ในบางครั้งการสื่อสารกันในที่ทำงานก็สามารถส่งผลกับความรู้สึกหรือวัฒนธรรมองค์กรได้เลยทีเดียว ไม่ว่าจะเป็นการประชุม โทรศัพท์ อีเมล หรือการคุยเล่นกัน ทุกคนควรเลือกใช้คำพูดที่ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกดีมากกว่านี้
ใครจะรู้ว่าการพูดกับเพื่อนร่วมงานแบบไม่ได้คิดอะไรว่า “วันนี้เป็นไข้ ไม่สบายตัวเลย แต่จะลุยงานเต็มที่จ้า ทำโอทีด้วยเลย” จะสร้างวัฒนธรรมและมาตรฐานการทำงานแบบผิดๆ ให้กับองค์กรได้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ไม่เหมือนที่คุยกันไว้นี่นา? รู้จักพฤติกรรมพิษร้ายจากนายจ้าง ‘Quiet Promotion’ เงินเดือนเท่าเดิม เพิ่มเติมคือหน้าที่รับผิดชอบ
- อยากได้งานดี แต่แค่คอมพิวเตอร์ยังไม่มีให้พนักงานใช้? ปัญหาที่ดูเหมือนจะเล็ก แต่องค์กรต้องรีบแก้ไข
- ส่องปรากฏการณ์ Quiet Quitting ที่คนรุ่นใหม่ไม่เชื่อ ‘วัฒนธรรมการทำงานหนักแล้วจะได้ดี’ พร้อมคำแนะนำสำหรับองค์กรเพื่อรับมือ
Adaira Landry และ Resa E. Lewiss สองผู้เชี่ยวชาญด้านการวัฒนธรรมองค์กร ได้ให้คำแนะนำโดยการลิสต์ 10 ประโยคที่ควรเลิกพูดกับใครก็ตามในที่ทำงาน เพราะไม่ส่งผลดีกับใคร พร้อมประโยคที่สามารถใช้แทนกันได้ มาลองดูกันว่าเคยโดนพูดประโยคเหล่านี้ใส่หรือเปล่า
*เนื่องจากประโยคที่ Adaira Landry และ Resa E. Lewiss ลิสต์มาเป็นภาษาอังกฤษ จึงแปลเป็นภาษาไทยในรูปแบบที่เข้ากับบริบทการทำงานแบบไทย
1. พี่ก็ทำแบบนี้มาตลอดนะ
ประโยคนี้บ่งบอกว่าเรามีทัศนคติที่ยากที่จะเปลี่ยน และมีแนวโน้มจะไม่ยอมรับความเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยอมรับคำแนะนำใด เพราะการพูดแบบนี้จะทำให้เราเชื่อว่าทุกอย่างดีอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงอะไร เมื่อพูดบ่อยครั้งจะทำให้เราไม่พัฒนาไปไหน
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “พี่ก็ทำแบบนี้มาตลอด แต่มันอาจจะถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนแล้วแหละ”
2. สมัยก่อนนะ พี่ลำบากกว่านี้อีก
ประโยคนี้มักถูกใช้โดยผู้อาวุโสกว่า เมื่อต้องการจะปิดปากรุ่นน้องที่กำลังชี้ให้เห็นว่ามีบางสิ่งบางอย่างเป็นปัญหา และแสดงว่าเราเป็นคนที่มองว่าความลำบากเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเป็นปกติ แต่ในความเป็นจริงความลำบากในสมัยก่อนกับปัจจุบันนั้นเปรียบเทียบกันได้ยาก
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “สมัยก่อนพี่ลำบากกว่านี้เยอะ แต่พี่ก็ดีใจที่ตอนนี้มันดีขึ้นแล้ว มาดูกันว่าเราจะเปลี่ยนอะไรได้บ้างเพื่อทำให้มันดีขึ้นกว่านี้อีก”
3. เรื่องเงินเดือน อย่าไปบอกใครจะดีกว่า
ประโยคนี้เป็นแนวคิดที่ฝังหัวคนเรามานาน และส่งผลเสียเพราะว่าการเก็บข้อมูลเอาไว้ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการจ่ายเงินเดือน ในบางประเทศผู้หญิงหรือผู้ถือสัญชาติอื่นมักจะได้เงินเดือนน้อยกว่าผู้ชายและพลเมืองชาตินั้น แม้ตำแหน่งงาน หน้าที่รับผิดชอบ และประสบการณ์จะเท่ากันก็ตาม
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “การเปิดใจคุยกันเรื่องเงินเดือนเป็นเรื่องสำคัญ”
4. เลือกพี่ A มาทำโปรเจกต์นี้ดีกว่า พี่เขามีประสบการณ์เยอะกว่า
ประโยคนี้แสดงให้เห็นว่าเราไม่ได้ยอมรับในความหลากหลายของประสบการณ์ของแต่ละคน แต่ละคนมีจุดเริ่มต้นในสายงานไม่เหมือนกัน ทำให้โอกาสไปกระจุกอยู่ที่คนคนเดียว
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “พี่ A มีประสบการณ์เยอะกว่าก็จริง แต่ขอเลือกน้อง B มาทำโปรเจกต์นี้นะ เพราะเราเห็นศักยภาพในตัวน้อง”
5. ที่นี่ไม่มีนโยบายเรื่องวาระดำรงตำแหน่ง
การปฏิเสธระบบวาระดำรงตำแหน่งอาจหมายถึงการผูกขาดตำแหน่งไว้กับตัวเอง เราต้องยอมรับว่าบางครั้งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงผู้นำ ดังนั้นการใช้ระบบวาระดำรงตำแหน่งจะช่วยกระจายโอกาสในที่ทำงานมากขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “เราให้คุณค่ากับการให้โอกาสคนเสมอ พนักงานและองค์กรจะเติบโตได้ด้วยการหมุนเวียนตำแหน่ง”
6. บันทึกสิ่งที่เกิดขึ้นเมื่อกี้ แล้วส่งเมลตามมาด้วยนะ
หากเกิดการทะเลาะกันหรือเข้าใจผิดกันขึ้น การพูดประโยคนี้ใส่คู่กรณีนั้นหมายถึงการข่มขู่ว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนั้นจะไม่ได้จบระหว่างเราแน่นอน หรือถ้าที่ทำงานมีระบบการบันทึกอยู่แล้ว ก็อาจจะต้องระวังเรื่องการทำเรื่องนี้ให้กลายเป็นเรื่องใหญ่ขึ้น
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “มาบันทึกเรื่องนี้เก็บไว้กัน จะได้เป็นหลักฐานปกป้องตัวพวกเรากันด้วย”
7. อย่าคิดมากเลย พี่ A เขาไม่ได้ตั้งใจหรอก
เมื่อมีการเข้าใจผิดกันเกิดขึ้นในที่ทำงาน ประโยคนี้ที่ฟังดูเหมือนคำปลอบใจ แต่มีความหมายแฝงเป็นการที่เลือกที่จะปกป้องอีกฝ่ายมากกว่า และโน้มน้าวว่าคู่กรณีไม่ได้ตั้งใจจะพูดแบบนั้น
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “ดีมากที่มาบอกกันไว้ เดี๋ยวเรามาดูกันว่าจะทำอย่างไรกับพฤติกรรมของพี่ A ได้บ้าง”
8. วันนี้รู้สึกไม่ค่อยสบาย แต่จะลุยทำงานเต็มที่
ประโยคนี้อาจแสดงถึงความทุ่มเทของพนักงานคนหนึ่งได้ก็จริง แต่จะสร้างมาตรฐานในการทำงานที่เกินจริงในอนาคตด้วย เพราะเรากำลังบอกว่าเราจะทำงานโดยไม่สนใจสุขภาพของตัวเอง การทำงานให้เสร็จในวันที่ป่วยเป็นเรื่องปกติ ทั้งที่ถ้ารู้สึกไม่สบายก็ควรลาป่วยไปพักผ่อนให้ร่างกายพร้อมกว่านี้แล้วค่อยกลับมาทำงาน
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “วันนี้รู้สึกไม่ค่อยสบายเลย ลาป่วยสักวันแล้วกัน”
9. เรื่องนี้รู้กันแค่พวกเรานะ
ประโยคนี้อาจเกิดขึ้นบ่อยในการเมาท์มอยในที่ทำงาน ซึ่งเป็นเรื่องห้ามไม่ได้ แต่ก็เป็นเรื่องสำคัญที่เราจะเคารพความเป็นส่วนตัวของคนที่เรากำลังจะพูดถึง และให้โอกาสเขาเล่าเรื่องนั้นด้วยตัวเอง
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “เรื่องนี้ขอไม่พูดดีกว่า ลองไปถามเขาเองสิ”
10. ส่งให้พี่คืนนี้เลยนะ
ไม่มีใครรู้สึกดีเมื่อใกล้ถึงเวลาเลิกงานแล้ว แต่ต้องนั่งทำงานต่อเพราะหัวหน้าอยากได้คืนนี้เลย การพูดประโยคนี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่าเราเป็นคนไม่เคารพเวลาของคนอื่น เดดไลน์เป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่มารยาทในการทำงานและการเคารพเวลาส่วนตัวก็สำคัญมากเช่นกัน การให้ใครทำงานนอกเวลางานโดยไม่มีค่าตอบแทนเพิ่มเติมนั้นเป็นเรื่องที่แย่มาก
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้พูดประโยคนี้แทน: “วันนี้จะเลิกงานแล้ว ส่งให้พี่พรุ่งนี้ก็ได้”
อ้างอิง: