×

เชนร้านอาหารดัง ‘ไมเนอร์-ฟู้ดแพชชั่น’ เร่งปรับกลยุทธ์ หวังบรรเทาพิษคำสั่งห้ามกินในร้าน ยอมรับแผนเดลิเวอรีไม่เซ็กซี่เหมือนเดิม

30.04.2021
  • LOADING...
เชนร้านอาหารดัง ‘ไมเนอร์-ฟู้ดแพชชั่น’ เร่งปรับกลยุทธ์ หวังบรรเทาพิษคำสั่งห้ามกินในร้าน ยอมรับแผนเดลิเวอรีไม่เซ็กซี่เหมือนเดิม

แผลกลัดหนองยังไม่ทันได้รักษาให้หายดี กลับต้องมาอักเสบซ้ำอีกครั้ง หลังที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้มีมติยกระดับพื้นที่สีแดง(พื้นที่ควบคุมสูงสุด) เป็นสีแดงเข้ม (พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด) จำนวน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร, นนทบุรี, ชลบุรี, เชียงใหม่, ปทุมธานี และสมุทรปราการ

 

โดยหนึ่งในมาตรการที่ส่งผลกระทบโดยตรงของธุรกิจร้านอาหารคือ การห้ามนั่งรับประทานอาหารในร้าน สามารถซื้อกลับได้เท่านั้นไม่เกินเวลา 21.00 น. มาตรการดังกล่าวมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 พฤษภาคมเป็นต้นไป และจะทบทวนสถานการณ์อีกครั้งใน 14 วัน

 

ไมเนอร์มองยอดขายกระทบแน่นอน

“มาตรการดังกล่าวถือเป็นเรื่องที่เซอร์ไพรส์เราอยู่เหมือนกัน” ประพัฒน์ เสียงจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH

 

 

“แน่นอน สิ่งที่เกิดขึ้นย่อมส่งผลกระทบอย่างเลี่ยงไม่ได้ต่อธุรกิจ เพราะเดิมการให้นั่งในร้านถึงแค่ 2 ทุ่ม ก็กระทบความรู้สึกของผู้บริโภคมากพออยู่แล้ว ด้วยเวลาที่ปิดเร็วขึ้น หากลูกค้าต้องการออกจากร้านทุ่มครึ่ง จึงต้องเริ่มกินตั้งแต่ 6 โมงครึ่ง ถือเป็นเวลาที่เร็วเกินไปสำหรับมื้อเย็น ลูกค้าบางส่วนเลยเลือกที่จะไม่เข้าร้าน ยอดขายร้านที่อยู่ในห้างก็หายไปพอสมควร”

 

ยอดขายจาก 6 จังหวัดใหญ่คิดเป็นรายได้กว่า 60% ของเครือไมเนอร์ ฟู้ด ประพัฒน์ประเมินว่า การปิดให้นั่งในร้าน 14 วันจะทำให้ยอดขายในส่วนของการนั่งกินในร้านหายไป 30-50% เมื่อคิดเป็นตัวเลขทั้งประเทศ แม้ตัวเลขล่าสุดยอดขายในร้านจะคิดเป็นสัดส่วนเพียง 30% ซึ่งเป็นตัวเลขที่ลดลงจากสัดส่วน 60-70% ก่อนจะเกิดโรคระบาด ขณะที่ยอดขายเดลิเวอรีและซื้อกลับบ้านจะขยับขึ้นมาเป็นยอดขายหลัก 70% แล้วก็ตาม

 

“เราต้องอุดช่องว่างการกินในร้านที่หายไปให้เร็วที่สุด โชคดีว่าเรามีเดลิเวอรีเข้ามาช่วย แต่แน่นอนคงไม่สามารถชดเชยรายได้จากการนั่งกินในร้านได้ทั้งหมด”

 

3 เรื่องที่ต้องเร่งทำ

แม่ทัพไมเนอร์ ฟู้ด ระบุ มี 3 เรื่องที่ต้องเร่งทำหลังจากนี้คือ การหาแพ็กเกจจิงที่เหมาะสมสำหรับลูกค้าที่ซื้อกลับบ้านสำหรับแบรนด์ Swensen’s และ Sizzler, การออกโปรโมชันที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้มากที่สุด โดยต้องทำราคาให้จับต้องได้, ลดต้นทุนเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไป และเสริมมาตรการการป้องกันด้านความปลอดภัยสำหรับพนักงานและลูกค้าให้เข้มข้นขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม แม้ในเดือนเมษายนจะต้องเผชิญกับการระบาดระลอก 3 แต่ยอดขายตั้งแต่วันที่ 1-27 เมษายน 2564 ของไมเนอร์ ฟู้ด กลับโตขึ้นถึง 20% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะในช่วงเดือนเมษายน 2563 มีการล็อกดาวน์ตลอดทั้งเดือน แต่หากเทียบวันที่ 1 มกราคม – 27 เมษายน ยอดขายลดลงราว 18% เนื่องจากปีที่แล้วช่วงก่อนระบาดของโรคโควิด-19 มียอดขายค่อนข้างดี

 

“ส่วนตัวมองว่าคำสั่งห้ามนั่งกินในร้าน 14 วันน่าจะจบแล้ว มั่นใจว่าแนวโน้มของผู้ติดเชิ้อมีตัวเลขที่ลดลง” ประพัฒน์กล่าว

 

กระนั้น ประพัฒน์ก็ย้ำว่า สิ่งที่ภาครัฐควรทำอย่างเร่งด่วนที่สุดมี 2 เรื่องคือ ความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนที่เป็นดั่งแสงสว่างปลายอุโมงค์ของประเทศ ซึ่งวัคซีนนั้นต้องมาพร้อมประสิทธิภาพที่ดีด้วย โดยควรเร่งฉีดให้ได้ 70% ของประชากร เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ ถ้าทำได้เร็วธุรกิจก็มีโอกาสฟื้นตัวได้เร็ว และอีกเรื่องคือความชัดเจนในเรื่องของการเปิดรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเป็นรายได้หลักของประเทศ 

 

‘ฟู้ดแพชชั่น’ มองแผนเดลิเวอรี แม้ช่วยพยุงยอดขาย แต่ไม่เซ็กซี่เหมือนเดิม

ด้าน บุณย์ญานุช บุญบำรุงทรัพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการสร้างโอกาสทางการตลาด กลุ่มธุรกิจอาหาร ฟู้ดแพชชั่น กล่าวกับ THE STANDARD WEALTH ว่า คำสั่งห้ามนั่งกินในร้านถือเป็นเรื่องที่ไม่เซอร์ไพรส์ เพราะเราคิดไว้อยู่แล้วจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้น หลังจากพบผู้ติดเชื้อเข้าสู่หลักพัน

 

 

บุณย์ญานุชประเมินจาก 3 ปัจจัยหลัก คือ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่แตะหลักพัน, มองการจัดการสถานการณ์ของต่างประเทศที่แม้จะคุมได้ดี แต่ที่สุดแล้วก็ต้องกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง และสุดท้ายคือการเรียนรู้ของรัฐบาลที่ปล่อยให้ประชาชนเดินทางในช่วงสงกรานต์ ซึ่งเชื่อว่าช่วงหยุดยาวในต้นเดือนพฤษภาคมคงไม่อยากให้เดินทางเยอะอีกแล้ว 

 

“ยอดขายในเดือนเมษายนลดลง 50% รอบนี้มันหนักมาก เพราะผู้บริโภคกลัวกันจริงๆ โดยตัวเลข 6 จังหวัดตามคำสั่งนั้นคิดเป็นยอดขาย 70-80% ของฟู้ดแพชชั่นเลยทีเดียว”

 

แม้สถานการณ์รอบนี้จะดูหนักหนา แต่ในมุมมองบุณย์ญานุชกลับบอกว่า “ชิลขึ้นเยอะมาก” เพราะได้มีการเตรียมกับไว้หมดแล้วโดยการเปิดตัวแคมเปญ ‘มาตรGONเยียวยา’ ได้แก่ GON ช่วยครึ่ง ไทยฌานา หม้อชนะ ก.333 เรารักกัน และ GON ไม่ทิ้งกัน ซึ่งหมดเป็นแคมเปญที่จัดขึ้นมาเพื่อกระตุ้นยอดขายเดลิเวอรี ซึ่งเพิ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการในวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา

 

ปัจจุบันยอดขายเดลิเวอรีของเครือฟู้ดแพชชั่น ซึ่งประกอบไปด้วย แบรนด์บาร์บีคิวพลาซ่า, จุ่มแซบฮัท, ฌานา, โภชา, เรดซัน และหมูทอดกอดคอ 15% คาดว่าแคมเปญดังกล่าวจะช่วยเพิ่มยอดสั่งซื้อเป็น 30% ทว่า ส่วนที่จะหายไปแน่นอนคือการนั่งกินในร้านซึ่งคิดเป็นสัดส่วน 70%

 

“อย่างหนึ่งที่เราสังเกตได้คือ กำลังซื้อในรอบนี้กับปีที่แล้วแตกต่างกันมากๆ อย่างการซื้อกลับบ้าน แม้ยอดซื้อต่อบิลไม่ได้ลดลง แต่จำนวนลูกค้าที่เดินเข้ามากลับลดลง ขณะที่เดลิเวอรีก็ไม่ได้เซ็กซี่เหมือนเดิมอีกแล้ว”

 

พนักงานคือหัวใจสำคัญ

ขณะเดียวกันในแง่ของหลังบ้านก็ได้มีการเตรียมพร้อมแล้ว ทั้งการจัดการวัตถุดิบ ตลอดจนมีการลงทุนเพิ่มเติมในเรื่องของความสะอาด คือการซื้อระบบฉีดพ่นทำความสะอาดด้วยน้ำยาแบบ Food Grade หลังจากปิดร้าน แม้จะทำให้ต้นทุนเพิ่มหลักล้าน แต่นี่เป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะจะสร้างความมั่นใจให้กับพนักงานและลูกค้า

 

นอกจากนี้ในมุมของพนักงานนั้นได้มีการซื้อประกันโควิด-19 ที่ครอบคลุมพนักงานในร้านทั้ง 2,000 คน รวมไปถึงผ่อนปรนให้พนักงานสามารถปรุงอาหารในร้านได้ เพื่อลดการออกไปสัมผัสความเสี่ยงด้านนอก

 

“หนึ่งในเรื่องที่เราภูมิใจมากที่สุดเกี่ยวกับพนักงานคือ ในปีที่ผ่านมา แม้ยอดขายของเราจะหายไปกว่าครึ่ง แต่เราก็ยังให้โบนัส ขึ้นเงินเดือน ตลอดจนคืนเงินเดือนให้กับพนักงานในช่วงที่ต้อง Leave Without Pay”

 

อย่างไรก็ตาม เดิมนั้นฟู้ดแพชชั่นตั้งเป้ายอดขายในปีนี้ต้องการโต 3-5% แต่ด้วยสถานการณ์ต่างๆ ทำให้หากจบปี 2564 ได้เท่ากับปี 2563 คือมีรายได้ 2,900 ล้านบาท และกำไรหลักร้อยล้าน ก็เป็นสิ่งที่บุณย์ญานุชพอใจที่สุดแล้ว 

 


ไม่พลาดข่าวไฮไลต์ประจำวัน มาเป็นเพื่อนกับ THE STANDARD WEALTH ในไลน์ คลิก https://lin.ee/xfPbXUP

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X