วันนี้ (25 เมษายน) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE STANDARD DEBATE: เลือกตั้ง 66 ENDGAME เกมที่แพ้ไม่ได้ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป โดยมีตัวแทน 10 พรรคการเมือง ร่วมประชันวิสัยทัศน์
สำหรับ Round 2 : The Grand Battle ดวลวิสัยทัศน์ตัวต่อตัว คำถามในหมวด ‘รัฐสวัสดิการ’ ว่าไทยควรมีรัฐสวัสดิการแบบยุโรปสแกนดิเนเวียหรือไม่ รูปแบบรัฐสวัสดิการแบบไทยๆ ควรเป็นอย่างไร และจะหาเงินเข้ารัฐจากไหน ในเมื่อไทยเป็นสังคมผู้สูงอายุที่ฐานภาษีเล็กลง
ในรอบนี้ กรณ์ จาติกวณิช แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคชาติพัฒนากล้า เลือกดวลวิสัยทัศน์กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ตัวแทนพรรคเพื่อไทย
โดยกรณ์ชี้ว่า พรรคชาติพัฒนากล้านั้นเป็นพรรค ‘โอกาสนิยม’ ที่เน้นเรื่องการสร้างโอกาสให้ทุกคนมีความก้าวหน้าในชีวิต ให้โอกาสทุกคนได้แข่งขันอย่างเป็นธรรม แต่ตระหนักเสมอว่าในโลกของการแข่งขันจะมีผู้ที่แข่งไม่ได้ ซึ่งผู้ที่แข่งไม่ได้ควรจะต้องมีสิทธิ์ได้รับการดูแลโดยภาครัฐ
สำหรับการเปรียบเปรยกับระบบรัฐสวัสดิการของประเทศสแกนดิเนเวีย กรณ์มองว่า “อันนั้นคือการแจกรายได้ให้กับประชาชนทุกคนโดยไม่คำนึงถึงโอกาส ความร่ำรวยหรือความสามารถในการแข่งขัน” ซึ่งเขามองว่ายังเป็น “อุดมคติที่เรายังทำไม่ได้” เนื่องจากประเทศสแกนดิเนเวียมีภาษีประมาณ 55% ของ GDP ในขณะที่ไทยมีรายได้ของรัฐเทียบกับ GDP เพียงแค่ 16-17% ซึ่งหากเราอยากไปถึงจุดนั้นเราต้องเพิ่มภาษี ซึ่งเรายังไม่พร้อม
ด้าน นพ.พรหมินทร์ให้ความเห็นประเด็นนี้ว่า ผู้ที่ต้องได้รับรัฐสวัสดิการคือคนด้อยโอกาสในสังคม แต่หากประชาชนมีรายได้เพียงพอ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องได้สวัสดิการ ซึ่งหากทุกคนมีโอกาสสร้างรายได้และเพิ่มรายได้มากขึ้นเท่าไร คนที่ต้องถูกดูแลก็น้อยลงเท่านั้น
ขณะที่คำถามว่ารัฐสวัสดิการเหมาะสมหรือไม่กับไทย นพ.พรหมินทร์มองว่าไม่ขัดข้อง เนื่องจากเป็นหน้าที่ของรัฐอยู่แล้ว แต่ไทยกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยใน 17 ปีข้างหน้า ดังนั้นหากเราจะดูแลประชาชนด้วยรัฐสวัสดิการเช่นนี้ โดยไม่มีแผน เราจะทำอย่างไร คำตอบคือการขยายให้ประชาชนสามารถสร้างรายได้ มีคุณค่า แม้แต่ผู้สูงอายุ
ทั้งนี้ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทยภักดี ได้ใช้สิทธิ์ Challenge ในประเด็นรัฐสวัสดิการ โดยให้ความเห็นว่า ทุกรัฐบาลต้องการที่จะให้กับประชาชน แต่คำถามคือจะเอาเงินมาจากไหน ซึ่งที่ผ่านมาการหาเงินมาจะเป็นการกู้ยืมโดยใช้งบประมาณแผ่นดิน
พร้อมกันนี้ นพ.วรงค์ให้ความมั่นใจว่าพรรคไทยภักดีสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศได้อย่างมั่นคง โดยมีหนึ่งในนโยบายสร้างรายได้คือการปฏิวัติโครงสร้างพลังงานสะอาดโดยใช้พืชพลังงาน รวมทั้งสร้างรายได้จากคาร์บอนเครดิต
ดังนั้นการให้สวัสดิการ เช่น สวัสดิการเด็กเกิดใหม่ การจูงใจให้สตรีมีครรภ์ การให้โอกาสเรียนฟรี การให้สิทธิรักษาพยาบาลอย่างเท่าเทียม ตลอดจนสวัสดิการผู้สูงอายุ และข้าราชการที่ถูกมองว่าเป็น ‘ช้างป่วย’ จึงสามารถทำได้
“ผมบอกพี่น้องทุกท่านเลยนะครับว่า วันที่ไทยภักดีเป็นรัฐบาล เราจะปรับเงินในการดูแลที่ท่านถูกเรียกว่าช้างป่วย ให้กลายเป็นช้างที่เข้มแข็ง” นพ.วรงค์กล่าว