พูดถึงเรื่องลอตเตอรี่ เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมามีข่าวที่เป็นที่ฮือฮาระดับที่เป็นหัวข้อพูดถึงไปทั่วโลกนั่นคือ Powerball หรือลอตเตอรี่แจ็กพ็อตของสหรัฐอเมริกา ไม่มีคนถูกติดต่อกันหลายงวด จนทำให้ยอดสะสมรวมอยู่ที่ราวๆ 2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือมากกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท
รางวัลใหญ่นี้ทำให้ชาวแคร์ลิฟอร์เนียผู้ไม่ประสงค์ออกนามกลายเป็นมหาเศรษฐีในชั่วพริบตา (พร้อมกับที่จู่ๆ ก็พบว่าตัวเองมีญาติโกโหติกาจำนวนมาก) ซึ่งกว่าจะได้มาซึ่งเงินรางวัลนี้ คนคนนี้ต้องเลือกเลขสองหลักถึง 5 ชุด กับเลข Powerball สองหลักอีก 1 ชุด ที่เมื่อ CBS News ลองคำนวณแล้วโอกาสคือ 1 ใน 292 ล้านเพียงเท่านั้น
แจ็กพ็อตครั้งนี้ได้สร้างสถิติใหม่ด้วยการกลายเป็นเงินรางวัลสะสมที่มากที่สุดในโลก ซึ่งการที่ยอดเงินรางวัลสะสมเยอะเช่นนี้บ่งชี้ว่า แม้โอกาสจะน้อยนิดแค่ไหน แต่โอกาสก็คือโอกาส และยิ่งเงินจำนวนมาก คนก็ยิ่งซื้อเยอะจนส่งผลให้เงินมีจำนวนมากขึ้นไปอีก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- คำสาปหวย เมื่อการถูกแจ็กพอตรวยเละเป็นร้อยเป็นพันล้าน แต่กลับพังทลายชีวิตได้อย่างไร
- ‘4 อุปนิสัย’ ที่ทำให้คนรวย ‘รวยยิ่งขึ้น!’ บทสรุปจากการสัมภาษณ์เศรษฐี 225 คน
- ผู้ถูกรางวัล ‘สลากดิจิทัล’ โอนเงินรางวัลเข้าบัญชีทุกธนาคารได้แล้ว! เริ่มงวด 16 ธันวาคม 2565 เป็นต้นไป
และเมื่อตัดภาพมาที่บ้านเรา แม้เงินรางวัลจะไม่ได้สูงเสียดฟ้าขนาดนั้น แต่เงินรางวัลที่ 1 ที่ตายตัว ก็มากพอที่จะเปลี่ยนชีวิตใครสักคนได้ และเรามักจะได้ยินเรื่องการขอหวย ใบ้หวย จนถึงซื้อหวยทีละหลายๆ ใบ หรือเป็นชุด จากข่าวหรือในชีวิตประจำวันเสมอมา
แต่ทำไมคนเราถึงซื้อหวย ทำไมซื้อไม่หยุด และสำหรับบางคนทำไมมันคือเรื่องจริงจังระดับที่เป็นพาร์ตสำคัญของชีวิตไปแล้ว? เรื่องนี้มีคำอธิบายในเชิงจิตวิทยา
จิตวิทยาของการซื้อลอตเตอรี่
การซื้อลอตเตอรี่หรือหวยไม่ใช่เพียงแค่ความคิดที่ว่า ‘อยากรวย’ แล้วจบ แต่มีเบื้องลึกเบื้องหลังของการตัดสินใจมากกว่านั้น ทั้งจากทางด้านลอตเตอรี่เองหรือเหตุผลส่วนตัวของผู้ซื้อทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว ซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ว่าด้วยเรื่องจิตวิทยาของการเสี่ยงดวงหวังรวย จึงแบ่งเป็นข้อๆ ได้ดังนี้
1. ยอมรับความเสี่ยงที่ดี ดีกว่าเตรียมตัวรับมือสิ่งที่แย่
การซื้อหวยถือเป็นการพนันอย่างหนึ่ง Hans Breiter ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์พฤติกรรมที่มหาวิทยาลัย Northwestern ได้เขียนถึงเรื่องนี้ว่า มนุษย์มักมีแนวโน้มที่จะมองโลกในแง่ดีเกินเหตุมากกว่าความเป็นจริงในเรื่องของการเสี่ยงดวงที่ไม่สามารถคาดคะเนได้ โดยพื้นฐานแล้วคนคนหนึ่งมีแนวโน้มที่จะยอมเสี่ยงหากเกี่ยวข้องกับรางวัลจำนวนมาก
2. ยิ่งโอกาสต่ำเท่าไร ก็ยิ่งสำคัญมากเท่านั้น
จิตใจของมนุยษ์มีแนวโน้มที่จะให้ความสำคัญกับเหตุการณ์ที่ยากจะเกิดขึ้นหรือไม่มีทางเกิดขึ้นได้เลย อย่างเช่น ถูกลอตเตอรี่ และในขณะเดียวกันโครงสร้างคู่ขนานก็ได้เกิดขึ้นจากการที่เรามีแนวโน้มจะมองว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแน่นอนมีความสลักสำคัญน้อยกว่า เช่น เรื่องความต้องการทำประกันเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพที่มาจากอายุที่เพิ่มขึ้น เพราะสำหรับมนุษย์ความไม่ชัวร์นั้นเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นและน่าดึงดูดใจอย่างไม่สามารถอธิบายได้
3. ถ้าแพ้ ก็แค่ไม่ชนะ
มีเส้นกั้นบางๆ ระหว่างคำว่าแพ้กับไม่ชนะ เพราะไม่ชนะมีความหมายบวกกว่า และไม่ได้หมายว่าแพ้ที่ตรงกันข้ามกับคำว่าชนะอย่างสุดขั้วขนาดนั้น ในการเดิมพันกับหวยเราจึงไม่เห็นคำว่า ‘แพ้หวย’ แต่ที่เราใช้กันคือ ‘ไม่ถูกหวย’ หรือ ‘โดนหวยกิน’ ฉะนั้นการไม่ชนะหรือไม่ถูกจึงค่อนข้างจะฟื้นตัวได้ง่ายกว่าและมีความหวังกว่าในการเดิมพันครั้งหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับคนที่ซื้อแล้วหวยออกเลขใกล้เคียงกัน (อาจเป็น +- แค่ 1 หรือเลขสลับ) จะยิ่งรู้สึกว่า “มันจะต้องมีวันของเราสิ ขนาดใกล้ยังเคยมาแล้ว”
ทั้งที่ในความเป็นจริงการผิดหนึ่งตัวหมายความว่าไม่ถูกเลยอยู่ดี และใกล้แค่ไหนคือไกล – Getsunova อีกทั้งคำอธิบายจากนักเศรษฐศาสตร์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สำหรับเรื่องหวยๆ ผลลัพธ์ครั้งที่ผ่านมาไม่มีอิทธิพลต่อผลลัพธ์ในครั้งหน้า และตรรกะวิบัติที่เชื่อเช่นนั้นว่าครั้งนี้ใกล้ ครั้งหน้าน่าจะถูก จะนำไปสู่การสูญเสียเงินอีกครั้งหรือครั้งแล้วครั้งเล่า
4. สร้างความคาดหวังล่วงหน้าไว้แล้ว
คนจำนวนมากที่ซื้อลอตเตอรี่จะมีสิ่งหนึ่งที่พึงระลึกไว้ในใจเสมอ นั่นก็คือโอกาสที่จะชนะรางวัลที่ 1 มีน้อยมากๆ ซึ่งอันที่จริงนั่นอาจเป็นเหตุผลที่ทำให้คนเหล่านั้นเลือกเล่นหวยแต่แรก
Mark Reinecke หัวหน้าแผนกจิตวิทยา มหาวิทยาลัย Northwestern กล่าวว่า ผู้คนมีแนวโน้มจะหงุดหงิดเมื่อความคาดหวังถูกทำลาย เช่น เมื่อไปซื้อของที่ 7-Eleven และพบว่าแถวยาวเป็นหางว่าว แทนที่จะจ่ายเงินหน้าเคาน์เตอร์และเดินออกจากที่นั่นได้เลย ที่เป็นเช่นนี้เพราะบางคนโอเคที่จะจ่ายเงินไม่กี่บาทเพื่อสิ่งที่คนคนนั้นมองว่าสำคัญจริงๆ และพร้อมที่จะทำใจกับมันได้หากไม่เป็นดังหวัง เพราะชีวิตมีสิ่งที่ต้องกังวลมากกว่าเรื่องนี้
5. เราคิดไปเองว่าเราเป็นนักแกะรหัส
ในเกมการพนันมีแนวโน้มสูงที่เราจะมีข้อสรุปว่าเรากำลังเอาชนะ อยู่เหนือ หรือเป็นผู้คุมเกมนี้อยู่ เรื่องนี้เป็นปรากฏการณ์ปกติในหมู่นักเล่นพนัน เพราะแท็กติกที่มีทำให้เรามั่นใจและบอกตัวเองย้ำๆ ว่ามันจะเวิร์ก และเกมนี้สามารถเอาชนะได้ รางวัลรอเราอยู่ นักจิตวิทยาเรียกการคิดไปเองเช่นนี้ว่าเป็นภาพลวงตา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเป็นเรื่องของลอตเตอรี่ด้วยแล้ว เพราะอย่างน้อยในเกมไพ่เราอาจเล่นจิตวิทยาได้และมีแผน แต่สำหรับลอตเตอรี่คือระบบการสุ่มล้วนๆ ความรู้สึกที่ว่า “เลขนี้แหละจะออก” หรือความรู้สึกประมาณว่า “เราหาคำตอบของโลกและจักรวาลได้แล้ว” จึงเป็นความรู้สึกที่คิดไปเองในมุมมองของจิตวิทยา
6. คนเราไม่สามารถรับรู้ถึงความเสี่ยงและโอกาสได้ทั้งหมดอย่างเห็นภาพ
ยกตัวอย่างเรื่อง Powerball ในเมื่อโอกาสที่จะคว้ารางวัลมาครองมีเพียง 1 ใน 292 ล้าน แม้ตัวเลขเยอะขนาดนี้ก็ยังเป็นเรื่องยากที่จะจินตนาการว่า 1 ใน 292 ล้านนั้นน้อยขนาดไหน นั่นก็เพราะว่าสมองของมนุษย์ยังไม่วิวัฒนาการได้ไกลพอที่จะตระหนักถึง 1 ใน 292 ล้านในรูปแบบของภาพได้พร้อมกันจริงๆ หรืออันที่จริงนักจิตวิทยาชี้ว่า แค่หลักล้านสมองก็มีแนวโน้มจะไม่จำแล้ว
7. เกิดอคติประเภท Availability Bias
ต่อเนื่องจากข้อข้างบน ก่อนอื่นสาเหตุที่เราซื้อหวยจะต้องเกี่ยวข้องกับการที่ได้เห็นทั้งเงื่อนไขและข้อพิสูจน์ว่ารางวัลนั้นมีอยู่จริง เพื่อที่จะลงเงินไปกับมัน และนอกจากสองอย่างนี้จะถูกคอนเฟิร์มแล้ว เรายังได้รับอิทธิพลจากเรื่องราวและข่าวเกี่ยวกับคนที่ถูกรางวัลกันอย่างต่อเนื่องอีกด้วย
เราเรียกนิยามอคติประเภทนี้ว่า ‘Availability Bias’ ซึ่งจะเป็นการให้ค่ากับสิ่งใดสิ่งหนึ่งสูงไป โดยพิจารณาจากตัวอย่างประสบการณ์เท่าที่มี / เท่าที่จะหาได้ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ สื่อ โฆษณา หรือข่าวต่างๆ ต่างก็พูดถึงแต่คนที่ถูกหวยหรือเงินสูงเป็นภูเขา แต่ไม่ได้พูดถึงคนที่อกหักดังเป๊าะที่มีจำนวนมากกว่าหลายเท่าตัว เราจึงรับรู้เรื่องนี้ไม่ได้เท่ากับความจริง และเชื่อว่าวันหนึ่งตัวเองจะมีโชคกับเขาบ้าง
8. กับดักสังคม
บางคนเล่นหวยมานานจนเคยชิน และการที่คนคนหนึ่งเคยถูกหวยหรือเคยถูกหวย (กิน) มาแล้ว ทำให้เกิดความรู้สึกไม่มีทางยอมแพ้ เพราะที่ผ่านมาทั้งลงทุนและลงแรงกับมันไปมากแล้ว ซึ่งคนที่กดดันเราอาจไม่มีอยู่จริง และเป็นไปได้ว่าสังคมก็ไม่ได้แคร์เรามากขนาดนั้น มีแต่ตัวเราเองที่ไม่สามารถถอนตัวได้ หรือเพียงแค่การอยู่อาศัยในสภาพแวดล้อมหนึ่งๆ เองก็มีผลต่อการตัดสินใจเช่นกัน
9. หาข้ออ้างให้ไม่ยาก
นานๆ ทีซื้อ, มันไม่แพงขนาดนั้น, ซื้อเฉยๆ ไม่ได้จริงจัง ฯลฯ ทั้งหมดนี้นำมาสู่บทสรุปเดียวคือการซื้อหวยและการที่บอกกับตัวเอง (หรือคนอื่น) ว่าซื้อทีละใบไม่แย่หรอกหรือซื้อเป็นใบๆ ไม่เยอะ ท้ายที่สุดเมื่อรู้ตัวอีกทีก็อาจสั่งสมจนถึงกับต้องถามหาเงินในบัญชีก็เป็นได้ หรืออาจเสียดายภายหลังว่าสามารถเอาเงินส่วนนั้นไปทำอะไรได้บ้าง
Remit Sathi นักเขียน New York Time Best Seller พูดถึงเรื่องนี้อย่างน่าสนใจว่า การซื้อลอตเตอรี่คือการอนุญาตให้คน ‘มีความฝัน’ ว่าจะได้รางวัล ซึ่งการจ่ายเงินราคาไม่เท่าไรเพื่อความฝันที่ดี ให้เราได้ลุ้น ครุ่นคิด และรอคอย จะว่าไปแล้วมันก็คุ้มไม่น้อย ลุ้นน้อยดีกว่าไม่ลุ้นเลย
“เงินรางวัลที่เอาแน่เอานอนไม่ได้นั่นทำให้คุณหลั่งสารโดพามีนออกมา และทุกครั้งที่มีการหลั่งโดพามีนอันพุ่งพวย บ่อยๆ เข้าคุณจะรู้สึกเคยชินจนขาดมันไม่ได้อีกแล้ว” Robert Wilson ศาสตราจารย์ประจำภาควิชาจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Arizona กล่าวถึงกรณี Powerball ที่สร้างปรากฏการณ์ยอมสะสมรางวัลที่ 1 สูงสุดตั้งแต่เคยมีมา
นอกจากความพึงพอใจและการมีโอกาสได้ฝันแม้จะสั้นๆ ทั้งหมดยังคงเป็นเรื่องความปรารถนาที่จะกระโดดจากสถานะทางสังคมหนึ่งไปยังอีกสถานะหรืออีกชนชั้นราวกับดีดนิ้ว เพราะทุกคนต่างก็ต้องการ ‘โชคครั้งใหญ่’ ด้วยกันทั้งนั้น เพราะใครล่ะจะไม่อยากมีเงินก้อนโต
อ้างอิง:
- https://www.abc15.com/news/state/lottery-psychology-why-do-people-take-chances-even-though-winning-is-so-rare
- https://www.businessinsider.com/powerball-odds-why-people-think-theyll-win-2018-10#we-focus-on-the-winners-not-the-losers-7
- https://www.psychologytoday.com/us/blog/modern-minds/201604/6-reasons-we-keep-playing-the-lottery
- https://growthlab.com/anyone-buy-lottery-ticket-heres/