วันอัลไซเมอร์โลก (World Alzheimer’s Day) ซึ่งตรงกับวันที่ 21 กันยายนของทุกปี ได้ตั้งตามชื่อของจิตแพทย์ชาวเยอรมัน อาลอยส์ อัลไซเมอร์ (Alois Alzheimer) ผู้ค้นพบโรคนี้เป็นครั้งแรก เพื่อรณรงค์ให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญและมีความเข้าใจต่อโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางระบบประสาทที่พบได้บ่อย และกระทบกับผู้คนจำนวนหลายล้านคนทั่วโลกนี้มากขึ้น แม้ปัจจุบันจะยังไม่ทราบสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดโรค เพียงแต่ทราบว่าโรคนี้ส่งผลให้เกิดการสูญเสียความจำและความสามารถของสมองในด้านการคิดทีละน้อย จนในที่สุดอาจสูญเสียความสามารถในการช่วยเหลือตนเองในชีวิตประจำวัน
LIFE จึงขอพาทุกคนไปสำรวจ เพื่อทำความรู้จักและทำความเข้าใจ จะได้ห่างไกลจากภัยร้ายทางสมองนี้
เข้าใจโรคอัลไซเมอร์
โรคอัลไซเมอร์เป็นภาวะเสื่อมสภาพของสมองที่เกิดความผิดปกติในความจำ ความคิด และพฤติกรรม ซึ่งเกิดจากการสะสมของโปรตีนที่ผิดปกติในสมอง ส่งผลให้การเชื่อมต่อระหว่างเซลล์ประสาทมีปัญหา อาการเด่นที่สุดคือการสูญเสียความจำ
อาการต้องสงสัยของโรคอัลไซเมอร์
อาการอื่นที่อาจเป็นข้อสงสัยว่าเป็นโรคอัลไซเมอร์ ได้แก่ การหลงลืมที่แตกต่างจากการหลงลืมในชีวิตประจำวัน มีความถี่และรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ เช่น ถามหรือพูดซ้ำๆ, การวางสิ่งของผิดที่, การหลงทางที่ถึงแม้จะเป็นสถานที่ที่คุ้นเคย, ลืมบทสนทนาหรือนัดหมาย, นึกคำเรียกชื่อของสิ่งที่ต้องการพูดถึงไม่ออก หรือจนถึงขั้นลืมชื่อสมาชิกในครอบครัว
ปัจจัยเสี่ยงโรคอัลไซเมอร์
จากการศึกษาพบว่า ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคอัลไซเมอร์มีหลายด้าน เช่น ประวัติครอบครัวและพันธุกรรม, ประวัติการได้รับบาดเจ็บที่ศีรษะ, การดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณมาก, การนอนหลับที่ไม่เป็นเวลา หรือผู้ที่เป็นโรคหัวใจ ฯลฯ
แนวทางการรักษาโรคอัลไซเมอร์
แม้ปัจจุบันจะยังไม่มีวิธีการรักษาโรคอัลไซเมอร์ให้หายขาด แต่หากเข้ารับการตรวจรักษาอย่างสม่ำเสมอ ก็จะช่วยยืดระยะเวลาการดำเนินของโรคให้ช้าลง นอกจากนี้การรักษาด้านสภาวะอารมณ์หรือพฤติกรรมจะช่วยให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น
การรับมือกับโรคอัลไซเมอร์
รับการตรวจติดตามอย่างต่อเนื่อง และสร้างระบบการดำเนินชีวิตที่เป็นระเบียบแบบแผน การรักษาความสัมพันธ์ทางสังคม รวมถึงการมีกิจกรรมที่กระตุ้นการคิดเชิงบวก และการปรับสภาพแวดล้อม ผู้ที่ดูแลผู้ป่วยควรให้ความสำคัญกับการดูแลตนเองทั้งในด้านร่างกายและจิตใจด้วยเช่นกัน
วางแผนการเงิน
การรับมือด้านการเงินก็มีส่วนสำคัญ เพราะโรคอัลไซเมอร์อาจส่งผลให้ผู้ป่วยไม่สามารถหารายได้ได้เท่าเดิม และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาและการดำรงชีวิตประจำวันที่สูงขึ้นและต่อเนื่องเป็นเวลานาน การวางแผนด้านการเงินตั้งแต่ต้น จะช่วยให้ผู้ป่วยและคนใกล้ชิดมีคุณภาพชีวิตที่ดีในระยะยาว
อ้างอิง: