Kirin Holdings บริษัทเครื่องดื่มสัญชาติญี่ปุ่น เตรียมยุติการดำเนินงานในเมียนมา หลังจากสรุปว่าไม่มีความหวังที่จะแก้ไขข้อพิพาทกับพันธมิตรที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทัพได้ภายในหนึ่งปี
“น่าผิดหวังมาก มีความรู้สึกว่าแบรนด์ (เบียร์) แข็งแกร่งขึ้นจนถึงตอนนี้ แต่ฉันช่วยไม่ได้” โยชิโนริ อิโซซากิ ประธานและซีอีโอของ Kirin กล่าวในระหว่างแถลงข่าว พร้อมเผยว่า คณะกรรมการบริษัทส่วนใหญ่ต่างเห็นด้วยต่อการถอดธุรกิจ
ในแถลงการณ์ที่แยกออกมา Kirin กล่าวว่า “ในการจัดทำแผนการถอนตัว Kirin Holdings จะให้ความสำคัญกับการดำรงชีวิตและความปลอดภัยของพนักงานในท้องถิ่น ครอบครัวของพวกเขา และจะให้ความสำคัญกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมดตามนโยบายสิทธิมนุษยชนของเรา”
Nikkei Asia รายงานว่า Kirin จะเริ่มดำเนินการยุติธุรกิจในเมียนมา ซึ่งดำเนินการในฐานะการร่วมทุนกับ Myanma Economic Holdings (MEHL) ที่กองทัพเป็นเจ้าของ แม้ว่า Kirin กำลังพิจารณาทางเลือกในการการขายให้กับบริษัทบุคคลที่สาม แต่ก็ตั้งเป้าที่จะทำข้อตกลงให้เสร็จสิ้นภายในเดือนมิถุนายน
การถอนตัวนั้นรวมถึง Myanmar Brewery ซึ่งเป็นบริษัทเบียร์ท้องถิ่นที่ Kirin เข้าถือหุ้นในปี 2015 และ Mandalay Brewery ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนกับ MEHL ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 2017 โดย Kirin ถือหุ้น 51% ในทั้งสองบริษัทและ MEHL ถือหุ้นที่เหลือ
หลังจากเมียนมาเริ่มเปลี่ยนผ่านสู่ระบอบประชาธิปไตยในปี 2011 บริษัทต่างชาติหลายแห่ง เช่น Kirin เข้าสู่ตลาดโดยหวังว่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่ง แต่นับตั้งแต่การเข้ายึดอำนาจของกองทัพในเดือนกุมภาพันธ์ 2021 ธุรกิจต่างชาติก็ประกาศถอนตัวออกไปทีละคน
การเคลื่อนไหวของ Kirin จะเป็นครั้งแรกที่บริษัทใหญ่ของญี่ปุ่นได้ยุติกิจการร่วมค้าที่เกี่ยวข้องกับบริษัทในเครือทางทหารและถอนตัวออกจากประเทศ ขณะเดียวกันการตัดสินใจของ Kirin อาจส่งผลต่อกลยุทธ์ของบริษัทอื่นเช่นกัน
การถอนตัวออกจากธุรกิจเมียนมาเป็นการสูญเสียครั้งใหญ่สำหรับ Kirin ซึ่งธุรกิจที่นั่นเป็นธุรกิจที่ทำกำไรได้เป็นอย่างดี ดังนั้น Kirin จึงตั้งเป้าที่จะขยายธุรกิจด้านสุขภาพเพื่อชดเชยรายได้และกำไรที่หายไป
สำหรับปีงบประมาณ 2021 กำไรสุทธิของ Kirin ลดลง 16.9% มาอยู่ที่ 5.98 หมื่นล้านเยน โดยได้รับผลกระทบจากรายได้ที่ลดลงซึ่งเคยเป็นของธุรกิจในเมียนมาที่ทำกำไรได้สูง แต่ Kirin คาดการณ์ว่ากำไรสุทธิสำหรับปีงบประมาณ 2022 จะเพิ่มขึ้น 91.5% เมื่อเทียบเป็นรายปีสู่ระดับ 1.145 แสนล้านเยน
Kirin ประสบปัญหากับการเข้าซื้อกิจการผู้ผลิตเบียร์และผู้ผลิตน้ำอัดลมในต่างประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งได้แรงหนุนจากตลาดที่อิ่มตัวในญี่ปุ่น ตัวอย่างเช่น Kirin ในปี 2011 ได้เข้าซื้อธุรกิจเบียร์ในบราซิล จากนั้นจึงขายออกไปในปี 2017 ท่ามกลางการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น แต่อิโซซากิย้ำว่าบริษัทจะไม่ยอมแพ้ในการขยายธุรกิจไปทั่วโลก
เนื่องจากผู้บริโภคมีรสนิยมในผลิตภัณฑ์ระดับพรีเมียม Kirin จึงมองหาธุรกิจเหล่านี้ในประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยได้มีการเข้าซื้อกิจการ Fermentum Group ซึ่งผลิตคราฟต์เบียร์และเครื่องดื่มอื่นๆ ในออสเตรเลีย และ Bell’s Brewery แห่งสหรัฐอเมริกา นอกจากนี้ Kirin ย้ำว่าจะมองหาโอกาสในการลงทุนในเอเชียอยู่เสมอ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- Kirin ประกาศ ‘ยุติการร่วมลงทุน’ ในโรงเบียร์สองแห่งที่กองทัพเมียนมาเป็นเจ้าของ หลังเกิดรัฐประหาร
- Kirin ต้องการ ‘ยุติการร่วมลงทุน’ ในธุรกิจโรงเบียร์กับ ‘กองทัพเมียนมา’ ให้ได้ภายใน 1 ปี หวั่นนานไปจะกระทบถึงชื่อเสียง
อ้างอิง:
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
Twitter: twitter.com/standard_wealth
Instagram: instagram.com/thestandardwealth
Official Line: https://lin.ee/xfPbXUP