STARK แจ้งผลความคืบหน้าทำ Special Audit หลังส่งงบการเงินปี 2565 ล่าช้า คาดการสอบทานงบการเงินจะเปิดเผยได้ภายในวันที่ 16 มิถุนายนนี้ พร้อมประกาศจ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้ 3 ชุด รวม 67.1 ล้านบาท ด้านตลาดหลักทรัพย์ฯ สั่งปลด SP ชั่วคราววันที่ 1-30 มิถุนายนนี้
วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า ชี้แจงความคืบหน้าตามที่คณะกรรมการตรวจสอบของบริษัทได้รับทราบจากหนังสือของผู้สอบบัญชีคือ บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส เอบีเอเอส (PwC) ลงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 ว่า
ผู้สอบบัญชีได้ตรวจพบพฤติการณ์อันควรสงสัยในประเด็นการดำเนินงาน และได้ปฏิบัติหน้าที่ตาม พ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ และประธานกรรมการตรวจสอบของบริษัทมีหนังสือลงวันที่ 27 มีนาคม 2566 แจ้งสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ถึงการจัดตั้งคณะทำงานภายใน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงตามประเด็นข้อสังเกตของผู้สอบบัญชี และการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเข้ามาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพิ่มเติมเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) รายละเอียดปรากฏตามสิ่งที่อ้างถึง 2 บริษัท
ทั้งนี้ ขอเรียนว่าผู้บริหารชุดปัจจุบันได้ให้ความร่วมมือและทำงานอย่างใกล้ชิดกับ PwC ในการร่วมวิเคราะห์ข้อมูลทางการเงินและบัญชีของบริษัทในการตรวจสอบบัญชีและจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 ตามแผนการดำเนินงานที่ได้ชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และ ตลท.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หุ้นกู้ STARK มูลค่า 9.2 พันล้านบาท เกิด Technical Default เหตุส่งแบบ 56-1 เกินเดดไลน์
- ก.ล.ต. สั่งการ STARK ให้ชี้แจงข้อเท็จจริงและจัดให้มีการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ
- เปิด 2 ปมร้อนที่ผู้บริหาร STARK ต้องเร่งแก้ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามมากขึ้น
อย่างไรก็ดี เนื่องจาก ตลท. จะปลดเครื่องหมายห้ามซื้อหรือขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว (SP) เป็นเวลา 1 เดือน เพื่อเปิดให้มีการซื้อ-ขายหุ้น STARK เป็นระยะเวลา 1 เดือน ระหว่างวันที่ 1-30 มิถุนายนนี้
ดังนั้นบริษัทจึงได้ประสานงานกับผู้สอบบัญชีในการเร่งสอบทานงบการเงินประจำปี 2565 เพื่อให้บริษัทสามารถเปิดเผยข้อมูลทางบัญชีเบื้องต้นแก่นักลงทุนในระหว่างที่มีการเปิดให้มีการซื้อ-ขายหลักทรัพย์เป็นการชั่วคราว ซึ่งบริษัทคาดว่าจะสามารถเปิดเผยข้อมูลดังกล่าวต่อตลาดหลักทรัพย์ได้ภายในวันที่ 16 มิถุนายนนี้
อย่างไรก็ตาม หากมีเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดความล่าช้า จนบริษัทไม่สามารถเปิดเผยข้อมูลภายในระยะเวลาข้างต้นได้ บริษัทจะดำเนินการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์โดยเร็วที่สุด
ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทจะต้องอาศัยข้อมูลจากงบการเงินประจำปี 2565 ในการจัดทำแบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี 2565 (แบบ 56-1 One Report ประจำปี 2565) บริษัทจึงไม่สามารถจัดทำและนำส่งเอกสารดังกล่าวให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. ตามระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด ผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้จึงจะจัดการประชุมผู้ถือหุ้นกู้ในวันที่ 31 พฤษภาคมนี้ เพื่อพิจารณาขอยกเว้นเหตุผิดนัดที่เกี่ยวกับการนำส่งแบบ 56-1 One Report ประจำปี 2565
อย่างไรก็ดี บริษัทรับทราบและตระหนักว่าสถานการณ์ที่ยังมีความไม่ชัดเจน ก่อให้เกิดความกังวลกับผู้ที่เกี่ยวข้อง บริษัทจึงได้ดำเนินการดังต่อไปนี้ เพื่อบรรเทาความกังวลและเรียกคืนความเชื่อมั่นของผู้ถือหุ้นกู้และผู้ลงทุน
แนวทางแก้ไข
- ให้ความร่วมมือกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ในการให้ข้อมูลที่จำเป็นกับผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อการจัดประชุมผู้ถือหุ้นกู้ นอกจากนี้บริษัทยังเตรียมการที่จะทำหนังสือชี้แจงเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทและความคืบหน้าในการดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องผ่านระบบสารสนเทศของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อให้เห็นว่าบริษัทยังคงดำเนินการที่จำเป็น เพื่อกอบกู้สถานการณ์ของบริษัทตลอดมา
- จ่ายดอกเบี้ยหุ้นกู้จำนวนทั้งสิ้น 67.1 ล้านบาท ตามกำหนดชำระในเดือนพฤษภาคม 2566 ดังนี้
- หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 2 (STARK245A) จำนวนดอกเบี้ย 15.8 ล้านบาท วันที่จ่าย 12 พฤษภาคม 2566
- หุ้นกู้ครั้งที่ 1/2565 ชุดที่ 3 (STARK255A) จำนวนดอกเบี้ย 12.9 ล้านบาท วันที่จ่าย 12 พฤษภาคม 2566
- หุ้นกู้ครั้งที่ 2/2565 (STARK242A) จำนวนดอกเบี้ย 38.4 ล้านบาท วันที่จ่าย 17 พฤษภาคม 2566
- จัดตั้งสายด่วน (Hotline) เพื่อเพิ่มช่องทางในการให้ข้อมูล กระจายข้อมูล และชี้แจงข้อเท็จจริง เกี่ยวกับสถานการณ์บริษัท โดยบริษัทได้จัดตั้งทีมงานสื่อสารขึ้นใหม่เป็นการเฉพาะ ให้ทำงานร่วมกับฝ่ายนักลงทุนสัมพันธ์ (Investor Relations) เพื่อรวบรวมคำถาม จัดเตรียม และนำส่งข้อมูลคำตอบที่ถูกต้องให้แก่ผู้ถือหุ้นกู้และผู้ลงทุน เพื่อให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับสถานการณ์ของบริษัทอย่างถูกต้อง
- เร่งดำเนินการการจัดทำงบการเงินประจำปี 2565 เพื่อนำข้อมูลมาจัดทำ
-
- แบบแสดงรายงานข้อมูลประจำปี 2565 (แบบ 56-1 One Report ประจำปี 2565
- งบการเงินงวดไตรมาสที่ 1 ปี 2566 โดยเร็วที่สุด เพื่อลดผลกระทบแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย
ตรวจพบธุรกรรมที่อาจมีความผิดปกติ
โดยผู้สอบบัญชีตามที่สำนักงาน ก.ล.ต. ขอให้บริษัทชี้แจงประเด็นที่ผู้สอบบัญชีตั้งเป็นข้อสังเกตเกี่ยวกับเรื่องที่มีนัยสำคัญ และเป็นเหตุบ่งชี้ที่อาจแสดงได้ว่ามีการกระทำที่เข้าข่ายเป็นการทุจริตหรือทำให้บริษัทได้รับเสียหายเกิดขึ้นนั้น
บริษัทขอเรียนให้ทราบว่า บริษัทได้แต่งตั้งผู้บริหารชุดใหม่เข้ามาทำหน้าที่ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินและฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และปรับปรุงระบบการควบคุมภายในให้รัดกุมยิ่งขึ้น เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการและป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท
และในส่วนของการดำเนินการโดยผู้เชี่ยวชาญนั้น ผู้สอบบัญชีและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกำลังดำเนินการตรวจสอบรายละเอียดในเชิงลึก เพื่อตรวจสอบธุรกรรมทางการเงิน ข้อมูลทางบัญชี รายการเดินบัญชี เส้นทางการเงิน และจำนวนเงินที่เกี่ยวข้อง โดยบริษัทจะชี้แจงข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติมให้กับสำนักงาน ก.ล.ต. โดยไม่ชักช้าเมื่อได้รับข้อมูลที่ตรวจสอบเป็นที่แน่ชัดแล้วจากผู้สอบบัญชีและผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องจากการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit)
ทั้งนี้ คณะกรรมการและผู้บริหารชุดปัจจุบันต่างมิได้นิ่งนอนใจกับความเสี่ยงที่เกิดขึ้น และพร้อมที่จะดำเนินการใดๆ ที่จำเป็น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัท ผู้ถือหุ้น และผู้มีส่วนได้เสียทุกราย ตามขั้นตอนและกระบวนการที่เหมาะสม ภายใต้กฎเกณฑ์และกฎหมายที่เกี่ยวข้องจนถึงที่สุด เพื่อบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว
การใช้เงินจากการออกหุ้นกู้ทั้ง 3 ชุด
เนื่องจากผู้บริหารที่แต่งตั้งขึ้นใหม่เพิ่งเข้ามาปฏิบัติหน้าที่แทนกลุ่มเดิมได้เพียง 1 เดือน ได้ใช้ความพยายามในการตรวจสอบข้อเท็จจริงและเอกสาร เพื่อหาข้อมูลต่างๆ เบื้องต้นบริษัทพบว่า ได้มีการนำเงินส่วนหนึ่งไปใช้จ่ายในด้านต่างๆ ของบริษัท รวมถึงชำระสินเชื่อธนาคารหรือบริษัทในกลุ่มชำระคืนหุ้นกู้ของบริษัทย่อย ชำระคืนตั๋วแลกเงิน รวมถึงการใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนเพื่อการขยายธุรกิจ และ/หรือ การลงทุนของกลุ่มบริษัท
แต่เนื่องจากการตรวจสอบบัญชียังไม่แล้วเสร็จ บริษัทจึงยังไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วนสมบูรณ์ เมื่อผู้สอบบัญชียืนยันความถูกต้องของรายการบัญชีเงินสดเรียบร้อยแล้ว จะชี้แจงสถานะของเงินคงเหลือในส่วนนี้ให้สำนักงาน ก.ล.ต. ทราบเพิ่มเติมโดยเร็ว
การใช้เงินจากการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน PP จำนวน 5,580 ล้านบาท
ตามที่บริษัทได้เสนอขายหุ้นเพิ่มทุนให้แก่บุคคลในวงจำกัดจำนวน (PP) จำนวน 5,580 ล้านบาทเมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2565 เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนเพื่อซื้อหุ้นใน LEONI Kabel GmbH เมื่อบริษัทได้บอกเลิกสัญญาซื้อ-ขายหุ้นกับ LEONI AG และ LEONI Bordnetz-Systeme GmbH บริษัทจึงไม่ได้ใช้เงินเพิ่มทุนเข้าทำธุรกรรมดังกล่าว และอยู่ระหว่างดำเนินการปลี่ยนแปลงวัตถุประสงค์ของการใช้เงินเพิ่มทุนให้เหมาะสม
อนึ่ง เนื่องจากการตรวจสอบบัญชีโดยผู้สอบบัญชียังไม่แล้วเสร็จ บริษัทจึงขอชี้แจงข้อมูลในส่วนนี้เพิ่มเติมเมื่อผู้สอบบัญชียืนยันความถูกต้องของรายการบัญชีเงินสดของบริษัทเรียบร้อยแล้ว
นอกเหนือจากประเด็นที่ได้ชี้แจงข้างต้น บริษัทรับทราบถึงข้อสังเกตของสำนักงาน ก.ล.ต. เกี่ยวกับขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันว่า หากการตรวจสอบดังกล่าวครอบคลุมเฉพาะธุรกรรมที่อาจมีความผิดปกติ (เช่น การบันทึกยอดขายและลูกหนี้การค้า การจ่ายเงินล่วงหน้าค่าสินค้า และการจัดการสินค้าคงเหลือ) และตรวจสอบเฉพาะบริษัทย่อยรายบริษัท เฟ้ลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จำกัด อาจส่งผลให้ได้รับข้อเท็จจริงไม่เพียงพอที่จะสามารถสรุปผลกระทบต่อความถูกต้องของข้อมูลในงบการเงิน
บริษัทอยู่ระหว่างการดำเนินการว่าจ้างผู้สอบบัญชีที่สังกัดสำนักงานสอบบัญชีหนึ่งในสำนักงานสอบบัญชีขนาดใหญ่ (Big 4) เพื่อมาตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) เพื่อขยายขอบเขตการตรวจสอบเป็นกรณีพิเศษ (Special Audit) ให้ครอบคลุมธุรกรรมการขาย ลูกหนี้ การรับชำระหนี้ของบริษัทย่อยทุกแห่งในช่วงระหว่างปี 2564-2565 การเปรียบเทียบรายการเคลื่อนไหวของเงินในบัญชีธนาคาร (Bank Statement) กับรายการรับจ่ายเงินที่บันทึกอยู่ในบัญชี (General Ledger) ในช่วงระหว่างปี 2564 – เดือนเมษายน 2566
และขยายการตรวจสอบไปยังธุรกรรมหรือบัญชีอื่น ตลอดจนรวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้ในการชี้แจงต่อสำนักงาน ก.ล.ต. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
ทั้งนี้ บริษัทจะแจ้งให้ทราบความคืบหน้าภายในวันที่ 15 มิถุนายนนี้ ตามที่ ก.ล.ต. กำหนด