×

ผลวิจัยใหม่ชี้ โลมามีอาการของโรคอัลไซเมอร์ อาจเป็นสาเหตุให้ว่ายเกยตื้น

โดย THE STANDARD TEAM
23.12.2022
  • LOADING...

ผลการศึกษาสมองของโลมา 3 สายพันธุ์ที่ถูกพบเกยตื้นตามชายฝั่งสกอตแลนด์ แสดงให้เห็นลักษณะสำคัญของโรคอัลไซเมอร์ นับเป็นการค้นพบข้อมูลเชิงลึกมากขึ้นเกี่ยวกับโรคอัลไซเมอร์ในสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นที่ไม่ใช่มนุษย์ และการค้นพบนี้อาจช่วยไขคำตอบของการเกยตื้นของโลมาตามชายฝั่งโดยไม่ทราบสาเหตุ

 

บทความที่ตีพิมพ์ในวารสารประสาทวิทยาศาสตร์ยุโรป (European Journal of Neuroscience) ฉบับวันที่ 13 ธันวาคม ระบุว่า นักวิจัยในสกอตแลนด์ได้ศึกษาการเปลี่ยนแปลงของสมองของโลมา ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มวาฬมีฟัน (Odontocetes) หลังจากที่พวกมันตาย โดยทำการศึกษาโลมาจำนวนมากถึง 22 ตัว ซึ่งทำให้ผลการศึกษาชิ้นนี้มีรายละเอียดมากกว่าเมื่อเทียบกับผลการศึกษาอื่นๆ ก่อนหน้านี้ 

 

มาร์ก ดัลกลิช แพทย์อาวุโสด้านพยาธิวิทยากายวิภาคจากมหาวิทยาลัยกลาสโกว์ ซึ่งเป็นผู้นิพนธ์ร่วมของงานวิจัยฉบับนี้ กล่าวกับ CNN ว่า “งานวิจัยชิ้นนี้ให้ข้อมูลที่ลึกและกว้างมากขึ้น เนื่องจากเป็นการศึกษาสัตว์จำพวกวาฬและโลมา (Cetacean) จำนวนมากจากหลายชนิด (species) ที่ทราบกันว่าเป็นชนิดที่มีอายุมาก” 

 

นักวิจัยได้ศึกษาตัวอย่างโลมา 5 ชนิด ได้แก่ โลมาริสโซ (Risso’s Dolphin), วาฬนำร่องครีบยาว (Long-finned Pilot Whale), โลมาปากขาว (White-beaked Dolphin), โลมาฮาร์เบอร์พอยส์ (Harbour Porpoise) และโลมาปากขวด (Bottlenose Dolphin) ซึ่งในบรรดาตัวอย่างโลมา 22 ตัวที่ทำการศึกษา พบว่า 18 ตัวมีอายุมาก 

 

ผลการวิจัยพบว่า โลมาอายุมาก 3 ตัว ได้แก่ วาฬนำร่องครีบยาว โลมาปากขาว และโลมาปากขวด แสดงการเปลี่ยนแปลงของสมองหรือรอยโรคที่สัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์ในมนุษย์ โดยโรคอัลไซเมอร์เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของระบบประสาท เป็นโรคที่พบมากในผู้สูงอายุ และมักแสดงอาการ เช่น สูญเสียความทรงจำ หลงลืม และสับสน

 

ทารา สไปร์ส-โจนส์ ศาสตราจารย์ด้านความเสื่อมของระบบประสาท สำนักคณบดีวิทยาศาสตร์ชีวเวชศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเอดินบะระ ซึ่งเป็นผู้นิพนธ์ร่วมอีกคนหนึ่งของงานวิจัย ระบุในแถลงการณ์ที่เผยแพร่ในสัปดาห์นี้ว่า นักวิจัย “รู้สึกทึ่งที่ได้พบว่า โลมาอายุมากมีการเปลี่ยนแปลงของสมองคล้ายกับในคนสูงอายุ และในโรคอัลไซเมอร์”

 

ส่วนคำถามที่ว่า “การเปลี่ยนแปลงทางพยาธิสภาพเหล่านี้มีส่วนทำให้สัตว์เหล่านี้เกยตื้นหรือไม่ เป็นคำถามที่น่าสนใจและสำคัญสำหรับการศึกษาในอนาคตต่อไป” สไปร์ส-โจนส์กล่าว

 

นักวิจัยระบุว่า จากการศึกษาตัวอย่างโลมา พบว่าโลมามีการสะสมของโปรตีน phospho-tau และเซลล์เกลีย (glial cell) และสร้างโปรตีนเบตาอะไมลอยด์ (amyloid-beta plaque) ซึ่งเป็นการสะสมของโปรตีนที่พบในสมองของผู้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ การกระจายของรอยโรคเหล่านี้เทียบได้กับบริเวณสมองของมนุษย์ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ 

 

ดัลกลิชกล่าวว่า ผลการศึกษานี้นับว่าใกล้เคียงที่สุดที่แสดงให้เห็นว่าสัตว์ใดๆ สามารถพัฒนารอยโรคที่สัมพันธ์กับโรคอัลไซเมอร์ได้เอง จากเดิมที่เคยคิดว่าเกิดขึ้นในมนุษย์เท่านั้น

 

สัตว์ประเภทวาฬและโลมามักถูกพบเกยตื้นบนชายฝั่งของสหราชอาณาจักรเป็นกลุ่มๆ ซึ่งผู้นิพนธ์งานวิจัยกล่าวว่า อาจสนับสนุนทฤษฎี ‘จ่าฝูงป่วย’ (Sick-Leader Theory) หรือการที่ฝูงวาฬ/โลมาว่ายตามจ่าฝูงที่มีอายุมากเข้าไปในเขตน้ำตื้น ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความสับสนของจ่าฝูง

 

ภาพ: Wild Horizons / Universal Images Group via Getty Images

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising