หนึ่งในเทรนด์การทำงานที่เกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาคือ ‘พนักงานบูมเมอแรง’ ที่ถูกระบุว่า เป็นพนักงานที่ลาออกไปแล้ว แต่ลาออกจากงานที่ใหม่ และวนกลับมาทำงานที่เก่าอีกครั้ง เพราะมักจะได้รับเงินเดือนแบบยิ่งใหญ่กว่าเดิม
สำหรับในไทยผลสำรวจของ โรเบิร์ต วอลเทอร์ส พบว่า พนักงานจำนวนเกือบ 3 ใน 4 (72%) ในประเทศไทย กล่าวว่า พวกเขาเปิดใจที่จะกลับไปทำงานกับนายจ้างคนเก่า โดยที่พวกเขามีแนวโน้มที่จะได้รับการตอบรับที่ดีเพราะนายจ้างจำนวนถึง 80% ยินดีที่จะรับพนักงานเก่ากลับมาทำงานด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ที่ทำงานเก่าที่โปรด! พฤติกรรม ‘พนักงานบูมเมอแรง’ ที่ลาออกและกลับมาใหม่อีกครั้ง
- ส่องปรากฏการณ์ Quiet Quitting ที่คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อ ‘วัฒนธรรมการทำงานหนักแล้วจะได้ดี’
- เพราะไม่อยากจ่ายค่าชดเชย? Quiet Firing การทำให้พนักงานดิ่งจนถึงขีดสุดและยอมลาออกไปเอง
แม้พนักงาน 41% ในประเทศไทยลาออกจากงานในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เพราะต้องการค่าจ้างและสวัสดิการที่ดีขึ้น ส่วนพนักงานอีก 40% ถัดมาลาออกเพื่อความก้าวหน้าในอาชีพที่ดีขึ้น แต่ผู้ตอบแบบสอบถาม 26% ตั้งใจที่จะกลับไปร่วมงานกับนายจ้างเก่าอีกครั้ง ถ้าหากได้รับข้อเสนอทางโอกาสก้าวหน้าในอาชีพที่ดี
อีก 25% กล่าวว่า พวกเขาเปิดกว้างต่อข้อเสนอหากมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้นำหรือทีม นอกจากนี้ พนักงานจำนวน 14% กล่าวว่า พวกเขาเต็มใจที่จะกลับไปทำงานกับนายจ้างเก่าหากพวกเขาได้รับค่าตอบแทนที่ดีกว่า
ขณะเดียวกันพนักงานจำนวน 35% ยอมรับว่า พวกเขาติดต่อกลับไปที่ทำงานเก่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เกี่ยวกับข้อเสนอการทำงาน ในขณะที่พนักงานจำนวน 13% มีความตั้งใจที่จะติดต่อกลับไปเช่นกัน
สำหรับการที่จะรับทำงานหรือไม่นั้น ผู้จัดการจำนวนเกือบ 70% จะพิจารณาให้ ‘อดีตพนักงานที่มีผลงานดี’ กลับมาทำงาน และผู้จัดการอีก 12% เปิดกว้างต่อแนวคิดนี้ แต่จะดำเนินการอย่างค่อยเป็นค่อยไปและรอบคอบ
แม้จะมีคนที่ยินดี แต่มีผู้จัดการในประเทศไทยจำนวนถึง 19% มีความเห็นว่า พวกเขาจะไม่พิจารณาจ้างพนักงานเก่าอีกครั้ง เมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ 9% ซึ่งแสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีความระแวดระวังมากที่สุดในแง่มุมนี้
อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญสำหรับนายจ้าง คือการบริหารจัดการการกลับมาทำงานอีกครั้งของพนักงานบูมเมอแรงท่ามกลางพนักงานในบริษัทที่มีอยู่เดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีอดีตพนักงานที่กลับมาทำงานในตำแหน่งที่สูงกว่าตอนที่พวกเขาออกจากงาน
ตัวนายจ้างจำเป็นที่จะต้องสร้างความสมดุลให้เกิดขึ้น และควรประเมินว่าพวกเขากำลังทำทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเปิดโอกาสภายในองค์กรอย่างเต็มที่ มิเช่นนั้นอาจเสี่ยงที่จะเป็นการส่งสัญญาณว่า ในการเลื่อนขั้นเลื่อนตำแหน่งและได้รับสวัสดิการที่ดีกว่า พวกเขาต้องเลือกเส้นทางในการลาออกและกลับมาทำงานอีกครั้ง (Boomerang Route)