นับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคมเป็นต้นมา ร้านกาแฟ รายใหญ่ทยอยปรับขึ้นราคาสินค้าเฉลี่ย 3-5 บาทต่อแก้ว เพื่อรองรับต้นทุนวัตถุดิบ รวมถึงค่าพลังงานต่างๆ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง แน่นอนว่าทำให้ผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าจ่ายเพิ่มมากกว่า 70 บาทต่อแก้ว
แม้ในช่วงแรกที่มีการปรับขึ้นราคาอาจทำให้ยอดขายสะดุดบ้างเล็กน้อย เพราะมีปัจจัยในเรื่องภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังไม่ฟื้นตัวดีนัก ประกอบกับค่าครองชีพต่างๆ ที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้หลายๆ แบรนด์มีการจัดโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 หรือซื้อเครื่องดื่ม 1 แก้ว จะได้รับสิทธิ์ซื้อผลิตภัณฑ์เบเกอรีในราคาพิเศษ เพื่อดึงดูดลูกค้าอยู่เป็นระยะๆ
ขณะเดียวกันตลาดมีการแข่งขันค่อนข้างสูง ยังมีบางค่ายที่ยังไม่ปรับขึ้นราคา ได้แก่ Mezzo, กาแฟพันธุ์ไทย และ Class Cafe ที่ยังตรึงราคาเดิมทุกเมนู
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- ช้าก่อน! คุณดื่มกาแฟผิดวิธีอยู่หรือเปล่า? มาดู 3 วิธีการดื่มกาแฟที่ถูกต้อง และทำให้วันนี้โปรดักทีฟอย่างแท้จริง
- อยากเติมพลังยามบ่าย? ผู้เชี่ยวชาญแนะสูตร ‘Power Nap’ จิบกาแฟก่อนแล้วค่อยงีบ
- งานวิจัยใหม่ชี้ การดื่มกาแฟ วันละ 2-3 แก้ว อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘อายุขัย’ ยืนยาวขึ้น
มารุต ชุ่มขุนทด ซีอีโอบริษัท คลาส คอฟฟี่ จำกัด ผู้ก่อตั้งร้านกาแฟแบรนด์ไทย Class Cafe เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ร้านกาแฟรายใหญ่แทบทุกค่ายต้องตัดสินใจปรับขึ้นราคา เนื่องจากต้นทุนการดำเนินงานต่างๆ เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะเมล็ดกาแฟที่ปรับขึ้นราคาเป็นเท่าตัว รวมถึงกลุ่มแดรี่ นมสด ค่าแรงงาน ค่าเช่า และพลังงาน โดยต้นทุนยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นไปจนถึงปลายปี 2565
ทั้งนี้ ตลาดร้านกาแฟมีการแข่งขันสูง รายใหญ่ขึ้นราคาแล้วอาจไปรอด เพราะเป็นธุรกิจที่มีสายป่านยาวและมีฐานลูกค้าประจำ ขณะที่รายกลางไปจนถึงรายเล็ก หรือในระดับ SMEs ได้รับผลกระทบหนัก เพราะเมื่อไรก็ตามที่มีการขึ้นราคา ยอดขายก็จะตก
ที่สำคัญนอกจากต้องแบกรับต้นทุนหนักแล้ว ยังอยู่ในช่วงดอกเบี้ยขึ้นที่เข้ามาซ้ำอีกทาง การจะไปกู้แบงก์มาขยายสาขาอาจเป็นภาระที่ไม่สามารถแบกรับไหว ทำให้ในช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา ผู้ประกอบการร้านกาแฟรายเล็กเริ่มปิดกิจการและล้มหายออกไปจากตลาดในที่สุด
สำหรับ Class Cafe ยังไม่ปรับขึ้นราคา แม้กำไรจะลดลง แต่หันมาบริหารจัดการคุมต้นทุนภายใน เริ่มตั้งแต่การจัดโปรโมชันให้คุ้มค่ามากขึ้น จากเดิมเราจัดโปรโมชัน ซื้อ 1 แถม 1 ปัจจุบันได้เปลี่ยนเป็นซื้อเครื่องดื่ม 1 แก้ว แถมเบเกอรี 1 ชิ้น และอาจมีการลดจำนวนพนักงานในบางสาขาลง เพื่อให้สามารถคุมต้นทุนได้ดีขึ้น และท้ายที่สุดหากภาวะต้นทุนหนักขึ้น อาจมีการปิดสาขาที่ไม่ทำกำไรลง แต่นั่นจะเป็นสิ่งสุดท้ายที่จะเลือกทำ
ต้องยอมรับว่าตลาดร้านกาแฟยังมีอัตราการเติบโต แต่ด้วยปัจจัยลบที่มีอยู่รอบด้าน อาจทำให้รายใหม่ๆ ที่ต้องการกระโดดเข้ามาในตลาดต้องคิดให้รอบคอบ เพราะตลาดกาแฟแจ้งเกิดง่าย ถ้าบริหารจัดการไม่ดีหรือทุนไม่หนาพอก็ตายง่ายเหมือนกัน
ด้านแหล่งข่าวระดับสูงในแวดวงธุรกิจร้านกาแฟกล่าวว่า จากข้อมูลในปี 2564 ตลาดร้านกาแฟมีมูลค่า 3 หมื่นล้านบาท เริ่มมีแนวโน้มเติบโตขึ้น 3-5% แต่อาจไม่หวือหวาเหมือนช่วงก่อนโควิด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อยังไม่กลับมาฟื้นตัว และการเติบโตหลักๆ มาจากการเคลื่อนไหวของผู้เล่นรายใหญ่ๆ ทั้ง Café Amazon, Starbucks และอินทนิล ที่มีแผนการลงทุนขยายสาขาเพิ่มทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด อาจทำให้เกิดการแข่งขันกัน แย่งพื้นที่ในย่านที่มีทราฟฟิกหนาแน่น เช่น ศูนย์การค้า อาคารสำนักงาน และโรงพยาบาล เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม จากการตรวจสอบแผนการดำเนินงานของธุรกิจร้านกาแฟรายใหญ่เริ่มตั้งแต่ บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR มีแผนจะเปิดร้าน Café Amazon เพิ่มอีก 500 สาขาภายในปี 2565 จากปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 3,500 สาขา เน้นเปิดในสถานีบริการน้ำมัน ปตท. และนอกสถานีบริการน้ำมันในรูปแบบ Stand Alone
รวมถึง บมจ.บางจาก หรือ BCP เตรียมขยายสาขาร้านกาแฟอินทนิลเพิ่มจำนวน 1,200 สาขาภายใน 5 ปี ระหว่างปี 2564-2568 โดยปัจจุบันมีอยู่ประมาณ 700 สาขา ตามด้วยร้านกาแฟพันธุ์ไทยตั้งเป้าขยายสาขาในสถานีบริการน้ำมันและพื้นที่อื่นให้ได้มากกว่า 1,500 สาขาในปี 2566