×

ระเบิดไขมันทั่วร่าง ด้วยการออกกำลังกายแบบ HIIT ดีต่อร่างกายอย่างไร เหมาะกับใครบ้าง

22.11.2021
  • LOADING...

ลองหรือยัง? การออกกำลังกายแบบ HIIT ที่ไม่ว่าเปิดยูทูบสายสุขภาพไปช่องไหนก็ต้องเจอ

ในปัจจุบันที่ชีวิตต้องเร่งรีบมากขึ้นในทุกๆ ด้าน แม้งานจะเยอะและหนักแค่ไหน แต่ก็ยังต้องพยายามรักษาสุขภาพในเวลาที่มีอยู่จำกัด สายสุขภาพจึงเลือกวิธีออกกำลังกายแบบ HIIT เพื่อดูแลตัวเอง เพราะเป็นรูปแบบที่ใช้เวลาไม่นาน แต่สามารถเผาผลาญแคลอรีได้เยอะเหมือนกับเสียเหงื่อมาหลายชั่วโมง

 

HIIT มาจากคำว่า High-intensity Interval Training หรือ High-intensity Intermittent Training หมายถึงการออกกำลังกายหนักสลับเบาวนไปเรื่อยๆ พูดให้เข้าใจง่ายขึ้นคือมีหลักการคล้ายกับ T25 ซึ่งเป็นที่นิยมมากในหมู่คนไทยช่วงปี 2014

 

การออกกำลังกายแบบ HIIT สามารถแบ่งประเภทไปได้อีกหลายชนิดตามเป้าหมายที่ต้องการ โดยจะแยกจากความเหนื่อยที่ได้จากท่าออกกำลังกายนั้นๆ ซึ่งในทางวิทยาศาสตร์การกีฬาจะมีมาตรวัดหลายตัว แต่สำหรับคนทั่วไปก็สามารถสังเกตง่ายๆ ได้จากอัตราการเต้นของหัวใจเป็นหลัก

 

เมื่ออยู่ในช่วงที่ออกกำลังกายหนัก หรือ High Intensity เราจะต้องออกแรงมาก มีการระเบิดพลังออกมาอย่างรวดเร็วด้วยการวิ่ง กระโดด หรือเวตเทรนนิ่งด้วยกล้ามเนื้อมัดใหญ่อย่างต่อเนื่องในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นมากกว่า 80-100% ของอัตราการเต้นของหัวใจสูงสุดของแต่ละคน กล้ามเนื้อจะทำงานหนักและมีการหลั่งกรดแลกติกออกมา ซึ่งจะทำให้เรารู้สึกเมื่อยล้า พอสลับมาในช่วงที่ออกแรงน้อยลง อัตราการเต้นของหัวใจจะค่อยๆ ลดระดับลง ร่างกายจะมีการสูบฉีดเลือดเข้ามาที่กล้ามเนื้อในปริมาณมากเพื่อเอาออกซิเจนและสารอาหารมาเติมเต็ม และยังช่วยขับเอากรดแลกติกออก ทำให้กล้ามเนื้อฟื้นตัวในระยะสั้นๆ และพร้อมจะออกกำลังกายต่อในเซ็ตต่อไป

 

การฝึก HIIT อย่างต่อเนื่อง นอกจากจะทำให้แข็งแรงขึ้นแล้วยังช่วยให้ร่างกายทนทานต่อความเมื่อยล้าและฟื้นตัวไวมากขึ้นด้วย จึงไม่น่าแปลกใจว่าทำไมโค้ชกีฬาและเทรนเนอร์หลายคนมักจะนำการออกกำลังกายแบบ HIIT มาใช้ เพราะนอกจากจะสนุกแล้ว ยังสามารถออกแบบท่วงท่าได้หลากหลาย และได้ผลลัพธ์สุขภาพที่ดีในหลายมิติอีกด้วย

 

แต่นอกจากข้อดีแล้วก็ต้องมีข้อควรระวังด้วยเช่นกัน เพราะถ้าหากคุณมีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคที่เกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด เช่น โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือโรคกลุ่มเสี่ยง เช่น อ้วนลงพุง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และไขมันในเลือดสูง การออกกำลังกายในระดับที่หนักมากแบบนี้อาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบขึ้นมาได้

และถ้าคุณยังอยู่ในระดับ Beginner ที่กล้ามเนื้อยังไม่แข็งแรง การฝืนยกน้ำหนักหรือออกแรงมากเกินไปก็อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อได้ ฉะนั้นควรต้องเริ่มจากออกกำลังกายแบบเบามากๆ ก่อน หมั่นสังเกตอาการผิดปกติของตัวเอง แล้วค่อยๆ ให้ร่างกายได้ปรับสภาพไปเรื่อยๆ จะดีกว่า

 

สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าตัวเองเหมาะกับการออกกำลังกายแบบ HIIT หรือเปล่า โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวเกี่ยวกับหัวใจและหลอดเลือด หรือโรคทางกระดูกและข้อ แนะนำให้ลองปรึกษาแพทย์ประจำตัวเพื่อรับคำแนะนำก่อน แต่ถ้าปรึกษาแล้วพบว่าเราไม่เหมาะกับการออกกำลังกายรูปแบบนี้จริงๆ ก็ไม่ต้องเสียใจไป เพราะในโลกนี้มีวิธีออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพดีอีกมากมายหลายวิธี ไม่แน่ว่าสุดท้ายแล้วคุณอาจจะได้ค้นพบวิธีออกกำลังกายที่ใช่สำหรับตัวเองมากกว่าเดิมก็ได้


ติดตามฟังพอดแคสต์ Health Hacker ได้ทุกวันพุธและอาทิตย์ ทาง THE STANDARD Podcast ทุกช่องทาง

 


 

Credits

 

The Host แพทย์หญิงศุภรัศมิ์ ทวนนวรัตน์

 

Show Creator Care Label

Project Manager ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Producer อธิษฐาน กาญจนะพงศ์

Creative นัทธมน หัวใจ

Sound Editor เดชาณัฏฐ์ ธีรดุริยสฤษฏ์

Videographer เสาวภา โตสวาท

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์

Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Channel Admin เอกราช มอเซอร์

Proofreader พรนภัส ชำนาญค้า

Webmaster อารยา ปานศรี

Social Media Admins สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วนัชพร ดวงนิล, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์   

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X