×

ทำไมคนเราถึงเมาไม่เท่ากัน พร้อมวิธีแก้แฮงก์แบบวิทยาศาสตร์

22.07.2022
  • LOADING...

ทำไมดื่มแอลกอฮอล์แล้วต้องแฮงก์ เหตุผลอะไรที่ทำให้บางคนคอแข็ง หลายขวดก็ยังไม่เมา แต่บางคนแค่ดื่มนิดเดียวก็เริ่มตัวแดง เมาเร็วกว่าเพื่อน แล้วถ้าสนุกเพลินจนภาพตัดไปเลยล่ะ จะเป็นอย่างไร?

 

ดร.ข้าว จะมาไขปริศนาให้ฟังกันว่า แอลกอฮอล์ที่เราดื่มเข้าไปมันทำอะไรกับร่างกายบ้าง แล้วความรู้ทางวิทยาศาสตร์จะมีวิธีช่วยจัดการกับอาการปวดหัวหลังดื่มแอลกอฮอล์ที่แสนทรมานได้ไหม

 

ทำไมดื่มแอลกอฮอล์แล้วต้องเมา แอลกอฮอล์เข้าไปทำอะไรกับสมองบ้าง

เวลาที่ดื่มของมึนเมาเข้าไปในระดับหนึ่ง ทุกคนมักจะเริ่มมีอาการกรึ่มๆ มึนๆ เหมือนสมองทำงานไม่ปกติ นั่นก็เพราะแอลกอฮอล์มันเข้าไปกดประสาทจนทำให้สมองทำงานได้ช้าลง จนกระทบการทำงานของอวัยวะอื่นๆ ไปด้วย ตาเริ่มพร่า หูแว่ว จมูกได้กลิ่นผิดเพี้ยน ทรงตัวไม่ค่อยอยู่ ควบคุมอารมณ์ไม่ค่อยได้ สติหลุด หรืออาจถึงขั้นภาพตัด จำอะไรไม่ได้เลยก็มีเหมือนกัน

 

ย้อนกลับไปตอนที่ยังไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์ สมองของคนเราจะมีหน้าที่ส่งกระแสประสาทไปตามอวัยวะต่างๆ เพื่อบอกให้ทำงานตามระบบ ซึ่งการที่กระแสประสาทจะวิ่งจากสมองไปจนถึงจุดหมายได้จะต้องผ่านสารสื่อประสาทสองตัว นั่นก็คือ กลูตาเมต และ กาบา 

 

กลูตาเมต เป็นเหมือนไฟเขียวที่คอยเปิดทางให้กระแสประสาทวิ่งไปถึงจุดหมายได้อย่างสะดวกราบรื่น จนอวัยวะปลายทางสามารถทำงานได้อย่างเป็นปกติ

 

กาบา เป็นเหมือนไม้กั้นที่คอยขวางกระแสประสาทไม่ให้วิ่งผ่านไปได้อย่างสะดวก ซึ่งส่งผลให้สมองอาจสั่งการอวัยวะปลายทางไม่ได้ หรือสั่งการได้ช้าลง

 

โดยปกติแล้วทั้งกลูตาเมตกับกาบาจะทำงานสอดประสานกันได้ลงตัว แต่เมื่อมีแอลกอฮอล์ซึ่งเป็นเหมือนสิ่งแปลกปลอมเข้ามา ร่างกายจะเริ่มปั่นป่วนไม่เป็นสุข และทำให้กาบาทำงานมากขึ้น คือขวางกั้นกระแสประสาทที่สมองส่งออกบ่อยครั้งจนขัดขวางการทำงานของกลูตาเมต เหมือนการจราจรในร่างกายติดขัด จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สมองและร่างกายทำงานไม่เป็นอย่างใจ รับรู้สิ่งต่างๆ ช้าลง ทรงตัวไม่อยู่ ควบคุมอารมณ์ไม่ได้ ซึ่งเป็นอาการของคนเมานั่นเอง

 

ทั้งนี้ การทำงานที่ช้าลงของสมองมีความสัมพันธ์กับปริมาณแอลกอฮอล์ที่มีในร่างกาย ถ้ามีน้อย เราอาจจะแค่รู้สึกมึนๆ แต่ถ้าปริมาณแอลกอฮอล์มากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงระดับที่ร่างกายต้านไม่ไหว สมองก็จะเข้าสู่ภาวะ Black out ภาพตัด จำอะไรไม่ได้เลย

 

แต่ถ้าคุณเป็นสายแกร่ง ดื่มแอลกอฮอล์บ่อยเป็นกิจวัตร สมองอันแสนชาญฉลาดของเราจะเริ่มปรับตัว พอรู้ว่าแอลกอฮอล์ทำให้การเดินทางของกระแสประสาทมีปัญหา มันก็จะไปเพิ่มกลูตาเมตให้ทำงานได้ดีขึ้น และสั่งกาบาว่าให้ขวางทางแป๊บเดียวก็พอ เมื่อการจราจรคล่องตัว สมองจะแอ็กทีฟมากขึ้นเมื่อเราดื่มแอลกอฮอล์บ่อย ฟังดูเหมือนจะดี แต่ถ้าปล่อยให้เป็นอย่างนั้นนานๆ สุดท้ายแล้วคุณอาจจะกลายเป็นคนติดแอลกอฮอล์โดยไม่รู้ตัว เพราะดื่มเท่าไรก็ไม่เมา ถ้าอยากเมาก็ต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งแน่นอนว่าไม่ได้ส่งผลดีต่อร่างกาย

 

อาการแฮงก์ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ตามกลไกของร่างกายมนุษย์ ไม่ว่าจะกินอะไรเข้าไปก็ตาม อาหารทุกชนิดจะต้องผ่านด่านของตับก่อน แล้วถึงจะปล่อยให้สารอาหารที่มีประโยชน์ให้ไหลไปทั่วร่างกาย แต่ถ้าเป็นของแปลกปลอมอย่างแอลกอฮอล์ ตับจะรู้ว่าสิ่งนี้คือของไม่ดี และต้องจัดการแปรรูปให้อยู่ในสภาพที่ปลอดภัยก่อนจะส่งออกไปที่อื่น 

 

เมื่อแอลกอฮอล์วิ่งไปถึงตับ มันจะต้องใช้เอนไซม์สองตัวคือ Alcohol Dehydrogenase (ADH) และ Aldehyde Dehydrogenase (ALDH) เพื่อเปลี่ยนรูปสิ่งแปลกปลอมที่เป็นพิษให้กลายเป็นสารปลอดภัยที่สามารถขับออกมาเป็นปัสสาวะได้ แต่ปัญหาคือร่างกายของแต่ละคนมีเอนไซม์ทั้งสองตัวในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ในคนที่มีน้อยก็จะเมาเร็ว มีอาการบ่งบอกเร็วหน่อย เช่น ดื่มแอลกอฮอล์แล้วตัวแดง เป็นต้น

 

แล้วการแปลงร่างนี้เกี่ยวกับการแฮงก์อย่างไร คำตอบก็คือกระบวนการที่ว่าไม่ได้ใช้แค่เอนไซม์เท่านั้น แต่จะมีสารที่ถูกผลิตจากตับอีกตัวหนึ่งชื่อว่า Glutathione ที่คอยเป็นลูกมือช่วยงานอยู่ด้วย ถ้าดื่มแอลกอฮอล์เข้าไปเยอะมาก แต่ Glutathione มีไม่พอ เอนไซม์ในตับก็จะทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ สารพิษจากแอลกอฮอล์ก็จะหลุดรอดออกไปบางส่วน วิ่งไปทั่วร่างกาย รวมไปถึงสมอง จนเกิดเป็นความรู้สึกปวดหัวแบบคนที่มีอาการแฮงก์จากการดื่มนั่นเอง

 

ทริกแก้แฮงก์ที่สายดื่มต้องรู้ วิทยาศาสตร์ช่วยได้ 

 

  1. ไม่ดื่มแอลกอฮอล์ตอนที่ท้องว่าง ควรกินอาหารรองท้องก่อนหนึ่งชั้น เพื่อให้แอลกอฮอล์ไม่วิ่งไปที่ลำไส้เพื่อดูดซึมในเวลาที่รวดเร็วเกินไป และให้ตับพอมีเวลาในการแปลงร่างสารพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

 

  1. ดื่มน้ำเยอะๆ ทั้งก่อน ระหว่าง และหลังดื่มแอลกอฮอล์ นอกจากจะเร่งให้เราขับปัสสาวะออกมาเร็วขึ้นเพื่อลดการทำงานหนักของตับแล้ว การกักเก็บน้ำหล่อเลี้ยงไว้เพื่อควบคุมไม่ให้ร่างกายมีปริมาณน้ำน้อยเกินไป (Dehydrated) จนต้องดึงน้ำจากสมองออกมาเพื่อใช้งาน เพราะถ้าน้ำในสมองแห้ง มันจะหดตัวเล็กลง และทำให้เกิดอาการปวดหัวมากๆ ตามมา

 

  1. หลีกเลี่ยงแอลกอฮอล์สีเข้ม เช่น ไวน์ บรั่นดี วิสกี้ เหตุผลเพราะในขั้นตอนการกลั่นของเครื่องดื่มเหล่านี้จะไม่ได้ได้มาแค่เอทานอล แต่จะได้สารอื่นที่ร่างกายขับออกได้ยากมาด้วย และเมื่ออวัยวะภายในต้องทำงานหนักขึ้น ก็จะทำให้รู้สึกปวดหัวแฮงก์หนักกว่าเดิม 

 

  1. หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแก๊ส เช่น เบียร์ โซดา น้ำอัดลม ก่อนดื่มเหล้า เพราะจะทำให้ร่างกายการดูดซึมแอลกอฮอล์ได้รวดเร็วขึ้น ทำให้เมาง่ายกว่าปกติ

 

ฟังเอพิโสดนี้จบ คราวนี้สายดื่มทั้งหลายก็ปาร์ตี้กันได้แบบยาวๆ ไม่ต้องกลัวแฮงก์หนักอีกต่อไป ทั้งนี้ การดื่มแอลกอฮอล์ถือเป็นความพึงพอใจส่วนบุคคล ใครที่ชอบดื่มแอลกอฮอล์ก็ไม่ใช่เรื่องผิด เพียงแต่ต้องดื่มอย่างมีสติ รู้ลิมิตตัวเอง และเตรียมร่างกายให้พร้อมตามทริกที่เราแนะนำไป เพราะการดื่มที่ดีก็ต้องตีคู่ไปการรู้จักรับผิดชอบตัวเองและคนรอบข้างหลังดื่มด้วย

 


 

Credits

 

The Host ดร.ข้าว ต้นสมบูรณ์

Episode Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative Care Label

Video Editor จุฑาภัทร มนตรีศาสตร์

Sound Director กฤตพล จียะเกียรติ

Sound Designer เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Coordinator & Admin อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Graphic Designer ธนิดา โตวิวัฒน์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin นิพพิชฌน์ ชุลีนวน, พฤกษา แซ่เต็ง

Proofreader ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

Webmaster อารยา ปานศรี

Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน ธนอุดมกรณ์, อาทิตยา อิสสรานุสรณ์, ฉัฐนภา โพธิ์เงิน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X