×

‘เงินบาท’ อ่อนค่าแตะ 33.51 ต่อดอลลาร์ เหตุตลาดปิดรับความเสี่ยง เตือนแนวโน้มผันผวนสูง

15.03.2022
  • LOADING...
เงินบาทอ่อนค่า

ค่าเงินบาทยังคงอ่อนค่าลงต่อเนื่อง หลังผู้ลงทุนโดยรวมอยู่ในโหมดปิดรับความเสี่ยง รอดูการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครน และลุ้นผลประชุม Fed เตือนแนวโน้มยังผันผวนแรง

 

สถานการณ์ค่าเงินบาทเช้าวันนี้ (15 มีนาคม) เปิดตลาดที่ระดับ 33.44 บาทต่อดอลลาร์ ก่อนจะอ่อนค่าลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 31.51 บาทต่อดอลลาร์ เทียบกับราคาปิดวันก่อนหน้าที่ระดับ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ 

 

พูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ผู้เล่นในตลาดโดยรวมยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก หลังจากที่การเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซีย-ยูเครนล่าสุดยังไม่ได้ข้อสรุป ทว่าผู้เล่นในตลาดต่างคาดหวังว่าการเจรจาสันติภาพจะยังคงดำเนินต่อไปและอาจช่วยยุติสงครามได้ในที่สุด 

 

นอกจากนี้ผู้เล่นในตลาดจะเริ่มกลับมาให้ความสนใจแนวโน้มนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) มากขึ้น และผู้เล่นบางส่วนยังคงกังวลโอกาสที่ Fed อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ ดังจะเห็นได้จากแรงเทขายหุ้นเทคฯ ที่กลับมาอีกครั้ง หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องสู่ระดับ 2.13% กดดันให้ดัชนีหุ้นเทคฯ สหรัฐฯ Nasdaq ปรับตัวลงกว่า -2.04% ส่วนดัชนี S&P 500 ย่อตัวลงราว -0.74% จากแรงขายหุ้นเทคฯ และหุ้นกลุ่มพลังงานที่ปรับตัวลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่ย่อลงต่อเนื่อง (ราคาน้ำมันดิบเบรนท์ล่าสุดอยู่ที่ 105.2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล) ขณะเดียวกันดัชนี S&P 500 ก็ได้แรงหนุนจากหุ้นกลุ่มการเงินที่พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นตามบอนด์ยีลด์  

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป ปรับตัวขึ้นราว +1.47% หลังผู้เล่นบางส่วนยังคงมีความหวังต่อการเจรจาสันติภาพระหว่างรัสเซียกับยูเครน ส่งผลให้หุ้นในกลุ่ม Cyclical ที่ปรับตัวลงหนักก่อนหน้า เช่น หุ้นกลุ่มการเงินและกลุ่มยานยนต์ ทยอยปรับตัวขึ้น เช่น Volkswagen +4.4%, ING +4.4% ทั้งนี้เราคงแนะนำให้ Wait and See รอสัญญาณเชิงเทคนิคัลยืนยันการกลับตัวที่ชัดเจนก่อน เนื่องจากสถานการณ์สงครามและการเจรจาก็ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้ม Fed อาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ ได้กดดันให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 2.13% ซึ่งเรามองว่าบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจแกว่งตัว Sideways ใกล้ระดับ 2.00% ไปก่อน จนกว่าจะรับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินของ Fed ที่ชัดเจนจากการประชุม Fed ในวันพฤหัสบดีนี้ ซึ่งเราคาดว่า หากตลาดกล้ากลับมาเปิดรับความเสี่ยงได้ บอนด์ยีลด์ระยะยาวก็จะสามารถทยอยปรับตัวสูงขึ้นได้ต่อเนื่อง จากแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของ Fed โดยเฉพาะการปรับลดงบดุล 

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน ความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยเพื่อลดความเสี่ยงจากภาวะสงคราม รวมถึงการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ จากแนวโน้ม Fed ใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ยังคงหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังแกว่งตัวใกล้ระดับ 99.08 จุด 

 

ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของทั้งเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึงความหวังต่อการเจรจาสันติภาพ ได้กดดันให้ผู้เล่นในตลาดทยอยขายทำกำไรทองคำ กดดันให้ราคาทองคำย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทั้งนี้ ผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะการย่อตัวลงของราคาทองคำ เพื่อรอจังหวะ Buy on Dip ได้ เพราะสถานการณ์สงครามยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง โดยคาดว่าโซนที่ผู้เล่นอาจรอจะอยู่ในช่วง 1,930-1,950 ดอลลาร์ต่อออนซ์ เพื่อรอลุ้นจังหวะรีบาวด์กลับสู่ระดับ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ตลาดจะรอติดตามการเจรจาระหว่างรัสเซีย-ยูเครนอย่างใกล้ชิด หลังการเจรจาล่าสุดยังไม่สามารถนำไปสู่ข้อตกลงร่วมเพื่อหยุดยิงได้ อย่างไรก็ดี ทั้งสองฝ่ายยังพร้อมที่จะกลับมาเดินหน้าการเจรจาเพื่อยุติสงคราม แต่ด้วยแนวโน้มสถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง ทำให้ตลาดการเงินยังมีโอกาสผันผวนสูงต่อไปได้ในระยะสั้นนี้ 

 

ในส่วนรายงานข้อมูลเศรษฐกิจนั้นมองว่า ผลกระทบจากสงครามจะกดดันความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจ (ZEW Economic Sentiment) ของเยอรมนีและยุโรปในเดือนมีนาคมให้ปรับตัวลดลงอย่างหนักและมีโอกาสที่ดัชนีความเชื่อมั่นจะต่ำกว่า 0 จุด (ดัชนีต่ำกว่า 0 หมายถึง มุมมองเชิงลบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ) ซึ่งความเชื่อมั่นที่ลดลงอาจกดดันแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป ตลาดหุ้นยุโรป รวมถึงค่าเงินยูโรได้ในระยะสั้นนี้

 

สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท พูนกล่าวว่า แม้เงินบาทมีโอกาสอ่อนค่าลงได้บ้าง แต่การอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มชะลอลงได้ และเงินบาทจะเริ่มแกว่งตัว Sideways หลังผู้เล่นในตลาดยังคงมีความหวังต่อการเจรจาเพื่อยุติสงคราม โดยเห็นได้จากการที่ผู้เล่นในตลาดไม่ได้เร่งเทขายสินทรัพย์เสี่ยงรุนแรง แม้การเจรจาล่าสุดจะยังไม่ประสบความสำเร็จก็ตาม 

 

นอกจากนี้ควรจับตาแรงซื้อสินทรัพย์ไทยจากนักลงทุนต่างชาติ ซึ่งเรามองว่าจะเป็นปัจจัยที่สำคัญเช่นกันต่อทิศทางของเงินบาท โดยนักลงทุนต่างชาติเริ่มกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยบ้าง แต่ยังคงเห็นแรงขายบอนด์ระยะสั้นอยู่ ทว่าแรงขายบอนด์ระยะสั้นก็อาจเริ่มลดลง หลังจากที่นักลงทุนต่างชาติได้ปิดสถานะเก็งกำไรเงินบาทไปมากแล้ว ดังนั้นหากสถานการณ์สงครามไม่ได้เลวร้ายหรือทวีความรุนแรงมากขึ้น เราประเมินว่านักลงทุนต่างชาติก็พร้อมจะกลับเข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยอีกครั้งได้

 

อนึ่งเรามองว่าแนวต้านของเงินบาทจะอยู่ใกล้โซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ (แนวต้านถัดไปจะอยู่ที่ 33.75) ซึ่งเริ่มเห็นบรรดาผู้ส่งออกมารอขายเงินดอลลาร์ในช่วงดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.00-33.20 บาทต่อดอลลาร์ โดยฝั่งผู้นำเข้ารวมถึงผู้เล่นที่เป็นบริษัทต่างชาติต่างก็รอจังหวะ Buy on Dip อยู่ในโซนดังกล่าวพอสมควร 

 

อย่างไรก็ดี สภาวะสงครามที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงอาจกดดันให้ตลาดพลิกกลับไปปิดรับความเสี่ยงและผันผวนหนักได้ทุกเมื่อ ซึ่งเรามองว่าภาพดังกล่าวจะทำให้เงินบาทอาจผันผวนในกรอบที่กว้างกว่าช่วงปกติได้ ทำให้การปิดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนควรจะต้องมีการใช้เครื่องมือที่หลากหลายมากขึ้น อาทิ การใช้ออปชันเข้ามาช่วยโดย มองกรอบเงินบาทวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X