×

เปิด 2 ปมร้อนที่ผู้บริหาร STARK ต้องเร่งแก้ ก่อนที่ปัญหาจะลุกลามมากขึ้น

25.04.2023
  • LOADING...
สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น STARK

จากกรณีที่ บมจ.สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น (STARK) ไม่สามารถส่งงบการเงินประจำปี 2565 ได้ทันตามกำหนดคือภายใน 28 กุมภาพันธ์ 2566 จนส่งผลให้หุ้น STARK ถูกพักการซื้อขายเป็นการชั่วคราว (SP) ล่าสุดปัญหาที่เกิดขึ้นยังคงค้างคาอยู่ ท่ามกลางความสงสัยของผู้ลงทุนว่าแท้จริงแล้วเกิดอะไรขึ้นภายในบริษัท?

 

หนึ่งในกุญแจดอกสำคัญที่จะไขข้อสงสัยคือตัวเลขงบการเงินที่บริษัทต้องเร่งจัดทำให้แล้วเสร็จ หลังจากที่ขอเลื่อนการส่งงบการเงินมาแล้ว 2 ครั้งก่อนหน้านี้ 

 

ระหว่างการสะสางปัญหาที่เกิดขึ้น STARK จำเป็นจะต้องพยายามควบคุมความเสียหายไม่ให้ลุกลามไปกว่านี้ด้วยเช่นกัน โดยเงื่อนไข 2 ส่วนที่ STARK ต้องบริหารจัดการให้ผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ได้แก่ 

 

  1. การสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ถือหุ้นกู้ เพื่อขออนุมัติยกเว้นเหตุผิดนัดชำระ (Default) ที่เกิดจากการส่งงบล่าช้า 

 

และ 2. การส่งงบการเงินปี 2565 ให้ทันภายใน 6 เดือน หลังจากวันครบกำหนดส่งงบตามเกณฑ์ปกติ

 

สำหรับกรณีแรก หากผู้ถือหุ้นกู้ของ STARK ไม่อนุมัติยกเว้นเหตุผิดนัดชำระหนี้ที่เกิดจากการส่งงบล่าช้า จะทำให้หุ้นกู้ของ STARK ทั้ง 5 ชุด รวมมูลค่าเกือบ 9.2 พันล้านบาท กลายเป็นการผิดนัดชำระไปทั้งหมด 

 

ภาดล วรรณรัตน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า แม้ STARK จะยังไม่เคยผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ยหุ้นกู้มาก่อน และแม้จะยังไม่ถึงวันครบกำหนดไถ่ถอนของหุ้นกู้ แต่หากบริษัทไม่สามารถส่งงบการเงินได้ จะถือเป็นเงื่อนไขหนึ่งของการผิดนัดชำระหุ้นกู้

 

“ถ้าผู้ถือหุ้นกู้เกิดไม่อนุมัติยกเว้นเหตุผิดนัดชำระในการประชุมวันที่ 28 เมษายนนี้ จะทำให้หุ้นกู้ของ STARK เกิด Default ทั้งหมด และหากเป็นเช่นนี้เจ้าหนี้อย่างแบงก์ต่างๆ จะเข้ามาเคลมสิทธิ์ตามหลักประกันที่มี ซึ่งจะทำให้เรื่องราววุ่นวายมากขึ้น” 

 

ส่วนกรณีที่สอง หาก STARK ไม่สามารถที่จะส่งงบการเงินได้ทันภายใน 6 เดือนหลังจากที่ล่าช้ามาจากปกติแล้ว ความเสี่ยงที่ผู้ถือหุ้นต้องเผชิญคือ หุ้น STARK อาจเข้าข่ายถูกเพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ 

 

ภาดลกล่าวว่า “หาก STARK ไม่สามารถส่งงบได้ตามกำหนดหลังจากล่าช้าไปแล้ว จะทำให้หุ้นมีความเสี่ยงถูกเพิกถอน ซึ่งหากเป็นเช่นนั้นจะกระทบต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยค่อนข้างมาก โดยเฉพาะเมื่อหุ้นถูกเปิดกลับมาให้ซื้อขายเพื่อหนีตายได้ในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ก่อนจะถูกสั่งพักการซื้อขายไม่มีกำหนด แต่ส่วนตัวยังมองว่าบริษัทน่าจะส่งงบได้ตามที่แจ้งไว้คือช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน” 

 

อย่างไรก็ตาม ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากกรณีของ STARK ยังประเมินได้ยาก “ต้องรอให้บริษัทรายงานงบออกมาก่อน จึงจะสามารถประเมินได้ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร และจะต้องดำเนินการอย่างไรต่อไป” 

 

นอกจากนี้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับ STARK ยังได้ส่งผลกระทบไปยังหุ้นอย่าง บมจ.สีเดลต้า (DPAINT) ในความเห็นของภาดลซึ่งมองว่าการไหลลงของราคาหุ้น DPAINT ส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ราคาลดลงต่ำกว่า 6.90 บาท ทำจุดต่ำสุดใหม่ (New Low) จนทำให้เกิดแรงขายตามมาอีก ขณะเดียวกันก็อาจเป็นผลจากการที่นักลงทุนในตลาดกังวล เนื่องจากผู้ถือหุ้นใหญ่ของ DPAINT และ STARK เป็นตระกูลตั้งคารวคุณเช่นเดียวกัน 

 

อย่างไรก็ตาม ในมุมของปัจจัยพื้นฐานของหุ้น DPAINT ซึ่งลดลงมาจนระดับ P/E อยู่ที่ 15 เท่า ต่ำกว่าหุ้นกลุ่มสีในภูมิภาคที่ซื้อขายใน P/E ระดับ 25-30 เท่า และต่ำกว่าระดับ P/E ของหุ้น บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (TOA) ซึ่งมี P/E 26 เท่า 

 

“จริงๆ แล้วผู้ถือหุ้นใหญ่ตระกูลตั้งคารวคุณของ DPAINT กับ STARK เป็นเพียงญาติกัน แต่แยกทำธุรกิจกันชัดเจน และไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกันโดยตรงในทางธุรกิจ” 

 

ทั้งนี้ สำหรับผู้ที่ยังถือหุ้น DPAINT อยู่ในเวลานี้ อาจสายเกินไปที่จะยอมขายตัดขาดทุน และในเชิงพื้นฐานเป็นจุดที่น่าจะเข้าซื้อได้แล้ว เพียงแต่ตลาดหุ้นไทยในเวลานี้เคลื่อนไหวด้วยเทคนิคัลและจิตวิทยาเป็นหลัก ฉะนั้นอาจรอให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหวออกข้างก่อน และเริ่มสะท้อนว่าแรงขายลดลงจากราคาที่เริ่มฟื้นตัวได้

 

“ซื้อ (DPAINT) ตรงนี้อาจได้ราคาถูก แต่เราไม่รู้ว่ามันจะลงต่อหรือไม่ แต่ถ้ารอให้เห็นการฟื้นตัวของราคาได้บ้าง อาจเป็นสัญญาณว่าแรงขายเริ่มน้อยลงไปมาก”

 


ข่าวที่เกี่ยวข้อง


 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising