นพ.ชาติทนง ยอดวุฒิ อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ให้ความรู้สำหรับผู้ที่กำลังสูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 30 ปี และมากกว่า 1 ซองต่อวัน (หรือเท่ากับ 30 ปีซอง Pack-Year) ในช่วงอายุ 55-75 ปี หรือสูบบุหรี่ระยะเวลาเฉลี่ยมากกว่า 20 ปีซอง ร่วมกับปัจจัยอื่นๆ อย่างกรรมพันธุ์ มีความเสี่ยงสูงที่จะเป็นมะเร็งปอดได้ ซึ่งสารอนุมูลอิสระที่เกิดจากควันบุหรี่เป็นตัวการสำคัญที่เข้าไปทำลายโครงสร้างป้องกันตัวเองของหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดเสื่อมสภาพ โดยเฉพาะหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะสำคัญต่างๆ ของร่างกาย เช่น หลอดเลือดสมอง หลอดเลือดหัวใจ ฯลฯ รวมถึงทำให้ผนังหลอดเลือดแดงแข็ง นำไปสู่โรคหลอดเลือดหัวใจตีบชนิดเรื้อรัง กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน โรคหลอดเลือดสมอง ปวดขาจากหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ การโป่งพองของหลอดเลือดแดงใหญ่ในช่องท้อง
ยิ่งเวลาที่พ่นควันบุหรี่ออกมา ผู้ที่สูดควันบุหรี่จะได้รับสารเหล่านี้เทียบเท่ากับคนที่สูบและสารพิษในบุหรี่ยังกระตุ้นให้มีภาวะความดันโลหิตสูง โดยผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความดันโลหิตสูงมากกว่าคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่หลายเท่า โดยเฉพาะความดันโลหิตสูงในคนอายุน้อยที่ไม่มีกรรมพันธุ์ปัจจุบันพบได้มากขึ้น เมื่อความดันโลหิตสูงก็ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงหลอดเลือดตีบตามอวัยวะต่างๆ ทำให้การตรวจสุขภาพเป็นเรื่องสำคัญ
Pop Tip: การสูบบุหรี่เทียบได้กับการสูดฝุ่น PM2.5 เข้าไปในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อปอด โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพองทั้งระยะเริ่มต้นและรุนแรง แพทย์จึงแนะนำให้ผู้ที่สูบบุหรี่หรือเคยสูบบุหรี่ควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดและหลอดเลือดหัวใจทุกๆ 5 ปี ส่วนกลุ่มที่เสี่ยงสูงควรตรวจคัดกรองมะเร็งปอดทุกๆ ปี
ภาพ: Shutterstock