วานนี้ (26 พฤษภาคม) สำนักข่าวท้องถิ่นเมียนมารายงาน สมาชิกสมาพันธ์ครูเมียนมาเผย หลังจากเปิดให้ลงทะเบียนเรียนได้ตั้งแต่วันจันทร์ที่ผ่านมานี้ ก่อนที่จะเปิดภาคเรียนใหม่ในวันที่ 1 มิถุนายน โดยนักเรียนเมียนมาราว 90% ปฏิเสธเข้าชั้นเรียน ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ขณะที่พ่อแม่และผู้ปกครองจำนวนมากแสดงจุดยืนชัดเจน ไม่ต้องการให้ลูกหลานเข้าชั้นเรียนดังกล่าว ไม่อยากให้ตกเป็นทาสทางการศึกษาภายใต้ระบบเผด็จการทหาร
กระทรวงศึกษาธิการ ภายใต้รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ (NUG) เผย เมียนมามีนักเรียนลงทะเบียนในระบบการศึกษาขั้นพื้นฐานเพื่อเข้าชั้นเรียนมากกว่า 9 ล้านคนในช่วงปี 2019-2020 ที่ผ่านมา เปอร์เซ็นต์ดังกล่าวบ่งชี้ว่า อาจมีนักเรียนเมียนมาไม่ถึง 1 ล้านคน กลับเข้าชั้นเรียนในช่วงที่สังคมเมียนมายังตกอยู่ภายใต้เงาของกองทัพที่ก่อรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนที่มาจากการเลือกตั้ง
ขณะที่กองทัพมีคำสั่งพักงานครูกว่า 125,900 ราย ฐานเข้าร่วมเดินขบวนอารยะขัดขืน (CDM) ต้านรัฐประหาร เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยจำนวนครูที่ถูกสั่งพักงานนี้คิดเป็นเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครูในเมียนมา และคาดว่ามีครูมากกว่า 200,000 รายเข้าร่วมขบวนต้านรัฐประหารและเรียกร้องให้ปล่อยนักโทษทางการเมืองในขณะนี้ พร้อมทั้งยินดีที่จะสนับสนุนรัฐภาพเอกภาพแห่งชาติที่ผลักดันโดยคณะกรรมการผู้แทนสมัชชาแห่งสหภาพ (CRPH) มากกว่าที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของสภาบริหารแห่งรัฐ (SAC) ที่จัดตั้งโดยกองทัพเมียนมา
ครูรายหนึ่งกล่าวว่า “ถ้าโรงเรียนเปิดทำการเรียนการสอนตอนนี้ พวกเราจะไม่สามารถสอนสิ่งต่างๆ ได้อย่างเต็มที่และมีความหมาย เด็กๆ จะรู้สึกไม่ปลอดภัย การศึกษาไม่ควรเป็นแค่เรื่องของการให้ข้อมูลความรู้ หากยังต้องเป็นสิ่งที่ช่วยปลูกฝังความเป็นมนุษย์ด้วย สิ่งนี้จำเป็นต้องเกิดขึ้นในสภาพแวดล้อมที่อบอุ่นและปลอดภัย
ก่อนหน้าที่จะมีการรัฐประหาร เมียนมามีบุคลากรครูไม่เพียงพอต่อจำนวนนักเรียน การสั่งพักงานครูและตั้งข้อหาเพื่อดำเนินคดีทางกฎหมายกับพวกเขาจะสร้างความท้าทายในเชิงการบริหารจัดการระบบการศึกษาครั้งใหญ่ให้แก่คณะรัฐประหาร”
โดยความผิดหรือข้อกล่าวหาที่บรรดาบุคลากรครูเผชิญจากการเข้าร่วมอารยะขัดขืนจะเป็นอันตกไป หากพวกเขากลับมาทำหน้าที่สอนหนังสือตามปกติอีกครั้ง
“พวกเขากลัวการต่อต้าน พวกเขาพยายามข่มขู่เราให้กลับไปสอนหนังสือตามเดิมอีกครั้ง”
โดยผู้ปกครองจำนวนมากกำลังรอการประกาศแผนการทางการศึกษาของรัฐบาลเอกภาพอยู่ในขณะนี้ หลังจากที่รัฐบาลประกาศเร่งจัดทำแผนดังกล่าว เพื่อให้นักเรียนนักศึกษาชาวเมียนมาได้รับความรู้อย่างเหมาะสม และสมควรได้รับในช่วงที่คณะรัฐประหารยังมีอำนาจ
“พวกเราไม่ยอมรับระบอบเผด็จการทหาร เราปฏิเสธระบบการศึกษาของพวกเขา เราจะส่งลูกหลานของเรากลับไปโรงเรียนอีกครั้งเมื่อประชาชนได้รับชัยชนะ”
สมาคมช่วยเหลือนักโทษทางการเมืองของเมียนมา (AAPP) รายงานถึงสถานการณ์ล่าสุด มีผู้เสียชีวิตหลังการก่อรัฐประหารแล้ว 828 ราย ยังคงถูกจับกุมและควบคุมตัวกว่า 4,330 ราย ออกหมายจับแล้ว 1,881 ราย ขณะที่อย่างน้อย 95 รายได้รับการตัดสินโทษแล้ว ในจำนวนนี้บางรายต้องโทษประหารชีวิต
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- รัฐประหารเมียนมา: ใครเป็นใครใน ‘รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ’ เพื่อคานอำนาจกองทัพ
- 4 ฉากทัศน์ชี้ชะตาอนาคตเมียนมา ไทยควรมีบทบาทอย่างไร โดย รศ.ดร.ปิติ ศรีแสงนาม
ภาพ: Mine Smine / SOPA Images/LightRocket via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.myanmar-now.org/en/news/some-90-percent-of-myanmar-students-refuse-to-attend-school-under-coup-regime-teachers-say
- https://www.myanmar-now.org/en/news/national-unity-government-fights-juntas-slave-education-with-plan-to-build-parallel-system
- https://www.reuters.com/world/asia-pacific/more-than-125000-myanmar-teachers-suspended-opposing-coup-2021-05-23/