กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (lMF) เปิดเผยรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) เมื่อวันที่ 11 เมษายนที่ผ่านมา โดยคาดการณ์ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้จะร่วงลงมาอยู่ที่เพียง 2.8% ลดลงจากการคาดการณ์ในเดือนมกราคมที่ 2.9% ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในช่วง 5 ปีข้างหน้าที่คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 3% ส่งผลให้การขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้ และช่วง 5 ปีข้างหน้า ทำสถิติเป็นตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในระยะกลางที่ต่ำสุดในรอบกว่า 30 ปี หรือนับตั้งแต่ปี 1990
ในส่วนของการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2024 จะเติบโตที่ 3% ซึ่งลดลงจากการคาดการณ์ก่อนหน้าที่ 3.1%
สำหรับสาเหตุหลักที่ทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวลดลง ทาง IMF ระบุว่า เป็นผลจากการที่เศรษฐกิจโลกได้รับผลกระทบจากนโยบายการเงินที่เข้มงวดเพื่อสกัดเงินเฟ้อของธนาคารกลางต่างๆ บวกกับปัญหาเสถียรภาพในภาคการเงิน การชะลอตัวของตลาดแรงงาน และปัจจัยความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งรวมถึงการที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน และการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit)
นอกจากนี้ แนวโน้มการเติบโตที่อ่อนแอยังมีส่วนจากการที่เศรษฐกิจประเทศกำลังพัฒนาอย่างจีนและเกาหลีใต้ได้เพิ่มมาตรฐานการครองชีพของตน
ด้านการเติบโตของประเทศเศรษฐกิจที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกอย่างสหรัฐอเมริกาในปี 2023 IMF คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัว 1.6% ขณะที่ยูโรโซนขยายตัว 0.8% ส่วนอังกฤษเผชิญกับภาวะหดตัวเล็กน้อยที่ 0.3%
ส่วนเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียอยู่ในสถานะที่ค่อนข้างดีกว่าฝั่งยุโรป กระนั้นก็ถือว่าเติบโตได้ชะลอตัวลงจากปีก่อนหน้า โดย IMF คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะเติบโต 5.2% ในปีนี้ ขณะที่อินเดียขยายตัว 5.9% และรัสเซียขยายตัว 0.7% หลังจากหดตัวกว่า 2% ในปี 2022
นอกจากนี้ IMF ยังคาดว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (Headline CPI) ซึ่งรวมหมวดอาหารและพลังงาน จะชะลอตัวสู่ระดับ 7% ในปีนี้ หลังจากแตะระดับ 8.7% ในปี 2022 ตามการปรับตัวลงของราคาพลังงาน รวมถึงมองว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไม่น่าจะกลับสู่ระดับเป้าหมายก่อนปี 2025
ขณะเดียวกัน IMF ยังได้แสดงความเห็นลงไปในรายงานระบุว่า เศรษฐกิจโลกในห้วงเวลานี้ไม่น่าจะกลับมาในระยะปานกลางเท่ากับอัตราการเติบโตที่เกิดขึ้นก่อนเกิดวิกฤตโควิดระบาด
ทั้งนี้ IMF อธิบายว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อโลกในปี 2022 ได้แก่ มาตรการทางการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางเพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ การจัดเตรียมกันชน หรือบัฟเฟอร์ทางการคลังเพื่อดูดซับแรงกระแทกท่ามกลางระดับหนี้ที่สูงเป็นประวัติการณ์ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งสูงขึ้น และการกระจายตัวทางภูมิเศรษฐกิจจากสงครามของรัสเซียในยูเครน และการเปิดเศรษฐกิจอีกครั้งของจีน ซึ่งแนวโน้มทั้งหมดน่าจะดำเนินต่อไปในปี 2023 ซึ่งสถานการณ์ทวีความเลวร้ายลงอีกเมื่อได้รับแรงกดดันจากความกังวลเรื่องใหม่ในด้านเสถียรภาพทางการเงิน
แม้ว่าไม่กี่วันต่อมาทางการสหรัฐฯ และยุโรปจะสามารถดำเนินการแก้ไขได้อย่างทันท่วงที จนทำให้แรงกดดันที่มีต่อภาคการเงินการธนาคารลดลงอย่างมากในช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา กระนั้นในมุมมองของ IMF เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นก็ทำให้ภาพรวมของเศรษฐกิจแย่ลง
นอกจากนี้ IMF ยังเตือนว่าความเครียดของภาคการเงินอาจขยายใหญ่ขึ้น จนทำให้เศรษฐกิจที่แท้จริงอ่อนแอท่ามกลางสภาวะทางการเงินที่ทรุดโทรมลงอย่างมาก กระทั่งบีบให้ธนาคารกลางต้องพิจารณาแนวนโยบายใหม่อีกครั้ง
ขณะเดียวกัน ความล้มเหลวของธนาคารยังชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากนโยบายการเงินที่เร่งรีบในประเทศเศรษฐกิจหลักหลายแห่ง และอัตราดอกเบี้ยที่สูงกำลังทำร้ายบริษัทและรัฐบาลของประเทศที่มีหนี้ในระดับสูง
IMF มองว่าภาวะ Hard Landing โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้ว กลายเป็นความเสี่ยงที่ผู้กำหนดนโยบายอาจเผชิญกับความยากลำบากเพื่อลดอัตราเงินเฟ้อ ขณะเดียวกันก็ต้องรักษาการเติบโตและรักษาเสถียรภาพทางการเงินไปพร้อมๆ กัน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้นำ IMF เตือนปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ ‘ความยากลำบาก’ มากขึ้น
- IMF เตือนการแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความเสียหายมากถึง 7% ของ GDP โลก
- คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้นำ IMF ชี้ การเปิดประเทศของจีนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
อ้างอิง: