Grab ซูเปอร์แอปพลิเคชันในสิงคโปร์ ได้ตัดสินใจเลื่อนเป้าหมายที่เคยคาดว่า ‘ธุรกิจเดลิเวอรี’ น่าจะถึงจุด ‘คุ้มทุน’ หลังธุรกิจกำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้าน โดยเฉพาะการผลักดันให้ทำกำไร ท่ามกลางสายตาที่จับจ้องของนักลงทุน
เดิม Grab ได้กำหนดไว้ว่าสิ้นปี 2023 ‘ธุรกิจฟู้ดเดลิเวอรี’ จะคุ้มทุนกับรายได้ที่ปรับแล้วก่อนดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) แต่แล้วผลประกอบการไตรมาสล่าสุดก็ทำให้ Grab ต้องถอดใจ
ผลประกอบการในไตรมาส 2 เดือนเมษายน-มิถุนายน 2022 ขาดทุน 572 ล้านดอลลาร์ ลดลง 29% จากขาดทุน 801 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ด้านรายรับเพิ่มขึ้นเป็น 321 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 79% โดยมีความต้องการที่แข็งแกร่งจากทั้งธุรกิจจัดส่งและเรียกรถ แถมยังเป็นตัวเลขที่มากกว่าประมาณการของนักวิเคราะห์โดยเฉลี่ย 273.1 ล้านดอลลาร์ ที่รวบรวมโดย Bloomberg
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
- มอเตอร์ไซค์รับจ้างรวมตัวคัดค้านออกประกาศให้รถป้ายขาววิ่งรับงานผ่าน GrabBike
- Grab ผุดธุรกิจใหม่ ‘Digital BagAds’ โฆษณาเคลื่อนที่บนกระเป๋าคนขับ เคาะราคาทดลอง 18,000 บาท/เดือน
- Grab ‘ขาดทุน’ 3.3 หมื่นล้านบาท ในไตรมาสแรกหลังติดนามสกุลมหาชน ขณะที่นักลงทุน ‘ไม่ปลื้ม’ หุ้นดิ่งทันที 37%
แต่ผลงานนี้ก็ไม่ได้ทำให้นักลงทุนปลื้มเท่าไรนัก เพราะในช่วงเช้าของวันพฤหัสบดี (25 สิงหาคม) ที่นิวยอร์ก ราคาหุ้นของ Grab ลดลงประมาณ 13%
“เรามั่นใจว่าเราจะสามารถเผชิญกับความท้าทายที่รออยู่ข้างหน้าได้” Anthony Tan ซีอีโอกล่าว “รายได้ของเราจะเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อมุ่งสู่เส้นทางทำกำไร”
ซูเปอร์แอปต้องก้าวผ่านยุคของอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการที่ส่วนหนึ่งลดลงเพราะผู้คนออกไปกินข้าวนอกบ้านได้แล้ว เช่นเดียวกับความท้าทายจากโควิด
Grab ประเมินรายรับในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ 1.25-1.3 พันล้านดอลลาร์ เทียบกับที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้ที่ 1.2-1.3 พันล้านดอลลาร์ ส่วนมูลค่าสินค้ารวมคาดจะเพิ่มขึ้น 21-25% ลดลงเมื่อเทียบกับ 30-35% ที่คาดการณ์ไว้ก่อนหน้านี้
แม้ในฐานะผู้นำตลาดด้วยตำแหน่งผู้ให้บริการเรียกรถและส่งของที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่ราคาหุ้นของ Grab ก็ยังต่ำกว่าคู่แข่งชาวอินโดนีเซียอย่าง GoTo ที่ราคาหุ้นลดลงเพียง 4% นับตั้งแต่เข้าจดทะเบียนในจาการ์ตาในเดือนเมษายน ขณะที่ Grab ได้สูญเสียมาร์เก็ตแคปไปแล้วกว่า 60% ทำให้ปัจจุบันมีตัวเลขอยู่ราว 1.2 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งน้อยกว่าของ GoTo ครึ่งหนึ่ง
Grab ยังคงถือว่าสิงคโปร์เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุด แม้ว่าจะพยายามขยายไปสู่ประเทศต่างๆ รวมถึงอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
กระนั้น GoTo ยังคงครองตำแหน่งผู้นำในประเทศบ้านเกิด ซึ่งมีประชากรมากกว่า 270 ล้านคน ที่กำลังจับจ่ายซื้อของบนแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ Tokopedia และสั่งอาหารและเครื่องดื่มผ่านแอป Gojek ซึ่งแม้จะเข้าใจตลาดอย่างดีแต่ก็กำลังถูก Grab บุกอย่างหนัก โดยข้อมูลจาก Momentum Works ระบุในปีที่แล้วว่า Grab มีส่วนแบ่ง 49% ในตลาดส่งอาหารของอินโดนีเซีย ขณะที่ GoTo มีส่วนแบ่งอยู่ราว 43%
อย่างไรก็ตาม สภาพแวดล้อมทางธุรกิจของ Grab อาจมีความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีความเสี่ยงสูงขึ้นในธุรกิจจัดส่งอาหาร จากการที่รัฐบาลสิงคโปร์ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่งของรายได้โดยรวมของ Grab กำลังเตรียมที่จะกระตุ้นแพลตฟอร์มที่เรียกว่า ‘Gig Economy’ เพื่อให้มั่นใจในความปลอดภัยมากขึ้นสำหรับพนักงานที่ไม่ได้จ้างงานเต็มเวลา
อ้างอิง:
- https://asia.nikkei.com/Business/Technology/Grab-aims-to-break-even-sooner-for-delivery-despite-softer-demand
- https://www.straitstimes.com/business/companies-markets/once-seas-most-valuable-start-up-grab-falls-18-billion-behind-goto
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP