สามพันธมิตรชาติตะวันตกอย่างสหรัฐอเมริกา อังกฤษ และสหภาพยุโรป (อียู) ได้ร่วมกันกล่าวหาจีน ว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเหตุโจมตีไซเบอร์ครั้งใหญ่เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา โดยเป้าโจมตีในครั้งนั้นก็คือเซิร์ฟเวอร์ของ Microsoft Exchange จนส่งผลกระทบต่อบริษัทและองค์กรอย่างน้อย 30,000 แห่งทั่วโลก
สถานีโทรทัศน์ BBC ของอังกฤษรายงาน อ้างความเห็นของบริษัทด้านความปลอดภัยในฝั่งตะวันตกที่ระบุว่า พฤติกรรมดังกล่าวเป็นการส่งสัญญาณการเปลี่ยนยุทธวิธีจากเป้าหมายในการจารกรรมข้อมูลเป็นการพุ่งโจมตีและฉกอย่างรวดเร็วแทน
ก่อนหน้านี้ทาง Microsoft ได้ออกแถลงการณ์เปิดเผยรายละเอียดของการโจมตีทางไซเบอร์ที่เริ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคมปีนี้ โดยพาดพิงถึงกลุ่มแฮกเกอร์ที่เรียกว่า แฮฟเนียม (Hafnium) ซึ่งทาง Microsoft ระบุชัดว่ากลุ่มดังกล่าวมีความเชื่อมโยงกับรัฐบาลจีน แต่ทางจีนออกมายืนกรานปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว
ทั้งนี้รายงานผลการตรวจสอบระบุ กลุ่มแฮกเกอร์อาศัยช่องโหว่ในเซิร์ฟเวอร์ของ Microsoft Exchange ที่อนุญาตในเรื่องการวางประตูหลัง (Backdoors) บนระบบที่อนุญาตในส่วนของการเข้าถึงเพิ่มเติม ซึ่งจากโจมตีจากแฮกเกอร์จีนไม่เพียงแต่จะทำให้มีการจารกรรมข้อมูลขนาดใหญ่ รวมถึงข้อมูลส่วนบุคคลและทรัพย์สินทางปัญญาเท่านั้น แต่ยังเปิดทางให้กลุ่มแฮกเกอร์อื่นๆ เข้ามาโจมตีได้ง่ายขึ้นด้วย ส่งผลให้ระบบเสี่ยงต่อการโดนแรนซัมแวร์หรือซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ และการจารกรรมต่างๆ
โดยอียูออกแถลงการณ์ระบุว่าการโจมตีไซเบอร์ที่เกิดขึ้นมาจากจีน ส่วนอังกฤษกล่าวว่าผู้ลงมือโจมตีได้รับแรงสนับสนุนจากรัฐบาลจีน และว่าพฤติกรรมไร้ความรับผิดชอบและเป็นอันตรายเหล่านี้ส่งผลต่อความปลอดภัยและการสูญเสียทางเศรษฐกิจสำคัญสำหรับสถาบัน รัฐบาล และบริษัทเอกชน รวมถึงส่งผลกระทบต่อระบบความปลอดภัย เศรษฐกิจ และสังคมโดยรวม
ด้านสหรัฐฯ ก็ได้ออกแถลงการณ์ออกมาตามหลังอังกฤษและอียู แสดงความกังวลว่าจีนโดยเฉพาะกระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐ มีพฤติกรรมไม่เหมาะสมในการส่งเสริมหน่วยงานข่าวกรอง ตลอดจนเหล่าแฮกเกอร์ตามสัญญาจ้าง เพื่อให้ปฏิบัติงานที่ไม่เหมาะสม พร้อมแสดงความต้องการให้กระทรวงความมั่นคงแห่งรัฐจีนตัดความสัมพันธ์กับแฮกเกอร์เหล่านี้
วันเดียวกันมีรายงานว่า หวังเหวินเทา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ของจีน ได้เปิดเผยว่า นครเซี่ยงไฮ้ กรุงปักกิ่ง นครกวางโจว นครเทียนจิน และนครฉงชิ่งของจีน ได้รับเลือกให้เป็นศูนย์กลางผู้บริโภคนานาชาติที่สำคัญอย่างยิ่ง นับเป็นก้าวที่สำคัญในการเดินหน้ากระตุ้นกำลังการบริโภคภายในของจีนเอง
รายงานระบุว่า ทางรัฐสภาจีนเพิ่งจะผ่านแผนโครงการสร้างศูนย์การบริโภคดังกล่าวขึ้น ซึ่งศูนย์แห่งนี้จะรวบรวมสินค้าจากทั้งภายในต่างประเทศให้ผู้คนได้มาจับจ่ายใช้สอยหาเลือกซื้อสินค้า โดยศูนย์ดังกล่าวจะมีส่วนสำคัญในการยกระดับเมืองเหล่านี้ให้เทียบชั้นเมืองช้อปปิ้งยอดนิยมอย่าง กรุงโตเกียว นครดูไบ กรุงลอนดอน และนครนิวยอร์ก
อย่างไรก็ตามรัฐมนตรีหวังเหวินเทา กลับไม่ได้มีการเปิดเผยรายละเอียด ซึ่งรวมถึงกำหนดวันก่อสร้างและแล้วเสร็จ
อ้างอิง: