×

ธปท. มองไทยฟื้นตัวช้า รัฐเบิกจ่ายเงินเยียวยาและฟื้นฟูต่ำกว่าที่ประเมิน คาดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบจริงปีหน้า

07.10.2020
  • LOADING...
ธนาคารแห่งประเทศไทย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยรายงานการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (ฉบับย่อ) ครั้งที่ 6/2563 (23 กันยายน 2563) โดยเผยแพร่ในวันนี้ (7 ตุลาคม 2563) ดังนี้ 

 

ภาวะเศรษฐกิจต่างประเทศ 

เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป แม้เครื่องชี้เศรษฐกิจล่าสุดในหลายประเทศจะทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่อง แต่ระดับของกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมในหลายประเทศยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19 มาก เศรษฐกิจอุตสาหกรรมหลักและเอเชีย (ไม่รวมจีน) มีแนวโน้มหดตัวในปี 2563 นี้

 

โดยเฉพาะเศรษฐกิจเอเชียที่มีแนวโน้มหดตัวมากกว่าคาดจากการแพร่ระบาดที่ยังรุนแรงในหลายประเทศ และการระบาดระลอกใหม่ในบางประเทศ ที่ทำให้ทางการต้องประกาศใช้มาตรการควบคุมการระบาดอีกครั้ง โดยทางการประเทศต่างๆ มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงมาตรการควบคุมการระบาดที่เข้มงวด เพื่อลดทอนผลกระทบทางเศรษฐกิจ

ด้านเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวเล็กน้อยจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ทยอยปรับดีขึ้นต่อเนื่องหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด นโยบายการเงินของประเทศต่างๆ ผ่อนคลายต่อเนื่องเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ธนาคารกลางสหรัฐฯ มีแนวโน้มคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำเป็นเวลานานขึ้นจากการปรับกรอบนโยบาย โดยใช้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยเป็นเป้าหมาย (Flexible Average Inflation Targeting) ธนาคารกลางประเทศอุตสาหกรรมหลักคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ในระดับต่ำ พร้อมกับคงมาตรการเข้าซื้อสินทรัพย์ทางการเงิน (Asset Purchases) ขณะที่ธนาคารกลางในภูมิภาคหลายแห่งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับต่ำ 

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจประเทศคู่ค้ามีโอกาสที่จะขยายตัวต่ำกว่าคาดจาก

 

  1. การระบาดของโควิด-19 ที่อาจรุนแรงขึ้นจนทำให้หลายประเทศกลับมาดำเนินมาตรการควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวดอีกครั้ง 
  2. ความเปราะบางของเสถียรภาพระบบการเงินโลก จากความเสี่ยงที่ตราสารหนี้ภาคเอกชนมีโอกาสผิดนัดชำระหนี้เพิ่มขึ้นหรือตราสารหนี้ถูกปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ 
  3. นโยบายกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่อาจกลับมาทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ

 

คณะกรรมการฯ อภิปรายเพิ่มเติมถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้า และประเมินว่า ความต่อเนื่องของการฟื้นตัวยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจล่าสุดที่กลับมาขยายตัวได้บ้างหลังจากที่หดตัวรุนแรงในไตรมาสที่ 2 ส่วนสำคัญมาจากมาตรการกระตุ้นการบริโภคของภาครัฐ การใช้จ่ายเพื่อชดเชยกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หยุดชะงักในช่วงก่อนหน้า และการใช้จ่ายเพื่อรองรับบริบทใหม่ภายใต้การระบาดของโควิด-19 อาทิ การทำงานจากที่บ้าน 

ขณะที่พื้นฐานทางเศรษฐกิจที่จะสนับสนุนให้การบริโภคขยายตัวอย่างต่อเนื่องยังคงอ่อนแออยู่มาก โดยเฉพาะการว่างงานที่อาจฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าในระยะต่อไป คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้ติดตามประเด็นดังกล่าวอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีนัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

ภาวะตลาดการเงิน

ความผันผวนในตลาดการเงินโลกทรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน นักลงทุนยังรอดูพัฒนาการของเหตุการณ์สำคัญต่างๆ ทั้งการเจรจาการแยกตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสหภาพยุโรป และการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ 

 

นอกจากนี้นักลงทุนยังคงระมัดระวังในการเลือกประเภทสินทรัพย์และกลุ่มประเทศที่กลับเข้าไปลงทุน สะท้อนจากปริมาณเงินทุนที่ไหลกลับเข้าตลาดตราสารหนี้และตราสารทุนแตกต่างกันในแต่ละประเทศของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets: EMs) ด้านราคาสินทรัพย์ส่วนใหญ่ทรงตัวจากการประชุมครั้งก่อน ยกเว้นตราสารทุนในกลุ่มเทคโนโลยีที่มีการปรับฐานราคาลงหลังจากที่เร่งไปมากในช่วงก่อนหน้า รวมถึงความกังวลของนักลงทุนที่เพิ่มขึ้นจากประเด็นความขัดแย้งด้านเทคโนโลยีระหว่างสหรัฐฯ และจีน 

 

สำหรับภาวะตลาดการเงินของไทย อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลทรงตัวในระดับต่ำ ขณะเดียวกันส่วนต่างของอัตราผลตอบแทนตราสารหนี้ภาคเอกชนและพันธบัตรรัฐบาลเริ่มปรับลดลงบ้างในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีคุณภาพดี 

 

ด้านสินเชื่อระบบธนาคารพาณิชย์ขยายตัวจากสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่และสินเชื่อรายย่อย ขณะที่สินเชื่อธุรกิจ SMEs หดตัวน้อยลง โดยส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการสินเชื่อของภาครัฐและการเลื่อนกำหนดชำระหนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าสภาพคล่องโดยรวมในระบบการเงินยังอยู่ในระดับสูง แต่ต้องเร่งดำเนินการให้กระจายตัวไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบมากขึ้น

 

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์ สรอ. และเงินสกุลภูมิภาคส่วนใหญ่ ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยภายในประเทศ อาทิ การพบผู้ติดโควิด-19 รายใหม่ในประเทศ ความไม่แน่นอนทางการเมืองในประเทศ โดยเฉพาะการประกาศลาออกจากตำแหน่งของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและการชุมนุมประท้วงทางการเมือง รวมถึงปัจจัยภายนอกประเทศ อาทิ การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรที่ยังไม่ได้ข้อยุติในหลายประเด็น และความขัดแย้งระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน สำหรับดัชนีค่าเงินบาท (Nominal Effective Exchange Rate: NEER) โดยรวมปรับอ่อนค่าลงจากการประชุมครั้งก่อน 

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่า หากเงินบาทกลับมาแข็งค่าขึ้นเร็วอาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้ จึงเห็นควรให้ติดตามสถานการณ์ตลาดการเงินและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนอย่างใกล้ชิด รวมทั้งประเมินความจำเป็นของการดำเนินมาตรการที่เหมาะสมเพิ่มเติม โดยเฉพาะการเร่งสร้างสมดุลของเงินทุนเคลื่อนย้าย โดยเอื้อให้ภาคเอกชนสามารถทำธุรกรรมเงินตราต่างประเทศได้สะดวกขึ้น และสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้เสรีขึ้น

 

ภาวะเศรษฐกิจในประเทศและเสถียรภาพระบบการเงิน

เศรษฐกิจไทยทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในไทย และการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมยังอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดการระบาดมาก การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปในหลายหมวดสินค้า โดยการฟื้นตัวยังอยู่ในระดับต่ำและช้ากว่าเศรษฐกิจภูมิภาค เนื่องจากไทยมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าในหมวดที่ฟื้นตัวช้า (เช่น ยานยนต์และชิ้นส่วน) สูงกว่าภูมิภาคโดยเปรียบเทียบ การส่งออกบริการ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมีแนวโน้มฟื้นตัวช้ากว่าที่คาดจากการระบาดระลอกใหม่ในบางประเทศ และมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติของไทยที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง การบริโภคภาคเอกชนทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาด 

 

แต่ประเมินว่า การบริโภคภาคเอกชนยังคงเปราะบางจากหลายปัจจัย อาทิ รายได้ของครัวเรือนที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าตามสภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงอ่อนแอ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ยังอยู่ในระดับต่ำและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูงขึ้น การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มหดตัวสูงจากกำลังการผลิตส่วนเกินที่มีอยู่มาก และความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี การลงทุนภาคเอกชนในระยะข้างหน้ายังมีแรงสนับสนุนอยู่บ้างจากแผนการย้ายฐานการผลิตมาไทยในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่และโครงสร้างพื้นฐานรองรับเศรษฐกิจดิจิทัลที่มีแนวโน้มดำเนินการได้ต่อเนื่อง การใช้จ่ายภาครัฐเป็นแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญจากการเบิกจ่ายภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาด 

 

อย่างไรก็ตาม แรงกระตุ้นภาครัฐในปี 2563 มีแนวโน้มต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิมจากการเลื่อนเบิกจ่ายแผนงานเยียวยาและแผนงานฟื้นฟู โดยเม็ดเงินบางส่วนจะเลื่อนการเบิกจ่ายไปในปี 2564 

 

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในปี 2563 มีแนวโน้มดีขึ้นเล็กน้อยจากประมาณการรอบก่อน โดยคาดว่าจะหดตัวที่ร้อยละ 7.8 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิม โดยคาดว่าจะขยายตัวได้ที่ร้อยละ 3.6 ตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ 

 

ทั้งนี้ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงหลายด้าน อาทิ เศรษฐกิจโลกที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาด ความสามารถในการชำระหนี้ของภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง รวมทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมินไว้เดิม หากภาครัฐไม่สามารถดำเนินมาตรการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ 

 

คณะกรรมการฯ อภิปรายอย่างกว้างขวางเกี่ยวกับความท้าทายที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญในระยะข้างหน้า โดยเฉพาะการฟื้นตัวที่มีแนวโน้มแตกต่างกันมากระหว่างภาคเศรษฐกิจ ภูมิภาค และผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม และเห็นว่าแนวโน้มการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในหลายมิติจะมีนัยต่อมาตรการภาครัฐที่จำเป็นต้องแก้ปัญหาให้ตรงจุดและทันการณ์มากขึ้น อาทิ การเร่งสนับสนุนการจ้างงานและการพัฒนาทักษะแรงงานเพื่อรองรับแรงงานที่อาจถูกกระทบจากอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าและมีกำลังการผลิตส่วนเกินสูง การสร้างงานในต่างจังหวัดเพื่อรองรับแรงงานคืนถิ่น รวมถึงนโยบายด้านอุปทาน โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจเพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มฟื้นตัวเร็วสามารถปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง

 

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2563 

มีแนวโน้มติดลบน้อยลงกว่าประมาณการเดิม จากราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มขึ้นตามอุปสงค์ที่ขยายตัวหลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มทยอยปรับสูงขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยอยู่ใกล้เคียงกับขอบล่างของกรอบเป้าหมายในปี 2564 ทั้งนี้ การคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อในระยะปานกลางยังยึดเหนี่ยวอยู่ในกรอบเป้าหมาย

 

ระบบการเงินไทยมีเสถียรภาพ แม้ว่าจะเปราะบางมากขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ธนาคารพาณิชย์มีระดับเงินกองทุนและเงินสำรองที่เข้มแข็ง สามารถรองรับผลกระทบต่อเศรษฐกิจจากโควิด-19 ได้ แต่ในระยะข้างหน้าต้องเตรียมพร้อมรับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังไม่แน่นอน และความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นจากความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจและครัวเรือนที่ลดลง 

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องให้ตรงจุดและทันการณ์ สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างธุรกิจ

 

การดำเนินนโยบายการเงิน คณะกรรมการฯ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มทยอยฟื้นตัวตามการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 ในประเทศและการทยอยฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่วโลก โดยในปี 2563 มีแนวโน้มหดตัวน้อยลงจากประมาณการเดิมเล็กน้อย แต่ในปี 2564 มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงกว่าประมาณการเดิมตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มีแนวโน้มฟื้นตัวช้าเป็นสำคัญ 

 

ทั้งนี้ ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี ก่อนที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมจะกลับสู่ระดับก่อนการแพร่ระบาด และยังต้องระวังความเสี่ยงจากโอกาสเกิดการระบาดระลอกที่ 2 คณะกรรมการฯ เห็นว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำควบคู่กับมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อของ ธปท. และมาตรการการคลังของรัฐบาลได้ช่วยบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น และจะสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจได้หลังการระบาดคลี่คลาย ตลอดจนเอื้อให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่กรอบเป้าหมาย และลดความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงิน 

 

คณะกรรมการฯ จึงมีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ร้อยละ 0.50 ต่อปี ทั้งนี้ คณะกรรมการฯ เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่อยู่ในระดับต่ำเป็นประวัติการณ์เอื้อต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ นอกจากนี้การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มเติมอาจมีประสิทธิผลไม่มากในบริบทปัจจุบัน โดยอาจกระทบต่อการทำหน้าที่ตัวกลางทางการเงินของสถาบันการเงิน เพิ่มความเปราะบางให้กับเสถียรภาพระบบการเงินผ่านการประเมินความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควร รวมถึงกระทบต่อการออมของประชาชน คณะกรรมการฯ จึงเห็นควรให้รักษาขีดความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) ที่มีอยู่อย่างจำกัด เพื่อใช้ในจังหวะที่เหมาะสมและให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด

 

คณะกรรมการฯ เห็นว่าแต่ละภาคส่วนต้องบูรณาการมาตรการให้สอดคล้องและเชื่อมโยงกัน ทั้งมาตรการด้านการคลังที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อเนื่อง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อที่ช่วยเสริมสภาพคล่อง โดยมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อในระยะข้างหน้าควรให้ความสำคัญกับ 

 

  1. ดูแลให้สภาพคล่องในระบบการเงินกระจายไปสู่ภาคธุรกิจและครัวเรือนที่ได้รับผลกระทบให้เกิดผลในวงกว้างมากขึ้น ผ่านการเร่งรัดสินเชื่อในโครงการต่างๆ รวมทั้งการกำหนดมาตรฐานระยะเวลาการให้สินเชื่อการค้า (Credit Term) เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม 

 

  1. สนับสนุนให้สถาบันการเงินเร่งรัดการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้อย่างจริงจัง โดยเฉพาะลูกหนี้ครัวเรือนและธุรกิจ

 

  1. เตรียมมาตรการรองรับเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางการเงินของภาคธุรกิจ และการสร้างกลไกเพื่อให้การปรับโครงสร้างหนี้มีมาตรฐานและดำเนินการได้รวดเร็วขึ้น ขณะที่นโยบายการคลังจำเป็นต้องมีบทบาทมากขึ้นในระยะข้างหน้า เพื่อสนับสนุนการฟื้นฟูเศรษฐกิจและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวจะใช้เวลาและมีความแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจ ภูมิภาค และผู้ประกอบการแต่ละกลุ่ม มาตรการภาครัฐในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องต่อเนื่อง ตรงจุด และทันการณ์ โดยควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทาน เพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ การปรับรูปแบบการทำธุรกิจของผู้ประกอบการ และการพัฒนาทักษะแรงงานให้สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการแพร่ระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง เพื่อให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้อย่างยั่งยืน

 

คณะกรรมการฯ แสดงความกังวลและหารืออย่างกว้างขวางเกี่ยวกับภาวะตลาดแรงงานที่ยังคงมีความเปราะบางทั้งมิติด้านการจ้างงานและด้านรายได้ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า แม้ล่าสุดภาคธุรกิจบางส่วนจะเริ่มกลับมาทำการได้หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโควิด-19 แต่การจ้างงานและรายได้ของแรงงานยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าภาวะปกติมาก ประกอบกับแรงงานส่วนหนึ่งได้ย้ายไปประกอบอาชีพในภาคเกษตรและประกอบอาชีพอิสระ ทำให้มีรายได้ลดลง 

 

ทั้งนี้ แนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในระยะข้างหน้ายังมีความเปราะบางจาก

 

  1. สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ที่อาจยืดเยื้อจนทำให้แรงงานถูกลดค่าจ้าง และอาจถูกเลิกจ้างเพิ่มมากขึ้น 
  2. มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูของภาครัฐที่ทยอยสิ้นสุดลง 
  3. การเข้าสู่ช่วงนอกฤดูการเกษตรในครึ่งแรกของปี 2564 ที่อาจทำให้ภาคเกษตรไม่สามารถรองรับแรงงานที่ย้ายมาจากนอกภาคเกษตรได้ 
  4. แรงงานบางส่วนอาจกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยากขึ้นแม้สถานการณ์การระบาดจะคลี่คลายลง โดยเฉพาะแรงงานที่มีอายุมาก กลุ่มนักศึกษาจบใหม่ รวมถึงแรงงานที่มีทักษะไม่สอดคล้องกับบริบทใหม่หลังการระบาดของโควิด-19 คลี่คลายลง ซึ่งอาจส่งผลต่อศักยภาพการเติบโตระยะยาวของเศรษฐกิจ ทั้งนี้ มาตรการด้านแรงงานในระยะถัดไปจึงมีความสำคัญสูง และต้องตรงจุดมากขึ้น โดยคำนึงถึงความแตกต่างในแต่ละสาขาเศรษฐกิจ รวมถึงการฟื้นตัวและอุปสรรคในการปรับตัวที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่

 

มองไปข้างหน้า คณะกรรมการฯ จะติดตามพัฒนาการของการขยายตัวทางเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเสถียรภาพระบบการเงิน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งจากเศรษฐกิจต่างประเทศ ผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 รวมถึงประสิทธิผลของมาตรการการคลัง มาตรการด้านการเงินและสินเชื่อ เพื่อประกอบการดำเนินนโยบายการเงินในระยะต่อไป โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น 

 

ทั้งนี้ กรรมการที่เข้าร่วมประชุม ได้แก่ วิรไท สันติประภพ (ประธาน), เมธี สุภาพงษ์ (รองประธาน), ไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน, เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ, คณิศ แสงสุพรรณ, สุภัค ศิวะรักษ์ และ สมชัย จิตสุชน

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X