ปัญหาแอปพลิเคชัน ธนาคาร ล่มใช้การไม่ได้ในช่วงรอยต่อสิ้นเดือน-ต้นเดือน ซึ่งเป็นช่วงที่มีปริมาณธุรกรรมเกิดขึ้นหนาแน่น ถือเป็นปัญหาที่สร้างความเดือดร้อน ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้บริการทางการเงินจำนวนไม่น้อย โดยเฉพาะในยุคที่ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสด
ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จำนวนผู้ใช้งาน Mobile Banking และ Internet Banking ในไทยปรับเพิ่มขึ้นจาก 36 ล้านบัญชี เป็น 121 ล้านบัญชี ขณะที่ปริมาณการโอนเงินเพิ่มสูงขึ้นถึง 18 เท่า โดยมีการโอน 300 ครั้งต่อคนต่อปี และมีปริมาณการโอนเงินผ่าน Mobile Banking และ Internet Banking เพิ่มเป็น 1.44 หมื่นล้านรายการ จาก 800 ล้านรายการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- ธนาคารออมสิน เปิดตัวเงินฝากดอกเบี้ยขั้นบันได จ่ายสูงสุด 4.5% และ 10% หวังส่งเสริมการออมระยะยาว
- เตรียมตัวไว้! ตั้งแต่ 15 พ.ย. นี้ ‘ฝากเงินผ่านตู้’ ต้องยืนยันตัวตนผ่านบัตรเดบิต บัตรเอทีเอ็ม และบัตรเครดิต เพื่อป้องกันการฟอกเงิน
- ไม่ตกขบวน! ไทยพาณิชย์ปรับขึ้นดอกเบี้ย MLR และ MOR 0.25% พร้อมขยับดอกเบี้ยเงินฝากประจำสูงสุด 0.50%
ด้วยปริมาณธุรกรรมที่มากขนาดนี้ จึงไม่น่าแปลกใจที่แทบทุกครั้งเวลาเกิดปัญหาแอปธนาคารล่มจะตามมาด้วยเสียงตำหนิของลูกค้า ที่เรียกร้องให้ธนาคารเร่งแก้ไขและปรับปรุงระบบจนเกิดเป็นเทรนด์ทวิตเตอร์
ล่าสุด ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน (ศคง.) ของ ธปท. ได้เผยแพร่สถิติระบบแบงก์ขัดข้องในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน ปี 2565 โดยพบว่าในช่วง 9 เดือนแรกของปี คนไทยต้องเจอกับปัญหาระบบ Mobile Banking ขัดข้องไปแล้วถึง 46 ครั้ง รวมเป็นเวลาราว 137 ชั่วโมง
หากเทียบกับสถิติของทั้งปี 2564 ที่เกิดปัญหาระบบ Mobile Banking ขัดข้อง 59 ครั้ง รวมเป็นเวลาราว 112 ชั่วโมง จะพบว่าภายใน 9 เดือนแรกของปีนี้ ระยะเวลาที่เกิดปัญหาระบบ Mobile Banking ขัดข้องก็แซงหน้าภาพรวมของทั้งปีที่ผ่านมาไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สะท้อนว่าสถานการณ์ไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้นจากปีที่ผ่านมาแต่อย่างใด
THE STANDARD WEALTH ได้เข้าไปแกะรอยข้อมูลสถิติระบบเทคโนโลยีสารสนเทศขัดข้อง ที่กระทบต่อการให้บริการผ่าน 3 ช่องทางสำคัญของธนาคารในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2565 ซึ่งเผยแพร่โดยศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงินของ ธปท. เราลองไปดูกันว่าธนาคารใดที่เกิดปัญหาแอปล่มบ่อยครั้งที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา
ภาพประกอบ: เทียนจรัส วงศ์พิเศษกุล