×

PASSION CALLING: บาส-ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ แรงบันดาลใจจากโดราเอมอน สู่อาชีพ ‘นักเดินทาง’

26.08.2023
  • LOADING...

ในยุคที่ใครหลายคนตามความฝันด้วยการเป็นบล็อกเกอร์ท่องเที่ยว ที่สามารถหาเงินเลี้ยงชีพได้ไปพร้อมๆ กับการเดินทางในคราวเดียว เมื่อลิสต์ดูบล็อกเกอร์ท่องเที่ยวแถวหน้า เราพบว่า ‘บาส-ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์’ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม ‘บาส Go Went Go’ คือหนึ่งตัวอย่างของความสำเร็จในสายอาชีพนี้ ไม่ว่าจะเป็นยอดผู้ติดตาม 1.07 ล้านคนทาง YouTube – Go Went Go หรือ 1.4 ล้านคนทาง Facebook – Go Went Go ซึ่งนั่นยังไม่รวมแพลตฟอร์มอื่นๆ จาก Twitter หรือ Tiktok ฯลฯ และจำนวนยอดวิวระดับแสนวิวในแต่ละคลิปด้วย 

 

โดยหากย้อนกลับไปในช่วงอายุ 20-30 ปี ผู้คนอาจรู้จักบาสในฐานะของมือกีตาร์วง Better Weather, นักแสดงในบทบาทของ พีท จากซิตคอม บ้านนี้มีรัก, วีเจบาสแห่ง Channel V Thailand หรือบางคนอาจรู้จักเขาในฐานะของนักดนตรีแบ็กอัพ และเจ้าของร้านอาหาร ฯลฯ และเมื่อนำมาไล่เลียงเราพบว่า บาสทำมาหลายอย่างมากกว่าจะมาถึงปัจจุบันในจุดที่เขาบอกว่าเป็น ‘ความฝันที่เป็นจริง’ และ ‘ตัวตนของเขา’ มากที่สุด 

 

Passion Calling ครั้งนี้ เราจึงพาคุณมารู้จักกับชายผู้เปลี่ยนฝันวัยเด็กให้เป็นจริง บาส-ภาณุภัทร์ สุกัลยารักษ์ หรือที่หลายคนรู้จักในนาม บาส Go Went Go

 

 

รู้ว่าตัวเองชอบเดินทางตั้งแต่เมื่อไร

 

ตั้งแต่เด็กผมชอบการ์ตูน Doraemon มาก แล้วการ์ตูน Doraemon ตอนพิเศษก็ชอบ ผจญภัยไปโลกไดโนเสาร์ ไปเมืองอารยธรรมโบราณ เราเลยรู้สึกว่าโตขึ้นเราอยากเดินทางรอบโลก แต่การเดินทางรอบโลกต้องใช้เงิน เพราะฉะนั้นเป้าหมายของผมตอนโตคือการหาเงินเยอะๆ แล้วเก็บเงินไปเที่ยว

 

ซึ่งผมก็ทำเยอะมาก เป็นแบ็กสเตจ เล่นดนตรีกลางคืน เป็นเด็กเสิร์ฟร้านอาหาร จากนั้นก็มาเป็นนักแสดง วีเจ พิธีกร ศิลปิน และเล่นดนตรีกับวง Better Weather ก่อนมาทำธุรกิจร้านอาหาร หรือเรียนรู้เรื่องการลงทุน เราก็ทำมาเรื่อยๆ จนกระทั่งช่วงอายุ 30 ปี

 

จุดเปลี่ยนคืออะไร และอะไรที่ทำให้เราหันไปทบทวนชีวิตในช่วงนั้น

 

ผมเป็นคนคิดทบทวนกับตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้ว แต่พอเข้าสู่ช่วง 30 ปี วัยเลข 2 กับเลข 3 สำหรับผมมันต่างกันมากนะ สมัยก่อนเรามองคนเลข 3 ว่าเป็นผู้ใหญ่มาก แต่พอเราเข้าสู่เลข 3 เองแล้วยังรู้สึกเหมือนเดิมอยู่เลย พอทบทวนมากๆ เข้าผมก็พบว่า เราหลงลืมแพสชันของตัวเองไป เราอยากไปเที่ยวรอบโลกนี่

 

เราอายุ 30 ปีแล้ว หมายความว่าอะไร? อีกหน่อยเราจะต้องไม่มีแรงแล้วใช่ไหม เราจะไม่แข็งแรงเหมือนเดิมหรือเปล่า ผมเลยรู้สึกว่า ถ้าเราไม่เดินทางตอนนี้และยังมัวแต่นั่งทำงานอยู่จนตัวเอง 40-50 ปี เราอาจมีเงินเยอะมาก แต่อาจไม่ได้ไปในที่ที่อยากไป ก็เลยคิดว่ามันถึงเวลาแล้ว และต้องเริ่มเลย

 

 

ช่วยเล่าถึงเทปแรกของ Go Went Go ให้ฟังหน่อย

 

พอตั้งปณิธานว่าต้องเดินทาง แต่ถ้าเดินทางแล้วไม่ได้ทำงานด้วยก็รู้สึกผิด ผมเลยคิดว่าทำอย่างไรให้การเดินเที่ยวของผมเป็นงานได้บ้าง ช่วงนั้นเราอินเรื่องการตลาด เรื่องการลงทุนเยอะ ผมเห็นแนวโน้มข้างหน้าว่าเงินโฆษณามันต้องมาที่ออนไลน์ เพราะทุกคนเริ่มไม่ดูทีวีกันแล้ว และคนส่วนใหญ่ก็เล่นโซเชียลมีเดีย แต่เงินยังไม่มา 

 

เทปแรกของ Go Went Go เป็นอะไรที่ง่ายมาก เราไปเที่ยวเกาหลีใต้ เจออะไรก็ถ่าย จริงๆ แทบไม่รู้สึกต่างอะไรจากการที่ไปเที่ยวปกติเลย แค่จากเดิมที่เราต้องหันมาคุยกับเพื่อนหรือคนที่ไปด้วย ก็แค่เพิ่มเพื่อนอีกคนที่เป็นกล้อง แค่นั้น เพราะฉะนั้นเทปแรกเลยค่อนข้างเป็นธรรมชาติมาก และผมว่ามันอาจเป็นธรรมชาติไปหน่อย (หัวเราะ) เพราะเรายังไม่รู้ว่าอะไรสมควรออกหรือไม่สมควรออก สิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นจริงๆ คือตอนตัดต่อ ตัดออกมาแบบนี้จะสนุกไหม ฟีดแบ็กคนดูเป็นอย่างไร

 

ความต่างของเทปแรกกับเทปปัจจุบัน

 

ต่างพอสมควร ทั้งในแง่ของลักษณะการทำคอนเทนต์และเป้าหมาย แต่ก่อนเรามีเป้าหมายว่าอยากไปเที่ยวรอบโลก เป็นเช็กลิสต์ ผมรู้สึกว่าถ้าเราได้เป็นผู้ชายคนหนึ่งที่ถูกจารึกในประวัติศาสตร์ของประเทศไทยว่าไปเหยียบมาแล้วทุกประเทศทั่วโลกมันจะต้องเท่มากๆ แต่พอเราเดินทางมากขึ้น เป้าหมายเราเริ่มเปลี่ยน เราเริ่มรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องไปครบก็ได้นะถ้าเราไม่ได้สนใจขนาดนั้น เราเริ่มเน้นจุดหมายปลายทางที่เราสนใจมากขึ้น จะเห็นว่าเทปหลังๆ ผมไปซ้ำที่เยอะมาก แต่ลงลึกมากขึ้น

 

 

ชอบ ‘ท่องเที่ยว’ หรือชอบทำ ‘YouTube’ มากกว่ากัน

 

นั่นสิ (หัวเราะ) ผมว่าผมชอบพอๆ กันนะ ทุกวันนี้มันกลายเป็นนิสัยไปแล้ว เวลาไปที่ไหน เจอโมเมนต์ดีๆ เจอสถานที่สวยๆ เราก็อยากให้แฟน เพื่อน หรือพ่อแม่ได้เห็น ผมแค่เพิ่มคนดูมาอีกคน มันเป็นความรู้สึกอยากแบ่งปันไปแล้ว ไม่ได้ถ่ายเพื่องานขนาดนั้น เราอยากให้ทุกคนเห็นว่ามีที่แบบนี้ในโลกด้วยนะ หรือมีประสบการณ์ไม่ดีในบางพื้นที่ ก็อยากเล่าให้ฟัง อยากให้ระวัง การทำ YouTube ก็เลยกลายเป็นความชอบพอๆ กับการท่องเที่ยว ถ้าสมมติว่าในอนาคตวันหนึ่งผมไม่ได้ทำตรงนี้เป็นอาชีพจริงจังแล้ว ผมอาจจะยังถ่ายอยู่ แค่อาจไม่ได้แคร์ว่าคนดูเยอะหรือดูน้อย แค่อยากเล่าให้ฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างในพื้นที่นั้น อาจเป็นแค่นั้น

 

“ถ้าเราชอบเดินทาง คนทุกคนควรได้ออกเดินทางทุกช่วงเวลาของชีวิตที่เราต้องการ ควรต้องเป็นแบบนั้น และควรมีการซัพพอร์ตจากอะไรหลายๆ อย่างให้เราสามารถทำอะไรแบบนี้ได้” 

 

ตอนนี้บอกได้ไหมว่าการทำ Go Went Go เป็นอาชีพหลัก

 

ทุกวันนี้การทำ Go Went Go เป็นอาชีพหลักไปแล้ว ซึ่งเราก็เข้าใจว่ามันเป็นหนึ่งในแพสชันของทั้งคนรุ่นใหม่และรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าพอหลายคนเริ่มอายุเยอะขึ้น เริ่มมีเงินเก็บ หลายๆ คนก็เริ่มเดินทาง ส่วนคนรุ่นใหม่ไม่เหมือนคนรุ่นเก่า คนรุ่นเก่าอาจทำงานทั้งชีวิตเพื่อเก็บเงินไปเที่ยว แต่รุ่นใหม่คือ “ไม่ ฉันจะเที่ยวตอนนี้เลย มีเงินเก็บหรือเปล่าไม่รู้ ฉันก็จะหาทางออกเดินทางให้ได้” สุดท้ายแล้วผมคิดว่า ถ้าเราชอบเดินทาง คนทุกคนควรได้ออกเดินทางทุกช่วงเวลาของชีวิตที่เราต้องการ ควรต้องเป็นแบบนั้น และควรมีการซัพพอร์ตจากอะไรหลายๆ อย่างให้เราสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ ผมมองว่าการเดินทางช่วยเพิ่มประสบการณ์ชีวิต ช่วยเพิ่มมุมมองเรื่องต่างๆ รอบตัวจริงๆ

 

 

การทำ Go Went Go ตอบสนองแพสชันเราได้กี่เปอร์เซ็นต์

 

ผมไม่เคยนับว่ากี่เปอร์เซ็นต์ แต่ถ้าถามว่าทุกวันนี้ผมมีความสุขไหม ต้องตอบว่า ‘มาก’ ถ้าเทียบย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้วหรือปีก่อนหน้านั้น เรามีความสุขมากขึ้น แต่อาจจะเหนื่อยมากขึ้น ผมพยายามถามตัวเองนะว่า งานเยอะขนาดนี้ เดินทางเยอะขนาดนี้ เรามีความสุขจริงๆ ใช่ไหม ถ้าไม่ได้หลอกตัวเอง ผมว่าเราก็มีความสุขจริงๆ แต่ว่าความสุขส่วนหนึ่งที่ได้มาต้องกล้าบาลานซ์ด้วย

 

กล้าบาลานซ์หมายความว่าอย่างไร เช่น อาทิตย์นี้ผมจะไม่รับงาน ก็คือไม่รับ เพื่อให้ตัวเองสมดุล ผมคิดว่าการกล้าตัดสินใจบางอย่างเพื่อรักษาสมดุลหรือความสุขของตัวเองนั้นสำคัญ ในจุดที่เราทำงานมาจนไม่มีปัญหาด้านการเงินแล้ว แต่บางคนกลับยังไม่สามารถหลุด Priority เป็นเงินได้ แต่ถ้าเราสามารถยอมแลกความสุขบางอย่างแทนการได้เงิน เช่น อยู่บ้านเลี้ยงหมา ซึ่งเราสามารถทำตอนนี้ได้เลย 

 

สำหรับผม บาลานซ์คือการที่เรารู้ว่าเราสมควรทำอะไรมากแค่ไหนในปริมาณที่ดี มีความสุข ไม่ได้หมายความว่าทำงานต้องเท่ากับพักผ่อน บางคนอาจทำงานมากกว่าพักผ่อน บางคนอาจชอบพักผ่อนมากกว่าทำงาน ฉะนั้นบาลานซ์คือการที่คุณหาจุดสมดุลในตัวของเราเองว่ามันอยู่ตรงไหน โดยที่ไม่ต้องเอาคนอื่นมาเปรียบเทียบ

 

บาสคนนี้กับบาสเมื่อ 7 ปีที่แล้วเหมือนกันไหม

 

ไม่เหมือน ผมว่าผมเข้าใจอะไรหลายๆ อย่างเกี่ยวกับตัวเอง เกี่ยวกับสังคมมากขึ้น สมัยก่อนผมมีมายด์เซ็ตเหมือนคนสมัยก่อน เช่น เราเข้าใจว่าทุกอย่างต้องมาจากเราร้อยเปอร์เซ็นต์ พอเราทำงาน เราเริ่มเข้าอกเข้าใจคนอื่น คนเราโอกาสเติบโตมาไม่เหมือนกัน สังคมในปัจจุบันเรารับโอกาสไม่เท่ากัน 

 

ใน 7 ปีที่ผ่านมา ผมมองทุกคนด้วยความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น ไม่ใช่มองแค่ตัวเอง มีโอกาสได้เจอคนและข้อมูลต่างๆ ส่วนหนึ่งต้องเป็นการขอบคุณตัวเองที่กล้าลงมือทำ ไม่ท้อแท้อะไรง่ายๆ นอกจากขอบคุณตัวเอง พอโตมากก็อาจจะขอบคุณคนอื่นเยอะหน่อย ขอบคุณเพื่อน ขอบคุณทีมงาน ขอบคุณสิ่งแวดล้อม ขอบคุณคนดู ทุกคนมีผลกับสิ่งที่เราได้มา นั่นเป็นสิ่งที่ผมรู้สึกว่า 7 ปีผมเติบโตขึ้น 

 

 

เดินทางมาเยอะ คิดว่าอะไรคือจุดเด่นหรือจุดด้อยของการท่องเที่ยวไทย

 

จุดเด่นบ้านเราคือสถานที่ท่องเที่ยวมัน World-Class มาก เวลาเราไปทะเลบ้านเราสวยจริงๆ นะ ที่เที่ยวดี อาหารดี ประเทศเราอุดมสมบูรณ์มาก มากขนาดที่ว่าเราไม่มีทางอดตายถ้าอยู่ในประเทศไทย ผมไปต่างประเทศ เลยเวลาก็หากินยาก ไปบางโซนไม่มีร้านอาหารเลยก็มี ประเทศไทยเป็นอะไรที่ทุกคนขายของกินได้ทุกที่ ทุกเวลา แล้วมีราคาที่ถูก อันนี้คือจุดเด่นของบ้านเราเลย ผมเลยไม่แปลกใจเลยว่าทำไมชาวตะวันตกถึงชอบบ้านเรา เขาทำงานบ้านเขาเดือนหนึ่ง อาศัยอยู่บ้านเราได้เท่าไร 

 

ส่วนปัญหาบ้านเรามีหลายอย่าง แต่เด่นที่สุดคือการเดินทางไม่ซัพพอร์ตการท่องเที่ยวให้สะดวกขนาดนั้น อย่างเช่น ในต่างจังหวัดแทบไม่มีเลย ผมใช้คำนี้ในแง่ของระบบขนส่งสาธารณะที่มีคุณภาพ บ้านเราไม่มีเลย ทั้งๆ ที่สมควรมี ผมยกตัวอย่างง่ายที่สุด ทำไมคนถึงบอกว่าภูเก็ตต้องเป็นคนมีเงินไปเที่ยว ทั้งๆ ที่ภูเก็ตสมควรเป็นที่ที่เหมาะกับคนไทยทุกคน เพราะเราลงมาถึงสนามบินอย่างแรกที่เราเจอคือเราไม่มีรถ เราต้องเหมาแท็กซี่ ซึ่งแพงมาก อารมณ์เหมือนอยู่ต่างประเทศ ถ้าถูกหน่อยคือเช่ารถ แต่ถ้าต้องเดินทางหลายจุด ทุกอย่างจะแพงมาก ไม่ซัพพอร์ต

 

ผมเลยรู้สึกว่าจุดอ่อนของประเทศเราคือ การที่ในทุกจังหวัดไม่ได้ถูกพัฒนาด้านคมนาคม บางจุดควรจะมีการคมนาคมที่ดีในทุกพื้นที่อย่างเท่าเทียม อย่างน้อย ณ จุดเริ่มต้น เส้นทางการท่องเที่ยวที่อยากขายก็ควรมี เพื่อซัพพอร์ตนักท่องเที่ยวมากขึ้น เงินเข้าจังหวัดมากขึ้น การเดินทางของชาวบ้านหรือคนในพื้นที่สะดวกสบายมากขึ้น อย่างน้อยๆ เขาก็มีคมนาคม ประหยัดเงินไปเท่าไรแล้ว ถ้าบ้านเราแก้ปัญหาเรื่องนี้ได้จะเป็นสถานที่ที่ดีมาก 

 

นอกจากนี้ก็มีอีกหลายจังหวัดที่เราไปแล้วเราเห็นว่ามีศักยภาพสูงมาก แต่ไม่มีอะไรทำให้เข้าถึงได้เลย การบริหาร-การจัดการก็ไม่ดี ไม่มีใครดูแล

 

 

มีอะไรที่อยากทำใน Go Went Go แล้วยังไม่ได้ทำบ้าง

 

ช่วงหลังอยากทำรายการสัมภาษณ์คนที่เป็นนักเดินทางด้วยกัน แต่นั่นแหละผมเป็นคนคิดเยอะมาก เช่น ต้องเป็นรายการแบบไหนดี สดไหม ถ้าสดต้องเวลาเดิมไหม เอาอยู่หรือเปล่า แล้วแขกเราจะอยู่เหรอ เหมือนเราคิดเยอะไปหมดเลย เราอยากทำรายการแบบนี้ เพราะอยากแลกเปลี่ยนประสบการณ์กับคนอื่นบ้าง โดยที่ทั้งเขาและเราได้ประโยชน์จากการแลกเปลี่ยนครั้งนั้น และคนดูก็ได้ประโยชน์ไปด้วย นั่นคือสิ่งที่อยากทำ จริงๆ ก็คืออยู่ในสิ่งที่คิดในหัวแหละ เพียงแต่ยังไม่ออกมาว่าจะอยู่ในรูปแบบไหนเท่านั้นเอง ผมรู้สึกว่าการที่นักเดินทางคุยกับนักเดินทางจะคุยกันอีกภาษาหนึ่ง ได้คุยกันได้ลึกขึ้น แชร์กันมากขึ้น 

 

มอง Go Went Go ในอีก 5 ปีข้างหน้าเป็นอย่างไรบ้าง

 

ทุกวันนี้พยายามมองหาแรงบันดาลใจของคนอายุ 40 กว่าปีที่เท่อยู่ พยายามไปดู ไปดูกงยูโอปป้า 40 กว่าปีแล้วยังเท่อยู่เลย เราพยายามนอนเยอะ พยายามออกกำลังกาย เราอยากเป็นคน 40-50 ปีที่มีคุณภาพ และเรายังอยากเดินทางได้อยู่ อยากร่วมสมัย เพราะฉะนั้นผมถึงอยากทำให้ Go Went Go ร่วมสมัย อาจมีการปรับเปลี่ยนอะไรที่ไม่เหมือนเดิม การเดินทางหรือการใช้ชีวิตอาจไม่เหมือนเดิม ไปตามยุคสมัยที่มันเปลี่ยน

 

 

คิดว่าตัวเองจะเที่ยวไปอีกนานไหม

 

ตลอดชีวิต เท่าที่สุขภาพยังโอเค อาจจะเปลี่ยนวิธีการหรือรูปแบบในการเดินทาง ผมอาจเที่ยวสบายขึ้น ลดความลำบากของตัวเองลง อะไรที่เลือกนอนสบายได้ก็จะเลือกนอนสบาย เมื่อก่อนอาจจะอะไรก็ได้ เพราะเราก็รู้สึกว่าสุขภาพก็เป็นเรื่องสำคัญ การได้นอนดีๆ เดินทางไม่ปวดหลัง ก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่เราสามารถหาได้จากการจ่ายเงินเพิ่ม

 

แล้วคิดภาพตัวเองไม่ได้เดินทางออกหรือเปล่า

 

คิดออกครับ (หัวเราะ) คือมายด์เซ็ตของผม ถ้าผมไม่ได้เดินทางเลย ผมคงอยู่บ้านหาอะไรทำสักอย่างที่ทำที่บ้านได้ เราคงหาอะไรทำที่จอคอมที่บ้าน ดูหุ้น ซื้อที่ อยากมีบ้านที่ต่างจังหวัด ทุกวันนี้ก็นั่งคิดว่าถ้าซื้อจะซื้อทะเลหรือภูเขา เลี้ยงสุนัข หาเงินต่อเงิน เล่นเกม ออกกำลังกาย พอเรายิ่งโต มันยิ่งดูไม่ยิ่งใหญ่ เราแค่ต้องการอะไรแบบนั้น 

 

 

อยากบอกอะไรกับคนที่สนใจอยากทำช่องท่องเที่ยว

 

เอาประเด็นแรกก่อน ถ้าเป็นเรื่องของอาชีพที่สองผมว่าดูความจำเป็น ทุกอย่างไม่จำเป็นต้องตามสิ่งรอบข้างก็ได้ บางคนอาจมาฟังแล้วคิดว่า “ทำไมฉันไม่มีอาชีพที่สอง” ทั้งๆ ที่คุณอาจมีอาชีพเดียว ภาระคุณไม่เยอะและมีเงินเก็บสำรอง เอาเวลาที่เหลือไปพักผ่อน ทำสิ่งที่ชอบ นั่นก็เป็นความสุขอย่างหนึ่งของชีวิต ไม่ได้ผิดอะไร อย่าคิดว่าคนอื่นทำ 2-3 อาชีพแล้วเราต้องทำเพราะบริบทสังคมทุกคนทำหมด มันขึ้นอยู่กับโจทย์ชีวิตเรา ถ้าจำเป็นต้องมีผมแนะนำให้หาสิ่งที่แบ่งเวลาทำแล้วไม่ทรมานเกินไป เอาอาชีพที่เราชอบจะดีเป็นพิเศษ 

 

แต่ถ้าในกรณีที่อยากมาทำแบบ Go Went Go ในยุคนี้ ข้อดีคุณมั่นใจได้เลยว่าเป็น ‘อาชีพ’ ได้ ข้อเสียคือมีคู่แข่งเยอะ ในยุคที่ผมและบล็อกเกอร์หลายคนทำ เรายังไม่รู้เลยว่าการเดินทางสามารถทำเป็นอาชีพจริงๆ ได้ไหม เราได้เปรียบเพราะเริ่มก่อน แต่ผมก็อยู่ด้วยการไม่มีรายได้มา 2-3 ปี แต่ผมทำเพราะผมชอบ แต่ตอนนี้หลายคนก็เห็นแล้วว่าเป็นอาชีพได้ ผมคงตอบไม่ได้ว่าประสบความสำเร็จหรือเปล่า แต่การได้ลองทำนั้นเสียต้นทุนเยอะไหม ผมตอบว่า ‘ไม่’ 

 

ถ้าวันนี้การเดินทางท่องเที่ยวคือแพสชันอย่างหนึ่งของคุณ คุณก็แค่ไปเที่ยวแล้วถ่ายอะไรสักอย่างที่คุณถนัด ลองมานั่งทำแล้วดูว่าคุณมีความสุขไหม แล้วลองปล่อยมันออกไป ผมคิดว่าไม่ได้หนักหนาอะไร แถมยังเป็นข้อได้เปรียบที่คุณจะเริ่มต้นลองทำและมีความฝันพอที่จะทำเป็นอาชีพได้ เริ่มได้เลย ผมคิดว่าไม่เสียหาย

 

ภาพ: ปวรุตม์ งามเอกอุดมพงศ์, Go Went Go

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X