ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกเหนือจากสปิริตของนักกีฬาแล้ว สิ่งที่ทำให้โตเกียว 2020 น่าทึ่งและน่าจดจำไม่แพ้งานโอลิมปิกครั้งก่อนๆ ที่จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่และอลังการ คือแนวคิดเรื่องการจัดงานที่เน้นความเรียบง่าย ใส่ใจในรายละเอียด และคำนึงถึงสิ่งอื่นๆ ที่อยู่นอกเหนือไปจากเกมกีฬา เพื่อทำให้มหกรรมกีฬาแห่งมวลชาติครั้งนี้เชื่อมโยงมนุษย์เข้ากับสิ่งแวดล้อมและเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างแท้จริง มิใช่เพียงมนุษย์และการแข่งขัน
ความยั่งยืน
เมื่อโตเกียว 2020 ให้ความสำคัญกับความยั่งยืนและสิ่งแวดล้อม โดยตั้งเป้าตั้งแต่เริ่มต้นว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากสุด และจะต้องมีขยะหรือข้าวของที่ใช้ครั้งเดียวทิ้งให้น้อยที่สุด หรือแทบไม่มีเลย ดังที่เห็นได้จากการใช้วัสดุรีไซเคิลในการทำโพเดียมหรือแท่นมอบรางวัล ซึ่งผลิตขึ้นจากขยะพลาสติกรีไซเคิลจากครัวเรือนที่ชาวญี่ปุ่นนำมาบริจาค และพลาสติกในท้องทะเล ก่อนนำมาขึ้นรูปแบบ 3 มิติ เพื่อไม่ให้สิ้นเปลืองในการทำสติกเกอร์ให้วุ่นวาย
โพเดียมหรือแท่นมอบรางวัลผลิตขึ้นจากขยะพลาสติกรีไซเคิล
เหรียญรางวัลจำนวนกว่า 5,000 เหรียญ เกิดจากการใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 78,985 ตัน และมือถือไม่ใช้งานแล้วจำนวน 6.21 ล้านเครื่อง
และในพิธีเปิดเราได้เห็นวงแหวนไม้ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของงานโอลิมปิก ซึ่งเป็นไม้ที่ได้มาจากการปลูกต้นไม้ของนักกีฬา เมื่อครั้งญี่ปุ่นเคยเป็นเจ้าภาพจัดงานโอลิมปิกครั้งแรกในปี 1964 หรือราว 57 ปีก่อน บัดนี้ได้กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในพิธีเปิดของงานปีนี้
ส่วนเหรียญรางวัลจำนวนกว่า 5,000 เหรียญ เกิดจากการใช้ขยะอิเล็กทรอนิกส์จำนวน 78,985 ตันที่ชาวญี่ปุ่นบริจาค และมือถือไม่ใช้งานแล้วจำนวน 6.21 ล้านเครื่องจากร้านค้า NTT Docomo ที่เก็บกันมาตั้งแต่ปี 2017-2019 เพื่อมาใช้ทำเหรียญรางวัล
เช่นเดียวกับคบเพลิงที่เป็นการนำอะลูมิเนียมรีไซเคิลที่ได้จากบ้านพักผู้ประสบภัยธรรมชาติอย่างสึนามิและแผ่นดินไหวในปี 2011 ส่วนเชื้อเพลิงที่ใช้ในการจุดเลือกใช้ไฮโดรเจน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์
และเสื้อที่เราเห็นผู้ถือคบเพลิงใส่กันนั้นทำมาจากขวดพลาสติกรีไซเคิลของบริษัทน้ำอัดลมอย่าง Coca-Cola เช่นเดียวกัน เตียงที่นักกีฬานอนก็ทำมาจากกระดาษรีไซเคิลเช่นกัน
คบเพลิง ทำจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลที่ได้จากบ้านพักผู้ประสบภัยธรรมชาติอย่างสึนามิและแผ่นดินไหวในปี 2011
กลับคืนสู่สังคม
เมื่อการใช้แล้วทิ้งไม่ใช่แนวคิดในการจัดงานโอลิมปิกครั้งนี้ เจ้าภาพจึงได้วางแนวทาง คิด และออกแบบ ให้สิ่งก่อสร้างที่เกิดขึ้นมาใหม่ สามารถคืนกลับสู่สังคมได้อีกครั้ง ดังที่เห็นจาก The Village Plaza ที่อยู่บริเวณหมู่บ้านนักกีฬา ที่ทางผู้จัดได้ยืมไม้จากจังหวัดอื่นๆ 63 แห่งทั่วประเทศ ตั้งแต่ฮอกไกโดเรื่อยไปจนถึงแถบคิวชู เพื่อนำมาสร้างเป็นพลาซ่าในอาคารหมู่บ้านนักกีฬา บวกกับการออกแบบและภูมิปัญญาของชาวญี่ปุ่นที่เชี่ยวชาญเรื่องงานไม้แล้ว ไม้เหล่านี้จึงมีความเสียหายน้อยมาก เพราะตั้งใจไว้ว่าเมื่องานโอลิมปิกจบลง ไม้เหล่านี้จะถูกส่งคืนกลับไปยังจุดกำเนิด เพื่อนำไปสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกในที่สาธาณะ เช่น ป้ายรถประจำทาง ศาลาพักผ่อน หรือม้านั่งในสวนสาธารณะ ต่อไปในอนาคต
The Village Plaza ทำจากไม้ที่ยืมมา
ภาพ: Courtesy of Olympics
หล่อหลอมและเชื่อมโยงกับทุกคน
อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า งานโอลิมปิกไม่ได้เป็นอีเวนต์ที่จัดขึ้นเพื่อนักกีฬาและแฟนกีฬาเท่านั้น หากแต่ญี่ปุ่นยังพยายามหล่อหลอมและเชื่อมโยงมหกรรมกีฬานี้เข้ากับคนในประเทศที่อาจไม่ได้เป็นนักกีฬา แต่ก็สามารถมีส่วนร่วมกับอีเวนต์ระดับโลกนี้ได้ เช่น การตั้งรับบริจาคสิ่งของเหลือใช้ต่างๆ เพื่อมาใช้ในงาน การเปิดให้ประชาชนทั่วไปออกแบบมาสคอต ก่อนให้เด็กๆ จากทั่วประเทศร่วมกันโหวตมาสคอตที่ชื่นชอบมากที่สุด
การใช้ช่อดอกไม้ที่ได้มาจากจังหวัดที่ประสบภัยธรรมชาติต่างๆ และกำลังอยู่ในช่วงเยียวยาและฟื้นฟู การส่งต่อคบเพลิงที่มีทั้งบุคลากรแถวหน้าอย่างหมอและพยาบาล อดีตนักกีฬาเบสบอลสูงวัย เด็กน้อยที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ และไม้สุดท้ายอย่าง นาโอมิ โอซากะ นักเทนนิสหญิงมือวางลำดับที่ 2 ของโลกที่คนญี่ปุ่นเคยรู้สึกอิหลักอิเหลื่อกับความไม่ญี่ปุ่นของเธอ แต่การปรากฏตัวของเธอในครั้งนี้ก็น่าจะการันตรีได้ในระดับหนึ่งว่า ญี่ปุ่นนั้นเปิดรับและพร้อมหล่อหลอมเพื่อนำพาผู้คนทั้งประเทศให้ก้าวไปสู่ระดับสากลโลกพร้อมกันอย่างไม่ทิ้งผู้ใดไว้เบื้องหลัง
บทความเกี่ยวข้อง:
- https://thestandard.co/olympic-tokyo-2020-pictogram/
- https://thestandard.co/olympic-tokyo-2020-manual/
- https://thestandard.co/olympic-tokyo-2020-manual/
อ้างอิง:
- https://olympics.com/tokyo-2020/en/paralympics/news/key-sustainability-projects-para
- https://www.dezeen.com/2016/12/14/ground-breaking-construction-kengo-kuma-tokyo-2020-olympics-japan-national-stadium/
- https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/sustainability/
- https://olympics.com/tokyo-2020/en/games/sustainability/sus-plan