ค่าเงินบาทเปิดวันนี้ (16 พฤษภาคม) ที่ระดับ 33.74 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.79 บาทต่อดอลลาร์ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐอเมริกา (US Debt Ceiling)
พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ผู้เล่นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงไม่กล้าเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการเจรจาขยายเพดานหนี้สหรัฐฯ ขณะเดียวกันรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุดอย่างดัชนีภาคการผลิต (NY Empire State Manufacturing Index) เดือนพฤษภาคมก็ดิ่งลงสู่ระดับ -31.8 จุด แย่กว่าคาดและยังคงสะท้อนภาวะหดตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการผลิต ส่งผลให้เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก
โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ได้ปรับตัวลดลงต่ำกว่าระดับ 102.5 จุด กดดันโดยรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ออกมาแย่กว่าคาด รวมถึงความกังวลต่อปัญหาการเจรจาขยายเพดานหนี้ อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอได้แรงหนุนอยู่บ้าง จากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ที่ต่างออกมาปฏิเสธการลดดอกเบี้ยในช่วงปลายปี ตามที่ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้
ส่วนในฝั่งราคาทองคำ แม้ว่าเงินดอลลาร์จะอ่อนค่าลงบ้าง ทว่าท่าทีของบรรดาเจ้าหน้าที่ Fed ที่ยังคงสนับสนุนการคงนโยบายการเงินที่เข้มงวดและตึงตัวของ Fed ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่กดดันให้ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือนมิถุนายน) ยังคงไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ก่อนที่ราคาทองคำจะย่อตัวลงสู่ระดับ 2,020 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นโซนแนวรับอีกครั้ง
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท ในช่วงคืนที่ผ่านมาเคลื่อนไหวผันผวนไปตามทิศทางเงินดอลลาร์และโฟลวธุรกรรมที่เกี่ยวกับทองคำ โดยเงินบาทมีจังหวะอ่อนค่าลงบ้างตามโฟลวซื้อทองคำในจังหวะย่อตัว ก่อนที่จะพลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นบ้างตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์
แม้ว่าเงินบาทจะมีทิศทางแข็งค่าขึ้นจากสัปดาห์ก่อนหน้า หลังตลาดรับรู้ผลการเลือกตั้ง แต่จะเห็นได้ว่าความไม่แน่นอนของการจัดตั้งรัฐบาลผสม ทำให้ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลต่อปัญหาการเมือง ซึ่งเรามองว่าประเด็นดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดบางส่วนรอทยอยขายทำกำไรสถานะ Long THB (มองเงินบาทแข็งค่าขึ้น) และจะเป็นปัจจัยที่ทำให้เงินบาทอาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากจนทะลุแนวรับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ที่เราประเมินไว้ นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้กลับเข้ามาซื้อสุทธิหุ้นไทยอย่างที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้า สะท้อนถึงความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์หลังการเลือกตั้งของไทย
อย่างไรก็ดี ควรระวังความผันผวนของเงินบาทในช่วงตลาดทยอยรับรู้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ และประเด็นการเจรจาขยายเพดานหนี้ของสหรัฐฯ ซึ่งอาจเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงได้บ้าง
พูนระบุว่า ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูงจากทั้งปัจจัยการเมืองสหรัฐฯ (ประเด็นขยายเพดานหนี้) และการเมืองไทย ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยมองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.65-33.90 บาทต่อดอลลาร์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ‘เงินบาทแข็งค่า’ ทำจุดสูงสุดใหม่รอบ 10 เดือน เก็ง Fed ยุติขึ้นดอกเบี้ย ฉุดดอลลาร์อ่อน กรุงศรีมองกรอบเงินบาทปีนี้ 32-33 บาท
- ‘เงินบาท’ แข็งค่าสุดในรอบกว่า 10 เดือน คาด Fed ลดความแข็งกร้าวขึ้นดอกเบี้ย หลังเงินเฟ้อสหรัฐฯ ลดลงครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
- ว่าด้วย ค่าเงินบาท เดือนมกราคม ปีกระต่าย