×

สิ่งที่เจ้าสัวธนินท์อยากบอก พล.อ. ประยุทธ์ มากที่สุด “ประเทศไทยต้องเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก”

22.05.2020
  • LOADING...

 

เคน นครินทร์ คุยกับ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ถึงประเด็นการพลิกโฉมประเทศไทยให้กลายเป็น ‘ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก’ เปิดรับมหาเศรษฐีต่างแดนเข้ามาใช้ชีวิตในประเทศ คำแนะนำต่อรัฐบาลในการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการธุรกิจ ลงทุนพัฒนาและส่งเสริมโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ในประเทศให้ก้าวหน้า

 

ไปจนถึงประเด็นการเพิ่มราคาสินค้าทางเกษตรเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่าง ‘คนจน’ และ ‘คนรวย’ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น บทเรียนที่เขาได้รับจากโควิด-19 และการเรียนรู้จากคนที่เก่งกว่า

 


 

หลังจากที่นายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีของประเทศไทย เพื่อขอความเห็นว่าผู้อาวุโสเหล่านั้นจะช่วยเหลือประเทศไทยได้อย่างไรบ้าง 

 

สังคมก็จับจ้องไปที่มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของประเทศ นั่นก็คือ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ 

 

วันนี้ผมมานั่งอยู่กับ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ดูรายละเอียดในจดหมายเปิดผนึกเหล่านั้น เห็นข้อมูลทั้ง 3 ส่วนที่สำคัญ ข้อแรกคือซีพีได้ทำอะไรไปแล้วบ้าง ข้อที่ 2 คือซีพีกำลังจะทำอะไรหลังจากนี้ 

 

และส่วนที่ 3 ซึ่งเป็นส่วนที่น่าสนใจที่สุด นั่นคือการนำเสนอไอเดีย 5 ข้อเสนอ วิสัยทัศน์ประเทศไทยหลังจากนี้ หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น ‘ยุทธศาสตร์ฟื้นฟูประเทศไทย’

 

ที่น่าสนใจเพราะว่าคุณธนินทร์บอกไว้ว่าประเทศไทยเป็น ‘ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก’ มันจะเป็นไปได้อย่างไร วันนี้ผมขอทำหน้าที่เป็นสื่อมวลชนมาตั้งคำถาม แล้วให้คุณธนินท์ตอบคำถามเหล่านั้น ส่วนความคิดเห็นจะน่าฟัง น่าถกเถียง น่าต่อยอด หรือดีเบตต่อกันอย่างไร ขอให้เป็นหน้าที่ของคุณผู้ฟังและผู้ชมทุกท่านครับ

 

 

เราเห็นท่านนายกฯ ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกหา 20 มหาเศรษฐี คุณเองก็เป็นหนึ่งในนั้นและได้ตอบจดหมายกลับไปแล้ว ผมเห็นขอเสนอหลายอย่างทั้งที่ทำไปแล้วและกำลังจะทำ รวมถึงข้อเสนออีก 5 ข้อที่พูดถึงวิสัยทัศน์ประเทศไทยหลังจากนี้ แต่ก่อนจะถึงตรงนั้น ผมอยากจะถามคุณธนินท์สักเล็กน้อยว่าถ้าสามารถพูดคุยกับท่านนายกฯ ได้ อยากจะให้คำแนะนำอะไร

 

เรื่องแรกเลยคือชมเชยนายกฯ ก่อนว่าคร้ังนี้สามาถบริหารจัดการดูแลได้ดี ปิดประเทศไม่เร็วหรือช้าเกินไป แต่หลังจากที่ปิดแล้วก็ต้องช่วย ซึ่งผมคิคว่ายังช่วยได้ ‘ไม่เต็มที่’ น่าจะต้องช่วยให้เต็มที่ ยังขาดส่วนนี้ไป ถ้าช่วยให้เต็มที่จะทำให้ประเทศไทยอยู่ในภาวะปกติ ที่เขาปิดประเทศเป็นเพราะโรคระบาด เพื่อให้รักษาประเทศ ให้คนเสียชีวิตน้อย ลดภาระของแพทย์ นี่เป็นประโยชน์ของประเทศ เขาจำเป็นต้องปิด

 

เมื่อปิดแล้วไม่ใช่ความผิดของใคร ความผิดของโรคที่แพร่ระบาดมาเมืองไทย แล้วผมคิดว่าต่อไปโรคระบาดจะกลายเป็นสิ่งที่ห้ามไม่ได้แล้ว เพราะมนุษย์จะเดินทางไปมาหาสู่มากกว่านี้อีก ผมติดจากคุณ คุณติดจากผม ฉะนั้นเรามีทางเดียวเท่านั้นคือทำอย่างไรให้สามารถรับมือ ป้องกันการเกิดโรคระบาดแบบนี้ รักษาอย่างไร

 

เพราะวันนี้ก็มีความรู้แล้ว ดีที่สุดคือรัฐบาลกู้เงินเท่าไร ไม่ต้องไปจำกัดมันมากนัก เพราะถ้าเราปิดไป 1 เดือน รัฐจะเสียหายทั้งระบบเท่าไร ประเทศเสียหายเท่าไร 

 

ถ้าเราเปิดเร็วขึ้น 1 วัน รัฐจะดีขึ้นแค่ไหน แต่แม้ว่าเปิดแล้ว ผมก็ไม่เชื่อว่ามันจะดีเท่าเดิมได้ ไม่ใช่แล้ว ดังนั้นในเมื่อไม่ดีเท่าเดิมก็อย่ารอ ต้องลุก ไม่ใช่รับ เรื่องแรกที่ผมจะบอกนายกฯ คือการชมเชยว่าเขายอดเยี่ยมมาก ทุกอย่างตัดสินใจมาถึงวันนี้ ถูกต้องหมด กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาทมาช่วย ผมว่าในวันนี้ถ้าเราช่วยให้นักธุรกิจต่างๆ ไม่ล้มละลาย รักษาให้อยู่รอด อาจจะช่วยสัก 50-70% ให้เขาอยู่รอดก่อน

 

เมื่ออยู่รอด เงินก้อนนี้ช่วยไปก็จะทำให้พนักงานไม่ตกงาน แต่ละบริษัทไม่ล้มละลาย ยังมีค่าใช้จ่าย ทำให้ตลาดส่วนอื่นๆ ก็ยังมีการค้า รัฐบาลก็ยังมีภาษีอีก ให้เครื่องจักรมันหมุนต่อได้ แต่แน่นอนว่ามันจะไม่หมุนเท่าสถานการณ์ปกติ แต่ก็ยังดี หมุน 60% ยังดีกว่าไม่หมุนเลย หยุดตายไปเลย เครื่องจักรขึ้นสนิม ต่อไปทุกอย่างจะกลับมาเปิดใหม่ กว่าจะซ่อมเครื่องจักรใหม่ รื้อฟื้น คนอื่นไปไกลแล้ว

 

แต่ผมเชื่อว่ามันไม่ช้า มันไม่ยืดเยื้อ เพราะมันเป็นเรื่องของโรคแล้ว แล้วเทคโนโลยีวันนี้ หมอปัจจุบัน รวมถึงโรคก็ไม่ได้รุนแรงในระดับที่ติดแล้วเสียชีวิตเลย รักษาไม่ได้ เพียงแต่รักษาไม่ทัน ไม่พร้อม หมอก็ไม่พร้อม โรงพยาบาลไม่พร้อม พยาบาลไม่พร้อม จึงรักษาช้าไปหรือไม่มีที่รักษา จึงเสียชีวิตเยอะ

 

อย่างโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ที่รับผู้ป่วยโควิด-19 มา ไม่มีคนไข้เสียชีวิตเลย รักษาหายหมด ดังนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่น่ากลัว แต่น่ากลัวตรงที่ป่วยแล้วไม่มีโรงพยาบาลหรือหมอรักษาเท่านั้น

 

ดังนั้นก็ดูสิว่าในแต่ละปีเราเสียเงินเท่าไรใน 2 เรื่อง เรื่องแรกคือไม่ใช่ความผิดของธุรกิจ ภัตตาคาร เครื่องบิน แต่เป็นความผิดของโรคระบาดนี้ ถ้าช่วยเขา พยุงเขา แล้วมีเงื่อนไขในการพัฒนา ผมให้คุณแล้ว คุณไม่ได้อยู่เฉยๆ ไปอบรม ฝึก เตรียมตัวให้พร้อมหลังโควิด-19 

 

แต่โจทย์หลังจากนี้ที่จะฟื้นฟูให้กลับมาได้

ก็ต้องมีเงินพยุงพวกนี้ไว้ จะฟื้นได้เร็วหรือช้ามันอยู่ที่เมื่อเจอโรคแล้วต้องรักษาภาคธุรกิจไม่ให้ล้มหายตายจากไป เพราะไม่ใช่ความผิดใคร แล้วรัฐบาลกู้เงิน ออกตราสารหนี้ (Bond) ระยะยาว ไม่ต้องช่วยฟรีก็ได้ แต่พวกพนักงานเราต้องช่วยเขา ตัวเจ้าของไม่ต้องช่วยก็ได้ ให้กู้เงินดอกเบี้ยต่ำ ให้เขาไปเปลี่ยนแปลง อย่างโรงแรมก็ไปซ่อมบำรุงซะ อะไรที่ยังไม่ดีพอก็ไปเปลี่ยนให้ดีพอ การสร้างงานก็จะเกิดขึ้น แล้วก็ปล่อยกู้ระยะยาวให้เขา ดอกเบี้ยถูก

 

ให้พวกนี้ชะลอให้อยู่รอด เมื่อฟื้นเมื่อไร ทุกภาคส่วนของเราจะพร้อมกว่าประเทศอื่นๆ เพราะมันไม่ล้มละลายไป ในระหว่างที่เราช่วยให้เขาอยู่รอด เวลาเดียวกันคนเหล่านี้ก็มีเงินไปจับจ่าย กลไกตลาดก็ยังหมุนได้อยู่ ไม่ได้หยุดไปเลย

 

สมมติว่าเครื่องจักรเราเคยวิ่งได้เต็มกำลัง 3 ผลัด หยุดไปสัก 1 ผลัด 2 ผลัด ที่เหลือยังดันอยู่ เครื่องจักรไม่ขึ้นสนิม คนยังมีงานทำ แล้วค่อยมาพูดกันว่าหลังวิกฤตเราพร้อมทุกอย่าง แล้วต้องมาเตรียมกันว่าอะไรจะเกิดขึ้น

 

เรื่องที่ดีที่สุดที่จะเกิดขึ้นคือ ‘เศรษฐกิจ’ เมืองไทยมีสิทธิ์ดึงคนรวยในโลกนี้มาซื้อบ้าน เพราะเมืองไทยวันนี้ในภาวะโควิด-19 เรามีผู้ป่วยเสียชีวิตน้อยที่สุด เรารักษาผู้ป่วยหายได้เยอะ หมอเราเก่ง การแพทย์ดี มีชื่อเสียงอยู่แล้ว โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โรงพยาบาลกรุงเทพ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โรงพยาบาลศิริราช เราเยี่ยมอยู่แล้ว ดึงพวกเศรษฐีในโลกนี้มาอยู่เมืองไทย 

 

มาทำอะไรครับ

มาอยู่ที่ไทย จับจ่ายใช้สอยใช้เงินที่ประเทศไทย ให้เขามาซื้อบ้านสัก 1 ล้านคน คนละล้านดอลลาร์ ก็รวมกันเป็นล้านล้านดอลลาร์แล้ว

 

ให้เขามาอยู่เฉยๆ เลยเหรอครับ

มาซื้อบ้านสิ มาอยู่กันทั้งครอบครัวเลย พอมาอยู่ก็เกิดการใช้จ่ายขึ้น การสร้างงานเกิดขึ้น มาล้านคนอาจจะเท่ากับค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวทั่วไป 10 ล้านคน หาคนเก่งๆ ในโลกนี้ คนในช่วงวัยกำลังทำงาน สตาร์ทอัพ เถ้าแก่ คนรุ่นใหม่มาอยู่เมืองไทย ให้กรีนการ์ดเขาไปก่อนเลย มาทำงานที่ประเทศไทย

 

อีก 5 ล้านคน ไปออกกฎหมายดึงดูดคนอีก 5 ล้านคน คนเก่งๆ ในโลกนี้ให้มาใช้ชีวิต มาทำงาน เขียนซอฟต์แวร์ก็ได้ ลงทุนก็ได้ แล้วแต่เขา ถ้าเขามาอยู่เมืองไทยแล้ว เขาก็ต้องมีไอเดียใหม่ๆ เกิดขึ้นแน่นอน แล้วคนในจำนวนนี้อาจจะมีกำลังการใช้จ่ายเท่ากับนักท่องเที่ยว 20 ล้านคน

 

คือแทนที่จะไปเน้นปริมาณนักท่องเที่ยวเยอะๆ

ไม่ล่ะ เราเน้นการท่องเที่ยวที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย เมื่อทำได้ อะไรจะเกิดขึ้นรู้ไหม ถ้าเรามีคนเก่ง 5 ล้านคนอยู่ในระดับท็อปๆ ของโลกมาใช้ชีวิตที่ประเทศไทย ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกก็จะเกิดครับ ทุกอย่างมันอยู่ที่คน ไม่ใช่เงิน แต่เราต้องมีกฎหมายเอื้อให้เกิดเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจ ศูนย์กลางเศรษฐกิจโลกมีประเทศไทยเท่านั้นที่ทำได้ 

 

ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก?

โลกเลยนะ ไม่ใช่แค่อาเซียน เพราะทวีปไหนมีคนกว่า 3,000 ล้านคน แล้วเราอยู่ในจุดศูนย์กลางของคนเหล่านั้น อินเดีย 1,100-1,200 ล้านคน สาธารณรัฐประชาชนจีน 1,400 ล้านคน ญี่ปุ่น 100 กว่าล้านคน ไหนจะเกาหลีใต้ อาเซียนอีก 600 ล้านคน ปากีสถาน บังกลาเทศ​ รัสเซียอีก 100 กว่าล้านคน ยังไม่นับรัสเซียในอดีตที่อยู่ในสหภาพโซเวียต รวมๆ กันแล้วก็อาจจะ 200 กว่าล้านคน

 

คุณกำลังจะบอกว่าเราเป็นศูนย์กลางในแง่ของทำเล ยุทธศาสตร์

ทำเล แล้วสำคัญที่สุดคือทุกคนในประเทศเหล่านี้ชอบอยู่ประเทศไทย ถ้าไม่ชอบอยู่ไทย แม้ว่าเราจะเป็นศูนย์กลางก็ไม่มีใครมาหรอกครับ สมมติว่าเรามีกฎหมายดึงดูดคนเหล่านี้มา ถึงในประเทศอื่นๆ จะมีกฎหมายนี้เหมือนกับเรา เขาก็ไม่ไปหรอก เขามาเมืองไทย

 

ลองยกตัวอย่างกฎหมายดึงดูดได้ไหมครับ

อย่างเช่น คุณมาเลย ถ้ามีความสามารถ มีความรู้ ผมให้กรีนการ์ดคุณได้ทันทีเลย ถ้าคุณมาทำผลงาน อยากเปลี่ยนสัญชาติไทยก็เปลี่ยนให้คุณได้สัญชาติไทยไปเลย สหรัฐฯ มีพลเมืองคนไหนบ้างที่เป็นเชื้อชาติอเมริกัน เป็นอินเดียนแดง สัญชาติอเมริกันส่วนใหญ่มาจากยุโรป ทั่วโลก ยังไม่พอ วันนี้สหรัฐฯ ยังพยายามดึงคนเก่งให้มาใช้ชีวิตในฐานะพลเมืองอเมริกัน

 

อย่างมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดไปดึงคนเก่งๆ มาเรียน ให้ทุนการศึกษา ให้อยู่ ให้ค่าใช้จ่ายอีกด้วย แล้วเรียนจบให้ทั้งกรีนการ์ดและให้งาน ทุกมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ ก็ไปคัดตัวคนเก่งๆ มาเป็นคนอเมริกัน 

 

ขนาดวันนี้เขายิ่งใหญ่อย่างนี้ ทำไมเรามีโอกาสอย่างนี้ เราห่วงอย่างเดียวว่ามาแย่งอาชีพคนไทย เราต้องมองว่าเขามาสร้างอาชีพให้กับคนไทย คนเหล่านี้ไม่ได้มาแย่งอาชีพหรอกครับ

 

 

ผมอยากถามสองอย่าง ข้อแรก สหรัฐฯ มีมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียง ซิลิคอนแวลลีย์ บริษัทดังๆ ดึงดูดเขาไป แล้วกับประเทศไทย เรามีจุดที่ดึงดูดคนเก่งๆ ได้ขนาดนั้นเลยเหรอครับ มีงานให้เขาทำดีๆ ขนาดนั้น ค่าจ้างดีๆ โรงเรียนดีๆ ที่จะดึงดูดเขาได้ใช่ไหมครับ

ถ้าพรุ่งนี้เขาเดินทางมา ที่พูดมาทั้งหมดนี้มันจะเกิดแล้วล่ะ อย่างเช่นวันนี้สมมติว่าเขาเดินทางมาประเทศไทย เขาก็จะนำเงินมาด้วย พวกคนเก่งๆ เขาทำงานอยู่ที่สหรัฐฯ ได้เงินจากสหรัฐฯ ที่เอื้อทุกอย่าง แต่เมื่อมาทำงานที่ไทยก็เหมือนกับทำงานที่สหรัฐฯ แต่เขามาอยู่เมืองไทยแล้วติดใจด้วย เงินสหรัฐฯ มาใช้จ่ายในไทย ซื้อบ้านได้ อยู่ถาวรได้ 

 

เพราะฉะนั้นต่อไปโลกเปลี่ยนนะครับ อยู่ที่ไหนก็ทำงานได้เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องอยู่สหรัฐฯ ทำงานที่ไทยก็เท่ากับทำงานที่สหรัฐฯ ออนไลน์ ข่าวสาร จะคุยโทรศัพท์ ทะเลาะกัน วิดีโอเห็นหน้า ด่ากันยังได้เลย ฉะนั้นประชุมออนไลน์ก็ได้ ต่อไปแน่นอนว่าท่องเที่ยวจะมากกว่านี้อีกหลายเท่า ขอให้พวกโรงแรมอย่าเพิ่งล้มหายตายจากไป ผมพูดแล้วคนอาจจะไม่ค่อยเชื่อ

 

ทุกคนอาจจะบอกว่าช่วงนี้เป็นช่วงขาลง

เพราะต่อไปเที่ยวที่ไหนก็ทำงานได้ ผมทำงานที่ไทย ทำงานที่บ้านได้ เมื่อไรผมทำงานที่บ้านได้ เมื่อนั่นผมไปเที่ยวที่สหรัฐฯ ก็ทำงานที่นั่นได้เหมือนกัน เหมือนคุณทำงานที่บ้าน

 

คนก็จะเดินทางท่องเที่ยวมากขึ้น

เที่ยวไป ทำงานไป หาความรู้ไป เปิดหูเปิดตาไป อยู่กับครอบครัวมากขึ้น พาลูกและภรรยาไปด้วยเลย อยู่โรงแรมก็ทำงาน ประชุมได้ ทำการบ้านได้ 

 

เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณธนินท์เสนอก็คือ แน่ล่ะ เราอาจจะไม่มีจุดดึงดูดเรื่องงานหรือมหาวิทยาลัยขนาดนั้น แต่เราต้องเริ่มให้เขามาก่อน แล้วเขาจะมาสร้างเอง

ให้เขามาก่อน พอคนเก่งๆ อยู่เมืองไทย นักธุรกิจยิ่งใหญ่ทั่วโลกก็จะเดินทางมาที่ไทยหมด เพราะรู้ว่าเมืองไทยมีคนเก่ง แล้วโรงพยาบาลเยี่ยม วันนี้ภาครัฐจะต้องทุ่มเงิน ส่งเสริมโรงพยาบาลให้ทันสมัย โรงพยาบาลที่มีอยู่ก็เข้าไปกู้เงินให้เขาเลย เปลี่ยนแปลงให้สอดรับกับสถานการณ์โควิด-19 

 

เมื่อหลังโควิด-19 จบแล้วทำอะไร ก็ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยว ความปลอดภัย คนเก่งจะมาไทย เขาต้องถามก่อนเลยว่ามีโรงพยาบาลที่ยอดเยี่ยมไหม ปลอดภัยหรือเปล่า มีที่ให้ลูกเขาเรียนไหม เรียนออนไลน์ได้ สำหรับเด็กๆ เราก็เปิดโรงเรียนอนุบาล ส่วนมหาวิทยาลัยก็ไม่ต้องไปฮาร์วาร์ดแล้ว คุณเรียนที่ไทย เรียนออนไลน์ ฉะนั้นโลกจะเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล วันนี้เราต้องรีบออกกฎหมายเตรียมพร้อม

 

แต่ก็จะมีหลายคนที่กังวลแน่นอนครับว่าจะมาแย่งงาน แย่งอาชีพเรา ที่สำคัญมันจะกลายเป็นสถานที่ที่ให้ใครก็ไม่รู้มาเสพสุข หาประโยชน์จากประเทศเราหรือเปล่า แล้วเรากลายเป็นประเทศที่เหมือนให้เขามาเช่าที่แล้วก็กลับไป มันจะเกิดอะไรขึ้น

ถ้าบอกว่าคุณมาชั่วคราวเท่านั้น ผมให้สิทธิพิเศษคุณ 8 ปีเท่านั้น เท่ากับว่าผิดแล้ว เพราะแน่นอนว่าเขาก็ต้องใช้สิทธิพิเศษตัวเองให้คุ้ม บ้านพังก็ช่างมัน ผมมาอยู่ 8 ปีเท่านั้นแหละ แต่ถ้าบอกว่าคุณอยู่ถาวรเลย กลายเป็นคนไทยไปเลย อย่างผมก็เชื้อชาติจีน เกิดเมืองไทย ผมรักไทยมากกว่าจีนอีก เพราะวัฒนธรรมทุกอย่างมันเอื้อ ผมอยู่แล้วมีความสุข สำคัญอยู่ที่ตรงนี้มากกว่า

 

ไม่กลัวว่าเขาจะมาตักตวงผลประโยชน์?

เขามาสร้างประโยชน์ให้เรา สร้างงานให้เรา คนที่คิดแคบ เห็นแก่ตัว หรืออาจจะคิดไม่ถึง ผมไม่ได้ว่านะครับ บางคนคิดไม่ถึง บางคนก็เห็นแก่ตัว กลัวเขามาแย่งอาชีพ ทำไมไม่คิดว่าเขาจะมาแย่งอาชีพเราไปทำไม เขามีฐานะ มีเงินแล้ว มีความสามารถ เขามาสร้างอาชีพใหม่ต่างหาก สร้างงานให้เรา ลงทุน 

 

ต้องคิดบวกครับ ถ้าไปคิดลบ กลัวนั่นกลัวนี่ ช่างตัดผมต้องเป็นคนไทย ขอทานต้องเป็นคนไทย มันหมดสมัยแล้วครับ เราต้องกล้าดึงคนเก่งๆ มาให้คนไทยใช้ ต้องคิดแบบนี้ ไม่ใช่คิดว่าเขามาแย่งอาชีพเรา อาชีพอะไรที่เขาจะมาแย่งเรา ขอถามสิ

 

สมมติในมุมมองของผม เขาเข้ามาเปิดกิจการโรงแรมใหญ่โต มีนักท่องเที่ยวมา เขาได้เงิน เขาก็ส่งกลับเข้าประเทศตัวเอง คนไทยไม่ได้อะไรเลยนะครับคุณธนินท์

ได้ครับ แม้ว่าเขาจะส่งเงินเข้าประเทศตัวเอง แต่เราก็ได้ภาษีก่อนนะ ได้การสร้างงาน เขาต้องมาจ้างคนไทย แต่ถ้าเราจะไม่ให้เขาเอาเงินกลับประเทศก็ต้องให้เขาเป็นคนไทยไปเสียเลย ภาษีถูกกว่าเขาอีก เขาเก็บ 17% เราเก็บ 15% ภาษีรายได้หายไปไหนล่ะครับ ทำไมจะต้องไปเสียแพงกว่า

 

ภาษีส่วนตัวของฮ่องกงเก็บ 17% เราบอกให้เขามาเลย ไทยเก็บภาษีส่วนตัวเหลือ 15% ทำไมเขาจะไม่มา แล้วเป็นคนไทยไปเลย ไม่ต้องมาอยู่ชั่วคราว BOI ของเราบอกว่ามาชั่วคราวนะ นี่คือความผิดของคนออกกฎหมายที่ไปห่วงว่าเขาจะมาแย่งอาชีพ เขามาแย่งอะไรล่ะ ขอถามสิ ถ้าสมมติว่ามาสร้างโรงแรม ใครสะเทือนล่ะครับ ขอถามสิ

 

อาจจะเป็นเจ้าของโรงแรมเดิม

กี่คนที่สะเทือนล่ะครับ แต่ถ้าเขาทำได้ดีกว่าก็ต้องให้เขาเข้ามาทำ คนที่ทำแล้วล้าสมัย บริการไม่ดีก็ต้องเลิกไป นี่คือธรรมชาติ

 

แต่คุณธนินท์ไม่กลัวเรื่องการแข่งขันว่าคนไทยจะสู้ต่างชาติไม่ได้ เราเสียเปรียบ สมมติเขาทุนใหญ่กว่า เราจะสู้เขาได้อย่างไร

จริงๆ แล้วเราต้องคิดบวกครับ เขาทุนใหญ่กว่า แต่เรามีความเข้าใจและรู้เรื่องมากกว่า ทำไมรัฐบาลไม่ส่งเสริมให้เราใหญ่กว่าล่ะ ทำไมกลัวว่าจะส่งเสริมหรือเอื้อประโยชน์ให้นักธุรกิจล่ะ ทำไมไม่สร้างนักธุรกิจไทยให้ยิ่งใหญ่ล่ะ ไปลงทุนต่างประเทศทำไม

 

กลายเป็นว่า ประเทศไทยนอกจากจะกลัวเขามาแย่งงานก็ยังห่วงว่านักธุรกิจไทยยิ่งใหญ่ จะมาฮุบประเทศ ฮุบอะไรล่ะครับ เราอยู่ใต้กฎหมายประเทศ ประเทศที่เจริญมีแต่เขาจะสร้างนักธุรกิจให้ยิ่งใหญ่ไปสู้กับทั่วโลก แต่เรากลายเป็นมองว่ากลัวนักธุรกิจไทยยิ่งใหญ่ ต่างประเทศยิ่งใหญ่มาไม่เป็นไร 

 

เห็นไหม รถยนต์โตโยต้า แบรนด์ยักษ์ใหญ่กว่าเราเยอะ ส่งเสริมเขาเข้ามา แต่ห่วงว่านักธุรกิจไทยยิ่งใหญ่จะมาฮุบประเทศ แล้วไม่กลัวต่างประเทศมาฮุบประเทศเหรอ

 

ผมพอจะเข้าใจไอเดียคุณธนินท์นะครับ ฟังดูก็จะคล้ายๆ กับการที่ไทยเปิดโอกาสให้ญี่ปุ่นเข้ามาลงทุนทำโรงงาน ให้เขาถ่ายทอดความรู้ให้กับคนไทย แต่อย่างที่บอกครับ หลายคนอาจจะกังวลว่าเมื่อเขาเข้ามา แล้วเขากอบโกยผลประโยชน์โดยไม่ได้ถ่ายทอดความรู้ ทิ้งไว้ซึ่งอะไรบางอย่างโดยที่เราไม่ได้อะไรกลับคืนมาเลย

มันหมดสมัยแล้ว แล้วก็อยู่ที่กฎหมายเรา อย่าง BOI บอกว่าคุณมา 8 ปีนะ ผมให้สิทธิพิเศษคุณ 8 ปี หลังจากนั้นคุณไม่มีสิทธิพิเศษ สู้คนไทยไม่ได้ แล้วเขาจะมารักเมืองไทยได้อย่างไร คุณบอกเขาว่าอย่ามารักเมืองไทย มาอยู่ไทยแค่ชั่วคราว ทำไมไม่บอกว่าถ้าคุณทำประโยชน์ให้ประเทศก็เป็นคนไทยไปเลย ได้ทุกอย่างเหมือนคนไทย

 

อย่างคุณเคนเนี่ยต้องมีเชื้อชาติจีนแน่นอน ถามว่ารักเมืองไทยไหม ก็รัก ผมรักไทยมากกว่าจีนอีก เพราะอยู่ที่นี่แล้วมีความสุข ผมเจริญเติบโตที่นี่ ผมต้องตอบแทนคุณแผ่นดิน

 

แล้วถ้าเรามีอีก 5 ล้านคนที่เก่งๆ อะไรจะเกิดขึ้นกับประเทศไทย เรามัวแต่กลัวว่าเขาจะมาแย่งอาชีพเรา อาชีพที่เราทำอยู่ เขาไม่มายุ่งกับเราหรอก เขาทำให้ดีกว่าเราอีก ถ้าทำได้ดีกว่า นั่นแสดงว่าเราปกป้องความล้าหลังใช่ไหม ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้เขาทำได้ดีกว่าแล้วคนไทยมาเรียนรู้ล่ะ แล้วรัฐบาลก็ต้องหนุนคนไทย

 

เราก็ต้องเก่งขึ้นด้วย แข่งขันมากขึ้นด้วย

ใช่ แล้วถ้าเก่งไม่ได้ก็กลืนเขาให้กลายเป็นคนไทยไปเลย ถ้ามีคนเก่งๆ สัก 5 ล้านคน สหรัฐฯ เขายังเอาคนเก่งๆ จากทั่วโลกไปอยู่ในประเทศเขาเลย ขนาดเขาร่ำรวยและเก่งขนาดนี้

 

เพราะฉะนั้นเราจะต้องดึงดูดคนเก่งๆ มา 

มา อย่าไปกลัวว่ามาแย่งงาน มันผิดแล้ว เขามาสร้างงานครับ แล้วเขาก็ไม่มาแข่งกับเราหรอก เขาจะทำเหนือกว่าเราอีก แต่เรานี่ล่ะต้องไปอัปเกรตัวเองขึ้นมา เพราะโลกมันก้าวไปเรื่อยๆ เราต้องตามให้ทัน ถ้าตามไม่ทันก็อย่าไปปกป้องสิครับ ปล่อยให้คนเก่งกว่าทำไป

 

ถ้าเรากลัวว่าเขาจะนำเงินกลับประเทศก็ให้เขาเป็นคนไทยไปเสียเลย เก็บภาษีรายได้เขาน้อยลง เขาจะเอาไปไหน ก็ต้องอยู่ไทยแน่นอน ถ้าเขามีสิทธิ์ทุกอย่างเหมือนคนไทย เขาจะนำเงินกลับไปทำไม 

 

เป็นแนวคิดที่ผมมองว่าท้าทาย แล้วก็ต้องช่วยกันคิด ถกเถียงมากขึ้น แต่ถ้าสมมติว่าพวกเขาเข้ามาจริงๆ แล้วคนเก่งๆ เข้ามา ประเทศไทยจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร

เปลี่ยนแน่นอนครับ เมื่อมีคนเก่งมา นอกจากเขาจะสร้างงานมากขึ้นแล้วก็ยังดึงให้นักธุรกิจระดับโลกตามมา เนื่องจากกฎหมายที่เอื้อให้เข้ามาลงทุนโดยได้รับสิทธิพิเศษเหมือนคนไทย ดีกว่าเอากรรมกรหรือแรงงานมา 5 ล้านคนแล้วสร้างงานสร้างรายได้ให้เราไม่เท่าไร แต่คนเก่งจะมาสร้างรายได้ให้กับเรามหาศาล ไม่ได้มาแย่งอาชีพนะ ผมคิดว่ามาสร้างอาชีพให้คนไทยเก่งขึ้นไปอีก ผสมไปผสมมา คนไทยยิ่งเก่งขึ้นไปอีก ไฮบริด

 

แต่ถ้าเป็นคนไทยที่อาจจะไม่ค่อยมีโอกาส เป็นคนตัวเล็กๆ

ยิ่งดี ถ้าคนตัวเล็กๆ เขายิ่งไม่มาแย่งอาชีพคนตัวเล็กๆ จะมาช่วยเราให้มีอาชีพมากขึ้น เขาจะมาเป็นคู่แข่งของผม เป็นคู่ต่อยของผม

 

สมมติว่ามีคนเข้ามา แล้วมาแข่งทำอาหารกับซีพีเลย ไม่กลัวเหรอครับ

ก็ไม่เป็นไร ไม่กลัว เพราะผมไปแข่งกับประเทศเขาด้วย เราต้องไปชิมเวทีอื่นๆ ด้วย ไปให้รู้ว่าเขาเก่งขนาดไหน เรื่องนี้คือความดีของผม ผมคิดบวกครับ เขาดี เราก็เรียนรู้จากเขา ต่อยอดไป

 

แต่อย่างสิงคโปร์ก็จะมีกฎหมายไม่ให้ครอบครองที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์เกินกี่ปีก็ว่ากันไป ความหมายคือเขาพยายามไม่ให้คนในประเทศเสียเปรียบชาวต่างชาติ ทีนี้ผมเลยอยากถามคุณธนินท์บ้าง เพราะฟังข้อเสนอมาก็น่าสนใจและท้าทายมากที่จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก แต่คนตัวเล็กๆ ล่ะครับจะเพิ่มสูงขึ้นไหม ถ้าเราปล่อยให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

คนตัวเล็กๆ จะยิ่งรวยขึ้น ไม่ตกงาน ทำงานที่ดีขึ้น แล้วสำคัญที่สุดอยู่ที่การศึกษา เราสร้างคนเหล่านี้ด้วยพื้นฐานที่ดีแล้วหรือยัง เราบอกว่าเราเป็นศูนย์กลางระดับโลก แต่ได้สอนเขาให้พูดภาษาจีนเป็นหรือไม่ สำคัญที่สุดคือภาษาอังกฤษ ภาษาจีนยังเป็นที่สอง เขาพูดอังกฤษได้ไหม ดังนั้นต้องคิดบวกครับ 

 

แล้วคนไทยเราจริงๆ แล้วคนอื่นมักจะหาว่า ‘ขี้เกียจ’ ซึ่งไม่ใช่ความจริงเลยนะ ถ้าบอกว่าทั้งหมดเนี่ย คนไทยมีนิสัยที่ไม่ดีคือ ‘อิจฉา’ นอกนั้นดีหมด คนไทยนี่หายากนะครับที่ผมคบมา คนไทยยอดเยี่ยมมาก วัฒนธรรมเมืองไทยเยี่ยมมาก แล้วจริงๆ แล้วเราเป็นจุดศูนย์กลางระดับโลกนะ มีทวีปไหนบ้างที่มีประชากรรวมกว่า 3,000 ล้านคน ทวีปยุโรปและอเมริกามีประชากรกี่คนล่ะ แล้วกำลังเติบโต

 

 

 

 

แต่ตอนนี้ปัญหาในประเทศไทยที่พบเห็นได้บ่อยมากคือคนยากไร้ เดือดร้อน คนจนเพิ่มขึ้นเยอะมาก จุดนี้คุณธนินท์มองว่าเราจะแก้ไขปัญหานี้อย่างไร

เรื่องนี้ผมคิดว่าแก้ง่าย คนยากจนวันนี้เริ่มแก้จากเกษตรก่อน คนนึกว่าคนไทยเราขี้เกียจ ไม่ใช่นะ อย่าไปเข้าใจผิดนะ ก็เพราะเขาไม่มีงานทำ ถ้าเขาขยันก็เท่ากับขาดทุน อยู่ๆ จะไปปลูกผักก็ไม่มีใครมาซื้อ เราจะต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เกษตกรร่ำรวยขึ้นมาก่อน

 

มีประเทศไหนที่ปล่อยให้เกษตรกรยากจนแล้วประเทศเขาจะเจริญ ไม่มี มีแต่ช่วยให้เกษตรกรรวยขึ้นเป็นฐาน แล้วสินค้าเกษตรต้องแพงก่อน เป็นน้ำมันบนดิน ประเทศที่มีน้ำมันถูกแล้วไม่จนก็ให้มันรู้ไป แล้วทำไมเราไปกดราคาสินค้าเกษตรให้ถูก ทำไมเราไม่ยกให้มันแพงขึ้นล่ะ ยกได้ ทำได้ เพียงแต่ต้องมีกลไก ซึ่งมันก็ขึ้นอยู่กับดีมานด์และซัพพลายด้วย คุณจะไปปลูกในจำนวนที่มากๆ และเป็นของที่ไม่ดีทำไม ไม่ใช่ไปแข่งว่าจะส่งออกต่างประเทศมากที่สุด ยิ่งส่งมากเท่าไร ชาวนาก็ยิ่งจนมากเท่านั้น นโยบายนี้มันผิดแล้ว ต้องทำให้มีคุณภาพ ทำให้น้ำมันบนดินมีค่า มันเป็นทรัพย์สมบัติของชาติ

 

ไม่ได้เน้นปริมาณ แต่เน้นคุณภาพ แล้วยกระดับสินค้าและราคาจำหน่ายขึ้นมา

แล้วคนก็ห่วงว่าคนเงินเดือนน้อยก็กินข้าวไม่ไหวนะสิ

 

ใช่ แล้วคนหาเช้ากินค่ำจะต้องทำอย่างไรครับ

เอาล่ะ ไปดูสิ เงินที่หาได้ในแต่ละวันเสียไปกับการกินข้าวไม่กี่บาทเองนะ เราไม่ได้กินข้าวเป็นกิโลกรัม 

 

เพราะฉะนั้นราคาสินค้าทางเกษตรที่สูงขึ้น คุณธนินท์มองว่าไม่มีผลกระทบ

ก็ขึ้นด้วยสิ ต้องขึ้นเงินเดือนและค่าแรงขั้นต่ำให้กับพวกเขา แล้วรัฐบาลกลับได้เงินมากขึ้นนะ เมื่อยกตัวนี้ขึ้น (คุณภาพและราคาสินค้าทางการเกษตร) นี่เป็นทรัพย์สมบัติของชาติ เราก็พิมพ์เงินให้เงินไม่เฟ้อ ให้เงินและสินค้าเกิดความสมดุล เงินกับของจะต้องให้มันสมดุลกัน แล้วมันจะเกิดปัญหาเงินเฟ้อได้อย่างไรครับ

 

ถ้าเงินมากแล้วของน้อยสิ เงินจะเฟ้อ แล้วยุคนี้ที่กลัวที่สุดคือเงินฝืด ไม่ใช่เงินเฟ้อ ของมันจะมากกว่าเงินนะ เห็นไหมว่าหลายประเทศทั่วโลกพิมพ์เงินออกมาไม่รู้ตั้งเท่าไร ทำไมไม่เกิดปัญหาเงินเฟ้อ ก็เนื่องจากของมันมีจำนวนมากเหลือเกิน ถ้าของมากแล้วเงินน้อยก็จะเกิดปัญหาเงินฝืด ล้มละลายกัน แต่ถ้าเงินและของเกิดความสมดุลกันก็จะไม่เกิดทั้งปัญหาเงินเฟ้อและฝืด กลายเป็นความพอดี

 

ถ้าสิ่งนี้เกิดขึ้นก็อาจจะมีคนกังวลและกลายเป็นว่า ‘เครือเจริญโภคภัณฑ์’ หรือ ‘ซีพี’ ได้ประโยชน์จากการที่สินค้าเกษตรมีราคาที่สูงขึ้น

ผมเสียหายเป็นคนแรกเลยครับ เพราะซื้อแพงก็ต้องมาขายแพง แล้วขายแพงคนก็ไม่ค่อยชอบกัน ผมเสียหายก่อนนะ คนเข้าใจผิดหมด คนนึกว่านายธนินท์เห็นแก่ตัว ถ้าผมเห็นแก่ตัว ผมทำธุรกิจใหญ่ไม่ได้หรอกครับ ผมต้องเห็นแก่ส่วนรวม เพราะสินค้าของผมขายให้คนส่วนใหญ่ ผมไม่ได้ขายเพชรให้คนร่ำรวยแค่ไม่กี่เปอร์เซ็นต์ในสังคม แต่ขายอาหารทั่วไป 

 

ในความเป็นจริง ผมต้องซื้อถูกและขายถูก แต่ที่ผมบอกว่าสนับสนุนให้สินค้าเกษตรแพง นั่นคือผมซื้อแพงแล้วไปขายถูกนะ ไม่ใช่ซื้อแพงแล้วขายแพง คนไม่ค่อยชอบด้วยนะ ผมต้องใช้เทคโนโลยี กระบวนการผลิตที่ทันสมัย ลดขั้นตอนการผลิต ลดต้นทุน แต่คนเข้าใจผมผิดหมดว่านายธนินท์เห็นแก่ตัว ซึ่งไม่ใช่

 

เพราะถ้าหากสินค้าทางการเกษตรมีราคาสูงขึ้น อาหารสัตว์ที่คุณธนินท์ทำก็อาจจะยกระดับขึ้นมาหรือเปล่าครับ

ต้องแพงขึ้น แต่ผมไม่กลัว เพราะผมก็จะต้องเลี้ยงให้ได้มากขึ้น จากเดิมที่อาจจะเลี้ยงในจำนวน 10,000 ตัวก็เลี้ยง 20,000 ตัวเลย แทนที่ตัวหนึ่งจะกำไร 3 บาทก็เหลือ 2 บาทพอ กลายเป็นกำไร 4 บาทอีก (เลี้ยงเพิ่มเท่าตัว)

 

ส่วนแรงงานก็ให้นำเครื่องทุ่นแรงมาช่วยให้ถึง 60,000 ตัว วันหนึ่งก็จะได้ประมาณ 300,000 กว่าตัวต่อคน เราต้องคิดบวก อย่าคิดลบ คนเข้าใจผมผิดหมด ผมไม่ได้ผลิตข้าว สินค้าทางการเกษตรแพงแล้วผมจะได้ประโยชน์อะไรล่ะ ชาวนาได้ประโยชน์ พอชาวนาได้ประโยชน์ เขาก็นำเงินไปจับจ่าย บางครั้งอาจจะหมุน 10 รอบ (เงินที่หมุนในวงจร) หรือ 2-3 รอบ ถ้าไปซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ก็อาจจะหมุน 1-3 รอบ แต่ถ้าซื้ออาหารการกินมันจะหมุน 10 รอบ 

 

แต่ช่วงเวลาที่เกิดขึ้นอยู่นี้ อย่างที่ผมเกริ่นไปในตอนต้นว่าช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนก็จะเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากคนที่มีเงินในช่วงนี้ก็จะสามารถอยู่ต่อไปได้ รวมถึงอาจจะมีการควบรวมกิจการ ซื้อกิจการต่างๆ ในขณะที่คนไม่มีโอกาสก็กลับลำบากมากขึ้นเรื่อยๆ

ต้องพูดอย่างนี้ว่าในวันนี้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลแล้ว ก็อย่าให้เขาล้มหายตายจากไปสิ ถ้าผมเป็นคนเห็นแก่ตัว ผมมีเงิน ผมก็ไปซื้อกิจการเขาใช่ไหม แต่ทั้งหมดที่ผมได้พูดออกมามันขัดกับผมนะ เพราะผมต้องการให้ทุกคนอยู่รอด ผมพูดว่ารัฐบาลน่าจะรักษาทุกคนไม่ให้ล้มหายตายจากไป เตรียมความพร้อมหลังวิกฤต

 

ผมไม่ได้บอกว่ารัฐบาลช่างมัน ปล่อยให้เขาล้มไป มันไม่ได้เกิดประโยชน์เลย การตกงานก็จะมากขึ้น ความเดือดร้อนของคนยากคนจนก็จะลำบากขึ้น แล้วอย่าไปนึกว่าสุดท้ายผมจะอยู่รอดนะ 

 

กล่าวหาว่าผม นายธนินท์ไปเอาเงินเขามา ยุง่ายด้วย ไม่ได้สิ เราทุกคนต้องอยู่รอด แล้วทุกคนถ้ามีกำลังซื้อ ผมก็จะยิ่งรวยเพิ่มมากขึ้นอีก ผมเป็นเรือ ผมต้องพึ่งน้ำ ถ้าน้ำแห้งผมก็จมสิ ไม่ลอยเลยล่ะ คนไม่เข้าใจ เข้าใจผมผิด ผมต้องการให้ทุกคนรวยขึ้น

 

 

นอกเหนือจากเรื่องนี้ เห็นคุณธนินท์ยังมีอีกหลายข้อเสนอเหมือนกัน

ขายน้ำ เอาที่ดินมารวมให้เป็นบึงขนาดใหญ่เลย เอาพื้นที่ลุ่มที่ประสบปัญหาอุทกภัยในทุกปีมาทำแก้มดินลิง เหมือนที่รัชกาลที่ 9 ทรงทำ เวลาน้ำท่วมก็เก็บไว้ให้เป็นบึงใหญ่ บริเวณโดยรอบก็ประยุกต์เป็นสถานที่ท่องเที่ยวได้เลย เปิดให้ขายน้ำ คุ้ม คนซื้อน้ำไปก็คุ้มยิ่งกว่าคุ้มอีก

 

สมมติว่าเมื่อมีน้ำ ผมปลูกพืชผัก ผมซื้อน้ำอาจจะ 10 บาท แต่ได้เงินกลับมา 200-300 บาทแล้ว เพราะผมปลูกได้ คราวก่อนผมปลูกไม่ได้ ที่ดินว่างเปล่าอยู่ แล้วถ้ามีน้ำ ผมจะไม่ปลูกของถูกแล้วนะ ผมจะปลูกของแพงด้วย 

 

แต่การจัดการน้ำให้มันเกิดขึ้นได้มันง่ายขนาดนั้นเลยเหรอครับ 

ง่ายครับ 

 

เพราะตอนนี้คนก็มีปัญหาภัยแล้ง การจัดการระบบชลประทานซึ่งก็ถือเป็นปัญหาใหญ่เหมือนกันนะครับ

ใช่ เพราะว่าเรามีน้ำไม่พอ ปริมาณน้ำจริงๆ ตัวเลขสถิติชี้ว่าเราใช้แค่ 1 ส่วนเท่านั้น ที่กักน้ำไว้ในชลประทานน่ะ ไม่ต้อง เฉพาะฝนตก เราหายไปประมาณ 2 ใน 3 ส่วน ระเหยและหายลงทะเลไป เราต้องกักน้ำพวกนี้เก็บไว้ในบึงใหญ่ เมื่อเป็นบึงใหญ่ก็สามารถเลี้ยงปลาได้ ที่ดินของใครที่มาร่วมในนี้ก็ยังได้รายได้ ดีกว่าไปทำนา เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้น นี่ล่ะคือการสร้างสรรค์ ทำให้เงินในประเทศมันเกิดขึ้น ช่วยให้เกษตรกรรวยขึ้น

 

ด้วยการขายน้ำ?

ขายน้ำด้วย พวกที่ประสบปัญหาอุทกภัยบ่อยๆ น้ำท่วมเมื่อไรก็เกิดความเสียหาย ก็ทำเป็นบึงไปเลย แล้วรู้ไหมว่าน้ำในแม่น้ำมันไหลออกทั้งข้างบนและล่างเลย ซึมลงไปใต้ดินออกทะเลอีกเหมือนกันนะ เพราะน้ำมันต้องไหลไปทางต่ำ เขาวางท่อ เพราะลงไปดูน้ำใต้แม่น้ำเนี่ยมันใสนะ ข้างบนเป็นน้ำที่ปนกับดิน แต่ข้างล่างเมื่อทรายมันหนัก มันก็จะจมอยู่ที่พื้น

 

แล้วเราฝังท่อ เจาะรูท่อใหญ่ๆ ให้เหมือนเป็นอุโมงค์ น้ำก็จะซึมลงท่อไป แล้วเราก็จะสามารถนำมาใช้ เก็บน้ำในใต้แม่น้ำ

 

อันนี้ทางซีพีเคยทำแล้วหรือยังครับ

ทั้งไต้หวัน ฮอลแลนด์ 

 

ทุกครั้งที่ฝนตก น้ำเยอะ ให้ดำเนินการจัดเก็บเป็นระบบ

เก็บเป็นระบบ อย่าให้มันหายไป 

 

ที่ผ่านมาประเทศไทยเคยทำแล้วประสบความสำเร็จไหมครับ

จะไปขุดเล็กๆ ทำไมล่ะ บางทีน้ำก็ซึม เสียเงินเปล่าๆ เสียเงินเยอะด้วย ไปทำที่ลุ่มที่เดือดร้อน ประสบปัญหาน้ำท่วมทุกปี ก็ทำเป็นบึงไปเลย เลี้ยงปลาได้อีกด้วย ขายน้ำได้อีก ทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวในบริเวณโดยรอบ เพิ่มมูลค่าให้กับมัน ทำการท่องเที่ยวได้ด้วยเลย แล่นเรือใบในนั้นก็ยังได้

 

ฟังดูเหมือนขายไฟฟ้าเหมือนกันนะครับ เก็บน้ำไว้แล้วคอยจ่ายให้กับคนที่ต้องการ

เหมือนขายไฟฟ้า 

 

มันเป็นไปได้จริงใช่ไหมครับ มีการทดลองหรือการวิจัยอะไรรองรับ

เป็นไปได้จริงครับ ถ้าอยากรู้รายละเอียดลองคุยกับ ดร.ยุทธ ยินดีเลย ช่วยกันวันนี้ ถ้านายกฯ ประยุทธ์กล้าทุ่มเงิน อันดับแรกเลยคือทุ่มให้กับโรงพยาบาล ขยายให้มันทันสมัย อย่างโรงพยาบาลเอกชนก็กู้เงินให้เขา ดอกเบี้ยต่ำ ให้เขาขยาย หาที่ให้เขาสามารถขยายได้ กู้เงินให้เขาในระยะยาว แล้วสำคัญที่สุดต้องมีงบประมาณสร้างพยาบาลและหมอ เพราะต่อไปการท่องเที่ยวต้องบวกกับความปลอดภัย ทำให้เศรษฐีในโลกนี้เมื่อเดินทางมาที่ไทยก็เกิดความรู้สึกสบายใจ

 

พวกที่มีเงินเขากลัวตาย เรื่องแรก เขาจะถามว่าเรามีโรงพยาบาลรองรับการรักษาเขาในเวลาที่ป่วยไหม เรามีห้องผ่าตัดไม่แพ้สหรัฐฯ เหนือกว่าด้วยซ้ำ เรามีหมอ แล้วเอาหมอเก่งๆ จากทั่วโลกมาช่วย จะไปหวงอะไรล่ะ เพราะยังไงหมอก็ค่อนข้างขาดแคลน สร้างพยาบาลขึ้นมา เพราะจะเป็นอาชีพที่ขาดแคลนแน่นอน จะเป็นอะไรไปล่ะ

 

ก็เป็นข้อเสนอของคุณธนินท์ ข้อแรกคือการดึงดูดคนเก่งมาใช้ชีวิตในประเทศไทย ข้อที่สองคือการจัดการน้ำ

ดึงดูดคนเก่งยังไม่พอ ต้องรักษาธุรกิจในปัจจุบันให้อยู่รอด ให้เขามีเงิน พนักงานไม่ตกงาน มีเงินไปจับจ่ายใช้สอย รัฐบาลก็ได้ภาษีอีก

 

ต้องช่วยเขาให้อยู่ให้ได้ ไม่ให้ล้มหายตายจากไป

ต้องช่วยเขาให้อยู่ให้ได้ เหมือนเครื่องจักรปิดไปแล้วขึ้นสนิม คนงานหายหมด พอดีขึ้นแล้วจะค่อยมาเดินเครื่องจักรใหม่ โอ้โห ไอ้นั่นก็เสีย ไอ้นี่ก็รั่ว เพราะถ้าเขามีกำลังซื้อ ทุกคนมีกำลังซื้อ การจับจ่ายใช้สอยมันก็ยังอยู่ เพียงแต่อาจจะเบาลง เบาลงก็ดีเหมือนกัน จะได้ไม่ต้องไปแออัด 

 

แล้วภัตตาคารต้องเปลี่ยนไปใช้รูปแบบการส่งอาหารที่บ้าน หลายธุรกิจ ถ้าหากธุรกิจไม่เหมาะสมแล้ว มีทางไหมที่จะให้เขาเปลี่ยน ถ้าตอนนี้เมืองไทยแรงงานสูงไป (ค่าแรง) ก็ไปส่งเสริมให้เขาให้ผลิตที่เมียนมา ตลาดเขามีอยู่ เทคโนโลยีก็มีอยู่ เขาไม่พร้อมด้านการเงินกับไม่เข้าใจพม่า แล้วเรามีทูตพาณิชย์ไว้ทำไม

 

รัฐบาลต้องเข้ามาช่วยสนับสนุนทั้งความรู้และเงินทุน

มาช่วยเขาเลย เพราะเขามีตลาดและความรู้อยู่ ขาดแค่แรงงาน ก็ไปใช้แรงงานราคาถูกสิ ใช้โควตาราคาถูกของเมียนมา เราเป็นประเทศเจริญแล้ว เขาเพิ่มการจัดเก็บภาษีเราแล้ว เราก็ย้ายไปตั้งฐานการผลิตในประเทศที่เขายังมีแรงงาน ทั่วโลกจัดเก็บภาษีต่ำถึงขั้นไม่มีภาษี 

 

ถ้าอย่างนั้นข้อเสนอของคุณธนินท์ นอกจากการดึงดูดคนเก่ง สนับสนุนและเยียวยาธุรกิจให้สามารถเดินต่อไปได้ การปันน้ำ ยกระดับการจัดการน้ำ เมื่อสักครู่ที่คุณธนินท์พูดถึง อยากให้ขยายความในประเด็นการเป็น ‘ศูนย์กลางการแพทย์’ ต้องยกระดับให้มันเป็นเรื่องนี้ขึ้นมา

มันเป็นไปได้แน่ ถ้าการแพทย์เราดี กฎหมายเราเอื้อให้ทั่วโลกมาลงทุนจนไทยกลายเป็นศูนย์กลางการแพทย์ ทั่วโลกก็ต้องการการแพทย์ของเรา เราเอาเศรษฐีระดับโลกมาอยู่เพื่อเป็นศูนย์กลางการค้าโลก มหาวิทยาลัยก็สามารถเรียนออนไลน์ได้แล้ว แต่ระดับชั้นอนุบาลถึงมัธยมศึกษาอาจจะยังต้องเรียนผ่านโรงเรียน ถ้าอย่างนั้นก็สนับสนุนสิ ออกกฎหมายเลย ใครจะมาตั้งมาตรฐานให้เป็นระดับโลก มาเลย ส่งเสริมผ่านการให้ Incentives เลย 

 

แล้วต้องมีโรงพยาบาลที่ยอดเยี่ยม คนพวกนี้ถึงจะมา เพราะคำถามแรกที่เขาจะถามคือ ถ้าพวกเขาป่วยแล้วโรงพยาบาลคุณไปไหน ก็ต้องบอกว่าของไทยเราไม่แพ้สหรัฐฯ เขาปลอดภัยและสบายใจแล้ว ถ้าถามต่ออีกว่าลูกๆ เขาจะเรียนหนังสือที่ไหน เราก็มีสถาบันการศึกษาระดับโลกอีกเหมือนกัน

 

ถ้าคุณจะเอาคนระดับโลกมาเมืองไทย คุณก็ต้องมีสิ่งแวดล้อมระดับโลก ตรงนี้ก็จะช่วยให้ดึงประเทศไทยขึ้นมาอีกขั้นหนึ่ง

 

ดังนั้นการแพทย์จะต้องดีมาก ฉะนั้นถ้าคำถามแรกที่เขาถามคือสุขภาพ คำถามที่สองที่เขาจะถามคือเรื่องอะไรครับ

โรงเรียน เพราะเขาก็ต้องห่วงลูกเขา อันดับแรกเขาต้องมองถึงความปลอดภัยตัวเขา ถ้าเกิดกรณีการป่วยที่ต้องรักษา ผ่าตัด เสียชีวิตได้ง่ายๆ เลยนะ ถ้าหมอไม่เก่งและโรงพยาบาลไม่ดี แล้วมันจะมาเป็นอัตโนมัติเลยนะครับ สมมติว่ามีคนเก่งมาแล้ว กฎหมายเอื้อให้เรากลายเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ต้องมีกฎหมายนี้ด้วยนะ ถ้าไม่มีก็ไม่เกิด คนเก่งมาก็เสียเปล่า ทำอันนี้ก็ไม่ได้ อันนั้นก็ติดขัด รัฐบาลไม่เอื้ออำนวย แล้วก็บอกเขาว่าคุณมาแค่ 8 ปีนะ BOI ให้สิทธิ์ 8 ปี หลังจากนั้นผมไม่ให้สิทธิ์คุณ แล้วจะไปโทษเขาได้อย่างไร ต้องโทษรัฐบาลที่ออกกฎหมายผิดพลาด

 

ต้องปลดล็อกให้คนเก่งมาช่วยทำงาน 

แล้วก็กลายเป็นคนไทยไปเลย เสียหายอะไรล่ะ เรามีพลเมือง 70 กว่าล้านคน คุณลองไปสำรวจพลเมืองสิงคโปร์ดู ชาวต่างชาติมากกว่าพลเมืองของตัวเองอีก เป็นเพราะเขาขาดคน เขาก็ดึงคนเก่งๆ มาใช้งาน 

 

 

สังคมอาจจะเรียกร้อง เพราะคุณธนินท์เองก็เป็น 1 ใน 20 มหาเศรษฐี (นายกฯ ส่งจดหมายถึง) คนอยากจะเห็นการให้ความช่วยเหลือ ช่วยคนอื่นๆ ที่เดือดร้อน คนน่าจะอยากเห็นบทบาทนี้มากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างเช่นวันนี้ข้าวกล่องผมราคา 32 บาท ก็ลดราคาลงเหลือ 20 บาทในยามวิกฤตเช่นนี้ ผมเห็นว่าหมอและพยาบาลมีความสำคัญมาก ต้องปกป้องเขา เขาอยู่ในสนามรบที่รบกับศัตรูที่มองไม่เห็น อันตรายมาก ตัวเขาเองก็อันตรายมากนะ ถ้าป่วยเมื่อไรก็เสียชีวิตเมื่อนั้นเหมือนกัน ฉะนั้นเราต้องดูแลและปกป้องเขาก่อน

 

เราปกป้องหมอกับพยาบาลก็เหมือนปกป้องโรคนี้ไม่ให้ขยายวงการแพร่ระบาด เมื่อป่วยขึ้นมาก็มีหมอรักษา มีพยาบาลดูแล ถ้าดีที่สุด รัฐบาลน่าจะทุ่มเงินเลย เพราะแต่ละวันที่เราปิดเมืองไป ไม่รู้ประเทศชาติเสียหายไปเท่าไร ถ้าเรารักษาและส่งเสริมหมอ ขยายโรงพยาบาล สร้างหมอและพยาบาลให้มากขึ้นเพื่อต้อนรับในช่วงที่ผ่านพ้นหลังวิกฤตโควิด-19 ไปแล้วคนต้องการความปลอดภัย ถ้าเราบอกว่าคุณมาเที่ยวไทย เราการันตีความปลอดภัย มีหมอและโรงพยาบาลที่พร้อมจะดูแลเขาได้ ทำไมเขาจะไม่มา

 

เห็นคุณธนินท์ทำไปค่อนข้างเยอะเหมือนกันจากที่เปิดจดหมายตอบกลับไป แต่จะทำมากกว่านี้อีกได้ไหมครับ มีคนเรียกร้องมา

ทำได้ แต่รัฐบาลเอาด้วยหรือเปล่า พวกคุณต้องไปออกข่าวและช่วยกระจาย ผมยินดีครับ เพราะผมรู้ว่าถ้าประเทศไทยอยู่รอด ผมก็อยู่รอด ถ้าประเทศไทยร่ำรวยขึ้น ผมก็ร่ำรวยขึ้น พึ่งพาอาศัยกัน แต่คนมักจะเข้าใจกันผิด  

 

ทุกครั้งที่มีคนอาจจะเข้าใจในลักษณะแบบนั้น คิดเห็นต่างออกไป วิพากษ์วิจารณ์ คุณธนินท์รู้สึกอย่างไร

ผมว่าความจริงตัวผมเองในอดีตก็ละเลยเหมือนกัน ผมทำดีแล้วคิดว่าช่างมัน แต่ปัจจุบันไม่ได้แล้ว เราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าไม่ใช่ เราไม่ได้คิดแบบนั้น ผมคิดแบบนี้ ถ้าประเทศไทยคนจนมากขึ้น กำลังซื้อไม่มี แล้วอาหารผมจะขายให้ใคร ธุรกิจผมเสียหายก่อนคนอื่นนะ ดังนั้นหน้าที่ของผมคือการทำให้ทุกคนรวยขึ้น มีเงินจับจ่าย เซเว่นผมก็ขายดี ผมซื้อโลตัสมาก็ขายดี ถ้ามันแย่ลง ใครจะมาซื้อสินค้าของผม ผมก็ไม่ได้ให้ฟรี ให้ราคาถูกเท่านั้น แล้วใครจะมาซื้อของผม เราไม่เสียหายก่อนเหรอ เราเสียหายก่อนคนอื่นนะ 

 

ท้ายที่สุด ผมเห็นข้อเสนอหลายๆ อย่าง เมื่อสักครู่คุณธนินท์เองก็ตอบคำถามหลายๆ อย่างที่สังคมก็คงจะตั้งคำถามถึง ท้ายที่สุดอยากให้คุณธนินท์พูดถึงผู้ประกอบการ นักธุรกิจ หรือคนทำงานในตอนนี้ที่กำลังเผชิญหน้ากับโควิด-19 แล้วเดือดร้อนมาก อะไรเป็นบทเรียนที่คุณธนินท์อยากบอกหรืออยากจะแนะนำ

ไม่ใช่ความผิดของใครทั้งนั้น อยู่ๆ ก็เกิดโรคระบาดนี้ขึ้น หน้าที่ของทุกคนอันดับแรกเลยคือปกป้องตัวเองและคนอื่นๆ ก็เท่ากับช่วยประเทศชาติแล้ว ช่วยตัวเองให้ไม่เสียชีวิต ไม่ป่วย และยังช่วยให้โรคนี้มันสงบ ถึงจะกลับมาเปิดธุรกิจ กิจการ และใช้ชีวิตปกติได้เร็ว 

 

ถ้าเห็นแก่ตัว มองว่าเราตายก็ไม่เห็นจะเป็นไร มัวแต่ออกไปเที่ยวแล้วไปติดโรคมา เอากลับไปติดให้ลูกและภรรยา หรือติดให้คนอื่นอีก วันนี้สำคัญที่สุด ต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนที่ช่วยกันปกป้องตัวเอง ปกป้องคนอื่นและสังคมให้มันสงบ เมื่อมันสงบแล้ว ทุกอย่างก็สามารถกลับมาเปิดได้ตามปกติ การจ้างงานก็เกิดขึ้น เศรษฐกิจก็ดีขึ้น ในระหว่างนี้รัฐบาลต้องเลี้ยง กู้มาเท่าไรก็ต้องเลี้ยงเอาไว้ เพราะไม่ใช่ความผิดของพวกเขา เป็นความผิดของโรคนี้ที่มันเข้ามาระบาด

 

แล้วต่อไปโรคระบาดมันจะเกิดขึ้น เราก็ห้ามไม่อยู่นะ เพราะมันจะไปมาหาสู่กันมากขึ้น เศรษฐกิจโลกมันถึงเกิด เราต้องการนักท่องเที่ยวเพราะสร้างเม็ดเงินกว่า 3 ล้านล้านบาท ภาษี 3-4 แสนล้านบาท เราต้องการให้เขาเดินทางมาเที่ยวไหมล่ะ ถ้าต้องการ เราก็ต้องเตรียมพร้อมมมาตรการด้านความปลอดภัยด้วย แล้ววันนี้เราเตรียมพร้อมหรือยัง

 

ถ้าเราเตรียมพร้อม วันนี้ก็เชิญเขามาเที่ยวได้แล้ว แล้วเขาก็ยินดีเดินทางมา เพราะอยู่ในประเทศเขา สมมติว่าป่วย โรงพยาบาลก็ไม่เพียงพอที่จะรองรับ หมอไม่พอ แต่ถ้ามาประเทศไทย ปลอดภัย

 

คำแนะนำสำหรับนักธุรกิจล่ะครับ คุณธนินท์บอกว่าช่วงนี้เป็นช่วง ‘เปลี่ยนเก้าอี้’ จะมีคนเกิดใหม่เยอะขึ้นมาก เช่นเดียวกับคนล้มหายตายจาก เป็นโอกาสที่เราจะสร้างตัวตนขึ้นมา เป็นโอกาสที่เราจะก้าวไปข้างหน้า

ต้องมองอะไรให้เป็นบวก แล้วลองศึกษาดู ผมเองก็พูดได้ไม่ชัดเจนเสียทีเดียว แต่รู้ว่าหลังวิกฤตจบมันจะเต็มไปด้วยโอกาส แต่แน่นอนว่าก็ต้องมีคนที่ล้มละลาย เกิดความเปลี่ยนแปลง หรือเปลี่ยนเก้าอี้ไป นี่เป็นธรรมชาติ ถ้าเขาเปลี่ยนไม่ทัน มองไม่เห็นโอกาส อีกคนเห็นแล้วเปลี่ยนทัน 

 

คำถามก็คือเมื่อคนกลุ่มนี้ล้มหายตายจาก เขาจะไปไหน ถ้าเศรษฐกิจดีขึ้น ยังไงพวกเขาก็มีงานทำ ไปทำธุรกิจเล็กๆ เริ่มต้นกันใหม่ก็ยังได้ 

 

ปัญหาคือทำอย่างไรให้เศรษฐกิจส่วนรวมมันเติบโตขึ้น จะเปลี่ยนเก้าอี้ไม่เป็นไร นี่เป็นธรรมชาติของโลก เหมือนกับคนเราเกิด แก่ เจ็บ และตาย มันเป็นธรรมชาติ ต้องมีคนเก่ง มหาเศรษฐีคนใหม่เกิดขึ้น อย่างเช่น คุณสารัชถ์ (สารัชถ์ รัตนาวะดี ซีอีโอ กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF)) อีกครั้งเดียวก็จะแซงหน้าซีพีไปแล้วนะ

 

แล้วคุณธนินท์กลัวไหมครับ กลัวโดนเปลี่ยนเก้าอี้หรือโดนคนอื่นแซงไหมครับ

ไม่กลัว ไม่เป็นไรครับ เราทำให้ดีที่สุด ถ้าเราทำให้ดีที่สุดแล้วยังแพ้เขา นั่นแสดงว่าเราต้องยอมเขานะ ต้องนับถือเขา แล้วไปเรียนรู้จากเขาด้วย เพราะเก้าอี้นี้มันไม่มีใครหวงได้หรอก เราไปห้ามคนอื่นให้เก่งกว่าเราไม่ได้หรอกครับ

 

แสดงว่าวันหนึ่งคุณธนินท์ก็ยอมรับได้ ถ้าสมมติเราจะต้องก้าวลงจากเก้าอี้ตัวนี้

ที่ 3 หรือที่ 4 ผมก็เคยเป็นมาแล้ว เราต้องคิดว่าเราทำดีที่สุดแล้วหรือยัง แล้วในธุรกิจของเราอาจจะสู้ธุรกิจขายไฟฟ้าไม่ได้ เพราะต่อไปธุรกิจขายไฟฟ้าจะชนะธุรกิจน้ำมัน ชนะ ปตท. นะครับ แล้วลงทุนถูก ตัวเบา ฉะนั้นธุรกิจเนี่ยมันจะเปลี่ยน ก่อนหน้านี้เป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาป แต่ต่อไปไม่ใช่แล้ว 

 

คุณธนินท์จะทำธุรกิจไฟฟ้าไหมครับ

แหม ถ้ามีโอกาสเราก็จะทำ แต่เราต้องดูด้วยว่าเราทำได้ไหม เรามีโอกาสไหม ถ้าเก่งแต่ไม่มีโอกาส มันก็ทำไม่ได้ ไม่สำเร็จ ไม่ใช่เราเก่งแล้วจะทำได้ทุกอย่างนะครับ เพราะสมมติว่าคนที่เขาชำนาญแล้วเริ่มทำไปก่อนแล้ว เขาเข้าใจมากกว่าเราอีก แล้วเขาทำก่อนเรามา 10-20 ปี เราก็อย่าไปอิจฉาเขา

 

ค่อยหันมามองว่ามีอะไรที่คนอื่นยังไม่ได้ทำอีกไหม มีอะไรที่เราทำได้ดีที่สุดไหม เลือกสิ่งที่มีโอกาสทำได้ดีที่สุด ถ้าตลาดไทยเล็ก เราก็ไปตลาดในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก ซีพีไปทั่วโลกแล้วล่ะครับ ฉะนั้นคนที่จะแซงเก้าอี้ผม ผมก็ไม่ได้อิจฉาและไม่พอใจ ถ้าสมมติว่าจะไม่พอใจก็ต้องไม่พอใจตัวเราเองที่ยังไม่เก่งพอ ก้าวไม่ทันพอเท่านั้นล่ะ

 

มีความฝันอื่นๆ อีกไหมที่ยังไม่ได้ทำ

ผมอยากจะเปลี่ยนแปลงให้เครือซีพีก้าวกระโดดไปเข้ายุค 4.0

 

ณ ตอนนี้ยังถือเป็นแค่ความท้าทาย เพราะเรายังเปลี่ยนแปลงไม่ได้ขนาดนั้น

ตอนนี้คือเรากำลังเปลี่ยนอยู่ เพราะไม่ใช่เปลี่ยนง่าย ยิ่งสำเร็จมากก็ยิ่งเปลี่ยนยาก ถ้าล้มเหลวเลยเปลี่ยนยาก อยู่ๆ ทำดีอยู่แล้วไปบอกให้เขาเตรียมเปลี่ยนแปลง เขาไม่เชื่อหรอก

 


 

สามารถฟังพอดแคสต์ The Secret Sauce
ผ่านแอปพลิเคชันต่างๆ ที่คุณสะดวกหรือใช้อยู่แล้วได้เลย

 


 

Credits

 

Show Creator นครินทร์ วนกิจไพบูลย์

Show Producer ปวริศา ตั้งตุลานนท์

Show Co-Producer เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Creative ภัทร จารุอริยานนท์

Sound Editor เชษฐพงศ์ ชูประดิษฐ์

Video Editor ฐิติกาญจน์ กาญจนภักดี

Sound Designer & Engineer กฤตพล จียะเกียรติ

Marketing & Coordinator อภิสิทธิ์​ หรรษาภิรมย์โชค

Art Director อนงค์นาฏ วิวัฒนานนท์
Show note ปณชัย อารีเพิ่มพร
Proofreader ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

Webmaster ไชยพร ศิริกลการ

Music westonemusic.com

  • LOADING...

READ MORE

MOST POPULAR



X
Close Advertising