×

กระบวนการเลือกตั้งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ-นายกฯ สหราชอาณาจักรคนใหม่ จะเป็นอย่างไรต่อ

21.10.2022
  • LOADING...
ลิซ ทรัสส์

วานนี้ (20 ตุลาคม) พรรคคอนเซอร์เวทีฟของสหราชอาณาจักรเตรียมเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งกระบวนการเลือกตั้งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคมนี้ เพื่อหาผู้ที่จะเข้ารับช่วงต่อในตำแหน่งนายกรัฐมนตรี หลังจากที่ลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนที่ 3 ของสหราชอาณาจักร ประกาศลาออกจากตำแหน่ง เนื่องจากกระแสแรงกดดันทางการเมืองจากทั้งภายในและภายนอกพรรค ที่เกิดขึ้นจากความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายด้านการคลังและภาษีของเธอ หลังเข้ารับตำแหน่งได้เพียง 45 วัน หรือราว 1 เดือนเศษเท่านั้น

 


 

บทความที่เกี่ยวข้อง: 


 

  • ระยะเวลาและเงื่อนไขบางประการ

โดยระยะเวลาเปิดรับสมัครผู้ที่ต้องการจะชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟและนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักรคนใหม่เริ่มขึ้นแล้ว และจะสิ้นสุดลงเวลา 14.00 น. ของวันที่ 24 ตุลาคม ก่อนที่กระบวนการเลือกตั้งอย่างเป็นทางการจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-28 ตุลาคมนี้ 

 

ผู้สมัครที่จะผ่านเข้าสู่เวทีการเลือกตั้งนั้นจะต้องได้รับเสียงสนับสนุนจากสมาชิกสภาที่มาจากพรรคคอนเซอร์เวทีฟอย่างน้อย 100 คน ก่อนสิ้นสุดระยะเวลารับสมัคร หากมีผู้สมัครมากกว่า 2 คน จะต้องมีการเลือกตั้งรอบต่างๆ เพื่อคัดเลือกให้เหลือเพียงผู้สมัคร 2 คนสุดท้าย ดังเช่นที่เคยเกิดขึ้นเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะมีการลงคะแนนออนไลน์ของบรรดาสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟทั้งหมดที่มีสิทธิลงคะแนนในการเลือกตั้งรอบสุดท้าย เพื่อหาผู้ชนะการเลือกตั้งเพียงหนึ่งเดียว แต่ถ้าหากมีผู้สมัครเข้ารับตำแหน่งเพียงแค่ 1 คนเท่านั้นตั้งแต่ต้น การเลือกตั้งจะเป็นไปในลักษณะการลงคะแนนเสียงเพื่อยืนยันความเห็นชอบ (Confirmatory Vote)

  • (ว่าที่) ผู้สมัครที่น่าจับตามอง 

เบื้องต้นเริ่มมีสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟบางคนได้รับการสนับสนุนจากเพื่อนร่วมพรรคการเมืองแล้ว โดย ริชิ ซูนัค หนึ่งในสองแคนดิเดตในการเลือกตั้งผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟครั้งก่อน เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ก่อนที่จะพ่ายให้กับลิซ ทรัสส์ ในการเลือกตั้งรอบสุดท้ายนั้น เป็นหนึ่งในผู้ที่ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในช่วงเวลานี้ 

 

ขณะที่ บอริส จอห์นสัน อดีตนายกรัฐมนตรีสหราชอาณาจักร คนก่อนหน้าที่ทรัสส์จะเข้ามารับช่วงต่อ ก็มีแนวโน้มที่จะเข้าร่วมชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟ รวมถึงเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคืนอีกครั้ง หลังจากที่เขาเคยนำพาพรรคชนะการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อปี 2019 ก่อนที่จะเผชิญวิกฤตศรัทธาจากสมาชิกร่วมรัฐบาล จนต้องยอมก้าวลงจากตำแหน่งในที่สุด 

 

ส่วน เพนนี มอร์ดอนต์ ผู้นำสภาสามัญหรือสภาล่างในรัฐสภาอังกฤษ ก็น่าจับตามองไม่น้อย เธอเคยเป็นผู้สมัคร 3 คนสุดท้ายในการเลือกตั้งผู้นำพรรคครั้งก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะพ่ายให้กับลิซ ทรัสส์ และริชิ ซูนัค ในการเลือกตั้งรอบที่ 5 ไม่ได้ไปต่อในรอบต่อไป 

 

นอกจากสมาชิกพรรคคอนเซอร์เวทีฟที่มีแนวโน้มจะชิงชัยเก้าอี้ผู้นำในการเลือกตั้งหนนี้ 3 คนข้างต้นแล้ว เคมี บาเดนอค รัฐมนตรีด้านการค้าระหว่างประเทศ, ซูเอลลา บราเวอร์แมน อดีตรัฐมนตรีมหาดไทยที่เพิ่งจะประกาศลาออกจากตำแหน่งไป รวมถึง ซาจิด จาวิด อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุข และ เบน วอลเลซ รัฐมนตรีกลาโหม ที่ครองตำแหน่งนี้อย่างเหนียวแน่นในรัฐบาลของจอห์นสันและทรัสส์ ทั้งหมดก็ล้วนน่าจับตามองทั้งสิ้น

  • ผู้ชนะการเลือกตั้ง

สำหรับผู้ที่ได้รับคะแนนโหวตมากที่สุดในการเลือกตั้งรอบสุดท้าย จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำพรรคคอนเซอร์เวทีฟคนใหม่ของสหราชอาณาจักร และคว้าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศนี้โดยอัตโนมัติ 

 

ผู้นำคนใหม่จะเข้ารับช่วงต่อจากจอห์นสันและทรัสส์ โดยอาจอยู่บริหารประเทศจนครบวาระ หรืออาจตัดสินใจเข้าเฝ้าพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 เพื่อขอประกาศยุบสภา ปูทางไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่ก่อนระยะเวลาที่กำหนดไว้ (Snap Election) เพื่อสร้างความชอบธรรมในการก้าวขึ้นสู่อำนาจ กระชับอำนาจในการขับเคลื่อนรัฐบาลและบริหารประเทศ จากเดิมที่คาดว่าจะจัดขึ้นในช่วงต้นปี 2025 ก็เป็นได้

 

ภาพ: Daniel Leal / AFP

อ้างอิง:

FYI

กษัตริย์ที่ครองราชย์ยาวนานที่สุดในโลกเมื่อครั้งยังมีพระชนม์ชีพและยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ราชวงศ์อังกฤษ (70 ปี 214 วัน) อย่างสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 สวรรคตในช่วงวาระการดำรงตำแหน่งของลิซ ทรัสส์ นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งสั้นที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองสหราชอาณาจักร ด้วยระยะเวลาเพียง 45 วัน 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X