ความทรงจำบางอย่างที่ยังส่งผลกับปัจจุบันของเราอย่างหนักหน่วงมักมีที่มาจากประสบการณ์รุนแรงกระทบร่างกายและจิตใจ เช่น อุบัติเหตุ เหตุการณ์ผิดหวัง เหตุการณ์สูญเสีย เหตุการณ์ถูกละเมิดทั้งจากผู้คนใกล้ชิดและในสังคมแวดล้อม และใช้ ‘กลวิธานในการปรับตัว’ (Defense Mechanisms) อย่างอัตโนมัติในการประคองความรู้สึกด้านลบ เช่น การหลีกหนี (Avoid) ที่ต้องเผชิญกับผู้คนหรือเหตุการณ์ที่กระตุ้นให้ย้อนคิดเรื่องอดีตที่เจ็บปวด, การเก็บกดอารมณ์ (Repression) โดยการเก็บกดความคิด ความรู้สึกที่กระทบตนไว้ในระดับจิตใต้สำนึก ส่งผลให้เราจดจำเรื่องราวอดีตที่เจ็บปวดแบบขาดตอน คลุมเครือ ยากที่จะย้อนกลับไปทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างละเอียด
แต่ยังคงส่งผลรบกวนความสุขและการใช้ชีวิตในปัจจุบัน อาจแสดงออกเป็นการฝันร้าย ตื่นตระหนกได้ง่าย อาการนอนหลับยาก พฤติกรรมหลีกเลี่ยงกับบางสิ่ง การทำงานและการเรียนถูกรบกวนจากการขาดสมาธิ หงุดหงิดง่าย และอาจมีความรู้สึกเศร้า ท้อ หมดหวัง อีกทั้งบางคนยังมีความคิดกล่าวโทษตัวเองว่า “เป็นคนไม่เอาไหนที่ลืมเรื่องอดีตไม่ได้” หรืออาจ “กล่าวโทษตนเองว่าตนเป็นลูกที่ไม่ดีที่ยังไม่สามารถให้อภัยสิ่งที่พ่อกับแม่ทำกับตนเองในอดีตได้”
แล้วเราจะก้าวข้ามอดีตที่เจ็บปวดได้อย่างไร?
‘ปล่อยวาง’ กับ ‘ให้อภัย’ คงเป็นสิ่งที่หลายคนกำลังใช้ในการดูแลชีวิตและความสุขประจำวัน คำดังกล่าวฟังดูเรียบง่าย แต่กลับดูเร่งรีบและกดดันให้เราก้าวผ่านเรื่องทุกข์ใจในอดีตจนยากที่จะสงบจิตใจ คำดังกล่าวจะยิ่งทำให้เราทุกข์ใจหากเราไม่สามารถรู้ทันตัวเองและมีทักษะในการจัดการอารมณ์อย่างค่อยเป็นค่อยไป
1. หากสามารถจดจำเรื่องอดีตที่ปวดใจได้อย่างแม่นยำ หรือหากมีการแสดงออกข้างต้นกำลังเกิดขึ้น โปรดเข้าใจและยอมรับว่ามีความทรงจำบางอย่างกำลังรบกวนความสุขในปัจจุบัน การยอมรับกับความทุกข์นับเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นประโยชน์กับความสุขในปัจจุบัน ซึ่งการยอมรับคือการสื่อสารกับตนเองถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นตามความเป็นจริง ไม่ใช่การจำนนต่ออดีต ซึ่งการ ‘ยอมรับ’ ก็เป็นคำที่พูดง่ายแต่ต้องให้เวลา
2. ฝึกทักษะการรู้เท่าทัน เพราะความทุกข์ใจในอดีตส่งผลต่อความรู้สึก ความคิด ร่างกาย และการกระทำในปัจจุบันอย่างอัตโนมัติและเป็นวงจรที่ซับซ้อน อีกทั้งเราอาจคุ้นเคยกับการหลีกหนีและเก็บกด ส่งผลให้เรื่องราวที่ฝังกลบอยู่ไม่ได้รับโอกาสให้ได้ทำความเข้าใจ การฝึกทักษะรู้เท่าทันจะมีส่วนช่วยในการเห็นวงจรที่เกิดขึ้น และเพื่อเป็นเครื่องมือในการฝึกทักษะจัดการอารมณ์และเผชิญความทุกข์ใจ
การฝึกทักษะรู้เท่าทันอาจต้องลงทุนลงแรง เพราะต้องต่อสู้กับวิธีเดิมของตนเอง จากที่หนีและเก็บกด เป็นการเฝ้ามองปรากฏการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นอย่างละเอียดลออ
โดยเริ่มต้นจากการเฝ้ามองร่างกายที่เปลี่ยนแปลงเมื่อกำลังเผชิญกับความทุกข์ใจ ว่ามีสิ่งใดกำลังเกิดขึ้นในร่างกายของเราเป็นส่วนๆ ว่ามีความ ‘ร้อน-เย็น-หนัก-เบา-เร็ว-ช้า’ หรือไม่ และอยู่ในระดับใด ทำความเข้าใจอารมณ์ผ่านร่างกายที่เปลี่ยนแปลง พร้อมทั้ง ‘ตั้งชื่อความรู้สึกที่กำลังเกิดขึ้น’ ‘โกรธ-เศร้า-สับสน’ และให้ระดับของความรู้สึก โดยระมัดระวังการตำหนิตนเองว่า “ไม่ควรรู้สึก” เพราะความรู้สึกเป็นผลผลิตของอดีตที่กำลังทำงาน
ทวนความคิดที่เข้ามา เพราะในหนึ่งความคิดจะปะปนถึงสิ่งที่เราคิดเกี่ยวกับตนเอง ผู้อื่น และโลก หากเราสามารถเข้าใจรายละเอียดของความคิดได้ จะสามารถเข้าใจตนเองทั้งในอดีตและปัจจุบันได้เป็นอย่างดี เพื่อเป็นแผนที่ในการปรับวิธีคิดที่จะเป็นประโยชน์กับตนเอง
สังเกตการกระทำของตนเองที่อาจเป็นเครื่องมือในการลดความทุกข์ อาทิ การไม่สบตาสื่อสารกับคนที่เป็นผู้ใหญ่ดูมีวุฒิภาวะ ในขณะที่ต้องนำเสนองานแก่หัวหน้าในทุกๆ เดือน หากสามารถเข้าใจ ‘ความหมายที่ซ่อนอยู่ในการกระทำ’ โดยเฉพาะ ‘ทำเพื่อหลีกหนี’ จะช่วยให้เราเข้าใจและปรับเปลี่ยนการลงมือทำ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับชีวิตในปัจจุบัน
3. ค่อยๆ ทำความเข้าใจอดีตอย่างเป็นกลาง
มุมมองที่เรามีต่ออดีต ซึ่งในขณะที่กำลังคิดร่างกายอาจมีการเปลี่ยนแปลง จากสงบเป็นตระหนก ซึ่งจะส่งผลให้เรามีความคิดอคติตามสัญชาตญาณได้ง่าย ดังนั้นขณะที่กำลังคิดถึงตนเองในอดีต ให้เวลากับกิจกรรมสงบร่างกาย อาทิ การฝึกหายใจ เพื่อให้เราสามารถเผชิญกับความคิดได้อย่างเป็นกลาง
มุมมองของผู้คนในอดีตที่กระทำต่อเรา โดยเน้นทำความเข้าใจทั้งสิ่งที่เรารับรู้และทำความเข้าใจเจตนา เพราะความคิดชุดเดิมของผู้อื่นอาจเป็นต้นเหตุของความทุกข์ใจ การสงบร่างกายและให้โอกาสตนเองในการคิดถึงเจตนาของคนเหล่านั้น จะช่วยให้เราเข้าใจเรื่องราวเป็นขั้นเป็นตอน การเข้าใจเจตนาคือการทำความเข้าใจสิ่งที่เขาเหล่านั้นคิด ไม่จำเป็นต้องยืนหยัดให้เขาเหล่านั้นมีเจตนาที่ดีสำหรับเรา เพราะการยอมรับได้ว่าในช่วงของวันนั้น เวลานั้น เขาอาจมีเจตนาที่ไม่ดี ส่งผลกับความรู้สึกของเรา คือความเข้าใจเบื้องหลังฉากของความทุกข์ใจ
ทำความเข้าใจความจริงที่ว่า “เรื่องแย่ โชคร้าย สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกคน” เพราะมีผู้คนไม่น้อยที่กำลังตกอยู่กับความทุกข์ในอดีต และยังซ้ำเติมตนเองว่า “ไม่เอาไหน ไม่สู้ และโชคร้าย” ในขณะที่ไม่ว่าใครก็สามารถเจอกับเรื่องร้ายได้ทั้งนั้น
4. ค่อยๆ เผชิญกับสิ่งในปัจจุบันที่กระตุ้นความเจ็บปวดในอดีต รู้เท่าทันตนเอง ปรับการกระทำที่หลีกหนีทีละเล็กทีละน้อย เพื่อฝึกความทนทานด้านจิตใจ (Tolerance) โดยเริ่มจากสิ่งที่ง่ายและจำเป็นกับการใช้ชีวิตในปัจจุบัน เพราะบางเรื่องราวในอดีตอาจไม่จำเป็นต้องเข้าใจและใช้พลังไปกับการแก้ไข
5. แม้เหตุการณ์ในอดีตจะจบบริบูรณ์ แต่มนุษย์ไม่จำเป็นที่จะต้องจบเรื่องราวนั้นด้วยความสมบูรณ์แบบ การทำความเข้าใจตนเอง ไม่ใช่เพื่อการแก้ไขอดีตให้คลี่คลายหายไป แต่เพื่อการมีทักษะทางอารมณ์ที่จะทำให้เราไปต่อกับปัจจุบันได้และมีความหวัง