาเพียงแค่ว่า “ผมกำลังสร้างหนังเรื่องนี้ เพราะว่าผมไม่มีคำตอบ” 

 

และนั่นก็คงจะไม่เกินจริงนัก หากบอกว่า The Boy and the Heron คือหนังส่วนตัวของมิยาซากิขนานแท้ เพราะยาแรงที่ถูกปล่อยออกมาในคราบศิลปะไม่เพียงแค่ไร้ซึ่งความประนีประนอม แต่มันยังให้ความรู้สึกที่ทั้งสวยงาม ยากที่จะเข้าใจ และมากไปด้วยสัญญะ ราวกับภาพวาดที่ถูกจัดแสดงอยู่ตามแกลเลอรีต่างๆ 

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้การนำเสนอที่ดูเข้าถึงยาก คำพูดของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ที่เคยบอกเอาไว้ว่า “อย่าพยายามจะเข้าใจ แค่รู้สึกไปตามมัน” ก็น่าจะเป็นสิ่งที่เหมาะสมกับหนังเรื่องนี้ที่สุด เพราะการตีความคือส่วนที่ตกผลึกมาจากความรู้ แต่ความรู้สึกคือหัวใจสำคัญที่ตกผลึกมาจากประสบการณ์ชีวิต ทั้งจากตัวของมิยาซากิและตัวของเราเอง

 

 

The Boy and the Heron สร้างสรรค์สิ่งที่ไม่มีรูปธรรมอยู่จริงได้อย่างน่าฉงน สายลมที่พัดผ่านเนื้อหนังของ มาฮิโตะ ท่ามกลางเปลวเพลิงในช่วงแรก กลายเป็นภาพที่บิดเบี้ยวและตามหลอกหลอนเขาอยู่เสมอ บ่อยครั้งแม้การเดินทางของเด็กหนุ่มจะดูก้าวเดินไปข้างหน้า แต่ภาพในวันนั้นก็ยังคงติดแน่นทนนานอยู่ในความทรงจำของเขา ราวกับว่าการตายของแม่เป็นความผิดของตัวเอง ทว่าหนังก็ไม่ได้เล่าด้วยท่าทีที่ฟูมฟาย แต่เลือกที่จะทำให้มาฮิโตะมีความสลับซับซ้อนทางความรู้สึกว่า เขาอยากจะช่วยแม่ที่ตายไป หรืออยากหาทางหยุดความเศร้าโศกให้กับตัวเองกันแน่ 

 

มีช่วงหนึ่งที่ความอัดอั้นนี้ของมาฮิโตะระเบิดออกมา มันเป็นตอนที่เขาหยิบก้อนหินขึ้นมาฟาดหัวตัวเองอย่างไม่มีความลังเล เลือดที่ไหลทะลักออกมาท่วมใบหน้าของเขา ราวกับเป็นภาพสะท้อนของความเสียใจที่ไม่มีทีท่าว่าจะหยุดลง ความเหินห่างกับพ่อทำให้มาฮิโตะมีช่องว่างในใจขนาดใหญ่ และหนังตอกย้ำมันมากขึ้นเมื่อเขาบ่ายเบี่ยงที่จะพูดว่าได้แผลนั้นมาอย่างไร ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการย้ายมาต่างจังหวัดและเริ่มต้นชีวิตใหม่ พ่อของเขาแทบไม่เคยแสดงความรู้สึกเสียใจใดๆ เลย 

 

 

หนังหยิบความระหองระแหงนี้มาเป็นจุดเปลี่ยนในวันที่มาฮิโตะค้นพบโลกอีกใบในหอคอยที่ถูกทิ้งร้างกลางป่า โลกแห่งความฝันที่กลืนกลายกับความจริงชวนให้นึกถึงหนังอันเป็นที่รักของใครหลายคนอย่าง Spirited Away (2001) หากแต่ The Boy and the Heron มีความต่างตรงที่มันเป็นหนังที่เงียบมากเมื่อเทียบกับผลงานเรื่องอื่นๆ ของเขา และไม่บ่อยนักที่เราจะได้เห็นตัวเอกเป็นเด็กผู้ชายที่ต้องการความช่วยเหลือจากเด็กผู้หญิง 

 

หนังเริ่มวางตำแหน่งแห่งที่ของตัวละครลึกซึ้งขึ้นตอนที่มาฮิโตะได้พบกับ ฮิมิ เป็นครั้งแรก ความเป็นแม่และเส้นแบ่งแห่งกาลเวลาทำให้บทบาทของเธอถูกจับต้องได้ในฐานะเพื่อนมากกว่าผู้ใหญ่ น่าทึ่งที่มิยาซากิไม่ได้ให้ตัวละครของเขาป่าวประกาศว่าใครเป็นใครอย่างชัดเจน แต่ให้ทุกคนตระหนักรู้ผ่านงานภาพและคำพูดของพวกเขา ซึ่งรับรู้ดีอยู่แล้วว่าปลายทางของชะตากรรมเป็นอย่างไร 

 

 

กลไกนี้กลับมาทำงานอีกครั้ง ตอนที่มาฮิโตะจะต้องบอกลากับฮิมิและนกกระสาตัวป่วนในช่วงท้าย เพราะตลอดทั้งเรื่องเราแทบไม่เห็นพวกเขาแสดงสถานะของกันและกันออกมาอย่างโจ่งแจ้งเลยนอกจากฉากนี้ มันเป็นการเปิดเผยที่ทั้งเจ็บปวด งดงาม และพร้อมที่จะยอมรับกลบฝังอดีตอันแสนเจ็บปวดของตัวเองเอาไว้ ขณะเดียวกันอดีตก็ได้ฝากฝังอนาคตเอาไว้ให้กับคนรุ่นหลัง กลายเป็นตอนจบที่ทั้งสองช่วงเวลาพาดผ่านกันอย่างตราตรึงและน่าอัศจรรย์

 

หนังของมิยาซากิยังคงพูดถึงเรื่องสงคราม เป็นสงครามที่มาจากสายตาของผู้ชนะ เขาไม่ได้ทำเพื่อที่จะยกยอ แต่ทำเพื่อต่อต้าน ไม่ว่าหนังกี่เรื่องที่ผ่านมาจะแฝงไปด้วยนัยที่หนักหน่วงเพียงใด ความแฟนตาซีเหนือจินตนาการก็จะบดบังมันเอาไว้ และนั่นอาจเป็นความเก่งกาจที่สุดของมิยาซากิในการทำหนังตลอดชั่วชีวิตของเขา

 

 

การสร้างโลกอาจเริ่มจากการเรียงก้อนหิน หากเรียงถูกมันจะกลายเป็นโลกที่สงบสุข แต่ถ้าผิดนั่นอาจหมายถึงสงคราม ความเซอร์เรียลที่หลอมหลวมกับทางเลือกที่หนังหยิบยื่นให้มาฮิโตะ ชวนให้นึกย้อนกลับไปถึงตอนจบของ Evangelion: 3.0+1.0 Thrice Upon a Time (2021) เมื่อตัวละคร รวมไปถึงผู้ให้กำเนิดอย่าง ฮิเดอากิ อันโนะ เดินทางมาถึงจุดที่พวกเขาจะต้องปล่อยวางเรื่องราวที่ผูกมัดกับชีวิตของตัวเองเสียที หลังจากที่ติดพันกับมันมานานเกือบสามทศวรรษ 

 

หากว่าอันโนะเป็นคนที่เรียงก้อนหินถูกและปล่อยวางได้สำเร็จ หนังที่ผสมผสานสัจธรรมของมนุษย์เข้ากับผลงานเกือบทั้งชีวิตของมิยาซากิเรื่องนี้เองก็ตกตะกอนบ่งบอกว่า เขาอยากจะปล่อยวางเหมือนกัน แต่อีกด้านก็ยังยึดติดกับมันจนไม่อาจปล่อยใจของตัวเองให้เป็นอิสระได้

 

 

ภาพของมาฮิโตะเลยซ้อนทับกับมิยาซากิอย่างน่าแปลกประหลาด และการกลับมาทำหนังอีกครั้งในวัย 83 ปี ก็น่าจะเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ว่า เขายังคงติดอยู่ในโลกที่ตัวเองมีความสุขจริงๆ แม้นั่นอาจไม่ใช่ตอนจบแบบเดียวกับที่หนังเป็น แต่สำหรับแอนิเมเตอร์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดตลอดกาล นี่อาจเป็นฉากสุดท้ายในชีวิตที่เหมาะสมแก่การมีอยู่ของเขาก็เป็นได้

 

The Boy and the Heron เข้าฉายอย่างเป็นทางการแล้ววันนี้ในโรงภาพยนตร์

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising