×

สรุปภาพรวมการเปิดตัวสำนักข่าว THE STANDARD

05.06.2017
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ เปิดเผยถึงภาพรวมของ THE STANDARD ว่า คือสำนักข่าวที่มีทั้งสื่อออนไลน์ ดิจิทัลคอนเทนต์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมครบทุกแพลตฟอร์มและครบวงจร ชี้แจง ไม่ได้ตั้งใจตั้งมาตรฐานให้กับวงการสื่อไทย แต่พยายามตั้งมาตรฐานคุณภาพสำหรับคนทำงานที่พยายามจะไปให้ถึง
  • นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ เล่าถึงสัดส่วนเนื้อหาทั้งหมดในเว็บไซต์ thestandard.co ว่าประกอบไปด้วยข่าวในหมวดหมู่ต่างๆ 50 เปอร์เซ็นต์ เนื้อหาด้านไลฟ์สไตล์และคัลเจอร์อีก 50 เปอร์เซ็นต์ พร้อมแสดงจุดยืนในการคัดเลือกคอลัมนิสต์ที่มุ่งเน้นความหลากหลายและจัดสมดุลในภาพรวม อีกทั้งยังพร้อมน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของทุกคน
  • นอกจากเนื้อหาในเว็บไซต์แล้ว THE STANDARD ยังเตรียมเปิดตัวสื่อสิ่งพิมพ์แจกฟรีรายสัปดาห์ พอดแคสต์ หนังสือเล่ม และออนไลน์สโตร์เร็วๆ นี้ด้วย

 

     วันที่ 5 มิถุนายนที่ผ่านมา สำนักข่าว THE STANDARD จัดงานแถลงข่าวเปิดตัวอย่างเป็นทางการ พร้อมถ่ายทอดสดบรรยากาศการพูดคุยแบบสดๆ กับคณะบรรณาธิการทั้ง 7 คน ประกอบด้วย

     วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ผู้ก่อตั้ง และ Chief Executive Officer, นิติพัฒน์ สุขสวย Managing Director, นครินทร์ วนกิจไพบูลย์ Editor-in-Chief, เจิมสิริ เหลืองศุภภรณ์ Editor-in-Chief, ภูมิชาย บุญสินสุข Executive Director for Podcast, วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม Editor-in-Chief for Magazine และยศยอด คลังสมบัติ Editor for Magazine ในนามบริษัท เดอะสแตนดาร์ด จำกัด

 

 

     โดยมี จอมขวัญ หลาวเพ็ชร์ พิธีกรรายการ ถามตรงๆ กับจอมขวัญ ทางช่องไทยรัฐทีวี เป็นผู้ดำเนินรายการ ท่ามกลางความสนใจของสื่อมวลชนที่เข้าร่วมงานแถลงข่าวครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

วงศ์ทนงได้ประกาศระงับคอลัมน์ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ก่อน หลังปรึกษากับคณะบรรณาธิการถึงความเหมาะสม และลงความเห็นร่วมกัน

 

     โดยวงศ์ทนงเปิดเผยถึงภาพรวมขององค์กรว่า THE STANDARD คือสำนักข่าวที่มีทั้งสื่อออนไลน์ ดิจิทัลคอนเทนต์ รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ โดยมีเนื้อหาที่ครอบคลุมครบทุกแพลตฟอร์มและครบวงจร นับจากนี้เป็นต้นไปจะมีอะไรให้อ่าน ให้ดู ให้ฟังทั้งวันและทุกวันอย่างแน่นอน สำหรับที่มาของชื่อ THE STANDARD วงศ์ทนงเปิดเผยว่า

     “มีหลายองค์กรในโลกที่ใช้ชื่อนี้ อาจจะพ้องกับบางชื่อ แต่เป็นชื่อสากล โดยมีที่มาจากการที่พวกเราเป็นคนทำงานสื่อมาตลอดชีวิต พอวันหนึ่งได้ก่อตั้งสำนักข่าว เราก็มีความคิดความเชื่อในการทำงานแบบของเรา หลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่เกิดโซเชียลมีเดียต่างๆ มีสื่อออนไลน์เกิดขึ้นเยอะมาก ในจำนวนนั้นหลายสื่อเป็นสื่อที่ดี แต่ก็มีจำนวนมากที่ไม่ค่อยมีคุณภาพ พวกเราเป็นคนทำสื่อมืออาชีพ มีสำนึก มีอุดมการณ์ที่ดี และตระหนักดีว่าสื่อมีอิทธิพลต่อผู้คนและสังคมอย่างแท้จริง เราเลยอยากจะทำสื่อที่ให้ความรู้ ความคิด และความเข้าใจกับผู้คน ตามมาตรฐานคุณภาพที่ดีที่สุดที่เราหวังไว้

     “เราอยากจะตั้งเป็นสแตนดาร์ดของพวกเราไว้มากกว่า เราไม่ได้จะมาตั้งมาตรฐานให้กับวงการสื่อ เพราะหลายสำนักทำหน้าที่ได้ดีอยู่แล้ว ผมชื่นชมและนับถือ แต่คำว่า THE STANDARD เราตั้งไว้สำหรับพวกเราว่าเป็นมาตรฐาน เป็นคุณภาพที่เราต้องรักษาและพยายามไปให้ถึง เหมือนเป็นอุดมการณ์ ตัวกระตุ้น และปณิธานของคนทำงาน”

     นอกจากนี้วงศ์ทนงยังเปิดเผยถึงที่มาของสโลแกน STAND UP FOR THE  PEOPLE ว่า ในฐานะที่เป็นประชาชนธรรมดาย่อมรู้ดีว่าสังคมของเรามีความอึดอัดคับข้องใจอะไรบ้าง ซึ่งในฐานะสื่อย่อมตระหนักในเรื่องนี้เช่นกัน ดังนั้น THE STANDARD จึงพยายามที่สุดที่จะทำหน้าที่เป็นตัวแทนของประชาชนจำนวนมากในประเทศนี้ และเป็นปากเสียงที่จะถ่ายทอดความรู้สึกนึกคิดของคนเหล่านั้น

     ไม่เพียงแค่สะท้อนจุดยืนทางการเมืองที่เลือกยืนอยู่ข้างประชาชนเท่านั้น STAND UP FOR THE PEOPLE ยังมีความหมายที่กว้างและไกลกว่านั้น เพราะยังรวมถึงการยืนเคียงข้างประชาชนในเรื่องเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม หรือแม้แต่แฟชั่น บันเทิง และเรื่องกิน ดื่ม เที่ยวอีกด้วย

 

 

     ด้านนครินทร์เปิดเผยสัดส่วนของเนื้อหาทั้งหมดภายในเว็บไซต์ thestandard.co ว่า ภายในเว็บไซต์จะประกอบไปด้วยเนื้อหาข่าว 50 เปอร์เซ็นต์ ที่แบ่งหมวดหมู่เป็นข่าวต่างประเทศ ในประเทศ การเมือง ธุรกิจ สิ่งแวดล้อม กีฬา และเทคโนโลยี โดยมีนักข่าวที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านทำหน้าที่ดูแลเนื้อหา ส่วนอีก 50 เปอร์เซ็นต์จะเป็นเนื้อหาด้านไลฟ์สไตล์และคัลเจอร์

     พร้อมแสดงจุดยืนด้านความหลากหลายของเนื้อหาผ่านข้อเขียนของคอลัมนิสต์มากกว่า 40 ชีวิตที่ครอบคลุมผู้เชี่ยวชาญจากทุกวงการ

     “ที่สำคัญคือผมอยากจะเพิ่มความหลากหลายให้กับสำนักข่าว เพราะมีสำนักข่าวมากมายที่แสดงตนว่าอยู่ฝั่งไหนอย่างชัดเจน แต่ผมรู้สึกว่าในเมื่อเราไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียกับใครก็อยากจะลองไปให้ใกล้พรมแดนแต่ละฝั่งมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ วิธีการเลือกจึงไม่ได้เลือกจากแค่ชอบใครแล้วเลือกอย่างเดียว แต่เลือกจากหลักการที่ว่า ถ้ามีฝั่งนี้แล้วก็ควรจะเลือกอีกฝั่งเพื่อสร้างสมดุลให้กับเนื้อหาด้วย ผมมองในภาพรวม ไม่ได้มองแยกส่วน ถ้าดูรายชื่อคอลัมนิสต์ทั้งหมด 40 คนจะเห็นว่ามีหลายสีเสื้อ ความเชื่อ ศาสนา ชนชั้น หรือเพศ พยายามจะให้มีทั้งหมดในนั้น พูดถึงความพยายาม ไม่ได้บอกว่าเราทำได้ แต่จะพยายามทำให้ดีที่สุด วิธีการเลือกคอลัมนิสต์จึงเป็นแบบนั้น”

     สำหรับกระแสวิพากษ์วิจารณ์ถึงความเหมาะสมของคอลัมนิสต์บางคน นครินทร์ยืนยันว่าน้อมรับคำวิพากษ์วิจารณ์ของทุกคน และขอขอบคุณที่หลายๆ คนเข้ามาแสดงความคิดเห็น

     “สิ่งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดจากเหตุการณ์นี้คือ ผมรู้สึกว่าสังคมไทยยังมีคำถามถึงเรื่องกระบวนการยุติธรรมและมาตรฐานความถูกต้อง ซึ่งผมดีใจมากที่คนแสดงออกมาในลักษณะนี้ ผมรู้สึกว่านี่คือหน้าที่ของสื่อที่จะตรวจสอบความไม่ถูกต้องต่างๆ เราจะพยายามนำเสนอข้อมูล และเป็นสื่อที่ตรวจสอบ วิพากษ์ วิจารณ์ทุกฝ่าย

     “อยากให้ดูคอนเทนต์โดยรวมทั้งหมด อย่าเพิ่งรีบสรุป อย่าเพิ่งรีบตัดสินใครจากภาพภาพเดียว ขอให้ดูกันยาวๆ วิจารณ์ได้ รับรองว่าไม่ลบคอมเมนต์ ไม่ปิดรีวิว พร้อมเปิดกว้างเสมอ และสุดท้ายคอนเทนต์จะพิสูจน์ตัวมันเอง”

     ทั้งนี้วงศ์ทนงได้ประกาศระงับคอลัมน์ที่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์ไว้ก่อน หลังปรึกษากับคณะบรรณาธิการถึงความเหมาะสม และลงความเห็นร่วมกัน

 

 

     ส่วนเนื้อหาไลฟ์สไตล์และคัลเจอร์ที่ดูแลภาพรวมโดย เจิมสิริ อดีตบรรณาธิการบริหารนิตยสาร HAMBURGER ได้เปิดเผยว่า ก่อนหน้านี้เคยทำสื่อสิ่งพิมพ์อย่างเดียว มีคนในทีมไม่กี่คน แต่ตอนนี้มีสมาชิกในทีมที่ใหญ่ขึ้น ทำให้สามารถต่อยอดความคิดในเรื่องต่างๆ ได้มากขึ้น อีกทั้งยังมีเครื่องมือเล่าเรื่องให้เลือกมากมาย ทั้งรูปแบบของบทความ วิดีโอ เฟซบุ๊กไลฟ์ สื่อสิ่งพิมพ์ หรือแม้แต่พอดแคสต์

     “มีหลายเรื่องที่เราพยายามจะทำให้ลึกมากขึ้นกว่าเดิม อย่างเรื่องแฟชั่น หรือเรื่องบันเทิง เราอยากเห็นความเปลี่ยนแปลงในสังคม ถึงจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็อยากให้ผู้อ่านสามารถนำไปปรับใช้ได้กับชีวิตจริง”

     นอกจากเนื้อหาในรูปแบบบทความบนเว็บไซต์แล้ว เร็วๆ นี้ THE STANDARD ยังเตรียมเปิดตัวสื่อประเภทอื่นๆ เพื่อเพิ่มทางเลือกให้กับผู้คนด้วย ทั้งสื่อสิ่งพิมพ์ THE STANDARD Magazine นิตยสารแจกฟรีรายสัปดาห์ที่เตรียมเปิดตัวในเดือนกรกฎาคมนี้ รวมทั้งพอดแคสต์ หนังสือเล่ม และออนไลน์สโตร์ ที่กำลังจะเปิดตัวในช่วงเดือนสิงหาคมด้วย

 

 

     โดยวิไลรัตน์ และยศยอด ในฐานะบรรณาธิการสื่อสิ่งพิมพ์ระบุว่า ปัจจุบันสื่อสิ่งพิมพ์ยังคงมีเสน่ห์ในตัวเองอยู่ และเชื่อว่ายังมีคนจำนวนมากที่ชื่นชอบอารมณ์เวลาพลิกหน้ากระดาษ และต้องการสื่อที่จับต้องได้

     “เรามองเรื่องความสมดุล คนที่อยู่ในโลกดิจิทัลนานๆ ก็อาจจะโหยหาสื่อกระดาษที่จับต้องได้ หรือต้องการอ่านสิ่งที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น ใช้เวลากับมันมากขึ้น เราเร็วมามากแล้ว เราก็ควรจะช้าบ้าง เราอยากสร้างสมดุลให้กับตัวเองและคนอ่านด้วย

 

 

     “เราเชื่อใน Journalism for Social Change อยากให้งานเราเปลี่ยนแปลงสังคมได้ เราไม่ได้มองแค่ในประเทศเท่านั้น แต่ตั้งใจและพยายามกันอยู่ ข้อจำกัดไม่ใช่เหตุผลที่เราจะไม่ทำ เนื้อหาที่จะเกิดขึ้นเป็นสิ่งที่เราอยากเห็น อยากอ่าน แต่ไม่ได้อ่าน วิธีการเล่าเรื่องก็จะสนุกขึ้น แตกต่างจากเดิม ที่สำคัญคือแจกฟรี เป็นข้อเสนอที่ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ”

 

 

     ด้านภูมิชายเปิดเผยถึงภาพรวมของรายการพอดแคสต์ที่จะเกิดขึ้นใน THE STANDARD ว่า จากประสบการณ์ที่ผ่านมาในการทำรายการพอดแคสต์ที่ The Momentum พบว่าได้รับเสียงตอบรับอย่างท่วมท้นมากกว่าที่คิด แสดงให้เห็นว่าคนไทยรู้จักพอดแคสต์ในวงกว้าง และมีหลายเรื่องที่คิดว่าทำให้คนฟังดีกว่าให้เขาอ่าน และทำให้ฟังได้ดีกว่าเห็นเป็นวิดีโอ

     “จากประสบการณ์ส่วนตัว ผมมองว่าพอดแคสต์มันคือการทำคอนเทนต์แบบหนังสือ แต่นำเสนอแบบเสียง ผมเองเคยทำทั้งออดิโอคอนเทนต์มาแล้ว แล้วก็เคยทำหนังสือมาแล้ว ก็เลยคิดว่ามันเป็นการรวมร่างของสองอย่างนี้ มันคงเป็นคอนเทนต์อีกแบบหนึ่งสำหรับคนที่มองหาของใหม่ๆ ตอนนี้หลายๆ สื่อกำลังแย่งลูกตาจากผู้อ่าน ผู้ชม เราก็อยากจะลองแย่งหูเขาดูบ้าง ผมว่าสื่อประเภทเสียงก็ยังเป็นสื่อที่น่าสนใจและเต็มไปด้วยความเป็นไปได้ที่จะนำเสนอสิ่งที่แปลกๆ ใหม่ๆ เรากำลังควานหากันอยู่ว่าคอนเทนต์แบบไหนที่ควรค่ากับการเล่าให้คนฟังได้ดีที่สุด”

     สำหรับแนวโน้มความเป็นไปได้ของธุรกิจหนังสือเล่ม เวลานี้ส่วนตัวมองว่าทุกวันนี้ยังมีคนมากมายที่อ่านหนังสืออยู่เสมอ ถ้าเป็นหนังสือที่ดี เพราะฉะนั้นโจทย์ในวันนี้คือทำอย่างไรให้สิ่งที่เราพยายามทำมีคนต้องการซื้อ ต้องคิดว่าการที่คนอ่านจะแบ่งเวลามาอ่านหนังสือเล่ม หนังสือเล่มนั้นต้องเป็นหนังสือแบบไหน

 

     ส่วนนิติพัฒน์ ในฐานะ Managing Director เปิดเผยถึงความเป็นไปได้ในทางธุรกิจว่า จากการพูดคุยกับลูกค้าหลายๆ รายในช่วงเวลาที่ผ่านมาพบว่าได้รับผลตอบรับที่ดีมาก และเชื่อว่าบริษัทน่าจะมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอนาคต

     “ด้วยเครดิตที่เราทำงานมา 17 ปี ลูกค้าและผู้อ่านรู้ดีว่าเราคิดอะไร และจะทำอะไร จนเกิดเป็นความมั่นใจในทีมงานของเราจริงๆ”

     นอกจากนี้วงศ์ทนงยังตอบข้อสงสัยที่สังคมตั้งคำถามหลังจากแสดงความชัดเจนว่าไม่เห็นด้วยกับการซื้อขายบริษัท เดย์ โพเอทส์ จำกัด และประกาศจุดยืนด้วยการลาออกจากบริษัทในเวลาต่อมา

     “การที่เราลาออกจากบริษัทเดิม หลายคนอาจจะได้ข่าว ซึ่งเป็นข่าวที่ขยายวงกว้างมาก แต่ข่าวนี้และเหตุการณ์ที่ผ่านมา ในที่สุดก็ได้บทสรุปที่ชัดเจนแล้วว่าการขายหุ้นในบริษัทเดิม ผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้อง ผมไม่เอาด้วย และไม่เห็นด้วย

     “แม้จะลาออกแล้วก็ยังมีคนคลางแคลงใจว่าได้เงินไปแล้วมั้ง แต่ท้ายที่สุดก็มีการยุติการซื้อขาย เพราะไม่มีผู้บริหารคนสำคัญ 2 คน จุดนั้นเป็นจุดที่เคลียร์ข้อกล่าวหาให้ผมได้อย่างสิ้นเชิง เราออกมาแบบตัวเปล่าจริงๆ เราตั้งใจให้บริษัทของเราเป็นบริษัทเล็กๆ ไม่ซับซ้อนว่าใครถือหุ้น และใครเป็นเจ้าของ”

     พร้อมแสดงความชัดเจนถึงสัดส่วนผู้ถือหุ้นบริษัทที่ประกอบไปด้วย วินิจ เลิศรัตนชัย ซึ่งมีสัดส่วนการถือหุ้น 45 เปอร์เซ็นต์ วงศ์ทนงถือหุ้น 25 เปอร์เซ็นต์ นิติพัฒน์ถือหุ้น 20 เปอร์เซ็นต์ และบริษัท เดย์อาฟเตอร์เดย์ จำกัด ที่มีผู้ร่วมลงขันรวมอยู่ด้วยถือหุ้นอีก 10 เปอร์เซ็นต์  

     “สำหรับผู้ร่วมลงขัน พอผมได้อธิบายความจริง และความจริงปรากฏภายหลังว่าผมไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเงิน 300 ล้านบาท คนที่ไม่เข้าใจทีแรกก็เริ่มเข้าใจ เพราะข้อเท็จจริงเกิดขึ้นแล้ว แต่แน่นอนว่าผมไม่สามารถทำให้ทุกคนเข้าใจได้ทั้งหมด 100 เปอร์เซ็นต์ หลังจากที่ผมลาออกจากเดย์ โพเอทส์ ผมก็ได้แจ้งไปยังผู้ร่วมลงขันทั้ง 459 คนว่าผมลาออกแล้วนะ ผมจะมาก่อตั้งบริษัทใหม่ ยินดี และเปิดโอกาสให้ทุกท่าน ถ้าใครอยากตามเรามาก็ตามมา ไม่อยากตามมาด้วย ผมก็ยินดีรับซื้อหุ้นคืน สุดท้ายมีคนประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ที่แจ้งว่าขอถอน แต่มีคนอีก 80 กว่าเปอร์เซ็นต์ที่บอกว่าขอไปด้วย”

     ที่สุดแล้วมาตรฐานความเป็นสื่อของ THE STANDARD จะออกมาในรูปแบบไหน? คงไม่มีใครตอบคำถามนี้ได้ดีไปกว่าผลงานที่จะเกิดขึ้นนับจากนี้เป็นต้นไป

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising