ด้วยสภาวะกดดันของโลกที่เปลี่ยนแปลง ส่งผลให้ผู้คนเองก็ต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขันและเอาตัวรอด ความพยายามที่มากมายภายใต้แรงกดดันอาจส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมและอารมณ์ หลายคนที่เคยสดชื่นแจ่มใสในการทำงานอาจกลายเป็นคนหงุดหงิดง่าย ใช้อารมณ์ พูดจาสั้นห้วน ออกคำสั่งมากกว่าร้องขอความช่วยเหลือ ระมัดระวังท่าทีน้อยลง ทั้งยังสนใจความรู้สึกของคนอื่นน้อยลง ทำให้กระทบความสัมพันธ์ การทำงาน และการใช้ชีวิต
หลายคนอาจเรียกเขาเหล่านี้ว่า ‘คน Toxic’ แต่หากได้เข้าใจที่มาของสิ่งที่เขาเผชิญ เราอาจมีมุมมองต่อบุคคลเหล่านั้นในแบบที่เปลี่ยนไปได้ว่าแท้จริงแล้วเขาอาจไม่ได้ Toxic จนเป็นนิสัย แต่ภายใต้ความกดดันเขาเองก็กำลังปกป้องตัวเองอย่างมากเกินไปและไม่รู้ตัว
และแม้เราจะสามารถเข้าอกเข้าใจที่มาของอารมณ์หรือการกระทำนั้นได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าเราต้องอดทนและยอมรับทุกอย่างที่เขาทำให้กระทบกับอารมณ์ของเรา เพราะหากเราเองอยู่กับคนที่สร้างความ Toxic ที่สื่อสารอย่างไม่ระมัดระวัง และบรรยากาศในบ้านหรือสถานที่ทำงานที่ขาดความเห็นอกเห็นใจต่อเนื่องเป็นระยะเวลานาน อาจส่งผลให้เรามีปัญหาทางอารมณ์ ทั้งยังอาจส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานได้อีกด้วย
ในส่วนขององค์กรเอง หากเริ่มมีบุคคลที่แสดงออกแบบ Toxic ย่อมส่งผลต่อความสัมพันธ์ของผู้คน ส่งผลต่อการทำงานเป็นทีม กระทบกับระบบบริหารงานบุคคล และอาจส่งต่อความ Toxic นี้ถึงกันและกันโดยไม่รู้ตัว
ทำอย่างไรเมื่อต้องมีปฏิสัมพันธ์กับคน Toxic ที่รบกวนใจ
- ควบคุมอารมณ์ เป็นสิ่งที่พูดง่ายแต่ทำยากมาก เพราะสมองส่วนอารมณ์สามารถตอบสนองต่อสถานการณ์ได้อย่างรวดเร็วตามสัญชาตญาณ เราอาจเสียงดังกลับเมื่อคิดว่าเขาพูดไม่ดีใส่เรา เขาไม่ยุติธรรม ในขณะที่ร่างกายเกิดความเปลี่ยนแปลงมากมาย ลมหายใจที่เร็วและแรง ใจที่สั่น การเคลื่อนไหวแบบว่องไว ดังนั้นการควบคุมอารมณ์จึงไม่ใช่การกดอารมณ์ เพราะการกระทำดังกล่าวผิดธรรมชาติของสมอง แต่เป็นการค่อยๆ ปรับในสิ่งที่สามารถจับต้องได้ให้ผ่อนคลาย โดยการปรับการเคลื่อนไหวไม่ให้เร็วหรือกดจนหยุดชะงัก ไปพร้อมๆ กับการฝึกหายใจให้เป็นทิศทาง อาทิ หายใจเข้าทางจมูกและออกทางปาก โดยการควบคุมอารมณ์ไม่ใช่การยอมแพ้แต่เป็นการลดแรงกระทบ ทั้งยังเป็นการลดการซึมซับเอาพฤติกรรม Toxic ของเขามาเป็นของเรา
- ฟังจนจบ เปิดโอกาสให้อีกฝ่ายแสดงความคิดเห็นของตนจนจบ ไม่ตัดบท ไม่รีบเร่งที่จะสรุปใจความแทน เพราะเราอาจมีความคิดอคติจากประสบการณ์เดิมที่เคยจำว่า ‘คนนี้พูดไม่ดี’ หรือ ‘คนนี้ไม่ยุติธรรม’ เพราะการพูดคุยในแต่ละครั้งอาจมีบางอย่างเปลี่ยนแปลง อาจใช้คำถามเพิ่มเติมตามความสงสัยด้วยท่าทีที่สงบ กลั่นเอาเนื้อหาของการสื่อสารเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในงานต่อไป แต่หากรู้ตัวว่าอารมณ์ยังไม่พร้อมที่จะพูดคุยต่อเนื่องควรปฏิเสธด้วยท่าทางกลางๆ เพื่อลดการต่อความและปะทะคารม
- รอจนอารมณ์ลบผ่อนคลาย และเล่าระบายกับเพื่อนผู้ร่วมทุกข์ที่พบเจอสถานการณ์เดียวกับเรา โดยการระบายออกแบบนี้มีข้อดีที่นอกจากช่วยให้เราได้ระบายความรู้สึกที่คั่งค้างออกมาเป็นคำพูดแล้ว ยังช่วยให้เห็นตามความเป็นจริงว่าเราไม่ได้ประสบกับทุกข์นี้เพียงลำพัง แต่ข้อควรระวังคือ การระบายความรู้สึกเป็นการแสดงความรับผิดชอบต่อความคิดและความรู้สึกของตนเอง ประโยคส่วนใหญ่จึงใช้การพูดเกี่ยวกับความรู้สึกของตนเองที่ได้รับผลมาจาก ‘การกระทำ’ โดยพยายามระมัดระวังการพูดถึง ‘บุคคลผู้นั้น’ ด้วยการตัดสิน เช่น ‘นิสัยไม่ดี’ หรือ ‘ไม่ควรเป็นหัวหน้า’ เพราะหากกระทำแบบนั้นเป็นการนินทา ซึ่งเป็นการสื่อสารที่ก่อให้วงจรของบรรยากาศทางอารมณ์ยิ่งจมอยู่ในเรื่องราวน่าทุกข์ใจ
- ความโกรธเป็นอารมณ์ตามธรรมชาติ แต่ความคับแค้นใจทำให้เราก้าวออกจากเรื่องทุกข์ใจได้ยาก ความโกรธเป็นปฏิกิริยาตอบสนองเมื่อเราคิดว่ากำลังถูกรุกล้ำพื้นที่ สิทธิ หรือกฎของตน แต่ความคับแค้นใจเป็นความโกรธที่อยู่กับเราต่อเนื่องยาวนานจากการผูกพันความคิดกับเรื่องที่ผู้อื่นกระทำกับเราอย่างยับยั้งไม่ได้ การรู้เท่าทัน การผ่อนคลาย และหาสิ่งอื่นที่ให้คุณค่ากับเรามากกว่า ช่วยให้เราสามารถเบี่ยงเบนความคิดได้ อย่างน้อยเพื่อไม่ต้องใช้เวลาทั้งวันในการวนเวียนกับความโกรธแค้น
- ไม่บังคับหรือพยายามเปลี่ยนแปลง ถึงแม้จะเชื่อได้ว่ามีที่มาของความ Toxic หากเราสงบและพอจะคาดเดาได้ว่าเกิดจากอะไร อาทิ หัวหน้าหงุดหงิดง่าย ใช้คำพูดไม่ดี เพราะกำลังรู้สึกกดดันกับการทำผลงานในช่วงปลายปี ในขณะที่เราเองก็สามารถจัดการอารมณ์ได้ระดับหนึ่งและมีความปรารถนาดี ‘ต้องการให้หัวหน้าได้เข้าใจและมีอารมณ์ที่ดีขึ้น’ แต่หากหัวหน้ากำลังอยู่ในภาวะอารมณ์หงุดหงิดที่มาจากความกดดันระดับสูง ความเป็นห่วงและปรารถนาดีที่อยากให้หัวหน้าเปลี่ยนแปลงอาจถูกตีความว่ากำลังเข้าไปบังคับ ดังนั้นแล้วก่อนสื่อสารเพื่อการเปลี่ยนแปลง อาจต้องมีการประเมินระดับอารมณ์ ความพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลง และความคุ้มค่าในความปรารถนาดีนั้น
- บริหารอารมณ์ตนเอง ซึ่งต่างจากการสงบอารมณ์เมื่อต้องเผชิญกับคน Toxic โดยการบริหารอารมณ์เป็นฐานตั้งมั่นด้านจิตใจเพื่อให้พร้อมรับสิ่งที่จะรบกวนใจ การบริหารอารมณ์สัมพันธ์กับกิจกรรมหลายชนิด เพราะการมีสุขภาวะของอารมณ์ที่ดีมาจากหลายปัจจัย ทั้งสุขภาพกาย การรู้เท่าทันความคิด อารมณ์ และการออกไปทำกิจกรรมทางสังคม
- การอยู่กับคนที่ Toxic อาจกระตุ้นให้เราเองสู้กลับด้วยการเป็น Toxic ดังนั้นการรู้เท่าทันความรู้สึก ความคิด และพฤติกรรมของตนเอง มีส่วนช่วยให้เราไม่ตกหลุมพรางของอารมณ์และกลายเป็นคน Toxic เสียเอง หงุดหงิดง่ายเมื่อต้องสื่อสารกับคนอื่น ผิดพลาดแล้วจะขอโทษได้ยาก ไม่รู้สึกยินดีเมื่อคนอื่นได้ดี มีความคิดเกี่ยวกับตนเองอย่างมาก หรือผู้คนรอบข้างเริ่มห่างจากเราไปทีละคน เหล่านี้อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเราอาจต้องกลับมารู้เท่าทันตนเอง