จัดตั้งรัฐบาลช้าไม่ใช่เรื่องน่ากังวลต่อการลงทุนอุตสาหกรรม เพราะไทม์ไลน์ชัดเจน กนอ. มั่นใจ นักลงทุนมองข้ามช็อตเปลี่ยนขั้วรัฐบาล ขณะที่ บี.กริม ไม่กังวลต่อสถานการณ์ปัจจุบัน ระบุต่างชาติมองนักธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างเป็นมิตร ด้าน WHA ลุ้นหน้าตารัฐบาลใหม่ เพราะต้องรับโจทย์หินด้านเศรษฐกิจที่ท้าทายสูง พร้อมประเมินนโยบายขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น ‘ทำได้’ และนักลงทุนต่างชาติยินดีจ่าย หากแรงงานพัฒนาและมีคุณภาพทักษะงานที่ดี
ความเคลื่อนไหว MOU จัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลในวันนี้ (22 พฤษภาคม) กำลังเป็นที่จับตาจากบรรดานักลงทุนตลาดหุ้นไทย หลังดัชนีหุ้นไทยในภาคเช้าร่วงลงต่อเนื่องและเคลื่อนไหวในแดนลบ โดยลดลงต่ำสุดในช่วงเช้าถึง 23 จุด ดัชนีหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,500 จุด เป็นครั้งแรกในรอบ 2 ปี แต่กว่าจะไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล ระหว่างนี้อาจส่งผลต่อบรรยากาศการลงทุนสะเทือนเป็นระยะ และต้องเกาะติดอย่างต่อเนื่อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ปตท. ฝากรัฐบาลใหม่ที่กำลังจะเข้ามาบริหารประเทศ ดูแล ‘ต้นทุนพลังงาน’ ทั้งราคาค่าไฟฟ้าและน้ำมันให้เหมาะสม
- สแกนนโยบายพลังงานว่าที่รัฐบาลใหม่ เมื่อการรื้อสัญญาเอกชนทำยาก แต่การลดค่าไฟ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นไปไม่ได้
- เปิดภาพฝันอุตสาหกรรมใหม่ของไทย หากก้าวไกลประสบความสำเร็จในการจัดตั้งรัฐบาล
นักลงทุนมองข้ามเปลี่ยนขั้วการเมือง ดัน New Business โตไม่หยุด
วีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวในงานเปิดตัวตราสัญลักษณ์รอง I-EA-T Elevation ว่า การลงทุนขณะนี้ เพียงครึ่งแรกของปีงบประมาณ 2566 พบว่า ยอดเช่า / ขายในนิคมอุตสาหกรรมมี 3,458 ไร่ เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เทียบกับปี 2565 ทั้งปีมียอดเช่า / ขายรวม 2,016 ไร่ ซึ่งขณะนี้ กนอ. ยังอยู่ระหว่างพิจารณาอนุญาตโครงการลงทุนในนิคมต่างๆ อีก 17 นิคม ทำให้มั่นใจว่าแนวโน้มการลงทุนครึ่งหลังของปีนี้จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตลอดทั้งปี โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) อุปกรณ์ไฟฟ้า / อิเล็กทรอนิกส์
สำหรับสถานการณ์การเมืองขณะนี้ แม้อยู่ในช่วงเปลี่ยนแปลง แต่เชื่อว่าจะไม่ส่งผลกระทบต่อการลงทุนระยะยาว เห็นได้จากตลอดระยะเวลา 10 กว่าปีที่ผ่านมา เกิดเหตุการณ์ทางการเมืองต่างๆ แต่การลงทุนในภาคอุตสาหกรรมของไทยยังมีเสถียรภาพและมีความแข็งแกร่ง เดินหน้าต่อเนื่อง โดยเฉพาะการเปลี่ยนผ่านของการเมืองในประเทศ ขณะนี้ได้กำหนดการในแต่ละช่วงเวลาแต่ละขั้นตอนชัดเจนแล้ว
“การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองไม่ได้ส่งผลต่อการลงทุนในภาคอุตสาหกรรมมากนัก ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา แม้จะมีความไม่สงบทางการเมืองใดๆ หรือโรคระบาด อุทกภัย แต่ภาคอุตสาหกรรมยังเดินหน้าได้ต่อเนื่อง และจากการโรดโชว์ พูดคุยกับนักลงทุนหลายประเทศ พบว่ายังให้ความเชื่อมั่นกับประเทศไทยมาก เข้าใจการเมืองของไทย แม้จะมีความกังวลบ้างเกี่ยวกับนโยบายใหม่ๆ ที่ออกมา แต่เชื่อว่าทุกการเปลี่ยนแปลงล้วนต้องใช้ระยะเวลา”
ส่วนข้อกังวลหากจัดตั้งรัฐบาลช้าจะมีผลต่อเศรษฐกิจหรือไม่นั้น เขาย้ำว่า “ไม่ใช่เรื่องน่ากังวล เพราะไทม์ไลน์การจัดตั้งรัฐบาลชัดเจนอยู่แล้ว”
ลุ้นหน้าตารัฐมนตรีว่าที่รัฐบาลใหม่ที่ต้องเข้ามารับโจทย์หินเศรษฐกิจ
ด้าน จรีพร จารุกรสกุล รองประธานคณะกรรมการ ประธานคณะกรรมการบริหาร และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (WHA) กล่าวว่า ประเทศเพื่อนบ้านของไทยนั้นก็มีศักยภาพพอที่จะดึงการลงทุนจากต่างประเทศไปได้ แต่ไทยนั้นมีจุดแข็งโดยเฉพาะเรื่องของโลเคชัน ควรนำมาใช้เพื่อแย่งชิงเบอร์ 1 ให้ได้ และดึงดูดการลงทุนเข้ามาในช่วงที่เกิดการเคลื่อนย้ายเงินทุนจากสงครามการค้า โควิด และวิกฤตรัสเซีย-ยูเครน โดยไทยจะต้องเร่งเดินหน้าเรื่องการวิจัยและพัฒนา รวมถึงการสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี และการเดินหน้าแลนด์บริดจ์ เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงการขนส่งไปยังประเทศอื่นๆ และดึงวัตถุดิบจากต่างประเทศให้เกิดการผลิตขึ้นในประเทศไทย
“ทุกวันนี้กลุ่มลงทุนไม่ใช่มีเพียงประเทศจีน แต่ยังมีประเทศอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งประเทศไทยต้องเตรียมพื้นที่ให้พร้อมในการเป็นโลเคชันที่เหมาะกับการลงทุน อย่าให้อุปสรรคบางเรื่องมาจำกัดให้ประเทศไทยไปต่อไม่ได้”
จรีพรมองการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ขณะนี้ว่าน่าจับตามอง มีความน่าสนใจ และน่าตื่นเต้นว่าคณะรัฐมนตรีจะหน้าตาเป็นอย่างไร เนื่องจากมีโจทย์ทางเศรษฐกิจที่ต้องเข้ามาดูแลจำนวนมาก และน่าติดตามว่าจะเข้ามาดูแลเศรษฐกิจในช่วงนี้ด้วยวิธีไหน อย่างไร
ส่วนความกังวลนโยบายด้านแรงงานต่อการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ‘อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ’ สิ่งสำคัญอยู่ที่จะทำอย่างไรให้แรงงานนั้นมีค่าตัวที่คุ้มค่า ซึ่งนักลงทุนต่างชาติก็ยินดีจ่าย ถ้าหากคุณภาพแรงงานมีการพัฒนาและมีทักษะการทำงานที่ดีขึ้น หากถึงจุดนั้นแล้วการขึ้นค่าแรงก็ไม่ใช่ปัญหาของเอกชน
“ปัจจุบันโลกเปลี่ยนเร็วมาก ทุกคนกำลังพูดถึงการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในอุตสาหกรรมหรือบริการของตัวเอง แต่หากมองถึงคู่แข่งของไทยอย่างเวียดนาม ตอนนี้ไทยก็ถือว่าได้แต้มต่อ เพราะขณะนี้เวียดนามกำลังเป็นช่วงเปลี่ยนประธานาธิบดี และก็มีเหตุการณ์หลายเรื่องต้องจัดการ เป็นการเคลียร์ปัญหาในบ้านก่อน ไทยเองก็จะมีโอกาสในช่วงนี้ที่จะสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนได้เต็มที่” จรีพรกล่าว
ต่างชาติมองนักธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศอย่างเป็นมิตร
ทางด้าน ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) (B.Grimm) กล่าวว่า ในสายตาต่างชาติมองนักธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศเป็นมิตร ไม่น่ากลัว จะไม่โดนหักหลัง มีความประนีประนอมสูง ซึ่งในปีนี้บริษัทยังคงเดินหน้าลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยตั้งเป้าเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้า 10,000 เมกะวัตต์ในปี 2573 จากปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้ากว่า 3,300 เมกะวัตต์ ใช้เงินรวม 425,400 ล้านบาท เน้นการลงทุนพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก
“เราไม่มีความกังวลเรื่องการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ต้องรอให้ กกต. ประกาศทุกอย่างให้ชัดเจนก่อน บริษัทเราอยู่มา 145 ปี เราทำงานกับรัฐบาลไหนก็ได้ เราลงทุนปีละกว่า 200,000 ล้านบาท เรารักประเทศไทยมากๆ และจะเดินหน้าลงทุนตามแผนที่วางไว้อยู่แล้ว” ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าว
ขณะที่ วิกรม กรมดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานกรรมการ บริษัท อมตะ คอร์ปอเรชัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) ของไทยมีมูลค่าเป็นอันดับสองของอาเซียนที่มี 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ รองจากอินโดนีเซีย ขณะที่โครงสร้างไทยเป็นประเทศที่ใช้แรงงานภาคเกษตรสูง แต่ทำรายได้ไม่มาก ดังนั้นไทยต้องเร่งนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มมูลค่าให้กับเกษตรกรรมให้มีสัดส่วนรายได้ที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมควบคู่กันไป เพื่อที่จะผลักดัน GDP ของประเทศให้เติบโตมากยิ่งขึ้น