ทุกวันนี้เวลาองค์กรหรือหน่วยงานใดคิดจะขยับตัวเปลี่ยนแปลงอะไร เรามักจะได้ยินคำว่า ‘4.0’ เต็มไปหมด แต่ครั้นจะหาแนวทางการปรับตัวเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมจริงๆ ก็อาจจะต้องใช้เวลาพอสมควร
สำหรับผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์มือถืออย่าง ดีแทค (dtac) มองว่า ‘ถึงเวลาแล้ว’ ที่ต้องลุกขึ้นมาปฏิรูปองค์กรและทักษะความสามารถของพนักงานในบริษัท ผ่านแคมเปญ ‘40-hour Challenge’
แล้ว 40-hour Challenge หรือโปรแกรม 40 ชั่วโมงคืออะไร?
ข้อมูลผลสำรวจสถาบัน Capgemini Digital Transformation พบว่า 50% ขององค์กรส่วนใหญ่ทั่วโลกในทุกวันนี้ล้วนขาดบุคลากรที่มีทักษะด้านดิจิทัลด้วยกันทั้งนั้น
Digital Skill หรือ Digital Literacy มีความหมายครอบคลุมถึงทักษะความสามารถในการประยุกต์ใช้อุปกรณ์เทคโนโลยี คอมพิวเตอร์ และการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตแบบ IOT รวมถึงการใช้งานโซเชียลมีเดียเพื่อประยุกต์ใช้ในสายงานของตัวเองได้อย่างมีประโยชน์และเหมาะสม
ขณะที่พนักงานและคนดิจิทัลยุคปัจจุบันก็คาดหวังที่จะได้เรียนรู้ทักษะด้านดิจิทัลจากองค์กรที่ตนสังกัดอยู่เพิ่มขึ้น
โปรแกรม 40-hour Challenge ของดีแทคจึงเกิดขึ้นด้วยเหตุผลดังกล่าว เพื่อสนับสนุนให้ผู้คนในบริษัทและพนักงานจำนวนกว่า 4,000 คนได้เรียนรู้-สั่งสมความสามารถด้านดิจิทัลผ่านการเข้าคอร์สอบรมบนระบบออนไลน์ที่พัฒนาร่วมกับ Lynda.com, Coursera และ Telenor ซึ่งพนักงานทุกคนสามารถเข้าไปศึกษาบทเรียนต่างๆ ผ่านแอปพลิเคชัน Plearn ของดีแทคได้ทุกที่ทุกเวลา และไม่จำกัดเวลา โดยตั้งเป้าขั้นต่ำไว้ว่าพนักงานควรจะเข้าศึกษาให้ได้ไม่ต่ำกว่าคนละ 40 ชั่วโมงในสิ้นปีนี้ ส่วนเป้าหมายขององค์กรตั้งจำนวนชั่วโมงโดยรวมไว้ที่ 100,000 ชั่วโมง
ตัวอย่างทักษะดิจิทัล 5 ประการที่สำคัญ เช่น
- ดิจิทัล มาร์เก็ตติ้ง (Digital Marketing)
- ดิจิทัล แชนแนล (Digital Channel)
- การวิเคราะห์เชิงประยุกต์ (Applied Analytics)
- การออกแบบ (Design)
- การพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Product Development)
กลยุทธ์จูงใจต้องแตกต่างและดึงดูด ที่สำคัญต้องไม่ใช้ ‘การบังคับ’
การจะล็อกอินเข้าใช้แอปพลิเคชัน Plearn ได้ คุณจะต้องเป็นบุคลากรของดีแทคเสียก่อน ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าอิจฉามากๆ สำหรับพนักงานดีแทค เนื่องจากในแพลตฟอร์มของพวกเขามีหลักสูตรบทเรียนต่างๆ ให้เลือกหลากหลายถึง 22 คอร์สผ่านรูปแบบของคลิปวิดีโอหรือบทความที่ให้ผู้เรียนได้ศึกษาจริง พร้อมบททดสอบปิดท้าย
นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคลดีแทค บอกว่า 10% ของจำนวนพนักงานทั้งหมดเริ่มทยอยเข้ามาอบรมหลักสูตร 40-hour Challenge เรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ดี ด้วยสัดส่วนบุคลากรบริษัทอัตรา 50-50 ที่แบ่งเป็นคนรุ่นเก่าและคนรุ่นใหม่ เป็นหนึ่งปัจจัยสำคัญที่ทำให้พนักงานบางส่วนไม่ได้รู้สึกยินดียินร้ายว่าตนจะต้องปรับตัวเพื่อเข้าสู่บทเรียนการฝึกทักษะด้านดิจิทัลแต่อย่างใด
โจทย์สำคัญที่ดีแทคจะต้องตีให้แตกในครั้งนี้คือ ‘ทำอย่างไรให้พนักงานตระหนักว่าตนต้องปรับตัว และเข้าศึกษาคอร์สการเรียนออนไลน์ที่บริษัทเป็นผู้เตรียมไว้ให้’
กลยุทธ์สำคัญที่ทางดีแทคใช้ในครั้งนี้คือเกมิฟิเคชัน (Gamification) หรือการนำรูปแบบปลดล็อกด่านของเกมและการเข้าศึกษาบทเรียนเพื่อแลกรับของรางวัลและคอยน์ต่างๆ มาใช้
โดยทุกๆ บทเรียนจะมีมูลค่าของรางวัลและหน่วยเงินที่ได้รับต่างกันออกไป ส่วนเจ้าหน้าที่และหัวหน้าระดับสูงก็สามารถให้คอยน์แก่ลูกทีมหรือพนักงานคนอื่นๆ เพื่อเป็นของรางวัลในกรณีที่ทำแคมเปญต่างๆ สำเร็จ ซึ่งเงินรางวัลที่ได้รับก็สามารถนำไปใช้แลกเปลี่ยนเป็นเงินจริงๆ จ่ายค่าน้ำ-ค่าไฟผ่านแอปฯ ชมชอบ (ChomCHOB) หรือค่าโดยสาร BTS Rabbit Card ได้อีกด้วย
วิธีนี้ถือเป็นการดึงดูดจูงใจให้พนักงานเข้ามาค้นคว้าหาความรู้ผ่านแอปฯ Plearn อีกทางหนึ่ง เพราะดีแทคประกาศชัดว่าจะไม่มีการบังคับให้พนักงานเข้าร่วมหลักสูตรอบรม 40 ชั่วโมงที่ว่านี้เด็ดขาด
“การฝึกอบรมจะเปิดให้พนักงานสามารถเลือกได้อย่างอิสระ ต่างจากรูปแบบการเทรนแบบเดิมๆ ที่หัวหน้าหรือฝ่ายบุคคลจะเป็นผู้กำหนด ซึ่งการฝึกอบรมในยุคนี้จะอิงตามเป้าหมายของพนักงานแต่ละคน รวมถึงเป้าหมายของสายงานและหน่วยงานที่เขาสังกัดอยู่” นาฏฤดีกล่าว
เมื่อถูกถามว่าดีแทครู้สึกอย่างไร หากพนักงานที่ตัวเองลงทุนพัฒนาเสริมทักษะด้านดิจิทัลให้จะถูกซื้อตัวไปอยู่กับองค์กรอื่นๆ นาฏฤดียอมรับว่าดีแทคเองก็กลัวจะประสบเหตุการณ์ดังกล่าวเช่นกัน ดังนั้นบริษัทจึงต้องปรับวัฒนธรรมขององค์กรให้ต่างจากขนบธรรมเนียมเดิมๆ
“เราต้องปรับรูปแบบองค์กรให้เซ็กซี่ขึ้นไปด้วย เพื่อให้เกิดสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมกับคนดิจิทัล และดึงดูดพวกเขา
“วันนี้เราใช้บางส่วนของ Machine Learning และ AI ในประเทศไทย เรากำลังทำงานกับข้อมูลขนาดใหญ่ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัลของดีแทคทำให้เราเป็นที่ต้องการอย่างมากสำหรับผู้ที่มีความสามารถด้านดิจิทัล ซึ่งผู้ที่มีทักษะด้านดิจิทัลก็จะดึงดูดซึ่งกันและกัน”
จากข้อมูลการเลื่อนตำแหน่งภายในบริษัทดีแทคเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา พบว่าองค์กรเปิดให้พนักงานทุกคนสามารถเปลี่ยนไปปฏิบัติหน้าที่ในสายงานอื่นๆ ได้อย่างอิสระมากกว่า 40% ส่วนอีก 10% สามารถเลื่อนลำดับตำแหน่งและได้รับการโปรโมต
นี่จึงเป็นอีกก้าวย่างสุดท้าทายของดีแทคกับการพัฒนาบุคลากรไทยในองค์กรให้มีประสิทธิภาพทั้งด้านความสามารถและทักษะความพร้อมด้านดิจิทัล เพื่อตอบรับกับโลกยุคใหม่และเศรษฐกิจ 4.0