ใครๆ ก็อยากเป็นคนฉลาดใช่ไหมครับ
ความฉลาดมีประโยชน์ตั้งหลายอย่าง อย่างที่เราเห็นๆ กันอยู่โดยทั่วไป ความฉลาดอาจทำให้เราไม่ถูกหลอกได้ง่าย ความฉลาดอาจทำให้เราเรียนเก่ง ทำงานเก่ง ฯลฯ ความฉลาดจึงดูเหมือนเป็นสิ่งพึงปรารถนาของคนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม ที่พูดๆ กันมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้มีอะไรเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ยืนยันว่าความฉลาดเป็นเรื่องดีนะครับ
อ้าว! พูดแบบนี้จะบอกว่า – ฉลาดไม่ดีหรือไง
ไม่หรอกครับ เพราะเรื่องที่อยากจะบอกคุณก่อนก็คือ คนฉลาดนั้นดีนะครับ มีงานวิจัยและการสำรวจหลายชิ้นทีเดียว ที่บอกว่าคนฉลาดนั้นอาจถึงขั้น ‘มีชีวิตที่ดีกว่า’ คนทั่วไปด้วยซ้ำ เพราะคนฉลาด (หมายถึงมีไอคิวสูงกว่า) มีแนวโน้มที่จะมีสุขภาพดีกว่า รวมถึงมีแนวโน้มจะพบกับเรื่องแย่ๆ ในชีวิต (อย่างเช่น ล้มละลาย) น้อยกว่า
เพราะฉะนั้น แม้เราจะยังไม่เข้าใจเหตุผลของมันดีนัก ว่าทำไมคนฉลาดถึงเจอแต่อะไรดีๆ มากกว่า ทว่าเราก็พอสรุปได้ว่า ถ้าดูรวมๆ โดยทั่วๆ ไปแล้ว ฉลาดไว้ก่อนย่อมดีกว่า
เพราะล่าสุด เพิ่งมีรายงานตีพิมพ์ในวารสาร Intelligence ชื่อรายงานว่า High Intelligence: A Risk for Psychological and Physiological Overexcitabilities
โหย, มันคืออะไรกันล่ะนี่
ถ้าแปลตรงตัว ช่ือรายงานนี้แปลได้ความประมาณว่า ถ้าฉลาดมากเกินไป อาจมีความเสี่ยงทั้งทางจิตวิทยาและทางสรีรวิทยาต่อการจะเกิดภาวะ ‘ตื่นเต้นตื่นตัวมากเกินไป’
เรื่องมันเป็นยังไงกันแน่?
รายงานนี้เป็นการบอกเล่าถึงผลการวิจัยของ รูธ คาร์พินสกี้ (Ruth Karpinski) และทีมงานของเธอ เธอมาจากมหาวิทยาลัย Pitzer ซึ่งได้อีเมลคำถามเกี่ยวกับความผิดปกติในด้านจิตวิทยาและสรีรวิทยาส่งไปให้กับกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง
คนกลุ่มนี้คือสมาชิกของกลุ่ม Mensa
แล้วกลุ่ม Mensa คือใคร?
Mensa เป็นสมาคมคนฉลาดครับ แถมยังเป็นสมาคมคนฉลาดที่ใหญ่และเก่าแก่ที่สุดในโลกด้วย
พูดแบบนี้ คุณอาจจะสงสัยอีกว่า แล้ว Mensa นี่มันฉลาดขนาดไหนกันหรือ ถึงได้มารวมตัวเรียกตัวเองว่าเป็นกลุ่มคนฉลาด คำตอบ (ที่อาจทำให้คุณต้องยอมรับถึงความฉลาดของพวกเขา) ก็คือ คนที่จะเข้าร่วมกลุ่ม Mensa ได้ ต้องมีไอคิวสูงมาก คือทำคะแนนไอคิวได้อยู่ที่ 2% สูงสุดของโลก
การที่จะมีไอคิวอยู่ที่ 2% สูงสุด (Top 2%) นั้น คำนวณออกมาแล้วประมาณว่าคุณต้องมีไอคิวราวๆ 132 หรือสูงกว่า ถึงจะเข้ากลุ่ม Mensa ได้ ในขณะที่คนทั่วไปมีไอคิวเฉลี่ยอยู่ที่ 100
คุณอาจจะสงสัยว่า แล้ว Mensa มันมีไว้ทำไม คำตอบก็คือ Mensa ตั้งใจจะรักษาความฉลาดของมนุษย์เอาไว้เพื่อประโยชน์ของมนุษยชาติ การรวมตัวกันนี้ ถ้าจะทำวิจัยอะไรว่าด้วยความฉลาดก็จะทำให้ทำได้ง่าย และเป็นตัวกระตุ้นสิ่งแวดล้อมทางสังคมที่มุ่งเน้นไปสู่ความฉลาดให้แก่สมาชิกของกลุ่มด้วย
คำว่า Mensa หมายถึง โต๊ะ เป็นศัพท์ละติน ถือเป็นสัญลักษณ์ของการนั่งประชุมโต๊ะกลม แปลว่าใครจะถกเถียงอะไรกันก็ได้อย่างเท่าเทียม (ก็มี ‘ความฉลาด’ พอๆ กันแล้วนี่นา)
ทีนี้งานวิจัยนี้เขาก็เลยส่งอีเมลคำถามเรื่องต่างๆ ไปถามสมาชิก Mensa โดยแบ่งออกเป็นสองส่วนใหญ่ๆ นั่นคือส่วนที่เป็นความผิดปกติทางจิตวิทยา ได้แก่ความผิดปกติทางอารมณ์ (Mood Disorders) เช่น โรคซึมเศร้าทั้งแบบเยอะแบบน้อย โรคไบโพลาร์ หรือความผิดปกติในการเข้าสังคมต่างๆ รวมไปถึงอาการหมกมุ่นหรือทำอะไรซ้ำๆ นอกจากนี้ยังสำรวจความผิดปกติทางด้านร่างกาย เช่น อาการแพ้สารต่างๆ ในสภาพแวดล้อม โรคหอบหืด ลมชัก หรือโรคภูมิแพ้ตัวเองด้วย
ผู้ตอบแบบสอบถามจะรายงานว่า เคยได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคพวกนี้อย่างเป็นทางการหรือเปล่า หรือแค่สงสัยว่าจะเป็น จากนั้นก็เอามาวิเคราะห์
พบว่ามีการตอบแบบสอบถามกลับมาราว 75% ซึ่งถือว่าสูงพอสมควร เพราะมีจำนวนมากกว่าสามพันคน จึงสามารถนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขเฉลี่ยในระดับชาติได้
ผลที่ได้ทำให้ผู้วิจัยประหลาดใจไม่น้อย เพราะคนในกลุ่ม Mensa เมื่อเทียบกับประชากรทั่วไปแล้ว ปรากฏว่า Mensa จะมีอาการผิดปกติทางอารมณ์ราว 26.7% ซึ่งสูงกว่าคนทั่วไป ส่วนความผิดปกติทางสังคมจะอยู่ที่ราว 20% ซึ่งก็สูงกว่าคนทั่วไปด้วย (ตัวเลขทั้งสองอย่างในคนทั่วไปจะอยู่ที่ราว 10% ของประชากร) พูดง่ายๆ ก็คือ สูงมากกว่า 2 เท่า
ยิ่งถ้ามาดูว่า คนในกลุ่ม Mensa แพ้โน่นแพ้นี่มากไหม ปรากฏว่ามีคนที่เป็นโรคภูมิแพ้ต่างๆ ถึงราว 33% แต่คนทั่วไปจะมีคนที่แพ้แค่ 11% เท่านั้นเอง เท่ากับกลุ่มคนฉลาดจะเป็นภูมิแพ้มากกว่าคนทั่วไปถึงสามเท่า
คำถามก็คือ – มันเป็นอย่างนี้ไปได้อย่างไร
คาร์พินสกี้และทีมงานเสนอทฤษฎีขึ้นมาทฤษฎีหนึ่ง เรียกว่า Hyper Brain / Hyper Body
ทฤษฎีนี้บอกว่า คนฉลาดนั้น แม้จะได้เปรียบในหลายเรื่อง แต่สิ่งหนึ่งที่คนฉลาดมี และอาจไม่ถือว่าเป็นข้อได้เปรียบ ก็คือภาวะที่เรียกว่า Overexcitabilities หรือ OEs
คำนี้ถ้าแยกออกมาก็คือ Over + Excite + Abilities คือ ‘มีความสามารถที่จะตื่นเต้นได้มากกว่า’ พูดอีกแบบหนึ่งก็คือ คนที่มีภาวะ OE จะตอบสนองต่อสิ่งเร้าหรือการคุกคามของสิ่งแวดล้อมหรือทางสังคมมากกว่า และมากกว่าแบบผิดปกติด้วย ซึ่งสิ่งเร้าที่ว่านี้ เป็นได้ทั้งแต่แค่เสียงที่ทำให้ตกใจ ไปจนถึงการเผชิญหน้ากับคนอื่น
อาการ OE ในทางจิต จะทำให้คนเกิดความกังวล ระแวง ต้องคิดล่วงหน้า วางแผนล่วงหน้าว่าจะเกิดเหตุร้ายๆ อะไรขึ้นได้บ้าง และจะรับมืออย่างไร แต่ถ้าเป็นอาการ OE ในทางสรีระ ก็จะเกิดขึ้นเพราะเมื่อจิตใจตึงเครียด ก็เลยส่งผลต่อร่างกายไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นการปล่อยฮอร์โมนต่างๆ ออกมา ทำให้เกิดความเสื่อมในด้านต่างๆ โดยเฉพาะด้านที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกัน
สองอย่างนี้เกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเป็น ‘วงจรอุบาทว์’ (Vicious Cycle) คือการกระตุ้นอย่างหนึ่งพลอยทำให้อีกอย่างถูกกระตุ้นตามไปด้วย เช่น คนที่ฉลาดมากๆ อาจจะวิเคราะห์คำวิจารณ์ที่ได้จากหัวหน้างานมากเกินไป แล้วเลยจินตนาการถึงผลลัพธ์ออกมาร้ายเกินจริง ซึ่งเรื่องแบบนี้จะไม่เกิดกับคนที่ฉลาดน้อยกว่า เพราะไม่ได้คิดรอบด้าน จึงไม่ระวังระแวงมากนัก ซึ่งความเครียดก็จะไปส่งผลต่อกลไกของร่างกายอย่างที่กล่าวไปแล้ว
อย่างไรก็ตาม การตีความผลที่ได้มานี้ ต้องตีความอย่างระมัดระวังนะครับ เพราะว่าเรายังบอกไม่ได้ว่ามันเป็นเหตุเป็นผลกันโดยตรง (Causation) ระหว่างกันหรือเปล่า หรือว่าเป็นแค่ ‘สัมพันธ์กัน’ (Correlation) เท่านั้น
การพบความผิดปกติเหล่านี้ในกลุ่มคนฉลาด ไม่ได้แปลว่าความฉลาดเป็นตัวการทำให้เกิดความผิดปกติ อีกอย่างหนึ่งก็เป็นไปได้ด้วย ที่คนฉลาดๆ ในกลุ่ม Mensa นี้ อาจจะมีแง่มุมอื่นๆ ในชีวิตที่แตกต่างจากคนทั่วไปด้วย นอกเหนือไปจากเรื่องไอคิวแล้ว ดังนั้นจึงต้องศึกษาอีกมากเพื่อคัดกรองเอาปัจจัยอื่นๆ ออกไป
คาร์พินสกี้บอกว่า คนที่ฉลาดๆ ในกลุ่ม Mensa มักจะสนใจเรื่องฉลาดๆ มากกว่าจะมาใช้เวลาออกกำลังกายหรือมีปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ซึ่งทั้งสองอย่างเป็นประโยชน์ต่อตัวเราทั้งทางกายและทางจิต ดังนั้น การค้นพบของคาร์พินสกี้จึงเป็นเรื่องที่ต้องศึกษาต่อ แต่ในเวลาเดียวกันก็อาจไปยืนยันทฤษฎีอื่นๆ ได้อีก เช่นสภาวะที่เรียกว่า Pleiotropy คือการที่ยีนหนึ่งไปกระตุ้นให้เกิดลักษณะบางอย่างที่ไม่เกี่ยวข้องกัน โดยงานวิจัยอีกชิ้นหนึ่งในปี 2015 โดยโรซาลินด์ อาร์เดน (Rosalind Arden) ที่สรุปว่าความสัมพันธ์ระหว่างไอคิวกับอายุขัย น่าจะอธิบายได้ด้วยการทำงานของยีน
ดังนั้น จึงยังต้องถกเถียงค้นคว้ากันต่อไปนะครับ ว่าความฉลาดส่งผลดีหรือไม่ดีต่อเรามากกว่ากันแน่
แต่ที่แน่ๆ หลายคนคงไม่อยากโง่หรอกใช่ไหมครับ
ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai