×

ปัจจุบันของสนามหลวง และอดีตแห่งพื้นที่ความทรงจำทางการเมือง

15.09.2020
  • LOADING...

แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม ที่นำโดย เพนกวิน-พริษฐ์ ชิวารักษ์ ประกาศชุมนุมใหญ่ทางการเมืองในวันที่ 19 กันยายนนี้ ใช้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์เป็นศูนย์กลางการรวมพล และจะปักหลักค้างคืนต่อเนื่องถึงรุ่งเช้าวันที่ 20 กันยายน ก่อนที่จะเคลื่อนพลไปทำเนียบรัฐบาล ภายใต้ชื่องาน ‘19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎร’

 

แกนนำยังประกาศว่า หากมีประชาชนเข้าร่วมการชุมนุมจำนวนมาก อาจจะขยายพื้นที่การชุมนุมไปที่ ‘สนามหลวง’ ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามมหาวิทยาลัย ผลจากคำประกาศแนวทางการชุมนุมดังกล่าว ทำให้ ‘สนามหลวง’ ซึ่งในอดีตเป็นพื้นที่แสดงออกและเคลื่อนไหวทางการเมืองของหลายกลุ่มถูกโฟกัส และได้รับความสนใจอย่างยิ่ง พร้อมๆ กับคำถามว่า จะสามารถใช้สถานที่ดังกล่าวได้จริงหรือ เนื่องจากสภาพปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาอย่างมาก

 

ย้อนกลับราว 20 ปี สนามหลวงถูกใช้เป็นพื้นที่จัดกิจกรรมต่างๆ ของสาธารณชน เช่น การปราศรัยใหญ่ในการหาเสียงเลือกตั้งในแต่ละครั้ง หรือการชุมนุมทางการเมืองต่างๆ รวมถึงใช้เป็นสถานที่จัดกิจกรรมทางกีฬาการละเล่นต่างๆ เช่น ฟุตบอล หรือ เล่นว่าว และเป็นที่พักผ่อนหย่อนใจของประชาชนทั่วไป

 

แต่ในปี พ.ศ. 2553 กรุงเทพมหานครได้ทำการปรับปรุงภูมิทัศน์ของสนามหลวง จากเดิมที่เคยเสื่อมโทรมให้ดีขึ้น แล้วเสร็จในปลายเดือนเมษายน 2554 และเปิดใช้พื้นที่อย่างเป็นทางการวันที่ 9 สิงหาคม 2554 

 

ต่อมากรุงเทพมหานครได้ออกระเบียบกรุงเทพมหานครว่าด้วยการใช้ การบํารุง และการดูแลรักษาพื้นท่ีท้องสนามหลวง พ.ศ. 2555 โดยมีการระบุถึงการใช้พื้นที่ไว้ในข้อ 8.7 ว่า การใช้พื้นที่ต้องไม่มีวัตถุประสงค์ทางการเมืองไม่ว่าด้วยประการใด และไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งหมายถึงไม่สามารถใช้พื้นที่เพื่อจัดกิจกรรมทางการเมืองได้เหมือนในอดีต

 

ขณะเดียวกัน ‘สนามหลวง’ ยังได้รับการคุ้มครองตามพระราชบัญญัติโบราณสถาน ซึ่งกำหนดโทษผู้ใดฝ่าฝืนหรือบุกรุก มีโทษจำคุก 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 1 ล้านบาท 

 

กรุงเทพมหานครอนุญาตให้ประชาชนเข้าไปใช้พื้นที่เพื่อการพักผ่อนหย่อนใจและสันทนาการตามปกติ แต่ห้ามนำสินค้าเข้าไปจำหน่าย จอดรถ หรืออาศัยเป็นที่หลับนอน ซึ่งสามารถเข้าใช้พื้นที่ได้ระหว่างเวลา 05.00-22.00 น. นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถสัญจรผ่านถนนเส้นกลาง ซึ่งเชื่อมระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยังศาลฎีกาได้ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเบื้องต้นได้ทำการติดตั้งรั้วเพื่อป้องกันการบุกรุก 

 

ประชาไทรวบรวมข้อมูลไว้ว่า นอกจากความเปลี่ยนแปลงทางกายภาพแล้ว ในแง่ของการเป็นพื้นที่ทางการเมือง สนามหลวงเคยเป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองตั้งแต่อดีตจนถึงไม่กี่ปีมานี้ เช่น

 

2 มีนาคม​ 2500 ประชาชน​รวมตัวประท้วงการเลือกตั้ง​สกปรก

3 กุมภาพันธ์ 2518 ศูนย์นิสิตฯ เปิดอภิปรายเรื่องถังแดง เรียกร้องให้รัฐบาลยุบ กอ.รมน. ยุติการสังหารประชาชน

4 ตุลาคม 2519 ประชาชนชุมนุมต่อต้านการกลับเข้าประเทศไทยของพระถนอม

17 พฤษภาคม 2535 ประชาชนชุมนุมต่อต้านการสืบทอดอำนาจของ พล.อ. สุจินดา คราประยูร หัวหน้าคณะรัฐประหาร

26 กุมภาพันธ์ 2549 กลุ่มพันธมิตรชุมนุมไล่ ทักษิณ ชินวัตร และต่อต้านระบอบทักษิณ

10 ธันวาคม​ 2549 เครือข่าย​ 19​ กันยา ต้านรัฐประหาร​ และกลุ่มอิสระอื่นๆ จัดชุมนุม​ทุกวันอาทิตย์​ ต่อต้านการรัฐประหาร​ของ​ คมช.

23 มีนาคม 2550 นปก. (ภายหลังคือ นปช.) ชุมนุมต่อต้านรัฐประหาร

17 สิงหาคม 2552 คนเสื้อแดงชุมนุมเพื่อยื่นถวายฎีกาขอพระราชทานอภัยโทษให้แก่ ทักษิณ ชินวัตร

31 มกราคม 2552 นปช. ชุมนุมเรียกร้องให้ยุบสภา

 

อย่างไรก็ตาม แม้ระเบียบจะห้าม แต่ในความเป็นจริงก็ยังมีการชุมนุมทางการเมืองในพื้นที่สนามหลวงอีกหลายครั้ง บางครั้งปักหลักเป็นเวลาหลักเดือน โดยยังไม่พบข้อมูลการดำเนินคดีในข้อหาบุกรุกโบราณสถานแต่อย่างใด เช่น

 

7 พฤษภาคม-12 กรกฎาคม 2556 แนวร่วมคนไทยรักชาติรักษาแผ่นดินชุมนุมต่อต้านการพิจารณาคดีปราสาทพระวิหารของศาลโลก และไล่นายกรัฐมนตรียิ่งลักษณ์ ชินวัตร

17 มิถุนายน 2556 กลุ่มคนไทยรักชาติรักแผ่นดินและกลุ่มพลังธรรมาธิปไตยชุมนุมขอนายกพระราชทาน

24 พฤศจิกายน 2556 กปปส. ชุมนุมต่อต้าน พ.ร.บ. นิรโทษกรรม

6 ตุลาคม 2558 ประชาชนจัดกิจกรรมรำลึกเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519

1 พฤษภาคม 2559 จัดวันแรงงานแห่งชาติปีล่าสุดที่สนามหลวง

 

ช่วงบ่ายวันนี้ ช่างภาพ THE STANDARD เดินทางผ่านสนามหลวง เป็นจังหวะที่ฝนตกลงมาพอดี จึงเก็บภาพสนามหลวงในปัจจุบัน ที่อาจจะถูกใช้เป็นพื้นที่ชุมนุมทางการเมืองอีกครั้ง ขณะที่เชื่อว่าหลายคนล้วนมีความทรงจำต่อสนามหลวงในประวัติศาสตร์และความรู้สึกที่อาจใกล้เคียงหรือแตกต่างกันออกไป แต่อย่างน้อยในหลายเรื่องราวเหล่านั้นอาจกล่าวได้ว่าภาพความทรงจำสนามหลวง ในฐานะพื้นที่ทางการเมือง น่าจะเป็นรูปธรรมเด่นชัดหนึ่งที่ไม่อาจปฏิเสธได้แน่นอน

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X