×

เฟรมเวิร์กจัดการความเครียด เพิ่มพลังบวก เมื่อ SMEs ต้องเผชิญวิกฤต

21.05.2021
  • LOADING...

เคยสังเกตตัวเองบ้างไหมว่า คุณกำลังเครียดเกินไปหรือเปล่า

 

“ความเครียดไม่ใช่ผู้ร้าย ความเครียดที่ควบคุมได้มักให้ผลลัพธ์ที่ดีกับ Productivity แต่เมื่อไรที่เครียดเกินไป เมื่อนั้นมันจะลามไปถึงวิกฤตชีวิต ครอบครัว และความสัมพันธ์ คุณต้องจับสัญญาณให้ได้ และจัดการมันอย่างเร่งด่วน”

 

The SME Handbook by UOB เอพิโสดสุดท้ายในซีรีส์ฉบับกู้วิกฤตเร่งด่วน เฟิร์น ศิรัถยา คุยกับ ดุจดาว วัฒนปกรณ์ ผู้ก่อตั้ง Empathy Sauce และโฮสต์พอดแคสต์ R U OK ถึงเคล็ดลับจัดการความเครียดและบริหารสุขภาพใจให้พร้อมเดินหน้าต่อไปในยุคที่ยากจะคาดเดา 

 


 

ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตของตัวเองในช่วงวิกฤต

ในช่วงวิกฤต บางครั้งเราเรียกร้องศักยภาพมากกว่าโหมดปกติด้วยซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นความสามารถในการคิด การตัดสินใจ การมองเห็นภาพกว้าง หรือแม้กระทั่งอารมณ์ที่มั่นคง เพราะฉะนั้นถ้าสภาพจิตใจของเรากระเพื่อมอยู่ หรือมันสั่นไหวมากๆ แต่เรากลับมองไม่เห็นมัน สิ่งเหล่านี้ก็จะส่งผลต่อการตัดสินใจหรือการมองเห็นสิ่งต่างๆ ตามไปด้วย จนทำให้การประคับประคองธุรกิจไม่ได้เป็นไปอย่างเต็มศักยภาพ

 

ตึงเครียดกับการทำธุรกิจมากเกินไป มองข้ามทุกอย่างแม้กระทั่งตัวเอง

ความจริงแล้วคำว่ามากจนเกินไปของแต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน บางทีเราเห็นว่าเพื่อนทำงานได้วันละตั้ง 16 ชั่วโมง แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ จุดนี้ต้องมาดูว่ามันกระทบเรื่องอื่นๆ ด้วยหรือเปล่า บางคนโฟกัสงานจนเกิดความเครียดโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอันนี้น่ากลัวที่สุด เพราะมันจะส่งผลลัพธ์อื่นๆ ตามมา เช่น เริ่มมีปากเสียงกับคู่ชีวิตง่ายขึ้น อารมณ์เสียหรือหงุดหงิดกับลูก กับเพื่อนสนิท หรืออาจจะเป็นพ่อแม่ตัวเอง ซึ่งมันอาจจะก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา

 

สิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่อยู่ดีๆ เราจะอารมณ์ขึ้นง่าย หงุดหงิดง่าย จริงๆ มันเป็นสัญญาณที่ดีมาก เพราะนั่นแปลว่าบางอย่างกำลังมากเกินไป ฉะนั้นสิ่งที่ควรจัดการอาจไม่ได้มุ่งไปเฉพาะเรื่องความสัมพันธ์และธุรกิจ ลองแบ่งเวลาสักเสี้ยวหนึ่งมาโฟกัสที่ตัวเองบ้าง ไม่อย่างนั้นจากเรื่องงานจะกลายมาเป็นวิกฤตชีวิตที่มันพ่วงเรื่องครอบครัวและความสัมพันธ์ ซึ่งบางทีมันพอกมากขึ้นจนเราไม่รู้ตัวจริงๆ บางคนพลั้งมือตีลูกไปแล้วเครียดมาก รู้สึกผิด เพราะเคยบอกกับตัวเองว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ตี แต่วันหนึ่งฟาดไปแล้ว แล้วมันเอาคืนกลับมาไม่ได้ ทำให้เกิดผิดหวังกับตัวเอง กลายเป็นความเครียดสะสมอันเนื่องมาจากหลายปัจจัยมาก จนสุดท้ายคนที่เรารู้สึกปลอดภัยที่สุดอย่างคนในบ้านก็รับปัญหาไปเต็มๆ 

 

ลองแบ่งเวลาสักเสี้ยวมาโฟกัสที่ตัวเองบ้าง ไม่อย่างนั้นจากเรื่องงานจะกลายมาเป็นวิกฤตชีวิต บางคนพลั้งมือตีลูกไปแล้วเครียดมาก รู้สึกผิด เพราะเคยบอกกับตัวเองว่าจะเป็นพ่อแม่ที่ไม่ตี แต่วันหนึ่งฟาดไปแล้ว มันเอาคืนกลับมาไม่ได้

 

หตุที่ไม่อยากให้เกิด แต่บังเอิญคุมอารมณ์ไม่ได้ จะสำรวจตัวเองอย่างไรว่ามาถึงจุดนี้แล้วหรือยัง

จริงๆ แล้วความเครียดไม่ใช่ผู้ร้ายนะ แต่ความเครียดในระดับที่ยังพอจัดการหรือประคองได้มันค่อนข้างเฮลตี้กับ Productivity ของเราด้วย เพราะฉะนั้นจะมีอยู่ 3 จุดที่ทำให้สำรวจตัวเองได้ว่าเราเครียดเกินไปแล้วหรือเปล่า

 

1. ดูกายภาพตัวเอง

ลองสังเกตว่าเราเริ่มมีอาการปวดหลัง ปวดไหล่ ปวดคอ เมื่อย เกร็งเกินไปหรือเปล่า คนส่วนใหญ่เข้าใจว่าคนทำงานหนักก็ต้องเมื่อยอยู่แล้วเป็นปกติ ไม่ใช่นะคะ จริงๆ เราอาจจะทนกับสภาวะนี้นานเกินไปก็ได้ ดาวเคยคุยกับนักกายภาพ เขาบอกว่ามนุษย์ออฟฟิศมีความอดทนมากเหลือเกิน เพราะกว่าจะมาถึงมือนักกายภาพก็มีอาการเลเวล 9-10 แทบจะแก้ไม่ได้อยู่แล้ว นั่นเพราะทุกคนเข้าใจว่าการปวดไหล่เป็นเรื่องธรรมชาติ ปวดหลังคือเรื่องปกติ อันนี้คือสัญญาณที่ชัดเจนเลยว่าจริงๆ แล้วเราอาจจะแบกความเครียดสะสมโดยไม่รู้ตัว มันจึงไปอยู่ตามกล้ามเนื้อ


2. สังเกตพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป

ลองดูว่าสิ่งที่เราทำว่ามันต่างออกไปจากปกติไหม อย่างบางคนอาจจะเริ่มเผลอกัดเล็บ นั่งเขย่าขา ดูทีวีแล้วนั่งเกร็งตัวโดยที่ไม่มีสาเหตุ ดื่มหนักขึ้น สูบบุหรี่มากขึ้น หรือว่าหลับยาก สิ่งต่างๆ เหล่านี้ถ้ามันต่างออกไปจากพฤติกรรมปกติก่อนหน้า แปลว่ามันกำลังสื่อสารอะไรบางอย่างว่าภายในเริ่มไม่สมดุลแล้ว

 

3. สังเกตอารมณ์ที่กระเพื่อมง่ายขึ้น

หมั่นเช็กว่าเรากำลังหงุดหงิดง่าย หรืออ่อนไหวง่ายหรือเปล่า เราไม่จำเป็นต้องให้ 80% ของวันครอบคลุมไปด้วยความหงุดหงิดกังวลใจนะคะ แต่ถ้าหากกำลังเป็นแบบนั้นก็ไม่ได้ผิดอะไร เพียงแต่ว่ามันเป็นสัญญาณว่าเริ่มมีความเครียดบางอย่างที่ต้องการการจัดการอย่างเร่งด่วน

 

ความเครียดที่พอดีเป็นแบบไหน

บางคนเห็นความท้าทายเป็นเรื่องสนุก นั่นทำให้รู้เลยว่าสภาวะจิตใจของเขามั่นคงและพร้อมมาก เพราะคุณยังเปิดพื้นที่ฟังคนอื่นได้บ้าง เบาสบายมากพอที่จะนึกถึงคนอื่น เพราะคนที่เครียดมากๆ จะพุ่งไปข้างหน้าแล้วลุยแบบทุ่มสุดแรง แต่ว่าในเวลาอื่นๆ ล่ะ เรายังสามารถยังมีโหมดสนุกผ่อนคลายอยู่ด้วยไหม บางคนเลิกงานตอนเย็นแล้วไปตีแบดกับเพื่อน อยากจะผ่อนคลาย แต่ในหัวกลับไม่ได้คิดเรื่องแบด เอาแต่คิดว่าพรุ่งนี้จะประชุมอะไร จะวางแผนอย่างไร เรื่องแบบนี้เป็นการตั้งรับของใครของมัน ไม่สามารถวัดได้จากข้างนอก บางทีเราก็แอ็กติ้งกันเก่ง เครียดจากที่ทำงาน กลับไปก็ไม่ยอมบอกคนที่บ้านว่าเครียด ทำเป็นว่าทุกอย่างมันแข็งแรง เปรียบเสมือนเราอุ้มน้ำเอาไว้เยอะๆ จนเหมือนเป็นเขื่อน แต่แขนเราสั่นหมดแล้วนะ แต่สุดท้ายถ้าวันหนึ่งเขื่อนแตกขึ้นมาแล้วจะซ่อมยากมาก 

 

โลกใบนี้มันจะไม่ง่ายขึ้นให้เราโดยธรรมชาติ
มันก็เป็นของมันอย่างนั้น เราควบคุมมันไม่ได้
แต่ถ้าเรามีใครสักคนข้างๆ มานั่งเป็นฟูก
เราจะอยู่ในโลกยากๆ ได้อย่างแน่นใจ

 


วิธีจัดการกับความเครียดอย่างได้ผล

เมื่อรู้ตัวเองแล้วว่าเราเริ่มมีความเครียดสะสม สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปลดปล่อยมันออกมา ลองผ่อนคลายดูบ้าง ถ้าเครียดสะสมแล้วไม่เอามันออกก็เหมือนเราอัดอะไรแน่นๆ ลงไปในถัง ซึ่งวิธีการผ่อนคลายนั้นง่ายมาก เช่น หากเราอยากจะแบ่งเวลางานกับเวลาส่วนตัวให้บาลานซ์กัน ต้องหาที่เอามันออก อาจจะเป็นการไปออกกำลังกาย ไปร้องคาราโอเกะ ทำอะไรก็ได้ที่มันได้ตะโกน ได้ปลดปล่อย เพราะถ้ามันไม่อยู่ในกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง บางทีเราอาจจะเผลอไปปลดปล่อยกับคนในครอบครัว กับเพื่อนที่เขาไม่ได้พร้อมจะฟัง หรือไปปลดปล่อยกับทีมที่ทำงานหนักร่วมกับเรา จนสุดท้ายมันก็พังเป็นโดมิโน

 

บางครั้งการปลดปล่อยก็ทำได้ด้วยการสื่อสาร การนั่งคุยเรื่องเครียดๆ เผชิญหน้ากัน แล้วแบ่งปันความคิดเห็น วิธีนี้มันจะช่วยแบ่งเบา คือโลกใบนี้มันจะไม่ง่ายขึ้นให้เราโดยธรรมชาติ มันก็เป็นของมันอย่างนั้น เราควบคุมมันไม่ได้ แต่ถ้าเรามีใครสักคนข้างๆ มานั่งเป็นฟูก เราจะอยู่ในโลกยากๆ ได้อย่างแน่ใจ

 

อีกวิธีหนึ่งเรียกว่า Stress Management คือการจัดการความเครียด สิ่งนี้จำเป็นต้องอาศัยเวลาและพื้นที่ในการโฟกัสสักหน่อย ต้องไม่ทำควบคู่ไปพร้อมกับอย่างอื่น 

 

ขั้นแรกคือลองหาที่ว่างๆ นิ่งๆ อยู่กับตัวเอง ยอมรับให้ได้ก่อนว่าตัวเองกำลังเครียด จากนั้นค่อยๆ ลิสต์ความคิดที่อยู่ในหัวว่าเรื่องอะไรบ้างที่ทำให้เราเครียด เขียนลงในกระดาษให้หมดเลยตั้งแต่สากกะเบือยันเรือรบ อาจจะเป็นแค่รูปร้องไห้ตอนเช้า ตอนนั่งรถ 40 นาทีไปทำงานแล้วใจจะขาด หรือว่ายอดขายตก 3 เดือนติด

 

เมื่อเขียนทุกอย่างลงไปในหนึ่งหน้ากระดาษแล้วก็ค่อยๆ วงกลมสิ่งเหล่านั้นเพื่อแยกมันออกเป็นเรื่องๆ วิธีนี้มันจะเป็นการสร้างความตระหนักรู้ให้กับตัวเองว่าจริงๆ ที่เราเครียดหนักอยู่ ณ ตอนนี้มันมาจากหลายที่เลย ทุกสิ่งรอบตัวเรามันส่งความเครียดให้เราได้ พอเครียดมากขนาดนี้เราก็จะไม่โกรธตัวเอง แล้วจะได้รู้เท่าทันตัวเองมากขึ้น

 

พอเราได้เห็นปัญหาทั้งหมดแล้ว หลังจากนี้ก็ต้องมาแจกแจงให้ละเอียดขึ้น เพราะบางทีความเครียดก็ทำให้เราเห็นอะไรได้ไม่ชัด เหมือนกับเส้นผมบังภูเขา จากกระดาษที่เราวงกลมไปตอนแรก ลองมาพิจารณาดูดีๆ ว่ามีวงไหนที่แก้ยาก เป็นสิ่งที่อยู่เหนืออำนาจการควบคุมของเรา ให้กากบาททิ้งไปก่อน เพราะถ้าเราไปนั่งโฟกัส คิดวนเวียนก่อนนอน เช้า กลางวัน เย็น กับเรื่องที่เราควบคุมจัดการไม่ได้มันก็จะเป็นการเปลืองแรงโดยเปล่าประโยชน์ หลังจากนั้นก็จะเหลือวงกลมที่ไม่มีกากบาท ซึ่งพวกนี้คือสิ่งที่คุ้มค่าต่อการลงไปจัดการ

 

ขั้นต่อมาก็คือการดีไซน์ทางเลือกว่าเราทำอะไรได้บ้าง โดยในแต่ละวงกลมนั้น ให้ขีดเส้นออกมาสัก 3 เส้น แล้วเขียนว่าเราทำอะไรกับหัวข้อนี้ได้บ้าง อย่าเขียนแค่อันเดียวนะคะ เพราะอันเดียวคือได้ก็ได้ ไม่ได้ก็ตันเลย เช่น ลูกน้องเข้าประชุมแล้วไม่ออกความเห็นเลย อาจจะเขียนเส้นที่หนึ่งว่าให้รางวัล เส้นที่สองคือบังคับเลย หรือตั้งกฎหนึ่งไอเดียหนึ่งคน เป็นต้น ขั้นตอนนี้อยากให้ใช้กระบวนการคล้ายๆ กับการระดมสมองของตัวเอง อย่าเพิ่งไปยั้งว่าไอเดียนี้จะทำได้หรือไม่ได้ แนะนำให้เขียนลงไปก่อน เพราะการมีทางเลือกเยอะจะทำให้ความเครียดน้อยลง

 

สิ่งสำคัญถัดมาคือการจัดลำดับว่าควรทำอะไรก่อนหลัง วงกลมไหนที่สามารถจัดการได้เร็วที่สุดให้นำขึ้นมาจัดการเป็นลำดับแรก เพราะหากไม่มีการจัดลำดับ เช่น เอาเรื่องที่ต้องใช้เวลาประมาณ 6 เดือนมาเป็นลำดับแรก ทำไปแล้วก็คาดหวังว่าอีก 6 เดือนจะเห็นผล แต่กว่าจะไปถึง 6 เดือน ใจมันไม่อยู่แล้ว หรือธุรกิจจะยังอยู่หรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะฉะนั้นข้อไหนที่ทำได้เร็วที่สุดให้จัดการได้เลย

 

ถ้าจัดการสิ่งแรกได้เร็ว ก็จะมีกำลังใจไปแก้จุดอื่นต่อได้อีก

ความหวังกับความเป็นไปได้จะช่วยลดความเครียดได้เยอะค่ะ เพราะหลายครั้งที่เราเครียด ตีบตัน หมดหวัง แต่พอรู้ว่าจะทำอย่างไรกับสิ่งเหล่านี้ เราก็จะสามารถจัดการมันได้ โดยเฉพาะการที่เราอยู่ในยุคโควิด-19 ภายใต้โครงสร้างประเทศที่ทุกอย่างเกิดขึ้นแบบนี้ ความเครียดเต็มไปหมดเลย ออกจากบ้านก็เจอแล้ว เพราะฉะนั้นมันมีความเครียดเกิดขึ้นแน่ๆ

 

คราวนี้ถ้ายังมีเวลาเหลือ ลองกลับมาดูวงกลมที่เรากากบาททิ้งไป ที่ตอนแรกยังจัดการไม่ได้ มากรองดูอีกทีว่าใครที่จะมีอำนาจหรือมีอิทธิพลที่จะจัดการวงกลมเหล่านั้น เราก็ไปหาคนคนนั้นมาร่วมทีมแล้วช่วยกัน อย่าทำคนเดียว อันนี้สำคัญมาก คือการที่เรานั่งตรงนี้ เราไม่ได้รู้ทุกอย่าง ธุรกิจเราอาจจะเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แต่เรื่องที่เราต้องการจะสอบถามอาจเป็นเรื่องการเงินการลงทุน ไปหาคนที่เขารู้ หนึ่งคนพอไหม ถ้าไม่พอก็หาเพิ่ม แล้วการจัดการวงกลมนี้ก็จะกลายเป็นทีมเวิร์ก มันจะค่อยๆ เห็นความเป็นไปได้มากขึ้น

 

คุณได้คนเก่งๆ ตั้งเรียงกันเป็นแผงเลย แต่เขาไม่มีใจจะทำงาน ถามว่าจะจ่ายเงินขนาดนั้นไปทำไม

 

เมื่อผู้นำจัดการความเครียดของตัวเองได้แล้ว แต่จะสื่อสารเพื่อส่งพลังบวกกับทีมงานอย่างไร

กลับมาถามตัวเองก่อนว่าเราอยากจะนำทีมหรือคุยกับทีมอย่างไรในช่วงเวลานี้ ทีมตอนนี้ต้องการผู้นำแบบไหน องค์กรเรา บริษัทเรา เรารู้ดีที่สุดค่ะว่าตอนนี้สภาวะจิตใจเขาเป็นอย่างไร ลองนั่งสังเกตภาษากายของเขาก็ได้ มองดูว่าเขาคุยกันอย่างไร เขาทำงานเป็นแบบไหน หรือตอนที่เขามาคุยกับเรา ลองฟังน้ำเสียงหรือสิ่งที่เขาไม่ได้พูดออกมาว่าตอนนี้ลึกๆ ใจเขาเป็นอย่างไรบ้าง เราอาจจะพอสัมผัสได้ว่าเขาต้องการอะไร

 

หลายคนจะพยายามปิดจุดอ่อนของตัวเอง นั่นเป็นที่มาว่าบางทีผู้นำอาจจะถูกเรียกร้องให้ใช้การสังเกตเพิ่มมากขึ้น ให้ลองสังเกตเขาหน่อย ฟังเขาเยอะๆ แต่ถ้าไม่ได้จริงๆ ก็แค่ถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง อาจจะทรีตไปเลยก็ได้ว่าตอนนี้ลูกทีมทุกคนกำลังเครียด อย่าคิดว่าเขาสบายดี แฮปปี้ ชีวิตไร้กังวล ถามตัวเองว่าทีมที่เรารู้จักดีเขากำลังเครียด เขาต้องการอะไรจากเราบ้าง สมมติลิสต์มาได้ 3 อย่างว่าเขาต้องการความหวัง ความมั่นคง และความมั่นใจ เราก็ถามตัวเองว่าจะเอา 3 อย่างนี้ไปใส่ไว้ในการสื่อสารได้อย่างไรบ้าง เพราะแต่ละบริษัทก็มีวิธีสื่อสารไม่เหมือนกัน

 

ความจริงแล้วภาษากายและน้ำเสียงของผู้นำสำคัญมากนะคะ ถ้าเขาต้องการความมั่นคงที่โลกใบนี้ยังให้เขาไม่ได้ แต่สิ่งที่เขาจะได้คือน้ำเสียงหนักแน่นที่เราคุยกับเขา ตามงานเขา ถามไถ่เขา หรือเล่าว่าเรามีกลยุทธ์ในอนาคตข้างหน้าอย่างไร เราจะไปด้วยกันอย่างไร สิ่งเหล่านี้ช่วยได้ ถ้าเขาต้องการความมั่นใจ นั่นแปลว่าผู้นำก็ต้องเพิ่มตรงนั้นให้กับตัวเองเพื่อเป็นขุมความมั่นใจให้กับเขา

 

เคสการจัดการความเครียดของผู้นำที่น่าสนใจและอยากแบ่งปันให้ SMEs ได้ฟัง

เคยมีโอกาสไปบรรยายที่องค์กรแห่งหนึ่ง แล้วผู้นำระดับสูงก็ลงมาพูดคุย บอกว่าวันนี้เอาสนุกๆ เลยนะ ชวนเขามาคุย ให้เขาทำงานกับตัวเอง เข้าใจตัวเอง เพราะอยากให้เขาสนุก เพราะเดี๋ยวจะต้องใช้แรงสมองพวกเขาอีกเยอะมากๆ เลย คือเขามีการจัดการอารมณ์ของพนักงานกับตัวเขาเองในภาวะวิกฤตแบบนี้ได้ดีเลย เขารู้ว่าการทำแบบนี้คือการเตรียมความพร้อมให้ทีมงานตั้งรับกับวิกฤตอันยาวนานครั้งนี้ ซึ่งพอดาวได้ฟังแบบนั้นยังรู้สึกว่า ขนาดเราไม่ใช่พนักงาน เราไปเจอเขาวันเดียวยังรู้สึกพลังบวกเลย แล้วพอกวาดสายตาไปดูอีก 50-60 ชีวิตที่อยู่ตรงนั้น คุณผ่านโควิด-19 กันมาแบบนี้เหรอ เรารู้สึกดีมากที่ผู้นำของเขาสามารถสร้างความมั่นใจให้กับลูกทีมได้ 

 

การส่งต่อความเชื่อมั่นและพลังบวกของผู้นำ ส่งผลกระทบต่องานได้ไม่น้อย

บางทีเราอาจจะมองข้ามอะไรเล็กๆ น้อยๆ เช่น น้ำเสียง หรือภาษากายต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการทักทายตอนเช้า จริงๆ มันเป็นเหมือนตัวเปิดพลัง คือถ้าตอนเช้ามาแล้วพูดว่าวันนี้แย่จัง งานนี้เสร็จหรือยัง ถ้าเขามาด้วยเสียงแบบนี้ ใจคนที่เหลือที่ได้ยินก็ร่วง แต่ถ้าน้ำเสียงมาแบบพลังบวก มันก็จะเป็นอีกแบบ

 

การที่ผู้นำไม่ได้จัดการความเครียดตัวเอง บางทีมันจะเป็นการโยนความเครียดและความกังวลของเราให้คนรอบๆ ตัว ในเมื่อเรากำลังเรียกร้อง Productivity อย่างสูงจากพนักงาน จากเพื่อนร่วมทีมของเรา แต่เราไปทำในสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อ Productivity คือเติมความเครียดให้กับเขา และสุดท้ายก็อยากจะไปเรียกร้องเอาผลลัพธ์จากเขา เขาจะสับสนงงงวยมาก แล้วเขาจะกรีดร้องอยู่ข้างใน นั่นเป็นที่มาว่าเมื่อไรก็ตามที่พนักงานเขาอยู่ในภาวะแบบนั้น มันอยู่ไม่ได้ เขาก็จะเริ่มลาป่วยบ่อยๆ ลาออกบ้าง ผลงานไม่เป็นไปตามเป้า แน่นอนค่ะ เพราะใจมันไม่อยู่ คุณได้คนเก่งๆ ตั้งเรียงกันเป็นแผงเลย แต่เขาไม่มีใจจะทำงาน ถามว่าจะจ่ายเงินขนาดนั้นไปทำไม เพราะฉะนั้นบางทีสิ่งเหล่านี้อาจจะเป็นเรื่องเบาๆ แต่มันสกัด Productivity คนได้เยอะมาก

 

คำแนะนำสำหรับลูกทีมที่อยากจะช่วยเหลือองค์กรในช่วงวิกฤต แต่ไม่รู้วิธีเข้าหาผู้นำ

ด้วยธรรมชาติของวัฒนธรรมไทยที่มันมีการนอบน้อมหลายๆ อย่าง ทำให้บางทีเราเลือกจะเงียบ กังวลจังเลยว่าถ้าพูดไปแล้วเดี๋ยวจะกระทบจิตใจคนนั้น ก็เลยไม่พูดดีกว่า แต่บางทีคนคนนั้นอาจจะถือกุญแจสำคัญที่จะเปิดประตูอีกบานซึ่งทั้งบริษัทยังไม่มีใครเห็นเลย แต่เราเลือกเงียบเพราะเราไม่อยากทำร้ายจิตใจคนอื่น Empathy ในรูปแบบนี้อันตรายนะคะ โดยเฉพาะในยุคนี้ที่เราต้องช่วยกันหาทางรอด เพราะฉะนั้นให้พูดมันออกมา แต่พูดออกมาอย่างไรก็ต้องช่วยกันนิดหนึ่ง ไม่ใช่พูดแบบเต็มไปด้วยอารมณ์ ไม่ได้พูดแบบที่ไปกดว่าทำไมเป็นผู้นำยังคิดไม่ได้ หรือพูดแล้วไปข่มแผนกอื่นๆ

 

ยิ่งในภาวะวิกฤตแบบนี้ ตอนนี้ทุกคนบอบบางและสั่นไหวมาก การสื่อสารที่เต็มไปด้วยความเข้าอกเข้าใจจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าไม่มีความรุนแรงหรือเพิ่มแรงอัดต่อกันมาก เราก็สามารถพูดแบบตรงๆ ได้ แต่ถ้าไม่มั่นใจว่าพูดได้ไหมก็ให้ขออนุญาตค่ะ พูดจาภาษาพิมพ์ดีดแบบที่ไม่ใส่น้ำเสียง ไม่แสดงท่าทางหรืออารมณ์นำ สะท้อนทุกอย่างออกมาเป็นภาษาพูดเหมือนเราพิมพ์ เมื่อพิมพ์เสร็จ น้ำเสียงเราจะไม่เหลือแล้ว

 

การสื่อสารอีกแบบหนึ่งที่อันตรายมากคือแบบภูเขาไฟ ถ้าฉันโกรธ โลกจะต้องรู้ ถ้าฉันเศร้า โลกจะต้องเขย่าไปด้วย ถ้าฉันกังวล ทุกคนจะต้องสัมผัสได้ เสียงมา หน้าออก บางทีจังหวะการเดินมันก็บอก จังหวะนั่ง จังหวะถอนหายใจ ผู้นำบางคนสามารถปรับมู้ดห้องประชุมให้เป็นพื้นที่ลาวาได้ คืออารมณ์นำมาก่อนเลย ซึ่งเดิมทีในภาวะปกติ หลายคนอาจจะยังทนได้ แต่ในวิกฤตแบบนี้ ตอนนี้ทุกคนเปราะบางมากนะคะ เราไม่รู้เลยว่าเขาเจอวิกฤตอะไรอย่างอื่นในชีวิตส่วนตัวบ้าง เพราะฉะนั้นนี่อาจจะไม่ใช่วิธีที่จะช่วยให้เจอทางออก

 

ถัดมาจะเป็นการสื่อสารแบบตัวนิ่ม อย่างที่บอกว่าบางทีเราคิดมากเกินไป เวลาผู้นำถามว่ามีอะไรจะพูดไหม คอหดเลย จากนั่งตัวตรงๆ ก็ก้มหน้า ก้มดูไอแพด กดโทรศัพท์ เราหดเพราะรู้สึกถูกเอื้อมแตะมาถึงเรา ถ้าอย่างนั้นเงียบดีกว่า เขาจะอาจจะเออๆ ออๆ กับเรา แต่ลึกๆ แล้วใจเขาอาจจะไม่ได้คิดแบบนั้น ซึ่งอันนั้นยิ่งน่ากลัวค่ะ มันจะไม่เกิด Innovation

 

แบบที่สามคือหอก เป็นการสื่อสารที่มันทิ่มแทง หรือการชี้เป้าล็อกอะไรบางอย่างให้คนรู้สึกเจ็บ กลัว ลองค่อยๆ สังเกตก็ได้ บางทีในที่ประชุมที่คนกำลังแชร์ไอเดียกันอยู่ ก็มีคนพูดประมาณว่า แหม อีกแล้วนะ, อ้าว เธอก็ทำได้นี่ อะไรแบบนี้มันสร้างพื้นที่ที่เจ็บปวดมาก และมันทำร้ายกันเอง โลกใบนี้ก็ทิ่มแทงอยู่แล้ว พอประชุมกันปุ๊บก็ทิ่มกันอีกทั้งหน้าทั้งหลัง ซึ่งมันก็ก่อให้เกิดความเครียดต่อเนื่อง และความสัมพันธ์ในทีมก็แย่ลงแน่นอน

 

คำแนะนำสำหรับองค์กรที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ

ความเปลี่ยนแปลงมันหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่มีสิ่งหนึ่งที่เรารู้จักมาเนิ่นนานและแน่แท้คือตัวเรา ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราไม่ตั้งหลักให้พร้อม เมื่อพุ่งไปแล้วก็เหมือนเรากระโดดเข้าไปวนอยู่ในเครื่องซักผ้า ให้ตั้งหลักสักแวบหนึ่งแล้วค่อยกลับเข้ามาทำงาน จูนกับตัวเองว่าหลักเราคืออะไร ธุรกิจเราคืออะไร เราอยากเป็นผู้นำแบบไหน แล้วความสามารถหรือศักยภาพในตัวเรา ณ ตอนนี้มันเอื้อกับทิศทางที่จะไปไหม

 

ต่อมาคือต้องดูทีมงานของเราด้วย การที่เราจะพาเขาไปทั้งองคาพยพนั้น เขาต้องการอะไร เขาคือใคร เขาเป็นแบบไหน จูนสองอย่างนี้ให้ได้ และสุดท้ายก็คือใช้การสื่อสารที่เต็มไปด้วยความเข้าใจ บอกทั้งตัวเรา บอกทั้งตัวเขาว่าเราจะไปที่ไหนกัน แล้วเราต้องเพิ่มอะไร หรือเราต้องใช้อะไรที่มีอยู่แล้วบ้าง

 

จริงๆ มนุษย์ทุกคนมีจุดแข็งกันอยู่แล้ว แต่ถ้าเรานึกถึงจุดแข็งตัวเองไม่ออก ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เราไม่มีจุดแข็ง ปัญหาคือเราไม่เห็นเฉยๆ จงนั่งหาให้เจอก่อน แล้วใช้จุดแข็งที่มีอยู่ในการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ การทำตัวเองให้รู้เท่าทันเป็นสิ่งจำเป็นมากที่จะทำให้เราอยู่รอดในธุรกิจ

 

ความเปลี่ยนแปลงมันหลีกเลี่ยงไม่ได้
แต่มีสิ่งหนึ่งที่เรารู้จักมาเนิ่นนานและแน่แท้คือตัวเรา
ถึงแม้จะเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเราไม่ตั้งหลักให้พร้อม
เมื่อพุ่งไปแล้วก็เหมือนเรากระโดดเข้าไปวนอยู่ในเครื่องซักผ้า

 


Credits

 

The Host ศิรัถยา อิศรภักดี


Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์
Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ
Sound Recording Engineer ขจีพรรณ วิจิตรรัตน์

Art Director กริน วสุรัฐกร

Graphic Designer พันธิตรา หอมเดชนะกุล
Channel Manager เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์
Channel Admin เอกราช มอเซอร์
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
Webmaster ณฐพร  โรจน์อนุสรณ์
Social Media Admins วนัชพร ดวงนิล, สุทธกิตติ์​ สุทธาวรรณกุล, ธิติกร ลิ้มทองมณี, วิมลณัฐ พรศิริอนันต์

Archive Officer ชริน จำปาวัน

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



Close Advertising
X
Close Advertising