กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้ออกมาเตือนว่า ความวุ่นวายด้านการธนาคารในสหรัฐอเมริกาและยุโรปเมื่อเร็วๆ นี้อาจลุกลามไปยังสถาบันที่สำคัญที่ไม่ใช่ธนาคาร เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ ทำให้การต่อสู้ของธนาคารกลางต่ออัตราเงินเฟ้อสูงซับซ้อนยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ ทีมนักเศรษฐศาสตร์ของ IMF ได้เขียนลงบนบล็อกโพสต์ ระบุว่า ความเสี่ยงด้านการธนาคาร ‘อาจทวีความรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ท่ามกลางความเข้มงวดอย่างต่อเนื่องของนโยบายการเงินทั่วโลก’ กระทั่งมีสิทธิ์ลุกลามไปยังภาคส่วนที่ไม่ใช่ธนาคาร เนื่องจากมีการเชื่อมโยงถึงกัน ยกตัวอย่างเช่น ในขณะนี้ภาคส่วนที่ไม่ใช่ธนาคารมีการถือครองสินทรัพย์ทางการเงินเกือบครึ่งหนึ่งทั่วโลก
รายงานระบุว่า ความเห็นของทีมนักเศรษฐศาสตร์ IMF ยังเกิดขึ้นควบคู่กับที่ IMF มีการเผยแพร่รายงานรายครึ่งปีเกี่ยวกับเสถียรภาพทางการเงินทั่วโลก
ทั้งนี้ ในปัจจุบัน IMF มองว่าธนาคารกลางทั้งสหรัฐฯ และยุโรปกำลังเดินอยู่บนเส้นแบ่งที่ดี โดยธนาคารเหล่านี้พยายามที่จะจัดการกับอัตราเงินเฟ้อที่สูงโดยการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยโดยไม่เพิ่มความวุ่นวายในภาคการธนาคาร ซึ่งกลายเป็นชนวนเหตุสำคัญที่ทำให้ Silicon Valley Bank ล่มสลาย
ขณะเดียวกัน IMF ยังชี้ว่า ตัวกลางทางการเงินที่ไม่ใช่ธนาคาร (NBFI) เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญและกองทุนรวมการลงทุนได้เติบโตขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2008 เมื่อหน่วยงานกำกับดูแลขยับตัวเพื่อเพิ่มความเข้มงวดในกฎระเบียบของธนาคาร โดย IMF ชี้ว่า NBFIs มีความเชื่อมโยงอย่างมากกับธนาคารแบบดั้งเดิม และสามารถกลายเป็นช่องทางที่สำคัญที่ทำให้เกิดภาวะตึงเครียดทางการเงินได้
นอกจากนี้เพื่อแก้ไขปัญหาอย่างถูกต้อง ทาง IMF กล่าวว่า ผู้กำหนดนโยบายต้องใช้เครื่องมือต่างๆ รวมถึงการเฝ้าระวังและกฎระเบียบที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น รวมถึงบังคับให้บริษัทต่างๆ แบ่งปันข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับความเสี่ยงที่พวกเขากำลังเผชิญอยู่
ด้านธนาคารกลางก็มีบทบาทสำคัญเช่นกัน โดย IMF แนะว่า ควรมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนชั่วคราวแบบกำหนดเป้าหมายสำหรับ NBFIs ที่มีความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางการเงิน และสำหรับผู้ที่ถือได้ว่ามีความสำคัญเชิงระบบ
ในวันเดียวกัน เจมี ไดมอน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ JPMorgan ซึ่งเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ออกโรงเตือนว่า วิกฤตในภาคธนาคารสหรัฐฯ ยังคงมีอยู่ และต่อให้เมื่อถึงเวลาสิ้นสุดลง มันก็จะยังคงส่งผลกระทบเป็นเวลาอีกหลายปี
ทั้งนี้ ไดมอนกล่าวว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงมีเมฆหมอกทะมึนคุกคามเศรษฐกิจเหมือนเมื่อ 1 ปีก่อน โดยระบบธนาคารในเวลานี้กำลังเผชิญกับแรงกดดันระลอกใหม่ หลังเกิดการล่มสลายของ Silicon Valley Bank และ Credit Suisse ในเดือนที่แล้ว ทำให้มีแนวโน้มมากขึ้นที่จะภาวะเกิดเศรษฐกิจถดถอย
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลกระทบจากเหตุการณ์ในครั้งนี้จะไม่เหมือนกับวิกฤตการเงินที่เคยเกิดขึ้นในปี 2008 แต่ก็ยังไม่ชัดเจนว่าวิกฤตการณ์จะสิ้นสุดลงเมื่อใด ขณะที่ตลาดการเงินเองก็อยู่ในสภาวะตึงตัวมากขึ้น เนื่องจากธนาคารและสถาบันการเงินจะใช้นโยบายที่รัดกุมมากขึ้น
ก่อนหน้านี้ไดมอนรั้งตำแหน่งผู้นำในการเจรจาร่วมกับผู้บริหารของธนาคารขนาดใหญ่ของสหรัฐฯ เกี่ยวกับมาตรการสร้างเสถียรภาพต่อ First Republic Bank ด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินในรูปเงินฝากจำนวน 3 หมื่นล้านดอลลาร์ ในการเสริมสภาพคล่องของทางธนาคารเพื่อสกัดวิกฤตธนาคารไม่ให้ลุกลามออกไปหลังการล้มละลายของ Silicon Valley Bank
ไดมอนย้ำว่า ความเสี่ยงหลายอย่าง รวมทั้งการเดินหน้าขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วในปีที่แล้ว จะส่งผลกระทบต่อมูลค่าของสินทรัพย์บางประเภทที่ปกติจะถือครองโดยธนาคารนั้นๆ พร้อมแนะให้มีการพิจารณาการเพิ่มขึ้นของอัตราการทดสอบที่ออกแบบมาเพื่อทดสอบเสถียรภาพของธนาคาร (Stress Test)
ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ และคนอื่นๆ เรียกร้องให้มีกฎระเบียบที่เข้มงวดมากขึ้นสำหรับธนาคาร ทางด้านไดมอนเตือนว่า อย่าตอบโต้หรือเคลื่อนไหวต่อสถานการณ์มากจนเกินไปจนกลายเป็นการเพิ่มภาระต่อภาคการเงินการธนาคารเกินความจำเป็น
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ผู้นำ IMF เตือนปี 2023 เศรษฐกิจโลกจะเผชิญกับ ‘ความยากลำบาก’ มากขึ้น
- IMF เตือนการแยกส่วนของเศรษฐกิจโลก อาจสร้างความเสียหายมากถึง 7% ของ GDP โลก
- คริสตาลินา จอร์เจียวา ผู้นำ IMF ชี้ การเปิดประเทศของจีนจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโลกในปีนี้
อ้างอิง: